26 ธ.ค. 2561 | 19:04 น.
“แบล็ค แพนเธอร์” หนังซูเปอร์ฮีโร่ผิวสีคืออีกหนึ่งผลงานมหาชนในปี 2018 ซึ่งก็ไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนังที่ถูกค้นหามากที่สุดใน “กูเกิ้ล” ประจำปี 2018 ขณะเดียวกันคำว่า “แบล็ค แพนเธอร์” ก็ยังเป็นชื่อที่คนทั่วโลกค้นหามากเป็นอันดับที่ห้าของโลกเช่นกัน วัฒนธรรมร่วมสมัยของ “คอมิค” หรือหนังสือการ์ตูนได้รับความนิยมอย่างมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หลังอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดหยิบยกเรื่องราวไปสร้างเป็นซีรีส์และหนังเข้าฉายกวาดรายได้ถล่มทลายนับไม่ถ้วน แม้เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังสือและภาพยนตร์จะเน้นไปที่ตัวละคร แต่รายละเอียดบางอย่างจากจินตนาการของผู้เขียนซึ่งสอดแทรกเป็นบริบท หรือฉากหลังของเรื่องราวมีแง่มุมหลายอย่างที่น่าสนใจ สำหรับตัวละคร “แบล็ค แพนเธอร์” จากมาร์เวล คือตัวละครที่ถือกำเนิดเป็นหัวฉายเดี่ยวของตัวเองในยุคที่ผู้เขียนคอมิคเริ่มหยิบจับบริบทการเมืองในช่วง 60-70 มาใส่ในฉากหลังของตัวละครแล้ว แกรม แม็กมิลแลน เขียนบทความในเว็บไซต์ “ฮอลลีวูด รีพอร์เตอร์” ระบุว่า ตัวละคร “แบล็คแพนเทอร์” ถูกสร้างโดยแจ๊ค เคอร์บี ร่วมกับสแตน ลี ประมาณปี 1966 โดยชื่อแรกที่ใช้เรียกตัวละครนี้คือ “โคล ไทเกอร์” (Coal Tiger) แต่ในปี 1972 ตัวละครนี้เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ “แบล็ค แพนเธอร์” จากการปรากฏในคอมิคเรื่อง “สี่กายสิทธิ์” หรือ Fantastic Four ปลายยุค 60 คอมิคชื่อ “แบล็ค แพนเธอร์” ได้เป็นหัวฉายเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรกระหว่างปี 1973-1976 โดยนักเขียนชื่อดอน แม็คเกรเกอร์ ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ค่ายดีซี เขียน “กรีน แลนเทิร์น” เชื่อมโยงกับปัญหาสังคมอเมริกัน ขณะที่ไอ้แมงมุมจากเรื่อง “สไปเดอร์แมน” ของมาร์เวล ก็มีซีรีส์ที่พูดถึงปัญหาการใช้ยา ส่วนตัวละคร “ทีชาลลา” ที่เป็นผู้นำ "วาคานดา" เจ้าของฉายา “แบล็คแพนเธอร์” เริ่มถูกเล่าในบริบทการเมืองท้องถิ่นก่อนเชื่อมโยงไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศมหาอำนาจ โดย “ทีชาลลา” คือตัวแทนการปกป้อง “วาคานดา” อาณาจักรของตัวเองจากภัยภายนอกและภายใน “อาณาจักร” สมมติของมาร์เวล ที่ทีชาลลา ถูกวางให้เป็นผู้ปกครองอยู่ในตอนเหนือของทวีปแอฟริกา (ตำแหน่งที่เจาะจงเปลี่ยนแปลงไปตามนักเขียน) ผู้เขียนออกแบบให้วาคานดา เป็นอาณาจักรที่แยกตัวจากโลกร่วมสมัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว วาคานด้า เป็นอาณาจักรที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก “ประเทศในโลกที่ 3 ที่โดดเด่นเรื่องสิ่งทอ, ปศุสัตว์ หรือชุดประจำชาติที่โก้เก๋” เป็นเพียงฉากหน้าของวาคานดา แต่เบื้องหลังคือแหล่งขุมทรัพย์ทางธรรมชาติ เทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำสมัย วาคานด้า คือพื้นที่ที่มีแร่ “ไวเบรเนียม” (แร่เหล็กสมมติซึ่งถูกเขียนให้เป็นแร่ที่แข็งแกร่งอันดับต้น ๆ ในจักรวาล “มาร์เวล”) ซึ่งชนชั้นผู้นำของวากานด้า นำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมไฮเทค ทรัพยากรทางธรรมชาตินี้เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของอาณาจักรมั่นคง วาคานด้า ปกครองโดยกลุ่มชนเผ่าสมมติ ประมุขคือตำแหน่งที่เรียกว่า “แบล็คแพนเธอร์” เป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำทางการเมือง และผู้ปกครอง มีสภาที่ปรึกษาอาวุโสให้คำแนะนำในการบริหาร ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถท้าชิงตำแหน่งผ่านพิธีที่ใช้การต่อสู้ตัดสิน (แต่แน่นอนว่า “ฮีโร่” ก็มีพลังพิเศษเหนือกว่าคนปกติอยู่แล้ว ซึ่งขอข้ามไปก่อน) ลักษณะของวาคานด้า ถูกมองว่าสะท้อนบริบทเชื่อมโยงกับภาพคู่ขนานของพื้นที่แอฟริกาซึ่งมักถูกชาวต่างชาติเข้ามาแทรกแซงแย่งชิงทรัพยากร ถือเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศ (ทีชาลลา/แบล็ค แพนเธอร์) ในการปกป้องทรัพยากรจากเงื้อมมือชนต่างถิ่น รักษาความมั่นคงของอาณาจักร ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความมั่นคงทางการเมืองภายในที่มักสั่นคลอนจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในช่วงที่เสถียรภาพทางการเมืองยังไม่คงที่ ครั้งหนึ่งนักเขียนเคยหยิบทีชาลล่า ไปเชื่อมโยงกับการต่อสู้กับขบวนการ Ku Klux Klan ลัทธิเหยียดผิวหัวรุนแรงในสหรัฐฯ ขณะที่อาณาจักรของฮีโร่ก็ถูกเขียนให้เป็นเป้าหมายที่โดนบุกรุกนับครั้งไม่ถ้วน (จากกลุ่มที่แทบเป็นคนผิวขาวทั้งสิ้น) สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและทางเศรษฐกิจมหาศาล ตั้งแต่ยุคทองของมาร์เวล มาจนถึงยุคดิจิทัล ตัวละครของมาร์เวล ถูกเล่าภายใต้ฐาน 2 ด้าน การต่อสู้ระหว่างความดี-ความชั่ว แต่หลายปีที่ผ่านมา มาร์เวล เริ่มทดลองให้ฝั่งฮีโร่คือนักรบที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม-ทัดเทียมทางสังคม มีตัวละครฮีโร่ผิวสี และฮีโร่หญิง ในจักรวาลคู่ขนานตัวละคร “ไอรอนแมน” เป็นหญิงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันใช้ชื่อ "ไอรอนฮาร์ท", มิสมาร์เวล เป็นอิสลาม, สไปเดอร์แมนคนใหม่ที่เป็นคนผิวสี ขณะที่วายร้ายเป็นกลุ่มที่ถูกประทับตราด้วยแนวคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” โดนัลด์ ทรัมป์ ยังถูกวาดให้กลายเป็นหุ่นฝั่งวายร้ายปรากฏในหัวหนึ่งของไลน์ฮีโร่หญิง อย่างไรก็ตาม หลายปีหลัง นักเขียนของค่ายมาร์เวล พยายามลดโทนเนื้อหาที่เชื่อมโยงตัวละครเข้ากับบริบทการเมืองลง เดวิด เกเบรียล รองประธานมาร์เวล ยอมรับว่า การพูดถึงบริบททางการเมืองหรือพูดถึงความหลากหลายทางสังคมอย่างตัวละครหลากหลายเชื้อชาติและเพศสภาพส่งผลต่อยอดขาย “เราเห็นว่ายอดขายของคาแรกเตอร์ที่มีความหลากลาย ไม่ว่าจะใหม่-เก่า ตัวละครหญิง และอะไรก็ตามที่ไม่ใช่แกนหลักของตัวละครมาร์เวล คนส่วนใหญ่จะเชิดใส่” ยุคหลังของมาร์เวล คือการเดินชนกำแพงที่ตัวเองสร้างขึ้น มาร์เวล พยายามเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเมืองแต่ไม่พูด “วายร้าย” ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็น “วายร้าย” ช่วงรุ่งเรืองของคอมิคในช่วง 60-70 และการทดลองทางสังคมของมาร์เวล ไม่เป็นมิตรกับยอดขายเท่าไหร่นัก มาร์เวล ทำยอดขายตามหลังค่ายคู่แข่งสำคัญอย่างดีซี ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การเล่าเรื่องระหว่างตัวละครมากกว่า และนักเขียนของมาร์เวล ก็ได้รับแนวทางใกล้เคียงแบบนั้นเพื่อทำยอดขาย แชดวิค บอสแมน นักแสดงที่รับบทแบล็ค แพนเธอร์ เข้าใจดีว่าบริบทตัวละครที่ตัวเองเล่นอยู่ภายใต้บริบททางการเมืองซึ่งแทบใกล้เคียงบริบทในโลกความเป็นจริงจากมุมมองว่า การที่ประชาชนเลือกคนหนึ่งคนมาบริหารงานก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเห็นดีเห็นงามไปกับทุกสิ่งที่ผู้แทนที่ถูกเลือกมาตัดสินใจทำ อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำที่มีหน้าที่บริหารจัดการจำเป็นต้องตัดสินใจ คำถามที่ตามมาคือ ผู้นำจะทำอย่างไรเป็นอันดับแรก จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่มาสนับสนุนภายใต้ความท้าทายจากขั้วตรงข้ามที่จ้องทำลายผู้ถือครองผลประโยชน์มหาศาลในมือด้วยการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งขั้วตรงข้ามคือบริบทของ “วายร้าย” ในโลกความเป็นจริงเช่นกัน จากบริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุค 60 มาสู่การเมืองของผู้นำภายในประเทศ จุดที่น่าสนใจคือ การใช้พล็อตในโลกสมมติที่สะท้อนบริบทมาสู่โลกความเป็นจริงโดยที่พล็อตโลกจินตนาการต้องสนุกเพียงพอ และสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาด้วยเช่นกัน ขณะที่แบล็ค แพนเธอร์ ของคูกเลอร์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว, พี่น้อง, การต่อสู้, ความรับผิดชอบ, บทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลตามความสัมพันธ์และสถานะ ซึ่งแทบมีองค์ประกอบสื่อถึงโลกของการเป็นคนผิวสี ความหมายเบื้องหลังเชื้อสายแอฟริกัน ไปจนถึงการเป็นพลเมืองในโลกใบนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายของคนทั่วไป เรื่อง : คุณวัฒนะ