22 พ.ย. 2567 | 11:08 น.
สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย มีรายงานออกมาข้อมูล ณ เดือนกันยายน พ.ศ. 2567 มีผู้ลี้ภัยราว 86,942 คน ได้แก่ ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาประมาณ 81,000 คน พักพิงอยู่ใน 9 ค่าย ใน 4 จังหวัด ตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา และผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ราว 5,500 คน ราว 40 สัญชาติ พักพิงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและในเขตเมือง
การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในนามขององค์กรระหว่างประเทศอย่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ทำได้บนหลักมนุษยธรรม แต่มิได้ดำเนินไปบนโครงสร้างกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เข้าร่วมเป็นภาคี ในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แม้ว่าจะได้มีการรับรองอนุสัญญานี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ซึ่งสาระหลักของอนุสัญญาคือ เพื่อให้เกิดกลไกในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยให้มีความปลอดภัย โดยในอนุสัญญาฉบับนี้ มีการระบุประเด็นที่สำคัญคือ ข้อที่ 33 ห้ามมิให้รัฐภาคีขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) ผู้ลี้ภัยให้กลับไปสู่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในดินแดนของตน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 147 ประเทศ เข้าร่วมเป็นภาคี โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงฟิลิปปินส์ กัมพูชา และติมอร์ตะวันออก เท่านั้นที่ให้สัตยาบัน (เมื่อให้สัตยาบันแล้ว รัฐต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ)
คุณแทมมี่ ชาร์ป ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยว่า “ความท้าทายที่มีมาตลอดคือเรื่องการผ่านกฎหมาย อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย รัฐบาลไทยก็มีความโอบอ้อมอารีต่อผู้ลี้ภัย คือให้ที่พักพิง แต่ไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ฉะนั้น สถานะผู้ลี้ภัยก็เลยไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างการรัฐประหารที่เมียนมา จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการสู้รบ มีระเบิดบริเวณชายแดน คนที่พลัดถิ่นในเมียนมามีถึง 3.5 ล้านคน เมื่อไม่มีโครงของกฎหมาย ทำให้เราสามารถทำงานได้จำกัด เราไม่สามารถดูแลได้แบบควรจะเป็น เพราะผู้ลี้ภัยไม่ได้สถานะ บางครั้งก็ถูกตำรวจจับ อยากให้เน้นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องมนุษยธรรม”
“หรืออย่างกลุ่มผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ก็ยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยเนื่องจากไม่มีกม.รองรับ UNHCR ก็ได้แค่ออกไอดีการ์ด แต่ไม่มีผลตามกฎหมาย บางครั้งผู้ลี้ภัยถูกจับ ในมุมนี้ การที่รัฐสภาทำการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายนี้ ซึ่งทิศทางอยู่ในทางบวก การศึกษาอย่างละเอียดเพื่อดูว่าจะรับหรือไม่รับกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ เป็นแนวทางที่หมาะสม มากกว่าที่จะมีการกดดัน ทั้งนี้การที่รัฐบาลไทยรองรับผู้ลี้ภัยมาตั้ง 40 ปีโดยความเอื้ออารี ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และก็หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายต่อไป แต่ ณ ตอนนี้ สิ่งที่ให้ผู้ลี้ภัย คือให้พื้นที่พักพิงชั่วคราว และเรียกว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ซึ่งถือว่าให้การช่วยเหลือแบบมนุษยธรรม”
นอกจากนี้ คุณแทมมี่ ยังกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องน่ายินดี ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็ก นักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย กว่า 483,626 คน เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
“การที่ทางรัฐบาลไทยมีมติอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลกว่า 400,000 คนครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องระดับโลก ทำให้คนมีสถานภาพได้รวดเร็ว ยังไม่เคยมีประเทศไหนทำได้แบบนี้ สิ่งที่ทาง UNHCR รอก็คือ หากทางรัฐบาลต้องการความช่วยเหลือใด เราพร้อมสนับสนุน เพราะเราเองก็มีแนวทางว่าในระดับนานาชาติจะมีวิธีการดำเนินการอะไรบ้าง หรือเราต้องแจ้งกับคนในพื้นที่ ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร มีกฎ มีระเบียบใดเปลี่ยนไปบ้าง และที่สำคัญในมุมของสื่อมวลชน ที่มีส่วนอย่างมากในการช่วยสร้างความเข้าใจกับสังคม”
