‘บุญธรรม พระประโทน’ ฝ่าด่านสกัดดาวรุ่งสู่สถานะ ‘ราชาเพลงแปลง’ เบอร์ 1

‘บุญธรรม พระประโทน’ ฝ่าด่านสกัดดาวรุ่งสู่สถานะ ‘ราชาเพลงแปลง’ เบอร์ 1

‘บุญธรรม พระประโทน’ อัจฉริยะเพลงแปลงผู้ผันชีวิตจากสามเณรสู่ทหารและศิลปินชื่อดัง สร้างตำนานด้วยการแปลงซ้อนแปลงเพลงอย่างสร้างสรรค์

KEY

POINTS

  • จากสามเณรสู่ทหารอากาศ ก่อนค้นพบพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงและแปลงเพลง
  • โดดเด่นด้วยการ ‘แปลงซ้อนแปลง’ จากเพลงที่มีที่มาจากต่างประเทศ พร้อมสอดแทรกมุกขำขัน
  • เริ่มต้นอาชีพศิลปินตอนอายุ 45 ปี และประสบความสำเร็จอย่างสูงกับอัลบั้ม ‘ท.ทหารอดนม’

หากไม่นับ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ที่แม้จะนำท่วงทำนองเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงใหม่โดยสวมทับกับการเขียนเนื้อร้องภาษาไทย ‘คณะสุนทราภรณ์’ ดูเหมือนจะนำลีลาเพลงสากลยุค 60s มาเป็นต้นแบบการแต่งทำนองและเขียนคำร้องที่มีลีลาเฉพาะตัว

ขณะที่วงการเพลงไทยสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สตริงคอมโบ้’ รวมถึง ‘เพลงลูกกรุง’ บางส่วน ในช่วงปลายยุค 70s ต่อต้นยุค 80s ต้องยอมรับว่า ห้วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคทองของ ‘เพลงแปลง’ อย่างแท้จริง

‘เพลงลูกกรุง’ นั้นส่วนใหญ่คล้าย ‘เพลงลูกทุ่ง’ ซึ่งมักจะเป็นเพลงแบบ ‘100 เนื้อ-ทำนองเดียว’ ที่ ‘เพลงลูกกรุง’ ส่วนใหญ่นำทำนอง ‘เพลงจีน’ มาใส่เนื้อไทย ขณะที่ ‘สตริงคอมโบ้’ ส่วนใหญ่เป็นการนำ ‘เพลงฝรั่ง’ มาใส่เนื้อไทย

อีกสายหนึ่ง คือ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ที่ในยุคแรก มักนำ ‘เพลงโฟล์คอเมริกัน’ มาใส่เนื้อไทย เนื่องจาก ‘โฟล์คอเมริกัน’ ในยุค 70s ส่วนใหญ่เป็น ‘เพลงประท้วง’ เช่น ต่อต้านสงครามเวียดนาม หรือเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนผิวสี

ส่วน ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ในยุคหลัง มีบ้างที่นำทำนอง ‘เพลงร็อค’ และ ‘ป๊อปร็อค’ มาแปลงเป็นเนื้อไทย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ‘สายเพื่อชีวิต’ มักชอบหยิบเอา ‘เพลงโฟล์ค’ มาทำเป็นเพลงไทย

ตัวอย่างของ ‘สตริงคอมโบ้’ ไล่ตั้งแต่ยุค ‘ดิ อิมพอสสิเบิ้ล’ มาจนถึง ‘รอยัล สไปร์ท’ ไล่ไปจนถึงยุค ‘เมกะ แดนซ์’ ที่นำทำนอง ‘เพลงสากล’ มา ‘ใส่เนื้อไทย’ 

‘เพลงฮิต’ ส่วนใหญ่ ก็คงจะหนีไม่พ้นเพลงอย่าง ‘My First Time’ ของ ‘Lobo’ ต้นฉบับเพลง ‘งัวหาย’ ของ ‘ดิ อิมพอสซิเบิ้ล’ หรือจะเป็น ‘Puff the Magic Dragon’ ของ ‘Peter Paul and Mary’ ต้นฉบับเพลง ‘ยับ’ ของ ‘ชัยรัตน์ เทียบเทียม’ และ ‘Day-O’ (The Banana Boat Song) ของ ‘Harry Belafonte’ ต้นฉบับเพลง ‘แดดออก’ ของ ‘มีศักดิ์ นาครัตน์’

