‘Mesangeh’ พิธีกรรมความเชื่อโบราณ ‘อุดฟัน’ หญิงสาวบาหลี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ก่อนแต่งงาน

‘Mesangeh’ พิธีกรรมความเชื่อโบราณ ‘อุดฟัน’ หญิงสาวบาหลี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ก่อนแต่งงาน

พิธีกรรม ‘Mesangeh’ ตามความเชื่อโบราณของคนบาหลี มองว่า ฟัน คือ สิ่งชั่วร้าย ตัณหา ความหึงหวงของหนุ่มสาวที่กำลังจะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ จึงต้องเข้าพิธีเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายออกไป

KEY

POINTS

  • พิธีกรรมท้องถิ่นในบาหลี ชื่อว่า Mesangeh
  • หนุ่มสาวอายุ 6 ถึง 18 ปี จะเข้าพิธีอุดฟัน หรือ ตะไบฟัน หรือเข้าพิธีก่อนที่จะแต่งงาน
  • ตามความเชื่อ และจารีตคนบาหลีเชื่อว่า ฟัน คือ สิ่งชั่วร้าย ตัณหาของมนุษย์

ช่วงเวลาก่อนแต่งงาน ใคร ๆ ก็คงอยากสวย อยากหล่อ เป็นเรื่องธรรมดา แต่พิธีกรรมที่มีเฉพาะใน ‘บาหลี’ ประเทศอินโดนีเซีย พวกเขานิยามความสวยของหญิงสาววัยรุ่นไว้อีกแบบ

หากพูดว่า ผู้หญิงบาหลี ที่หมายมั่นถึงความสวยเป็นคำนี้ ‘Mesangeh’ ก็คงไม่ผิด เพราะพิธีกรรมนี้หมายถึง การที่พวกเขาผ่านพิธีการอุดฟัน หรือบางทีจะเรียกว่า ตะไบฟัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าพิธีหลังจากที่เป็นประจำเดือนครั้งแรก

‘Mesangeh’ พิธีกรรมความเชื่อโบราณ ‘อุดฟัน’ หญิงสาวบาหลี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ก่อนแต่งงาน

บางพื้นที่ในบาหลีผู้ชายเองก็ต้องเข้าพิธีกรรมนี้เช่นกัน ซึ่งจะใช้เกณฑ์จาก ‘เสียงแตกหนุ่ม’ ของผู้ชาย เป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า พวกเขาพร้อมแล้ว พร้อมมีครอบครัวแล้ว!

เราบังเอิญไปเจอสารคดีที่ทำขึ้นโดย Voice Asia เรื่อง “Grinding Teeth: The Wild Indonesian Coming Of Age Ritual” แล้วรู้สึกว่า มันว้าวมาก ๆ กับความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของคนบาหลีตราบจนทุกวันนี้ ในพื้นที่ที่มีประชากรทั้งหมดกว่า 4 ล้านคน จากประเทศที่มีพลเรือนติด Top 5 ของโลก หลักความเชื่อและจารีตบางอย่างที่ทำต่อกันมา แข็งแรงมากเพียงนี้ได้อย่างไร?

ระหว่างที่ดูสารคดีดังกล่าว ได้แต่รู้สึกชื่นชม และบอกกับตัวเองว่า อยากบอกต่อวัฒนธรรมนี้ของบาหลีกับชาว The People ว่า เพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากไทย มีพิธีกรรมแบบนี้นะ มีความต่างที่สวยงามซ่อนอยู่นะ (เพราะหลายคนก็ยังไม่รู้)

‘Mesangeh’ พิธีกรรมความเชื่อโบราณ ‘อุดฟัน’ หญิงสาวบาหลี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ก่อนแต่งงาน

 

สาวแรกแย้มเข้าสู่พิธีกรรม

ลองย้อนนึกดูว่า ตอนที่เราเป็นประจำเดือน ตอนนั้นเราทำอะไร อยู่ในวัยประมาณไหน ซึ่งเชื่อว่าคนไทยน่าจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “ถ้ามีประจำเดือนแสดงว่าร่างกายสมบูรณ์แล้ว”