ตัวอย่างความเข้าใจผิดของคนในสังคม ที่คุณแทมมี่ ยกตัวอย่างคือ การที่รัฐบาลถอนข้อสงวน ในข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คนในสังคมก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ไทยจะให้สัญชาติเด็กต่างด้าว
เรื่องนี้ ต้องเริ่มต้นแบบนี้
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่าง ๆ 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม มีหลักการสำคัญ คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติและหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 197 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567)
ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 โดยขณะนั้นได้ตั้งข้อสงวนไว้ จำนวน 3 ข้อ ได้แก่
(1) ข้อ 7 ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด สถานะบุคคลและสัญชาติ
(2) ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง
(3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา
ต่อมาภายหลังการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาและสถานะบุคคล ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวน ข้อ 29 เนื่องด้วยการศึกษาของประเทศไทยมีความหลากหลายและมีการจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ
และข้อ 7 เนื่องด้วยประเทศไทยได้มีนโยบายและการดำเนินงานเพื่อประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานแก่เด็กทุกคนในประเทศไทย ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการศึกษาและด้านสุขภาพอนามัย โดยยังคงเหลือข้อสงวนอีก 1 ข้อ คือ ข้อ 22 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศสุดท้ายของรัฐภาคีที่ยังคงตั้งข้อสงวนข้อนี้ไว้
สาเหตุของการตั้งข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ นั่นคือ ในช่วงที่ประเทศไทยพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ปี 2531-2535 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป พยายามชักนำรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ให้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ทำให้เกิดความเข้าใจว่าหากไม่มีข้อสงวน ข้อ 22 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการจัดหาที่พักพิงและการดูแลผู้ลี้ภัยในการตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไม่เป็นไปตามการดำเนินการตามกรอบกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมได้ จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศไทยยังคงตั้งข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไว้
ต่อมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ศึกษาถึงความพร้อมและประโยชน์ของไทยในอันที่จะ ถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ กระทั่ง มีมติ ครม.ออกมาให้ถอนข้อสงวน ในข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ซึ่งในประเด็นดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาชี้แจงว่า ในข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ได้พูดถึงการให้สัญชาติเลย สิ่งที่เน้นในข้อที่ 22 คือ การคุ้มครองดูแลเด็กคนหนึ่ง ให้สามารถเจริญเติบโตทั้งกายและใจ ตามสิ่งที่เด็กคนหนึ่งพึงจะมี ที่สำคัญข้อที่ 22 นี้ ทั่วโลกได้นำไปประยุกต์ใช้เรียบร้อยแล้วประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายจากกว่า 100 ประเทศ ที่ให้การรับรองข้อที่ 22 นี้ใช้เวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะรับรองข้อบทนี้
นายวราวุธ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกว่า “มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจะต้องไปดูแลเด็กต่างชาติ เด็กไทยเราไม่ดูแล ซึ่งในกรณีนี้เราดูแลเด็กทุกคน และในทางกลับกัน ถ้าหากว่า มีคนไทยหรือเด็กไทยไปตกระกำลำบากที่ต่างประเทศ ประเทศเหล่านั้นก็จะต้องดูแลเด็กไทย เช่นเดียวกับเด็กของเขาเช่นกัน แต่มิได้เป็นการให้สัญชาติกับผู้ใด”
มาถึงตรงนี้ เราลองมาทำความรู้จัก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้มากขึ้น