 

หรืออีกหลายเพลงของ ‘ดอน สอนระเบียบ’ ที่นำเพลงสากลทั้งฝรั่งและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น มาใส่เนื้อไทย ไม่ว่าจะเป็น ‘เก้าล้านหยดน้ำตา’ (9,999,999 Tears ของ Dicky Lee) ‘ไม่รักแกล้งหลอก’ (Lighting Bar Blues ของ Brownville Station) ‘ดาดาดา’ (Da Da Da ของวง Trio) ‘ดาวประดับใจ’ (‘ซูบารุ’ ของ ‘ชินจิ ทานิมูระ’)

‘สายเพื่อชีวิต’ ที่จริง ๆ แล้ว เป็นเพลงเชิงอุดมการณ์จาก ‘ศิลปินเพื่อสังคม’ ทว่า เมื่อสำรวจแล้ว พบว่า เป็นวงการที่ ‘ลอกเพลง’ มากในอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว 

ตัวอย่างก็เช่น ‘John Barleycorn Must Die’ วง ‘Traffic’ ต้นฉบับเพลง ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ของวง ‘คาราวาน’, ‘A Hard Rain's A-Gonna Fall’ ของ ‘Bob Dylan’ ต้นฉบับเพลง ‘ตายสิบเกิดแสน’ ของวง ‘คาราวาน’, ‘Hana’ ของ ‘Shoukichi Kina’ ต้นฉบับเพลง ‘ดอกไม้ให้คุณ’ ของวง ‘คาราวาน’

‘Man Come into Egypt’ ของ ‘Peter, Paul and Mary’ ต้นฉบับเพลง ‘อุ๊ยคำ’ ของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’, ‘Changing of the Guards’ ของ ‘Bob Dylan’ ต้นฉบับเพลง ‘ตาผุยชุมแพ’ ของวง ‘อมตะ’, ‘Running on Faith’ ของ ‘Eric Clapton’ ต้นฉบับเพลง ‘ลัง’ ของวง ‘มาลีฮวนน่า’

และอีกนับ 100 เพลงใน ‘สายเพื่อชีวิต’

นอกจากนี้ ยังมี ‘เพลงร็อค’ ของไทย ที่ถูกคนรุ่นใหม่ล้อเลียนว่าเป็น ‘เพลงลอก’ เพราะ Copy มาจาก ‘เพลงสากล’ ทั้งฝรั่ง และญี่ปุ่น อีกหลัก 100 เพลงเช่นกัน แต่บทความนี้คงจะไม่เจาะลึกลงในรายละเอียด เนื่องจากเราอยากพูดถึง ‘บุญธรรม พระประโทน’ กันก่อน

ส่วนเรื่องของ ‘เพลงแปลง’ แบบมหากาพย์ คงต้องขออนุญาตไปต่อในโอกาสหน้า เพราะนั่งเขียนได้เป็นวัน ๆ และก็นั่งอ่าน-นั่งฟังกันได้เป็นวัน ๆ เช่นกัน
 

ฝ่า ‘ด่านสกัดดาวรุ่ง’ มุ่งสู่สถานะ ‘ราชาเพลงแปลง’ เบอร์ 1 ของไทย

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นรูปรอยของความก้าวหน้าวงการเพลงไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ต้องยอมรับว่า เพลงไทยร่วมสมัย มีรากจากเพลงตะวันตก เพราะการร้องบรรเลง ทั้งในห้องอัด และบนเวทีคอนเสิร์ต ล้วนใช้เครื่องดนตรีตะวันตก ไม่ใช่เครื่องดนตรีไทย

