บุฟเฟต์ไม่ใช่ใบอนุญาต ให้กินทิ้งขว้าง

บุฟเฟต์ไม่ใช่ใบอนุญาต ให้กินทิ้งขว้าง

บุฟเฟต์ไม่ใช่ใบอนุญาตให้กินทิ้งขว้าง เพราะอาหารที่ถูกทิ้งไม่เพียงสูญเปล่า แต่ยังปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ทั่วโลกจึงเกิดแคมเปญรักษ์อาหารมากมาย และนี่คือตัวอย่างที่น่าสนใจ

ปัจจุบันพฤติกรรมการกินบุฟเฟต์ของผู้คนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ใช่เพียงเพราะความคุ้มค่า แต่เพราะ ‘กินให้คุ้ม’ กลายเป็นข้ออ้างให้หลายคนตักอาหารเกินพอดีจนเหลือทิ้ง 

เรามักได้ยินเหตุการณ์มีปากเสียงระหว่างลูกค้ากับร้านอาหาร เมื่อร้านเรียกเก็บค่าปรับจากอาหารที่เหลือ หรือกรณีที่มีการนำอาหารออกจากร้านโดยไม่ได้รับอนุญาต 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเข้าใจผิดว่า “บุฟเฟต์คือการกินได้ไม่อั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบ” ทั้งที่แท้จริงแล้วอาหารทุกจานที่ถูกทิ้งคือ ‘ทรัพยากรโลกที่สูญเปล่า’

บางคนอาจคิดว่า “ฉันจ่ายเงินแล้ว ฉันมีสิทธิ์กินยังไงก็ได้” แต่ในความเป็นจริง อาหารทุกจานต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำ แรงงาน พลังงาน รวมถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การขนส่ง ไปจนถึงการปรุงแต่งเพื่อให้มาอยู่บนโต๊ะของเรา 

การกินเหลือไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียเงิน แต่ยังเป็นการทำลายสมดุลของโลกโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ เมื่ออาหารเหลือทิ้งต้องถูกกำจัด มันมักจะลงเอยในหลุมฝังกลบ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ ‘ก๊าซมีเทน’ ที่เกิดจากการหมักหมมของเศษอาหารภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน ก๊าซมีเทนมีพลังในการทำให้โลกร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า* ซึ่งหมายความว่าอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างไร้ค่า ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความสิ้นเปลืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ  (*ข้อมูลจาก http://electricplayground.nia.or.th/innovator-detail%20?id=371)

การลดขยะอาหารจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ และมีหลายแคมเปญที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้มีการบริโภคอาหาร อย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

เป็นต้นว่า 

Scholars of Sustenance (SOS) โครงการรักษ์อาหาร โดย SOS ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งนอกจากช่วยลดขยะอาหารแล้ว ยังช่วยลดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในสังคม

หรืออย่างการรณรงค์ที่เกี่ยวกับ food waste ที่น่าสนใจ ใช้วิธีการทำผ่านแอปพลิเคชันนั่นคือ Too Good To Go ที่พัฒนาขึ้นจากสตาร์ทอัพในประเทศเดนมาร์ก
 

การรณรงค์นี้มุ่งเน้นในการช่วยลดขยะอาหาร โดยการช่วยรักษาอาหารที่ยังดีอยู่ไม่ให้ถูกทิ้ง ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้จากอาหารส่วนเกิน ผู้บริโภคได้รับอาหารคุณภาพดีในราคาคุ้มค่า และเสริมพลังให้กับพนักงานและพันธมิตรในการปกป้องสิ่งแวดล้อม

การลดขยะอาหารถือเป็น ‘มาตรการสำคัญอันดับหนึ่ง’ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2°C ในปี 2100

ทั้งนี้ Too Good To Go ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ด้วยเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับปัญหาขยะอาหาร

ในระยะเวลา 8 ปี บริษัทได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้ลงทะเบียนมากกว่า 100 ล้านคน และมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ยังคงใช้งานอยู่กว่า 170,000 ราย ใน 19 ประเทศ ทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ

จนถึงปัจจุบัน Too Good To Go ได้ช่วยรักษาอาหารจากการถูกทิ้งไปแล้วกว่า 350 ล้านมื้อ ซึ่งเทียบเท่ากับการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 873,500 ตัน CO₂e (ที่มา: https://www.toogoodtogo.com)

อีกแคมเปญหนึ่ง ที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคยอมรับผลไม้และผักที่มีรูปร่างผิดปกติ แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกัน ช่วยลดอาหารที่ถูกคัดทิ้งก่อนถึงมือผู้บริโภค นั่นคือ Ugly Food Movement

การรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคอาหารรูปร่างไม่สมบูรณ์ (Ugly Food Movement) กำลังได้รับแรงผลักดันทั่วโลก โดยมีหลายองค์กรพยายามเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคว่า ผลผลิตที่รูปร่างไม่สมบูรณ์แบบยังคงมีคุณค่าทางอาหารเหมือนเดิม  

มีรายงานว่าผลไม้และผักกินได้เกือบ 14 ล้านกิโลกรัม ถูกปฏิเสธในออสเตรเลียในแต่ละปีเพียงเพราะรูปร่างหน้าตา

อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาขยะอาหารจำนวนมหาศาล 

รัฐบาลออสเตรเลีย เปิดเผยว่า มีการใช้น้ำราว 2,600 พันล้านลิตร ในการเพาะปลูกพืชผลที่ไม่ได้ถูกบริโภค พร้อมกับมีการใช้ที่ดินจำนวนมากและก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเปล่าประโยชน์

ริชาร์ด ทูริโน (Richard Tourino) ผู้ร่วมก่อตั้ง Good and Fugly ซึ่งเป็นบริษัทที่จำหน่ายผลผลิตที่มีรูปร่างไม่สมบูรณ์แบบ แต่ยังคงรับประทานได้ กล่าวว่า “จากคำตอบของเกษตรกร เราพบว่ามีผลผลิตจำนวนมากถูกปฏิเสธโดยซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงเพราะรูปลักษณ์ของมัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ของเกษตรกร”

ทูริโนเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตร

เกษตรกรบางรายยังเปิดเผยว่า บางครั้งซูเปอร์มาร์เก็ตปฏิเสธผลผลิตทั้งล็อตสินค้า เพียงเพราะมี ‘แอปเปิ้ลที่ไม่สมบูรณ์แบบ’ เพียงลูกเดียว

ทางด้านผู้ค้าปลีก ก็บอกว่าผู้บริโภคมักจะเลือกผลผลิตที่ดูดีมากกว่าผลผลิตที่มีตำหนิทางกายภาพ แม้ว่าจะเป็นเพียงความบกพร่องที่ไม่ได้ส่งผลต่อรสชาติหรือคุณค่าทางโภชนาการ

โจนาธาน เอนเกลิร์ต (Jonathan Englert) ผู้ร่วมก่อตั้ง Good and Fugly อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหมู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและครอบครัวที่เริ่มสนุกกับการค้นหาผลผลิตที่ดูแปลกตา โดยได้รับฟีดแบ็คจากพ่อแม่ที่บอกว่า ลูกของพวกเขากำลังตามหาผลไม้หรือผักที่มีรูปร่างแปลก ๆ เพื่อนำไปอวดเพื่อนที่โรงเรียน

โดยได้กล่าวสรุปว่า “เป้าหมายของเราคือ ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตยกเลิกมาตรฐานด้านความสวยงามและขนาดของผลิตผล”

จะเห็นได้ว่า แคมเปญเหล่านี้ ถูกทำขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมหันมาใส่ใจสิ่งใกล้ตัว อันโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาค 

แล้วคุณล่ะ คิดว่าแคมเปญแบบไหน ที่ถูกใจคุณในโลกปัจจุบัน 

หากคุณมีแคมเปญดี ๆ ที่อยู่ในใจ อยากบอกให้สาธารณชนรับทราบ อาจจะเป็นแคมเปญของคุณเองหรือบุคคลอื่น หรือองค์กรอื่น คุณร่วมเสนอมาได้ ผ่านทางรางวัล Campaign of the Year

รางวัล Campaign of the Year คือ รางวัลที่มอบให้กับแคมเปญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม สะท้อนความเป็นผู้นำที่กล้าคิดต่างและมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย  ภายใต้แนวคิด “RISE TO LEAD: ปลุกความต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลง”  ผ่านงาน The People Awards ครั้งที่ 4 ประจำปี 2025 

มีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ 
1. เป็นแคมเปญของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่มีส่วนขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคตที่ดีกว่า โดยดำเนินการในช่วง 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2024 
2. แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่โดดเด่น
3. สร้างผลกระทบเชิงบวกที่วัดผลได้ต่อกลุ่มเป้าหมายและสังคม
4. มีแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง

กระบวนการพิจารณาจะเป็นการให้คะแนนจากคณะกรรมการตามขอบเขตของการพิจารณาผลงาน และจะมีการประกาศผล 10 Campaign of the Year โดยจะมีเพียงหนึ่งแคมเปญที่ได้รับรางวัล Campaign of the Year ประจำปี 2025

สำหรับใครที่ต้องการ เสนอ Campaign of the Year ทำได้โดย 
1. กรอกข้อมูลบุคคลหรือองค์กรที่คุณต้องการเสนอชื่อ
2. ระบุเหตุผลและผลงานที่คุณเห็นว่าผู้ถูกเสนอชื่อควรได้รับรางวัล
3. แนบไฟล์สนับสนุนต่าง ๆ ในรูปแบบฝากไฟล์ที่ไดร์ฟและส่งลิงก์

ลิ้งก์สำหรับกรอกข้อมูล https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScmzOV1ISMjILzBM9ukLaDnwKSqeE3ZkbdyhhGS_nsBFP2qDw/viewform

หมายเหตุ : กรุณาตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องก่อนกดส่ง เนื่องจากหากข้อมูลไม่ครบถ้วนและถูกต้อง ชื่อที่เสนออาจไม่ได้รับการพิจารณา

สามารถเสนอชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2568
งานมอบรางวัล The People Awards 2025 จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568 เวลา 15.00 - 20.00 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท แยกราชประสงค์ 

หากมีข้อมูลสอบถามเพิ่มเติมติดต่อเบอร์ 084-1602498, 089-7474946