คล้าย ๆ กับที่บาหลี เพราะผู้หญิงที่มีประจำเดือน ก็จะหมายถึงว่า พวกเธอกำลังเติบโตก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น

ซึ่งช่วงเวลาที่สาวแรกรุ่นชาวบาหลีจะเข้าสู่พิธีกรรม ‘Mesangeh’ ส่วนมากจะอยู่ช่วงอายุประมาณ 6 ถึง 18 ปี ก็เป็นช่วงไล่เลี่ยกับการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกพอดี

หรือหากไม่ได้เข้าพิธีกรรมนี้ในช่วงอายุที่เราบอกไว้ ชาวบาหลีจะใช้เกณฑ์ว่า ผู้หญิงคนนั้นจะต้องเข้าสู่พิธีกรรมก่อนพิธีแต่งงาน รวมถึงมีเซ็กซ์ หากระหว่างนั้นยังไม่ได้ผ่านพิธี Mesangeh ตามหลักความเชื่อ การมีเซ็กซ์คือเรื่องต้องห้าม!

‘Gek Sri’ หญิงสาวที่เกิดและโตในบาหลี เธอยิ้มแย้ม สดใส และกำลังเตรียมตัวเข้าสู่พิธีกรรม เธอพูดคุยกับ Voice Asia ระหว่างที่แต่งหน้าว่า “รู้สึกตื่นเต้น และกังวลนิดหน่อย เพราะกำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่จริง ๆ แล้ว”

ส่วนเครื่องบูชาก็คงไม่ต่างอะไรกับของไทยมากนัก หลัก ๆ ที่เห็นก็จะเป็น babi guling (หรือ หมูหันสไตล์บาหลี), ผลไม้, อาหารอีก 2 - 3 อย่าง และดอกไม้ ที่จัดวางอย่างสวยงาม โดยในพิธีกรรมนี้จะมี ‘เปอดันดา’ (pedanda) หรือ นักบวชชั้นสูง เป็นคนที่ทำการอุดฟันให้ โดยระหว่างนั้นก็มีกิจกรรมอื่น เช่น การระบำเต้นรำ เพิ่มความสนุกสนาน ความบันเทิงให้กับคนที่มาร่วมงาน

ความคึกคักในงาน ก็คงจะเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือของครอบครัวและญาติ ๆ หญิงสาวที่จะเข้าสู่พิธีกรรม เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงหลายคนจะเข้าพิธีพร้อมกัน บางคนก็มาพร้อมกับคู่หมั้นหรือแฟน

‘Mesangeh’ พิธีกรรมความเชื่อโบราณ ‘อุดฟัน’ หญิงสาวบาหลี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ก่อนแต่งงาน

Jro Mangko Pande Nyoman หมอฟันวิธีดั้งเดิม (ผู้ช่วยนักบวช) เล่าว่า พิธีกรรมนี้จะใช้ค้อนเฉพาะในการอุดฟัน และตะไบฟันให้กับหญิงสาว เป็นค้อนดั้งเดิมสำหรับพิธี Mesangeh โดยเฉพาะ หลังจากนั้นก็จะใช้ ‘ต้นไม้จันทน์’ เล็ก ๆ เพื่อทำความสะอาดฟัน

หากถามว่า Mesangeh เป็นประเพณีที่หยั่งรากลึกบนเกาะแห่งนี้นานแค่ไหน? อาจจะไม่มีคำตอบเป็นตัวเลขชัดเจน แต่ว่ากันว่า การถ่ายทอดความเชื่อและวัฒนธรรมนี้อยู่กับชาวบาหลีมานานเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เพื่อมิให้หนุ่มสาวใช้โอกาสช่วงวัยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน (Testosterone & Estrogen) ที่กระตุ้นตัณหาและความอยากมากมายของช่วงวัยรุ่น ทำงานก่อนวัยอันควร

