ปลอมวุฒิการศึกษา ทางลัดที่นำไปสู่ทางตัน

ปลอมวุฒิการศึกษา ทางลัดที่นำไปสู่ทางตัน

คอลัมน์ Front Page ว่าด้วยการปลอมแปลงประวัติการศึกษา ที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การปลอมแปลงประวัติการศึกษา วุฒิการศึกษาให้สูงเกินจริง

หรือจากการที่ไม่มี ไม่เป็น กลายเป็นมีคุณวุฒิ มีคุณสมบัติ เป็นผู้ทรงภูมิ  เรื่องราวเหล่านี้มีมาแต่ไหนแต่ไร

และไม่เพียงแต่ในประเทศไทย  เราพบเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ได้ทั่วโลก

เพราะผู้กระทำอาจจะคิดว่า นี่คือทางลัดเพื่อขึ้นไปสู่ในจุดที่สูงอย่างรวดเร็ว 

 แต่ลืมไปว่า อาจจะเป็นทางลัดที่ตกต่ำลงมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

การปลอมแปลงตัวเอง มีตั้งแต่ ปลอมเอกสารขึ้นมาใหม่เลย หรือแก้ไขเอกสารบางส่วน รวมไปถึงการใช้เครื่องแบบที่แสดงถึงวิทยฐานะ

สำหรับการปลอม หรือ แปลงเอกสารนั้น   ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ดังบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔  ที่บัญญัติว่า  “ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นั่นคือ การปลอมนั้น  ต้องกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย จึงจะเข้าฐานความผิดนี้

เคยมีคดีที่เกิดขึ้น (อ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2563)

จำเลยทำปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงอันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ

โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดทำเลียนแบบแบบพิมพ์และรอยตราของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วบันทึกข้อความ ตัวเลข ตัวอักษร และรอยตราลงบนแบบพิมพ์ดังกล่าว พร้อมมีข้อความระบุรับรองการได้วุฒิปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง แล้วพิมพ์ข้อความดังกล่าวออกมาให้ปรากฏบนกระดาษเพื่อให้ปรากฏความหมายว่าจำเลยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 พร้อมลงลายมือชื่อปลอมของ ผู้อำนวยการสำนักบริหารทางวิชาการและทดสอบประเมินผล  และติดรูปถ่ายของจำเลยซึ่งใช้ครุยวิทยฐานะและติดเข็มวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจะใช้หรือมีวิทยฐานะเช่นนั้นและจำเลยนำหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารและลงลายมือชื่อของจำเลยเพื่อรับรองสำเนาหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาเอกสารหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่จำเลยทำขึ้นเป็นสำเนาที่ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับที่ออกให้จำเลยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  และผู้อำนวยการสำนักบริหารทางวิชาการและทดสอบประเมินผล ผู้อื่น หรือประชาชน แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการแต่งกายอีก เพื่อให้ตัวผู้กระทำเองดูเป็นคนมีวิทยฐานะ

ดังตัวอย่าง คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 246/2565

กรณีนี้  สมาชิกสภาเทศบาล ได้รับเชิญไปเป็นเกียรติในงานสำเร็จการศึกษาโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ตัวเองนั้นไม่สำเร็จชั้นปริญญา ไม่มีสิทธิสวมชุดครุยวิทยฐานะ  แต่ได้สวมชุดครุยวิทยฐานะถ่ายรูปในงานโดย อ้างว่าคุณครูที่โรงเรียนแห่งนั้นมอบให้สวมเพื่อจะได้ถ่ายรูปแล้วรูปออกมาดี

 ต่อมามีสมาชิกสภาเทศบาลด้วยกัน เสนอญัตติ ในการประชุมสภาท้องถิ่นแห่งนั้นและที่ประชุมสภาท้องถิ่นได้มีมติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ  สมาชิกผู้นั้นได้นำกรณีมาฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า การให้สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ชอบแล้ว

อีกคดีคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2531

เป็นกรณีที่จำเลยกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ ยังไม่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะสวมครุยวิทยฐานะ เพื่อแสดงให้ผู้พบเห็นเชื่อว่าจำเลยสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว การที่จำเลยสวมเสื้อครุยปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงถ่ายภาพแล้วนำภาพถ่ายดังกล่าวมาตั้งไว้บนโต๊ะที่จำเลยขายข้อสอบ จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514มาตรา 48

ส่วนเรื่องราวในต่างประเทศ บีบีซีไทย ได้เคยรายงานว่า ธุรกิจ "โรงงานปั๊มใบปริญญาปลอม" มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างที่สหราชอาณาจักรมีสถิติผู้ใช้วุฒิการศึกษาปลอมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายที่มีโทษสูงสุดถึงจำคุก 10 ปีก็ตาม

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของ HEDD (Higher Education Degree Datacheck) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งสถานะของสถาบันระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่วิธีการเบื้องต้น 4 อย่าง ในการพิสูจน์ว่าปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรที่ได้รับมาเป็นของจริงหรือไม่ ดังต่อไปนี้

1. แบบใบปริญญาที่ประหลาดผิดเพี้ยน

2. การใช้ภาษาที่น่าสงสัย

3. ที่อยู่และตำแหน่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ที่ไม่น่าเชื่อถือ

4. ใช้บริการตรวจสอบของมืออาชีพ

อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ https://www.bbc.com/thai/international-49686938

 

บทสรุปส่งท้าย สำหรับผู้มีชื่อเสียง และอยู่ในยุคโซเชียลเช่นนี้ การกระทำทั้งหลายทั้งปวง ก็อาจจะถูกขุดคุ้ยไม่วันใดก็วันหนึ่ง  ซึ่งไม่เพียงแต่อาจจะถูกลงโทษทางกฎหมาย  ก็ยังถูกลงโทษทางสังคมที่หนักหนาสาหัส อีกด้วย

บอกเลยเรื่องแบบนี้  ไม่คุ้ม     ยังไงก็ไม่คุ้ม