09 ก.ย. 2567 | 10:57 น.
‘สตีฟ เออร์วิน’ นักอนุรักษ์เจ้าของฉายา ‘นักล่าจระเข้’ จากโลกนี้ไปตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2549 หลังจากถูกเงี่ยงปลากระเบนธงแทงหน้าอกขณะถ่ายทำสารคดี
แต่ผลงานสารคดี และการเปรียบเปรย ‘มนุษย์’ กับ ‘จระเข้’ ของเขา ยังคงตราตรึง
ภาพจำของ ‘สตีฟ เออร์วิน’ คือพิธีกรชายที่มักปรากฏตัวด้วยชุดสีกากี แสดงท่าทีลิงโลดทุกครั้งที่ได้อยู่ใกล้สัตว์ และกล้าที่จะเข้าไปจับสัตว์ร้ายที่หลายคนหวาดผวาอย่าง ‘จระเข้’ ด้วยมือเปล่า จนได้ฉายาว่า ‘นักล่าจระเข้’
ด้วยความที่พ่อแม่ของเขาเป็นเจ้าของสวนสัตว์ในออสเตรเลีย สตีฟจึงผูกผันกับบรรดาสัตว์น้อยใหญ่มาตั้งแต่เด็ก อายุเพียง 9 ขวบ เขาก็เริ่มจับงูพิษใส่ถุงได้แล้ว ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การโดดลงน้ำไปปล้ำกับจระเข้ แล้วโยนมันขึ้นเรือ
ช่วงเวลาแห่งความประทับใจในวัยเยาว์ บ่มเพาะให้สตีฟหลงใหลในชีวิตสัตว์ป่า โดยเฉพาะจระเข้ จนเขาเริ่มค้นพบสัจธรรมว่า ไม่มีสัตว์ประเภทไหน แม้แต่จระเข้ จะน่ากลัวเท่ามนุษย์อีกแล้ว
นอกจากจะมีชื่อเสียงจากการทำงานใกล้ชิดกับสัตว์อันตรายแล้ว สตีฟยังตกผลึกถึงความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมของสัตว์กับมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง โดยประโยคที่เขากล่าวว่า…
นับเป็นการเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมของ ‘จระเข้’ และ ‘มนุษย์’ ได้อย่างเห็นภาพเพื่อพยายามจะสื่อว่า จระเข้มีพฤติกรรมที่ตรงไปตรงมา แต่คนมีความซับซ้อน และอาจมีความตั้งใจที่แอบแฝง ซึ่งทำให้เข้าใจยากและน่ากลัวกว่า
แม้ว่าเขาจะไม่อ้างถึงประสบการณ์ส่วนตัวโดยตรง แต่คำพูดนี้ก็สะท้อนว่าเขาอาจจะเจอคนที่ดูเหมือนเป็นมิตร แต่กลับมีเจตนาไม่ดี
อันที่จริงแล้ว มนุษย์ โดยเฉพาะ ‘เพื่อน’ หรือแม้แต่ ‘คนรัก’ อาจไม่สามารถไว้วางใจได้เสมอไป เนื่องจากหลายปัจจัยทางจิตวิทยา เพราะบางคนอาจแสร้งเป็นมิตรหรือแกล้งทำดีกับคุณเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยใช้กลยุทธ์ทางอารมณ์ เช่น การทำตัวเป็นเหยื่อ หรือทำให้คุณสับสนด้วยการ gaslighting (การบิดเบือนความจริงเพื่อควบคุมหรือเอาเปรียบคนอื่น) ทำให้ดูเหมือนเป็นคนที่ไว้ใจได้ในช่วงแรก แต่สุดท้ายกลับสร้างความเสียหายจนบางครั้งก็ยากเกินเยียวยา
นอกจากนี้ บางคนอาจมีนิสัย ‘ปกปิดความจริง’ หรือ ‘ไม่รับผิดชอบ’ ในสิ่งที่ทำ ทำให้ยากต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในความสัมพันธ์ได้
เหตุผลที่คนเหล่านี้กลายเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะตัวเองเคยถูกหักหลังมาก่อน หรือรู้สึกอ่อนไหวในบางสถานการณ์ ส่วนคนที่รู้สึกว่าตัวเองถูกเพื่อนประเภทนี้ทรยศก็อย่าเอาแต่โทษว่าตัวเองอ่อนต่อโลก เพราะการที่เราจะไว้ใจใครสักคนให้มาเป็นคนใกล้ตัวก็มาจากกหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกคุ้นเคย หรือมีลักษณะคล้ายกัน
สำหรับคนที่ไม่อยากไว้ใจใครง่ายเกินไป ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณป้องกันตัวเองและสร้างความสัมพันธ์ที่มีพื้นฐานจากความระมัดระวังมากขึ้น
หมั่นสังเกตพฤติกรรมและความสม่ำเสมอ: ก่อนจะเชื่อใจใคร ให้ลองใช้เวลาในการสังเกตพฤติกรรมของเขาสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูว่าเขาทำตามคำพูดหรือไม่ คนที่เชื่อถือได้มักมีความสม่ำเสมอทั้งในคำพูดและการกระทำ
ค่อย ๆ เปิดใจ: แทนที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือความรู้สึกในทันที ลองค่อย ๆ เปิดใจเป็นขั้นเป็นตอน ให้เวลาทั้งตัวคุณเองและตัวเขาในการสร้างความไว้ใจ และดูว่าเขาจะมีทีท่าอย่างไรเมื่อคุณค่อย ๆ ให้ข้อมูลส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ
ตั้งขอบเขตชัดเจน: การตั้งขอบเขตชัดเจนในความสัมพันธ์ช่วยป้องกันไม่ให้ใครมา ‘ล้ำเส้น’ หรือ ‘เอาเปรียบ’ คุณได้
ฟังสัญชาตญาณของตัวเอง: หากคุณรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติ หรือไม่มั่นใจใครคนใดคนหนึ่ง ให้ฟังสัญชาตญาณของตัวเอง อย่ามองข้ามความรู้สึกไม่สบายใจนี้
สังเกตวิธีที่เขาปฏิบัติต่อคนอื่น: หากเพื่อนหรือคนอื่นที่คุณรู้จักปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ไม่ดี พวกเขาอาจปฏิบัติต่อคุณในลักษณะเดียวกันในอนาคต ลองสังเกตดูว่าในชีวิตประจำวัน เขาได้ปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความจริงใจและให้ความเคารพหรือไม่
อย่ารีบไว้ใจ: ความไว้วางใจควรเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาผ่าน ‘เวลา’ และ ‘การกระทำ’ ไม่ใช่จากคำพูดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นควรใจเย็นและให้เวลาในการพิสูจน์ความจริงใจของเขา
อย่าเปิดเผยความลับหรือข้อมูลสำคัญเร็วเกินไป: สิ่งสำคัญคือไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญหรือความลับกับใครเร็วเกินไป ควรรอจนกว่าคุณจะแน่ใจว่าเขาสามารถไว้วางใจได้
ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายซับซ้อน การ ‘ให้ใจ’ ใครสักคนเป็นสิ่งที่มีค่ามาก และการให้มันอย่างไม่ระมัดระวังอาจเป็นการเปิดประตูเชื้อเชิญ ‘ความผิดหวัง’ และ ‘ความเจ็บปวด’ ที่คุณไม่สมควรจะได้รับ ดังนั้น จงเลือกให้ใจคนอย่างชาญฉลาดเพื่อปกป้องหัวใจของตัวคุณเอง
สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า