14 มิ.ย. 2567 | 17:42 น.
ย้อนไปสมัยเด็ก ๆ ของหลายคน หากบ้านไหนชอบดูละครอินเดีย หรือภาพยนตร์อินเดียเหมือนบ้านของผู้เขียน น่าจะจำได้ว่า มีหลายฉากมากที่พระเอก-นางเอก ร้องเล่นเต้นรำจีบกันข้ามภูเขา เต้นไปต้นมาหลบซ่อนแอบมองกันตามต้นไม้ใหญ่เป็นอาจิน ภาพคุ้นตาแบบนี้ทำเอาหลายคนเก็บงำความสงสัยมาตลอดว่า “คนอินเดียเต้นกันแบบนี้ได้ทุกคนหรือ?” หรือบางคนก็จะสงสัยว่า “สมัยก่อนคนอินเดียจีบกันด้วยวิธีแบบนี้หรือ?”
ความสงสัยทั้งจากผู้เขียนเอง และหลายคนรอบตัวที่มักถามทุกครั้งที่พวกเขาดูละคร/ภาพยนตร์อินเดีย คือสาเหตุที่ตัดสินใจหยิบมาเล่าในบทความนี้
คนอินเดียเต้นเป็นทุกคนจริงหรือ?
คำตอบคือ ‘จริง’ คนอินเดียเต้นเป็นทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เต้นเก่ง ส่วนหนึ่งเพราะว่าอินเดียเป็นดินแดนแห่งเทศกาล และติดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวันหยุดราชการเยอะที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ประมาณ 21 วัน แต่ถ้ารวมวันหยุดพิเศษของทุกศาสนาไว้ด้วยกันในอินเดียจะมีมากกว่าที่ระบุในปฎิทินเสียอีก
จึงไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าเราจะเห็นหลาย ๆ เทศกาลที่คนอินเดียนิยมเต้นรำเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน รวมไปถึงหลายซีนในภาพยนตร์และละครด้วย โดยรูปแบบการเต้นของคนอินเดียก็ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่การเต้นพื้นถิ่นในอินเดียมีมากกว่า 30 สไตล์ (ตามที่ถูกบันทึกไว้) เช่น Bharatnatyam ในรัฐทมิฬนาดู, Kathak ในรัฐอุตตรประเทศ, Kuchipudi ในรัฐอานธรประเทศ, Odissi ในรัฐโอฑิศา เป็นต้น
สาเหตุที่สไตล์การเต้นรำมากขนาดนั้น มีข้อมูลระบุว่า คนอินเดียในสมัยก่อนเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วเป็นกลุ่มพลัดถิ่นค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนบางกลุ่มที่ทุกวันนี้อาศัยอยู่ในอินเดีย ก็ไม่ใช่ชาวอินเดียนโดยตรง ดังนั้น สไตล์การเต้นจึงมีการผสมผสานอย่างต่อเนื่องกันมา โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออกที่มีอารยธรรมส่งต่อมาถึงอินเดียจนถึงปัจจุบัน
ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของบอลลีวูดต้องพูดว่า มีการสอดแทรก ‘การเต้น’ และการร้องรำอยู่ในเนื้อเรื่องเสมอ แม้อาจจะเป็นเพียงแค่ฉากเดียวก็ตามที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ แต่ก็นับว่าเป็นอารยธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็น DNA ของวงการนี้ ศิลปะในการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง หรือการเปล่งเสียงร้องเพลง ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ที่คนดูจดจำได้ว่า นี่แหละ คือหนังอินเดีย...