พิธีกรรม Mesangeh สำคัญมากขนาดว่า หากสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงโชคร้ายเสียชีวิตก่อนประกอบพิธีกรรมนี้ ครอบครัวก็จะประกอบพิธีบนศพก่อนเผาศพ และปัจจุบันยังเป็นแบบนั้นอยู่

ระหว่างที่เราหาข้อมูล เราได้ความรู้อะไรใหม่ ๆ จากพิธีกรรมนี้เพิ่มเติม และค่อนข้างน่าสนใจ อย่างเช่น

  • ผู้หญิงที่จะเข้าพิธีกรรมต้องแต่งตัวแต่งหน้าสวยงาม เสมือนเจ้าสาวกำลังจะเข้าพิธีกรรม
  • ก่อนเริ่มพิธีกรรม หญิงสาวต้องสวมถุงเท้าทุกครั้ง เพราะไม่อนุญาตให้ถูกพื้นดิน
  • พ่อแม่ต้องเป็นคนจูงลูกสาวเพื่อไปทำพิธีกรรมจากจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่งเสมอ
  • หญิงสาวต้องเดินบนผ้าสีขาว ซึ่งจะปูตลอดทางที่จะเดินร่วมพิธี
  • หลังทำพิธีอุดฟันเสร็จ แม่ของหญิงสาวต้องนำตุ๊กตาม้ามาถูกับนิ้วเท้า
  • บางครั้ง บางพื้นที่ในบาหลี หญิงสาวจะเข้าพิธีกรรมอุดฟันพร้อมแฟน (ว่าที่เจ้าบ่าว)

หลายคนอาจสงสัยว่า จุดประสงค์ของพิธีกรรม Mesangeh คืออะไร? ทำไมหนุ่ม ๆ สาว ๆ ในบาหลี ต้องเข้าพิธีกรรมนี้ด้วย

คำพูดที่ออกจากปาก Gek Sri หญิงสาวที่เพิ่งผ่านความเป็นวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมานั้น เธอเล่าว่า ขั้นตอนทั้งหมดที่ต้องผ่านมากมายระหว่างทำพิธีกรรม เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไป

ชาวบาหลีเชื่อว่า ‘ฟัน’ เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ความต้องการทางเพศ ความตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความไม่มั่นคงในชีวิต รวมไปถึง ความหึงหวง ความอิจฉาริษยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อเกิดปัญหาทั้งสิ้น และควรถูกกำจัดให้ราบก่อนเข้าพิธีแต่งงาน

และการ ‘ตะไบฟัน’ เพื่อให้ราบเรียบ ไม่มีเขี้ยว ไม่มีฟันซ้อน ถือเป็นความสวยงามที่ผู้หญิงบาหลีปรารถนาจะมี ดังนั้น พิธีกรรมนี้ อาจไม่ได้มาช่วยจัดฟันหรืออะไรแบบนั้น แต่เป็นการช่วยปรับสมดุลและเสริมบุคลิกภาพให้ดีขึ้นในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องความเชื่อนั่นเอง

สัตว์ร้ายที่มาในรูปแบบ ‘ฟัน’ สำหรับชาวบาหลี มันคือรากเหง้าความเชื่อที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษ ไม่ใช่ความงมงาย หรือความไร้เหตุผล ดังนั้น สำหรับเรา เราจึงคิดว่า ความสวยงามของวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีต แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นอาจิณที่พบเจอได้ง่าย แค่เปิดใจ เราก็จะมองเห็นกันและกันมากพอ

 

ภาพ : Voice Asia YouTube

อ้างอิง :

The Balinese Tradition of Filing Teeth

Tooth Filing Ceremony A mandatory ritual in Balinese life

Metatah, traditional Balinese tooth-filing ceremony

Balinese tooth-filing ceremony