สวัสดีวันจันทร์: คนสำคัญที่เราต้องไม่ลืม ‘เมตตา’ และ ‘โอบกอด’

สวัสดีวันจันทร์: คนสำคัญที่เราต้องไม่ลืม ‘เมตตา’ และ ‘โอบกอด’

สวัสดีวันจันทร์: คนสำคัญที่เราต้องไม่ลืม ‘เมตตา’ และ ‘โอบกอด’

ไม่กี่วันก่อนเพิ่งคุยกับเพื่อนร่วมงานว่า รู้สึกสงสารเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะอมทุกข์และแบกอะไรในใจไว้พอสมควร 

พลันสิ้นเสียงแสดงความเห็นใจของตัวเอง เพื่อนร่วมงานที่เป็นระดับ ‘นางแบก’ คนหนึ่งก็ตะโกนสวนว่า “ไม่นะ หนูไม่สงสารใคร หนูสงสารตัวเองก่อน”

หลังจากนั้นแม้จะมีเสียงหัวเราะชอบใจตามมา แต่วันนั้นเรากลับได้คำถามหนึ่งกลับบ้าน เป็นคำถามที่เราไม่เคยถามตัวเองมาก่อน 

“เคยสงสารตัวเองบ้างไหม?” 

ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวก็อาจจะ “มีบ้าง” แต่หากเป็นเรื่องงาน คำตอบที่ได้คือ “ไม่” แถมที่ตรงกันข้ามคือ เราและอีกหลาย ๆ คน นอกจากจะไม่ ‘สงสาร’ ตัวเอง แล้ว ยังเลือกที่จะโบยตีและเคี่ยวเข็ญกับตัวเอง มากกว่าที่ทำกับคนอื่นเสียอีก 

บ้างก็เพราะไว้ใจใครไม่ได้ บ้างก็คิดว่าจัดการเองน่าจะง่ายกว่า บ้างก็คิดว่างานแบบนี้จะโบ้ยให้น้อง ๆ ทำก็กระไรอยู่ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่แสดงถึงความ ‘เมตตา’ หรือ ‘ใจดี’ กับตัวเอง เอาเสียเลย หากต้องอยู่ทำงานจนดึกดื่น วันหยุดก็หอบงานไปทำที่บ้าน หรือต้องทนนั่งติดเก้าอี้ไม่ได้ลุกไปกินข้าวกินปลา 

ในหนังสือ ‘What Makes You You?’ โดย ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ ให้คำจำกัดความคำว่า ‘Self-Compassion’ (ความเมตตากรุณาต่อตนเอง) ไว้อย่างเรียบง่ายแต่ชวนคิดตามว่า 

“Self-Compassion คือความเข้าใจว่าคนสำคัญที่เราต้องไม่ลืมเมตตาก็คือคนที่อยู่ตรงหน้ากระจก นั่นคือตัวเราเอง” 
 

ในหนังสือเล่มนี้ยังได้ยกข้อมูลจาก ดร.คริสติน เนฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผู้บุกเบิกงานวิจัยทางจิตวิทยาด้าน Self-compassion ที่บอกว่า Self-compassion มี 3 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง Self-kindness การใช้ถ้อยคำที่อ่อนโยนแทนที่จะใช้ถ้อยคำรุนแรงในการวิจารณ์ตัวเอง 

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าตัวเองใช้คำที่ไม่อ่อนโยนกับตัวเองเอาเสียเลย ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบกับเวลาที่ตัวเองปลอบเพื่อนหรือคนรอบตัว หลายคนมีความพรสวรรค์กับการพูดให้กำลังใจคนอื่นมาก แต่กับตัวเองกลับไม่รู้จักหาคำพูดดี ๆ แบบนั้นมาใช้บ้าง 

ยกตัวอย่างการปลอบเพื่อนที่ไปสัมภาษณ์งานแล้วแห้วกลับมา เราอาจให้กำลังใจเพื่อนว่า “ไม่เป็นไรหรอก ที่นี่อาจไม่เหมาะกับแก” หรือ “ดีแล้วแหละ ที่นี่กดเงินเดือนจะตาย” แต่หากเป็นกรณีของตัวเองบ้าง คนบางคนกลับเลือกที่จะก่นด่าตัวเองว่า “ฉันมันห่วยแตก” หรือ “ฉันเป็นคนไร้ความสามารถ” ซึ่งถือเป็นการกดตัวเองให้ต่ำลงอย่างไร้ประโยชน์

สอง Common Humanity การตระหนักว่าความเจ็บปวดและความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องเจอ เราเองก็ต้องเจอ 

เมื่อเราเข้าใจถึงสัจธรรมในข้อนี้ เราก็จะไม่เสียเวลากับการตั้งคำถามที่ไม่ทำให้เกิดอะไรงอกเงยขึ้นมา ทำนองว่า “ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดกับฉัน” แต่จงเอาเวลาที่เสียไปกับการตั้งคำถาม เพื่อไปตั้งหลักและหาทางแก้ไข และพยายามในทุก ๆ วัน เพื่อหาทางให้ความเจ็บปวดหรือผลกระทบจากความล้มเหลวเบาบางลง และค่อย ๆ หัดมองว่า “ปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา”

สาม Self-compassion การยอมรับตัวเองว่า ความผิดพลาดและเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เป็นปกติของชีวิต สิ่งสำคัญคือเราต้อง “รู้ตัว” ตลอดเวลา ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร และต้องให้กำลังใจตัวเอง ปลอบประโลมตัวเอง ทบทวนเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น และรักษาความหวังในใจไว้ได้ แทนที่จะจมอยู่กับความเจ็บปวด และโทษตัวเอง

คุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ยังได้ยกตัวอย่างการทำวิจัยเรื่อง “When Leaving Your Ex, Love Yourself: Observational Ratings of Self-compassion Predict the Course of Emotional Recovery Following Marital Separation” ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เพิ่งแยกทางกับคู่สามีภรรยา พบว่า Self-compassion เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ 

กล่าวคือ ยิ่งมีความเมตตากับตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเยียวยาความเจ็บปวดทางความรู้สึกได้ดีขึ้นเท่านั้น 

อ่านถึงตรงนี้ ใครยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้น ‘เมตตา’ ตัวเองได้ยังไงบ้าง วันนี้หลังเลิกงาน ลองมองไปที่กระจก ‘ยิ้มให้ตัวเอง’ สักหนึ่งที และใช้สองมือของเรา ‘โอบกอด’ ตัวเองให้แน่น ๆ จนกว่าทุกความรู้สึกที่มันหนักอึ้ง จะค่อย ๆ เบาลง 

 

สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า