สวัสดีวันจันทร์: “เราไม่ได้กำลังหาเลี้ยงชีวิต แต่เรากำลังหาเลี้ยงความตาย”

สวัสดีวันจันทร์: “เราไม่ได้กำลังหาเลี้ยงชีวิต แต่เรากำลังหาเลี้ยงความตาย”

สวัสดีวันจันทร์: “เราไม่ได้กำลังหาเลี้ยงชีวิต แต่เรากำลังหาเลี้ยงความตาย”

“เราไม่ได้กำลังหาเลี้ยงชีวิต แต่เรากำลังหาเลี้ยงความตาย”

นี่เป็นข้อความที่ทำให้เราสะดุดกึก หลังจากเปิดอ่านหนังสือ ‘YOUR MONEY OR YOUR LIFE เงินหรือชีวิต’ จากสำนักพิมพ์ openbooks ที่ ‘พี่โญ’ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กรุณาส่งมาให้อ่านในวันที่เราเริ่มตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตและการทำงาน 

ส่วนตัวคิดมาตลอดว่า ตัวเองและอีกหลาย ๆ คน ที่มีแรงตื่นแต่เช้าตรู่ (ไปจนถึงเช้ามืด) หอบหิ้วสังขารที่นอนไม่เคยครบ 8 ชั่วโมง ฝ่ารถติดจากชานเมืองอย่างยากลำบาก เพื่อไปนั่งเพ่งหน้าคอมพ์ฯ จนตาล้าแล้วล้าอีก เพราะคิดว่าอย่างน้อย ๆ ‘งาน’ ที่มาพร้อมอาการคอ บ่า ไหล่ ก็ทำให้เรามี ‘เงิน’ มากพอจะหาเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัว หรือได้เอาไปซื้อกล่องสุ่ม pop mart เยียวยาใจ

ทีนี้พอมาเจอข้อความในหนังสือที่เขียนโดย Vicki Robin & Joe Dominguez whit Monique Tilford แปลโดย ‘ฐณฐ จินดานนท์’ เล่มนี้ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า แอบช้อกไม่น้อย และพาลคิดไปว่าที่ใช้ชีวิตการทำงานมาร่วม 20 ปี บางทีเราอาจจะไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ถึงความหมายของ ‘การทำงาน’ เลยก็ได้
 

ในหนังสือ YOUR MONEY OR YOUR LIFE เงินหรือชีวิต ยังกล่าวถึงคนที่อาจจะยัง ‘ชอบ’ หรือ ‘รัก’ ในงานที่ทำอยู่ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า คงมี “น้อยคน” ที่จะพูดได้เต็มปากว่า มีชีวิตการทำงานที่สมบูรณ์แบบ 

คำถามคือ ‘ชีวิตการทำงานที่สมบูรณ์แบบ’ มีอะไรบ้าง?

หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างที่เรียบง่าย แต่เห็นภาพ ดังนี้

  • ต้องมีความท้าทายมากพอให้เนื้องานน่าสนใจ 
  • ต้องไม่ยากเกินเพื่อให้เป็นงานที่น่ารื่นรมย์
  • ต้องมีเพื่อนร่วมงานที่ดีพอที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจ 
  • ต้องมีเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อให้ได้สร้างผลงาน 
  • ต้องมีเวลาทำงานมากพอที่จะทำงานให้เสร็จ 
  • ต้องมีเวลาหย่อนใจมากพอให้รู้สึกสดชื่น 
  • ต้องมีงานให้ทำมากพอที่จะให้รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ
  • ต้องมีเรื่องไร้สาระมากพอให้รู้สึกสนุก 
  • ต้องเป็นงานที่จ่ายหนักพอจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนจอดตั้งแต่ข้อแรก ๆ และถึงแม้ใครจะโชคดีได้ครอบครองชีวิตทำงานที่สมบูรณ์แบบดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นครบทุกข้อ สุดท้ายแล้วงานที่เราคิดว่าดีที่สุด ใช่ที่สุด ก็ต้องมี “ได้อย่างเสียอย่าง” อยู่ดี เพราะใน ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ ที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว และต้องยอมประนีประนอมในบางสถานการณ์ เราต้องรับมือกับ ‘เจ้านาย’ หรือ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ที่เปรียบได้กับ ‘เวรกรรม’ รูปแบบหนึ่ง ไม่ก็ซัพพลายเออร์เอย ลูกค้าเอย คนไข้เอย ฯลฯ ไหนจะความซับซ้อนภายในองค์กร ที่วันดีคืนดีก็มีการ ‘ปรับโครงสร้าง’ นั่งทำงานด้วยกันอยู่ดี ๆ พรุ่งนี้เพื่อนร่วมงานข้าง ๆ ก็วาร์ปหายไปแล้ว งานที่เหลือก็ตกเป็นภาระเราอีก

เจอเข้าแบบนี้ ถามจริง ๆ จะมีมนุษย์งานสักกี่คนที่ดูมีชีวิตชีวา กระปรี้กระเป่าตอนเลิกงานมากกว่าตอนเริ่มวัน เดินเข้าบ้านด้วยอารมณ์เบิกบานสดชื่นเปี่ยมด้วยพลังและพร้อมจะปล่อยจอยกับคนในครอบครัวในช่วงเย็น  

หนังสือเล่มนี้จึงฮุกเราเข้าอย่างจัง ด้วยการตั้งคำถามที่เฉียบคมว่า “นี่หรือที่เรียกกันว่าการหาเงินเลี้ยงชีวิต” เพราะสำหรับพวกเราหลายคน ความเป็นจริงที่เผชิญมันเหมือนกับ “การหาเลี้ยงความตาย” มากกว่าไหม?

“เรากำลังฆ่าตัวเอง สุขภาพของเรา ความสัมพันธ์ของเรา และความรู้สึกปิติยินดีในชีวิตเพื่องานหรือไม่ เรากำลังสละชีวิตตัวองเพื่อแลกกับเงิน แต่มันเกิดขึ้นอย่างเนิบช้าจนเราแทบไม่ทันสังเกตเห็น 

“เรามีเพียงผมที่เริ่มหงอกตรงขมับและเอวที่เริ่มหนาขึ้น ผสมกับสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าชวนกังขาอย่างห้องทำงานมุมตึก เลขาฯส่วนตัว หรือตำแหน่งงานสำคัญ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงสิ่งบ่งชี้ถึงการผันผ่านของกาลเวลา

“จากฝันที่เคยมีว่าจะค้นหาความหมายและความอิ่มเอมได้จากงานที่ทำ ฝันนั้นกลับเลือนรางเหลือเพียงความเป็นจริงที่มีแต่การเมืองในที่ทำงาน การหมดไฟ ความเบื่อหน่าย และการแข่งขันเอาเป็นเอาตาย” 

เพราะเป็นดังที่หนังสือว่ามาทั้งหมดนี้ไง ตอนนี้เราจึงเริ่มเชื่อจริง ๆ แล้วว่า “เราไม่ได้กำลังหาเลี้ยงชีวิต แต่กำลังหาเลี้ยงความตาย”

 

สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า