08 ก.พ. 2563 | 10:27 น.
เด็กที่โตมาจากปลายยุค 80s ต่อต้น 90s ที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ คงจะนึกถึงสมัยเด็ก ๆ ที่ใช้เวลาหน้าจอทีวีเพื่อรอดูการ์ตูนโปรดของเราเรื่องแล้วเรื่องเล่าได้เป็นอย่างดี คงจะไม่ปฏิเสธว่า บาร์บ้าปาป้า คือหนึ่งในการ์ตูนโปรดของใครหลายคนที่โตมาจากยุคนั้น บาร์บ้าปาป้า (Barbapapa) เป็นการ์ตูนจากหนังสือเด็ก แต่งโดย แอนเน็ตต์ ทิซง ( Annette Tison) สถาปนิกและนักเขียนชาวฝรั่งเศส กับ ทาลัส เทย์เลอร์ สามีชาวอเมริกันของเธอ ที่อาศัยอยู่ในนครปารีสช่วงปี 1970 เรื่องนี้เป็นเรื่องยอดนิยมของเด็ก ๆ ทั่วโลกและถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากถึง 30 ภาษา สำหรับประเทศไทย บาร์บ้าปาป้าถูกนำมาฉายในช่วงปี 1987 หรือ พ.ศ. 2530 ซึ่งผู้เขียนเองสมัยเด็ก ๆ ก็เคยได้ดูทางช่อง 11 ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ แต่ละตอนจะเป็นตอนสั้น ๆ ประมาณ 4-5 นาที โดยเริ่มต้นเปิดตัวด้วยเพลงน่ารัก ๆ ที่มีเนื้อร้องว่า Here is the star it’s Barbapapa He’ll introduce…. all of the other Barbapapas They’ve got a lot of wild disguises They can change their shapes and sizes Very easily…. แล้วเพลงก็จะไล่เรียงชื่อครอบครัวของบาร์บ้าปาป้า ได้แก่ Barbapapa, Barbamama, Barbazoo, Barbalala, Barbalib, Barbabeau, Barbabelle, Barbabright และ Barbabravo อีก 2 รอบ จำได้ว่าตอนนั้นฟังไม่รู้เรื่องหรอกว่าใครชื่ออะไร แต่ถ้าให้พูดตามเพลงเร็ว ๆ เด็กทุกคนจะร้องเลียนแบบได้ จังหวะในการพูดก็เป๊ะแน่นอน แม้จะร้องผิดร้องถูกก็ตาม แต่พอโตขึ้นมาถึงจำได้ว่า ครอบครัวบาร์บ้าปาป้ามีสมาชิกที่ประกอบด้วยตัวเอกตลอดกาลของเราคือ บาร์บ้าปาป้า (สีชมพู) มีภรรยาคือ บาร์บ้ามาม่า (สีดำ) ทั้งคู่เป็นตัวอย่างคู่รักที่อบอุ่น เป็นผู้นำที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือทุกคนในโลกใบนี้ คล้าย ๆ ตัวแทนของคนพ่อคุณแม่ในฝันของเด็ก ๆ ในยุคนั้น ครอบครัวนี้มีลูก ๆ อีก 7 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นตัวแทนความสนใจในกิจกรรมและงานอดิเรกต่าง ๆ ของเด็ก ๆ ในยุคนั้น แน่นอนว่าเด็ก ๆ ที่เป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ก็มักจะมีตัวแทนในใจที่เป็นสีต่าง ๆ ได้แก่ บาร์บ้าซู สีเหลือง ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่รักและมีความเมตตาต่อสัตว์โลก ว่าง ๆ ก็จะไปวิ่งเล่นคุยกับกระต่าย กระรอก ลูกแกะ ลูกนก บาร์บ้าลาล่า สีเขียว ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นดนตรี เธอมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขลุ่ย กีต้าร์ พิณ บาร์บ้าลิป สีส้ม ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่เป็นหนอนหนังสือ เธอเป็นคนเดียวในบ้านที่ใส่แว่นตา มีความฉลาดที่จะเอาความรู้ต่าง ๆ มาแก้ป้ญหา บาร์บ้าโบ สีดำ ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่ชอบเรื่องศิลปะ เขาจะชอบวาดรูประบายสี และมีอุปกรณ์ประจำตัวคือที่ตั้งกระดาษวาดรูปและสีน้ำ บาร์บ้าเบล สีม่วง ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่ชอบความสวยงาม เธอมีความสามารถที่จะเปลี่ยนทุกอย่างรอบตัวมาเป็นแฟชั่นได้ เช่น เอาดอกไม้มาเป็นหมวก ร่ม บาร์บ้าไบรท์ สีฟ้า ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาชอบการทดลองต่าง ๆ ค้นคว้าสิ่งที่ตัวเองสนใจและออกแบบเครื่องมือต่าง ๆ บางทีก็ประดิษฐ์หุ่นยนต์ออกมาใช้งาน บาร์บ้าบราโว สีแดง ตัวแทนของเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นกีฬา ออกกำลังกาย บางทีเขาก็จะรับหน้าที่เป็นนักสืบของครอบครัวอีกด้วย ในการ์ตูนเล่าเรื่องราวของครอบครัวบาร์บ้าปาป้าที่อาศัยอยู่กับมนุษย์เรา ๆ นี่ล่ะ แต่พวกเขามีความสามารถพิเศษในการเปลี่ยนร่างกายตัวเองให้เป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ในแบบที่เขาต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการยืด การหด หรือเลียนแบบรูปร่างสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งก่อนจะเปลี่ยนรูปร่างก็จะพูดประโยคว่า “Clickety Click Barba Trick” บาร์บ้าปาป้าเป็นการ์ตูนที่ไม่ใช่แค่ดูเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสอดแทรกแง่คิดดี ๆ ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนมุมมองให้เกิดพลังแง่บวก รวมถึงการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีหลายตอนที่ผู้เขียนชอบมาก ๆ สมัยเป็นเด็ก เช่น ตอนวันคริสต์มาสที่เด็ก ๆ ออกมาเล่นหิมะกันและอยากจะได้ต้นคริสต์มาส บาร์บ้าปาป้าจึงออกไปหาต้นสน แต่พบว่าในต้นไม้นั้นมีกระรอกและนกอาศัยอยู่เพื่อหลบความหนาวเย็น และมีพ่อหมีมาขอให้อย่าตัดต้นไม้ไป เพราะไม่งั้นสัตว์ป่าจะไม่มีบ้านอยู่ ตอนจบก็เลยมีการแก้ปัญหาด้วยการแปลงร่างเป็นต้นสนและประดับสิ่งของกันเอง เรื่องนี้เลยสอนให้เด็ก ๆ ที่ดูอยู่ได้คิดถึงผลกระทบในการทำลายธรรมชาติ และเราสามารถใช้สิ่งอื่น ๆ ทดแทนทรัพยากรทางธรรมชาติได้ ผมเชื่อว่าตัวละครในเรื่องนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเองชอบ และได้วิธีคิดนอกกรอบใหม่ ๆ แต่ยังคงไว้ซึ่งแง่คิดดี ๆ ที่ทำให้โลกนี้น่าอยู่จากครอบครัวของบาร์บ้าปาป้ากันเยอะ แน่นอนว่าถ้าเราย้อนกลับไปสมัยเราเด็ก ๆ ก็คงมีการพูดคุยกันอยู่แล้วว่า แต่ละคนอยากเป็นสีไหน อย่างผู้เขียนเองชอบ บาร์บ้าซู (สีเหลือง) เพราะคอยปกป้องดูแลสัตว์ต่าง ๆ ผู้เขียนเองก็รักสุนัขและแมวเหมือนกันนะครับ แล้วเพื่อน ๆ ผู้อ่านชอบสีไหนกันบ้าง? เรื่อง: กวิน สุวรรณตระกูล