แอบบันทึกเสียงสนทนา ใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ไหม

แอบบันทึกเสียงสนทนา ใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ไหม

แม้เทคโนโลยีบันทึกเสียงและภาพจะพัฒนาและเข้าถึงง่ายขึ้น แต่การใช้พยานที่ได้มาโดยมิชอบอาจไม่ถูกยอมรับในศาล ยกเว้นบางกรณีที่ศาลเห็นว่ามีประโยชน์ต่อความยุติธรรมมากกว่า

KEY

POINTS

  • เทคโนโลยีบันทึกภาพและเสียงพัฒนา ทำให้การแอบบันทึกทำได้ง่ายขึ้น
  • แต่กฎหมายไทย ห้ามใช้พยานที่ได้มาโดยมิชอบ เว้นแต่เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม
  • ศาลอาจพิจารณารับฟังพยานดังกล่าวในบางกรณี ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน การบันทึกเสียง บันทึกภาพ การเก็บข้อมูลในรูปดิจิตอลพัฒนาไปมาก อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการนี้ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาก็ไม่สูงมาก  ทำให้เข้าถึงได้ง่าย  ทั้งขนาดก็เล็กลงสามารถพกพาหรือแอบซ่อนจากสายตาได้อย่างแนบเนียน 

ดังนั้น จึงมีคนบางกลุ่มนิยมใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาใช้งาน  เพื่อการบันทึกเสียงบันทึกภาพได้ค่อนข้างง่าย เพียงใช้กล้องบันทึกเสียง  บันทึกวิดีโอขนาดเล็กๆ ซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์เดี่ยว เป็นอุปกรณ์เฉพาะผลิตมาเพื่อการนี้เป็นหลัก  หรืออาจเป็นอุปกรณ์บันทึกภาพและ/หรือเสียงที่ดัดแปลงให้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของแว่นตา เข็มกลัดหรือเครื่องประดับลักษณะอื่นๆ  กล่องใส่หนังสือ โคมไฟ หลอดไฟ หมวก ฯลฯ

เราจึงได้พบว่ามีผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวบันทึกภาพ บันทึกเสียงการสนทนาและนำออกมาเปิดเผยกันบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทุกคนมีประจำตัวก็มีคุณสมบัติในการบันทึกภาพและเสียงได้ดี สามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว

มีคำถามที่น่าสนใจว่า ภาพและเสียงจากการลักลอบแอบบันทึกเหล่านั้น สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในทางคดีได้หรือไม่ ?

ในแง่กฎหมายแล้ว เรื่องนี้ มีบัญญัติอยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในมาตรา 226 และมาตรา 226/1 ดังนี้

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น อันว่าด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/1 “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่ การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรค 1 ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้ด้วย

(1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และ ความน่าเชื่อถือ ของพยานหลักฐานนั้น 

(2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี 

(3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบ 

(4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด”

กล่าวคือ มาตรา 226 วางหลักไว้ว่า พยานหลักฐานที่จะนำมาใช้ในคดีนั้นต้อง “ได้มาโดยชอบ”  ไม่ใช่ได้มาโดยมิชอบ และในมาตรา 226/1 วางหลักไว้ว่า ถ้าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น แต่มีข้อยกเว้นว่า ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัย 4 ประการตาม (1)-(4) นั้น

การได้ภาพและ/หรือเสียงมาโดยการแอบบันทึกนั้น เห็นได้ชัดว่า “เป็นการได้มาโดยมิชอบ”

อันที่จริงบทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ มุ่งประสงค์คุ้มครองจำเลยในคดีอาญา ไม่ให้ถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ

ในเมื่อเป็นการ “ได้มาโดยมิชอบ” จึงต้องด้วยบทบัญญัติว่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนี้ เว้นแต่ จะเข้าข้อยกเว้นอันกำหนดไว้ใน มาตรา 226/1 (1)-(4)

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน คงต้องพิจารณาจากคดีตัวอย่างที่เคยขึ้นสู่ศาล แล้วมีกรณีการใช้พยานหลักฐานอันได้มาจากการแอบอัดหรือบันทึกภาพและเสียง มาดูกันว่าศาลปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2564

“การกระทำของนาย ธ. ที่แอบนำเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่มาทำการบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับนาย ธ.และคู่สนทนาในระหว่างการพบปะพูดคุยกัน โดยจำเลยไม่ทราบว่าขณะที่ตนสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงในโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 

แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะได้ใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้เจ้าพนักงานของรัฐแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติ ห้ามมิให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา จึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/1 ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆดังที่กฎหมายกำหนดไว้

คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิจารณาอันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ทั้งลักษณะของคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนของตนที่นำสืบบกพร่องไว้เพื่อจะลงโทษจำเลยแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งเป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยและกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป การรับฟังพยานหลักฐานนั้นมิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม แต่กลับจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนมากกว่า จึงไม่อาจรับฟังบันทึกเสียงสนทนาและข้อความจากการถอดเทปการสนทนาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้”

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563     

“การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่า ขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ  ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ

แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226  ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา จึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย 

ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่ เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ 

คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป 

ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น 

ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1”

สรุป คือ ศาลไม่ยินยอมให้ใชพยานหลักฐานคือเสียงสนทนาที่ได้มาจากการแอบบันทึกเสียง

แต่ในบางกรณี ศาลยินยอมให้ใช้ และรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาในลักษณะแอบลักลอบบันทึกเสียง อย่างเช่นกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2563 

“จำเลยเป็นพนักงานอัยการ ผ่านการว่าความมาเป็นจำนวนมาก ย่อมคุ้นเคยกับการซักถามพยานในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอย่างดี ข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการถอดเทปสนทนาระหว่างจำเลยกับ ภ. ว่า ภ. พยายามขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือ อ. เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดี ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่รอให้ ภ. เสนอจำนวนเงิน และเมื่อ ภ. ซักถาม จำเลยยังพูดอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีแก่ อ. เพื่อโน้มน้าวให้ ภ. เห็นว่าข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรมีอัตราโทษสูง ส่อแสดงว่าจำเลยตอบคำถามของ ภ. ด้วยความสมัครใจ  

แม้การแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับ ภ. ตามแผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 จะเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 ก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา 

ดังนั้น แม้แผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 รวมทั้งบันทึกการถอดเทปสนทนาดังกล่าวจะได้มาโดยมิชอบ ศาลก็นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้”

ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่แอบบันทึกมาด้วยเหตุผลว่า “การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา” เป็นการใช้ข้อยกเว้นตามมาตรา 226/1

ดังนั้น พยานหลักฐานที่แอบบันทึกมานี้จะรับฟังได้ หรือไม่ เพียงใด ย่อมมีเหตุปัจจัยกำหนด  บางกรณีอาจต้องห้ามไม่ให้รับฟัง  แต่บางกรณีเมื่อมีเหตุเข้าข้อยกเว้นก็สามารถนำมารับฟังได้