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2493 โดยได้รับมอบหมายให้มอบความคุ้มครอง และช่วยเหลือผู้ลี้ภัย บุคคลพลัดถิ่น และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลก เป็นเวลากว่า 70 ปีที่ UNHCR ได้ทำงานเพื่อช่วยให้ผู้พลัดถิ่นได้สร้างชีวิตใหม่อย่างปลอดภัย และสมศักดิ์ศรี โดยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึง 2 ครั้งจากการการทำงานด้านมนุษยธรรมในช่วงวิกฤติผู้ลี้ภัยอินโดจีน และการทำงานในทวีปแอฟริกา
ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย UNHCR ได้เริ่มทำงานในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน ยังคงมอบความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยในเขตเมือง รวมไปถึงการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย และมีพันธกิจเพื่อแก้ไขและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
เป้าหมายหลักของ UNHCR คือการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัย โดยการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องมั่นใจได้ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะยื่นขอลี้ภัยเพื่อหาความปลอดภัยในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศรัฐของตน หรือกลับบ้านโดยสมัครใจและมีความพร้อม โดยในการช่วยผู้ลี้ภัยให้ได้กลับบ้าน หรือตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามนั้น คำนึงถึงทางออกที่ยั่งยืนสำหรับสถานการณ์ของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ UNHCR ยังมีจุดมุ่งหมายในการทำงานเพื่อปกป้อง และลดปัญหาการไร้สัญชาติ และเพื่อปกป้องบุคคลไร้สัญชาติอีกด้วย โดยในการสนับสนุนการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนั้นคณะกรรมการบริหาร UNHCR และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ให้อำนาจในการมีส่วนร่วมของกลุ่มอื่นด้วย ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ลี้ภัยที่ได้เดินทางกลับประเทศต้นทาง และผู้พลัดถิ่นในประเทศของตนเอง
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ พวกเขาได้รับการพิจารณาและได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและจะต้องไม่ถูกขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดันกลับ) ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ไปยังพรมแดนแห่งอาณาเขตที่ชีวิตหรือเสรีภาพของผู้ลี้ภัยจะตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม
จำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกพุ่งสูงเป็น 43.4 ล้านคน เป็นผู้ลี้ภัยในความดูแลของ UNHCR 31.6 ล้านคน โดย 5.8 ล้านคน ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยและได้รับการดูแลอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยราว 60 แห่ง ในตะวันออกกลางโดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งถูกก่อตั้งในปี พ.ศ. 2492
ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เป็นที่รู้จักในตัวอักษรย่อ IDPs ที่ย่อมาจาก Internally Displaced People คือบุคคลที่ถูกบังคับให้หนีจากบ้านตนเองไปยังพื้นที่อื่นภายในประเทศของตน แตกต่างจากผู้ลี้ภัย IDPsพลัดถิ่นอยู่ในประเทศของตนเองและอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาล พวกเขามักพลัดถิ่นอยู่ในพื้นที่ ที่เข้าถึงได้ยากต่อการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุดในโลก ทั่วโลกมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 68.3 ล้านคน เป็นส่วนใหญ่ของประชากรที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลก (ร้อยละ 58 ของประชากรผู้พลัดถิ่นทั้งหมด)
ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในโลก จำนวนมากต้องติดอยู่ในสถานการณ์และต้องพลัดถิ่นเป็นเวลานานหลายปีหรือหลายทศวรรษ เมื่อต้องพลัดถิ่นจากบ้านเกิดและแหล่งทำกิน พวกเขามักต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่อันตรายและตกอยู่ในความเสี่ยงแม้ว่าจะหนีออกมาเพื่อแสวงหาความปลอดภัยแล้วก็ตาม รัฐบาลประเทศของต่างๆ มีหน้าที่หลักในการมอบความคุ้มครองและช่วยเหลือพลเมืองที่พลัดถิ่นของตนเอง แต่อาจไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น