วิวัฒนาการนี้เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 และ 60 การเต้นรำเริ่มต้นขึ้นและเป็นวิวัฒนาการที่โดดเด่นมากในภาพยนตร์บอลลีวูด ซึ่งจุดเริ่มต้นแรก ๆ เกิดขึ้นโดยนักออกแบบท่าเต้นพื้นบ้านเริ่มมีการสอดแทรกท่าทางการเต้นรำในฉากใดฉากหนึ่งของภาพยนตร์ ซึ่งขณะนั้นการเต้นรำพื้นบ้านได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีอิทธิพลต่อคนดูในยุคนั้นมากขึ้น
ทั้งนี้ ในยุคของ 70 รูปแบบการเต้นในภาพยนต์บอลลีวูดเปลี่ยนมาเป็น ‘การเต้นคาบาเร่ต์’ ซึ่งกลายเป็นกระแสโด่งดังและถูกใช้ในภาพยนตร์หลายเรื่องของบอลลีวูด จากนั้นก็เป็นยุคของ ‘ดิสโก้’ อีกหนึ่งสไตล์การเต้นที่เราเห็นไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
ในปี 1980 การเต้นระบำแบบผสมผสานเริ่มปรากฎในวงการภาพยนตร์มากขึ้น ยุคเดียวกับ MTV ซึ่งทำให้การเต้นรำสไตล์บอลลีวูดได้รับอิทธิพลอย่างมากต่อคนอินเดียอื่น ๆ โดยเป็นการนำวิธีการเต้นรำแบบตะวันตกมาใช้ร่วมกับการเต้นพื้นบ้านของคนอินเดีย ทั้งยังอยู่ในมิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ เป็นเพลงประกอบละครมากมาย รวมถึงเพลงในโฆษณา
ต้องพูดว่า โดยแก่นแท้ของการเต้นรำสำหรับคนอินเดีย หรือชาวบอลลีวูด เปรียบเสมือนเป็น ‘การแสดงออกทางศิลปะอย่างหนึ่ง’ บ้างก็พูดว่าเป็น ‘ภาษาสากลในการแสดงออก’ ของคนอินเดีย สไตล์การเต้นรำของพวกเขาจึงเหมือนเป็นการแสดงออกถึงตัวตน หรือสิ่งที่พวกเขาอยากบอกโดยไม่มีการพูดก็ได้
การเต้น สำหรับคนอินเดียไม่ได้หมายถึงการเฉลิมฉลองเสมอไป เพราะไม่ว่าจะเป็นพิธีการ หรือการสักการะ คนอินเดียจะใช้วิธีการเต้นตามวาระต่าง ๆ เสมอ ภาพยนตร์ที่คนไทยรู้จักและน่าจะอธิบายความหมายของการเต้นเพื่อสักการะได้ดี คงเป็นซีนหนึ่งจากเรื่อง ‘คังคุไบ’
Photo: Netflix Thailand
คนอินเดียบางคนพูดในโซเชียลถึงซีนที่คังคุไบเต้นพร้อมกับหญิงโสเภณีคนอื่น ๆ บนถนนในย่านกามธิปุระ เพื่อสักการะหรือบวงสรวงเทพเจ้าในเทศกาล Navaratri เป็นการแสดงออกถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของตัวเอง และหญิงโสเภณีทั้งหลาย เพราะในสมัยนั้นพวกเขาไม่เคยได้บูชาเพื่อรับพรจากเทพเจ้าเลย
แต่การบวงสรวงเทพเจ้าในครั้งนั้น จะมีฉากที่คังคุไบเต้นเพียงคนเดียว คนอินเดียบางคนเชื่อว่า เป็นการแสดงออกถึงความเข็มแข็งของเธอ และเป็นตัวอย่างให้กับหญิงโสเภณีทั้งหลายได้เห็นว่า แม้พวกเธออทำอาชีพนี้แต่ก็มีคุณค่าพอให้เฉลิมฉลอง และบูชาเทพเจ้าเหมือนผู้อื่น รวมถึงได้รับพรจากเทพเจ้าเหมือนผู้อื่นด้วย
ดังนั้น ฉากนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีทีเดียวในการแสดงให้เห็นว่า การเต้นสำหรับคนอินเดียเป็นภาษาทางกายภาพที่เป็นสากล เพื่อแสดงออก แสดงความคิดเห็น และแสดงความรู้สึกที่พรั่งพรูในใจออกมาโดยไม่เอยปาก
คนที่ติดตามวงการบอลลีวูด หรือชอบดูภาพยนตร์/ละครอินเดีย สำหรับพวกเขาหากไม่มีฉากเต้นรำแล้วร้องเพลง ก็อาจจะไม่คุ้นชินว่าเป็นภาพยนตร์อินเดียก็ได้ เพราะจากอดีตจนถึงตอนนี้เรียกว่าแทบไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนของบอลลีวูดที่ไม่มีฉากเต้น หรือ ร้องเพลง ถ้ามีก็คงน้อยมาก ๆ
หวังว่าบทความนี้จะคลายความสงสัยได้บ้างเกี่ยวกับ ‘คนอินเดียกับการเต้น’ หากใครอยากรู้ว่า ท้วงทำนองท่าและจังหวะต่าง ๆ คนอินเดียที่ไม่ใช่คนบอลลีวูดพวดเขาเต้นอย่างไร ลองดูภาพยนตร์ หรือมิวสิกวิดีโอเพลงสักเพลงก็ได้ แล้วคุณจะสัมผัสได้ว่าการเต้นนั่นอยู่ในวัฒนธรรม และอารยธรรมของคนอินเดียมากเพียงใด
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
Breaking Stereotypes: Why Bollywood Dance Is for Everyone