สวัสดีวันจันทร์: “หน้าที่ของผู้นำคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเอง”

สวัสดีวันจันทร์: “หน้าที่ของผู้นำคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเอง”

สวัสดีวันจันทร์ หยิบยกประโยคโดนจากหนังสือ ‘ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า’ โดย ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ ที่กล่าวว่า “หน้าที่ของผู้นำคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเอง”

“หน้าที่ของผู้นำคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเอง” 

ประโยคจากหนังสือ ‘ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า’ โดย ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ นักคิดและนักเขียนคนโปรดของใครหลาย ๆ คน

แม้ชื่อหนังสือจะเน้นไปที่ ‘ผู้นำ’ แต่ความจริงแล้ว แง่คิดที่ได้จากการอ่านหนังสือที่วางแทบไม่ลงเล่มนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับ ‘ทุกคน’ เพราะทุกคนล้วนต้องพานพบประสบการณ์การเป็นผู้นำสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในชั้นเรียน ในหมู่เพื่อน ในครอบครัว หรือแม้แต่ผู้นำในชีวิตของตัวเอง

ในบทที่ชื่อว่า “คำถามที่ดีกว่า จะเอาอะไรอีก” ของหนังสือเล่มนี้ ยกตัวอย่างผู้นำบางคน ที่มักมีคำพูดติดปากเวลาที่เผชิญวิกฤตว่า “ก็แก้ปัญหาอยู่นี่ไง จะเอาอะไรอีก!” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเนื้อต่ำใจของผู้พูด พร้อมกับพยายามขอความเห็นใจที่ตนเองกำลังทำงานหนัก เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ทำไมไม่มีใครเห็นบ้าง 

ซึ่งคำพูดลักษณะนี้จะไม่เล็ดลอดออกมาจากปากของผู้นำที่ดี เพราะผู้นำที่ดีจะระลึกอยู่เสมอว่า หน้าที่ของผู้นำคือมาแก้ปัญหา แน่นอนว่ามันยาก มันเหนื่อย และต้องเจอแรงเสียดทานมากมาย แต่เขาก็ไม่ได้มาทำงานเพื่อเรียกร้องขอคะแนนความเห็นใจ ขอเสียงปรบมือให้กำลังใจ หรือขอคำแซ่ซ้องเยินยอใด ๆ เพราะนาทีที่เกิดปัญหา จุดโฟกัสควรอยู่ที่คนที่เดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า 

และหากผู้นำแก้ปัญหานั้นได้สำเร็จ ผู้คนก็จะเห็นใจและเอาใจช่วยเอง โดยไม่ต้องเปลืองแรงป่าวประกาศว่าตนเองกำลังทำงานหนักอยู่ 

พี่ท้อฟฟี่ ยังกล่าวในหนังสือด้วยว่า ปัญหาของความคิดแบบ “จะเอาอะไรอีก” คือการหยุดที่จะพัฒนาตนเอง เพราะยึดติดว่าสิ่งที่ทำไปแล้วคือดีที่สุดแล้ว ไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำได้มากไปกว่านี้ ซึ่งตรงข้ามสุดขั้วกับผู้นำที่ดี ที่จะไม่เคยพอใจตัวเองง่าย ๆ และเชื่อว่าเขาต้องทำได้มากกว่านี้ 

ที่ร้ายกาจคือตรรกะ “จะเอาอะไรอีก” คือการไม่เห็นค่าของคนที่เดือดร้อน ช่วยแค่นี้ก็นับว่าบุญโขแล้ว ยังจะเอาอะไรกันอี๊กกก

สำหรับวิธีแก้ชุดความคิดวิบัตินี้ ในหนังสือ ‘ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า’ แนะนำว่า ให้เปลี่ยนโฟกัสจากความหมกมุ่นว่า “ฉันทำดีแล้ว ทำไมไม่มีใครเห็นใจฉันบ้าง” มาเป็น “ฉันจะทำให้ดีมากกว่านี้” พลิกจากการคิดแบบปลง ๆ ว่า ตัวเองทำดีที่สุดแล้ว เป็น เราจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้อย่างไรแทน หรือเปลี่ยนจาก “จะเอาอะไรอีก” เป็น “จะให้อะไรได้อีก” น่าจะเวิร์กกว่า 

นั่นเพราะการเป็นผู้นำไม่ได้มาแบบฟลุ๊ก ๆ แต่เกิดจากการเป็น ‘นักแก้ปัญหา’ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และในบทนี้ พี่ท้อฟฟี่ก็ปิดจบว่า…

“หน้าที่ของผู้นำคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเสียเอง” 

นอกจากอาการน้อยใจชะตาชีวิตที่ผู้นำไม่ควรแสดงออก ความจริงแล้วยังมี ‘ปัญหา’ อีกหลายอย่างของผู้นำองค์กรหรือหน่วยงาน ที่ชวนให้พนักงานทำงานไป พลางนั่งคิดในใจว่า “อิหยังวะ” 
 

ที่มักพบบ่อย ๆ ปัญหาแรกคือ “การขาดการสื่อสารที่ดี” เมื่อผู้นำไม่สื่อสารเป้าหมายและทิศทางองค์กรให้ชัดเจน เป๋ไปทางนั้นที ทางนี้ที พนักงานก็จะเกิดความสับสน และไม่รู้ว่าตนเองควรทำอะไร อาจทำให้พนักงานเกิดความเครียดและรู้สึกไม่มั่นคงในงานที่ทำ

สองคือ “การตัดสินใจที่ไม่โปร่งใส” ไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลหรือฟังดูแล้วเข้าท่า ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจ การจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์จนไม่เป็นอันทำงาน นำไปสู่การขาดความกระตือรือร้นของพนักงานได้ 

สุดท้ายคือ “การไม่ยอมรับความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากพนักงาน” ซึ่งอาจทำให้พนักงานรู้สึกว่า ไม่มีใครให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของตน ทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน และอาจเกิดปัญหาการขาดการพัฒนาในองค์กรได้ 

หากทุกอย่างสะสมหนักเข้า แน่นอนว่าช่วงปลายปีก็จะเป็นฤดูกาลที่เอชอาร์ต้องปวดหัวกับการแห่ลาออกของพนักงาน ที่ซุ่มทำเรซูเม่เงียบ ๆ ตั้งแต่เห็นเค้าลางว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้นำได้ 

สุดท้ายแล้ว การที่องค์กรจะรอดพ้นจากวิกฤต และประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว เริ่มจากการที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการแก้ปัญหา ดังนั้น ผู้นำที่ดีจึงไม่ใช่เพียงผู้สั่งการ แต่ต้องทำให้ทีมรู้สึกว่าพวกเขามีค่า ยิ่งถ้าผู้นำกลายเป็นปัญหาด้วยการไม่ฟัง หรือไม่สื่อสารให้ชัดเจน ก็ยากที่ทั้งทีมจะเดินข้างหน้าไปพร้อมกัน

หวังว่าผู้นำที่คุณทำงานด้วย จะเป็นคนที่ทำให้คุณ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อส่วนรวมนะคะ

 

สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า