มีการประมาณการณ์ว่า มีผู้คนอย่างน้อย 10 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ พวกเขาไม่ได้ถูกรับรองจากรัฐใดว่าเป็นพลเมืองหรือคนชาติของรัฐนั้นๆ บ่อยครั้งที่ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นปัญหาที่มองไม่เห็น เนื่องจากบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติมักจะไม่อยู่ในความสนใจ และมักจะไม่มีใครได้ยินเสียงของพวกเขา บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียน ไม่สามารถเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคาร ซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งแต่งงาน การละเลยต่อสิทธิเหล่านี้ของพวกเขาไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังกระทบสังคมโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันประชากรกลุ่มหนึ่งออกไปจากสังคมนั้น นำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยราว 553,969 คน UNHCR ได้รับอาณัติจากสมัชชาสหประชาชาติในการระบุและให้ความคุ้มครองแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมทั้งการป้องกันและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ UNHCR ทำตามอาณัติที่ได้รับมอบหมายโดยทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรภายใต้สหประชาชาติ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 UNHCR ได้ทำการเปิดตัวโครงการรณรงค์ #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2567 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการจึงได้มีการเปิดตัวแผนปฏิบัติการสากลเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติระหว่างปี พ.ศ. 2557-2567 ซึ่งประกอบด้วยกรอบการทำงานเพื่อใช้เป็นแนวทาง 10 แผนเพื่อให้รัฐได้ใช้ดำเนินการพร้อมกับการสนับสนุนจาก UNHCR และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิบัติการสากลที่ว่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภาวะไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่มีอยู่ รวมทั้งป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของกรณีไร้รัฐไร้สัญชาติ
โดยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติยังคงเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนหลายล้านคน และคนไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนอย่างน้อยกว่าครึ่งล้านคนอาศัยอยู่บริเวณชายแดนของประเทศไทย ในวาระที่โครงการ #IBelong ที่เปิดตัวโดย UNHCR ในปี พ.ศ. 2557 กำลังสิ้นสุดลง พันธมิตรสากลเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ (Global Alliance to End Statelessness) ก็เปิดตัวขึ้น เพื่อสานต่อความสำเร็จและบทเรียนที่ได้รับจากโครงการ #IBelong รัฐบาลไทยเป็นหนึ่งในประเทศลำดับแรกๆ ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนี้ และกำลังพิจารณาดำเนินการมาตรการขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
เนื่องจากบริบทของประเทศไทยมีการให้ความหมาย “ไร้รัฐ” และ “ไร้สัญชาติ” แยกจากกัน โดยที่ “ไร้รัฐ” หมายถึงบุคคลผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และไม่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบการทะเบียนราษฎร ส่วน “ไร้สัญชาติ” หมายถึงบุคคลไร้รัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบการทะเบียนราษฎรและมีเอกสารแสดงตนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงใช้คำว่า “ไร้รัฐไร้สัญชาติ” เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทั้งสองกลุ่ม
ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีความเข้าใจผิดระหว่าง บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และแรงงานข้ามชาติ โดยแรงงานข้ามชาติ หมายถึงบุคคลที่เดินทางออกนอกประเทศที่ตัวเองเป็นพลเมืองเพื่อไปทำงานในประเทศอื่น ที่ตนเองไม่ได้เป็นพลเมือง ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยมีทั้งบุคคลที่มีเอกสารรับรองอย่างถูกกฎหมาย และไม่มีเอกสารรับรองที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เรื่อง: เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน
ภาพ: UNHCR ประเทศไทย
อ้างอิง
ครม. มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
เบื้องลึกรัฐบาลตัดสินใจ มอบสถานะ-สัญชาติไทย ผู้อพยพ 4.83 แสนคน
“วราวุธ” ยันอนุสัญญาสิทธิเด็ก ข้อ 22 ไม่ได้ให้สัญชาติเด็กต่างชาติ