สวัสดีวันจันทร์: คนเราถ้าเข้าใจการจากไปของเวลา ย่อมใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

สวัสดีวันจันทร์: คนเราถ้าเข้าใจการจากไปของเวลา ย่อมใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

ดร. เทียม โชควัฒนา กับปรัชญาเรื่องการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ผ่านคำกล่าวที่ว่า “คนเราถ้าเข้าใจการจากไปอย่างไม่ย้อนกลับของเวลา ย่อมใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า”

“คนเราถ้าเข้าใจการจากไปอย่างไม่ย้อนกลับของเวลา ย่อมใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า”

คอลัมน์ ‘สวัสดีวันจันทร์’ สัปดาห์นี้ ยังคงมูฟออนจากหนังสือ ‘100 ปรัชญา ดร. เทียม โชควัฒนา’ ไม่ได้ และแน่นอนว่าหลังจากนี้จะยังวนกลับมาพึ่งหนังสือเล่มนี้เรื่อย ๆ เพราะเราคิดว่าปรัชญาจาก ‘ดร. เทียม โชควัฒนา’ ที่ฝากเอาไว้ให้คนทำงาน เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก ไม่เฉพาะพนักงานในเครือสหพัฒน์

ในหนังสือ ‘100 ปรัชญา ดร. เทียม โชควัฒนา’ บทที่ 70 เป็นปรัชญาเกี่ยวกับ ‘เวลา’ ซึ่งย้ำเตือนพวกเราว่า “อย่าให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า” ผ่านเรื่องราวของคนรอบตัว ดร. เทียม ไม่ว่าจะเป็น ‘หลงจู๊’ รวมถึงเพื่อนฝูงสมัยเรียนหลายคนของท่านเจ้าสัวเทียม

เจ้าสัวเทียมเริ่มต้นการกล่าวถึง ‘คุณค่าของเวลา’ ด้วยการออกตัวว่า “ข้าพเจ้าถือว่าตนเองเรียนมาน้อย รู้น้อย ดังนั้นจึงพยายามจดจำบทเรียนและประสบการณ์ทั้งการค้าและการดำเนินชีวิตประจำวันจากผู้อื่นเสมอ ๆ เพื่อที่จะได้ยึดเป็นแนวทางและป้องกันมิให้ตนเองต้องผิดพลาดและล้มเหลว” 

ในบทนี้ ท่านเล่าว่า ในช่วงแรกที่แยกออกมาเปิดร้านของตนเอง ตัวท่านยังไม่ค่อยมีประสบการณ์เรื่องการขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เลยต้องจ้างคนมาเป็น ‘หลงจู๊’ (ผู้จัดการร้าน) มาคอยดูแลเรื่องการขายทั้งหมด 

ปรากฎว่าหนึ่งในคนที่จ้างมานั้น ตอนแรกก็ดูจะทำงานได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับอยู่เฉย ๆ ไม่พยายามศึกษาเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หมดเวลาไปกับการเล่นไพ่บ้าง เที่ยวเตร่บ้าง ในขณะที่ท่านเจ้าสัวนั้น จากที่ไม่เคยรู้อะไรเลยกลับพัฒนาตนเองจนรู้มากกว่าหลงจู๊คนนี้ 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าสัวเทียมนึกไปถึงเพื่อนสมัยเรียน ที่ตอนเรียนหนังสือด้วยกันก็ได้คะแนนไม่ทิ้งห่างกันมากนัก เรียนก็เรียนจากหนังสือเล่มเดียวกัน อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดเหมือนกัน แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่กลับมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน

เจ้าสัวเทียมมองว่า อาจเป็นเพราะเมื่อแต่ละคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ได้ใช้ชีวิตอยู่นอกรั้วโรงเรียนและมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชีวิตที่ไร้กฎระเบียบ เวลานั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะตักตวงเอาความรู้และประสบการณ์ไปได้มากกว่า ท่านจึงได้เห็นว่าเพื่อนคนไหนที่ก้าวทันโลก และคนไหนที่ก้าวไม่ทัน “เพราะนึกไม่ถึงว่าเวลานั้นผ่านไปเร็วเกินกว่าที่จะรอช้าได้”

เรื่องราวเหล่านี้จึงนำมาสู่ข้อสรุปของเจ้าสัวเทียมที่ว่า “เวลานั้นมีค่าและไม่ไหลย้อนกลับ จึงควรหมั่นศึกษาไขว่คว้าหาความรู้และประสบการณ์ที่ดีไว้ให้มากที่สุด”

สำหรับใครที่อ่านแล้วเข้าใจประเด็นที่เจ้าสัวเทียมต้องการสื่อ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นการบริหารจัดการเวลาอย่างไร ในวันทำงานวันแรกของสัปดาห์แบบนี้ เราขอเสนอเทคนิคการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สำหรับคนทำงาน ดังนี้
 

1. รู้จัก ‘การจัดลำดับความสำคัญ’ โดยอาจจะใช้หลัก ‘Eisenhower Matrix’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการเวลาและการลำดับความสำคัญของงาน ที่ช่วยให้คุณสามารถแยกแยะสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนออกจากกัน โดยแบ่งงานออกเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ 1) สำคัญและเร่งด่วน 2) สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน 3) ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน และ 4) ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน 

2. ‘ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน’ โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้คุณมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงาน

3.ใช้เทคนิค ‘Pomodoro’ ซึ่งเป็นการจดจ่อทำงานในช่วงเวลา 25 นาที แล้วหยุดพัก 5 นาที ซึ่งจะช่วยให้คุณมีสมาธิและไม่รู้สึกเหนื่อยล้าจนเกินไป 

4. ‘หลีกเลี่ยงการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน’ เพราะการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันอาจลดประสิทธิภาพการทำงานลง คุณควรโฟกัสที่งานใดงานหนึ่งจนสำเร็จ แล้วค่อยเดินหน้าทำงานถัดไป

5. ‘ตั้งเวลาสำหรับการตรวจสอบอีเมล’ โดยแทนที่จะตรวจสอบอีเมลตลอดทั้งวัน ให้คุณตั้งเวลาที่แน่นอนเพื่อประหยัดเวลาและไม่เสียสมาธิในการทำงานภาพรวม 

6. ‘สร้างนิสัยการทำงานที่ดี’ โดยปรับเวลาเริ่มทำงานและหยุดทำงานให้เหมาะสมกับตัวคุณเอง เพื่อให้คุณมีสมาธิและพลังงานไปตลอดทั้งวัน 

ลองปรับตัวเองตามคำแนะนำดูนะคะ แล้วเมื่อหมดเวลาทำงาน ให้ประเมินดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญอย่าลืมปล่อยให้ตัวเองได้ผ่อนคลายเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง เพราะระหว่างทางสู่เป้าหมายระยะยาวก็สำคัญเช่นกันค่ะ

 

สวัสดีวันจันทร์
พาฝัน ศรีเริงหล้า 
.