“กู้ร่วม” ความผูกพันอันน่าสะพรึงแห่งสองเรา

“กู้ร่วม” ความผูกพันอันน่าสะพรึงแห่งสองเรา

คอลัมน์ Front Page ขยายความเรื่องราวของ “กู้ร่วม” ที่อาจมาพร้อมกับความผูกพันที่อันน่าสะพรึงแห่งสองเราในอนาคต

สองเรา ในที่นี้ หมายถึงสองเราที่ไม่เจาะจงเพศว่าจะต้องเป็นชาย-หญิงเท่านั้น และไม่จำเป็นว่า จะมีทะเบียนสมรสหรือไม่ ก็สามารถทำสัญญา กู้ร่วม  ได้

ทำไมไม่กู้คนเดียว?   

ก็เพราะการกู้ร่วม ทำให้ฝ่ายสถาบันการเงินผู้ให้กู้  มีหลักยึดในการได้เงินคืนมากกว่าการกู้คนเดียว

หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้ากู้คนเดียวไม่ผ่าน งั้นกู้ร่วมละกัน  อย่างน้อยก็มีคนที่รับว่าจะใช้หนี้ให้เพิ่มอีก 1 คน ในกรณีคู่รัก (แต่จริงๆ  การกู้ร่วม  สามารถกู้ร่วมกันได้มากกว่า 2 คน )

การกู้ร่วม  ผู้ที่ทำสัญญากู้ร่วมทั้งหมด จะตกอยู่ในสถานะ  ลูกหนี้ร่วม

ลูกหนี้ร่วม หมายความว่า “บุคคลหลายคนซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และเกิดขึ้นได้โดยนิติกรรมสัญญาและโดยบทบัญญัติของกฎหมาย

อธิบายง่ายๆ ว่า หากมีการผิดสัญญาหรือเบี้ยวหนี้กัน 

1. เจ้าหนี้สามารถบังคับให้คนใดคนหนึ่งจ่ายหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง (เจ้าหนี้เลือกได้เลยว่าจะบังคับหนี้เอากับใคร  ส่วนใหญ่จะเพ่งไปที่ลูกหนี้ที่มีความสามารถชำระหนี้ได้ดีกว่า เช่นมีหลักทรัพย์ที่ไปยึดหรืออายัดมาง่ายๆ มีหน้าที่การงานดีกว่า เงินเดือนเยอะกว่าอีกคน เป็นต้น)

2.เจ้าหนี้จะบังคับหนี้เอากับใคร ในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ได้ ตามที่เจ้าหนี้สะดวกเลย

นี่คือผลของการกู้ร่วมและตกเป็นลูกหนี้ร่วม
 
กลับมาที่ คำว่า สองเรา  คำนี้ก็มีความหมายในตัว คือการตกลงปลงใจเป็นคนรักกัน มีความรู้สึก มีอารมณ์ เข้ามาเกี่ยว 

ทีนี้ เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกนี่ล่ะที่ไม่ยั่งยืน  มันอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวล และปัจจัยต่างๆ อีกนานัปการ

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ หนี้ !!

หนี้ก็ยังคงเป็นหนี้ เจ้าหนี้มีระยะเวลากำหนดให้จ่ายต้น จ่ายดอกอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร ไม่แปรเปลี่ยน

หลายคู่รัก ที่เคยมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังคือ ไปผูกมัดทางด้านการเงินกันไว้ซะแน่นหนา

บางคู่  เธอเช่าซื้อบ้านเช่าซื้อรถ  เธอจ่ายเงินดาวน์ ลงชื่อเธอไว้  แต่ฉันจ่ายค่างวด    แล้วใช้ทรัพย์ด้วยกัน

บางคู่  เธอผ่อนบ้าน ฉันผ่อนรถ แต่บ้านเป็นชื่อฉัน  รถเป็นชื่อเธอ

แน่นอนการผูกมัดกันไว้แบบนี้ จะไม่มีปัญหาตราบเท่าที่ยังไม่เกิดปัญหา  หากต่างคนต่างมีวินัยทางการเงิน  และความรักไม่สะดุด  

แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาก็มักจะมาจากสองสิ่งข้างต้น คือ หมดรักกันแล้ว หรือไม่ก็ไม่มีวินัยทางการเงิน กระทั่งเกิดความบาดหมางกัน

ในที่สุดก็ต้องการ “แก้ปม” ที่ผูกมัดกันเอาไว้นั้น  
ถ้าเจรจากันได้ ก็จบ   แต่ถ้าเจรจากันไม่ได้  ทีนี้ล่ะเป็นเรื่อง ดังนั้น การที่ผูกกันไว้แน่นเกินไป ก็ให้นึกถึงวันที่ต้อง “คลายปม”ด้วย

กลับมาถึงการผูกพันกันที่แม้จะไม่เป็นลูกหนี้ร่วม  ดังเป็นผู้กู้ร่วมอย่างข้างต้นอีกนิด นั่นคือ การค้ำประกัน  

ผู้ค้ำประกันแม้จะไม่ตกอยู่ในสถานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้นอย่างการเป็นผู้กู้ร่วมก็ตาม  แต่ผู้ค้ำประกันคือผู้ที่ให้สัญญาต่อเจ้าหนี้ว่า ยินดีจะชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ และผลอันสาหัสของมันก็ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ผู้ค้ำประกัน คือคนที่เจ็บช้ำที่สุด เพราะได้เอาตัว เอาหลักทรัพย์ทุกชนิดของตัวเข้าค้ำประกันหนี้ของผู้อื่น สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหา ต้องมานั่งใช้หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ บางคนถึงกับล้มละลาย บางคนก็เดินไปสู่สถานการณ์ที่แย่กว่านี้  

สรุป  ไม่ว่าจะกู้ร่วม หรือจะเข้าค้ำประกันใดๆ ก็ขอให้นึกถึง worse case ของความสัมพันธ์ด้วย  และข้อนี้ยังใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ ไม่เฉพาะแต่คู่รักหรือสองเรา