ดังนั้น การแต่งเนื้อเพลงไทย ยังไงก็คงต้องใช้ท่วงทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสานผ่านดนตรีตะวันตก ซึ่งในยุคบุกเบิกของการแต่งเพลงไทยสากล ไล่ตั้งแต่ ‘สุนทราภรณ์’ มาจน ‘ลูกกรุง’ ‘ลูกทุ่ง’ ‘เพื่อชีวิต’ และ ‘สตริงคอมโบ้’ ล้วนอาศัยทำนองเพลงสากลเป็นหลักมาก่อน

ก่อนที่ความช่ำชองจะค่อย ๆ ก่อกำเนิดขึ้นในรูปแบบการคิดค้นท่วงทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นได้เองในเวลาต่อมา

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า เพลง ซูบารุ (ดาวประดับใจ) ก็ดี เพลง Hana (ดอกไม้ให้คุณ) ก็ดี เป็นเพลงที่แปลงมาจากเพลงต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) รวมถึงเพลงฝรั่งอีกหลายเพลง

ความพิเศษตรงนี้ มีศิลปินอัจฉริยะท่านหนึ่ง ซึ่งได้ทำการ “แปลงเพลงซ้อนเพลงแปลง” อีกทีหนึ่ง เขาผู้นี้มีชื่อว่า ‘บุญธรรม พระประโทน’

แม้ ‘บุญธรรม พระประโทน’ จะมีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้ของผู้คนในวงกว้าง ว่าเป็น ‘ราชาเพลงแปลง’ ที่มาพร้อมมุกตลกในการ ‘แปลงเพลงดัง’ ในแต่ละยุคสมัย ให้กลายเป็น ‘เพลงดังของตัวเขาเอง’

แต่ในเบื้องหลังแล้ว หากฟังฝีมือการแปลงเพลง ซึ่งก็คือฝีมือการเขียนเพลง จะเห็นได้ว่า เขาเป็นคนเขียนกลอน หรือเขียนเนื้อเพลงที่รอบจัดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากภาษาที่เขาใช้ การเลือกคำให้คล้องจอง และมีความหมายสอดรับ และส่งทอดต่อกัน เพื่อสื่อถึงเนื้อหาบทเพลงภายใต้ Concept ที่วางไว้โดยไม่หลุดออกนอกประเด็น ซึ่งเป็นมาตรฐานของนักแต่งเพลงชั้นครูเลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ยากมากในการทำงานศิลปะ หรือเรียกได้ว่า ‘ยากที่สุด’ ก็ว่าได้ ก็คือ การเรียกเสียงหัวเราะ หรืออย่างน้อยก็รอยยิ้ม จากผู้ที่ได้รับชมผลงานศิลปะนั้น เรียกได้ว่า เป็นอีกขั้น หรืออีกชั้นหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานเลยก็ว่าได้

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ‘บุญธรรม พระประโทน’ ได้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดชีวิตการทำงานของเขา ที่ตอนเริ่มต้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องฝ่า ‘ด่านสกัดดาวรุ่ง’ มากมาย ไล่ตั้งแต่ในวงดนตรีดุริยางค์ทหารอากาศ มาจนถึงวงการเพลงไทยในช่วงที่เข้าเพิ่งเริ่มเข้าวงการ

‘บุญธรรม พระประโทน’ มีชื่อจริงว่า ‘บุญธรรม สงฆ์ประชา’ เกิดในชุมชนวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี โดย ‘บุญธรรม พระประโทน’ มีพี่น้องทั้งหมด 2 คน ตัวเขาเองเป็นคนสุดท้อง และเป็นลูกชายโทน จบการศึกษาขั้นสูงสุดชั้น ม.3 จากโรงเรียนวัดไร่ขิง

เมื่ออายุได้ 15 ปี ‘บุญธรรม’ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดไรขิง ต่อมาได้ไปอยู่ที่วัดวิเศษการเพื่อศึกษาภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร จากนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดประยูรวงศ์ เพื่อฝึกเทศนาสั่งสอนพระธรรม ด้วยทักษะการแหล่ประกอบทำให้ถูกใจญาติโยมยิ่งนัก

‘บุญธรรม พระประโทน’ เป็น ‘ศิษย์เอก’ ของ ‘พจน์ คงเพียรธรรม’ หรือ ‘พระครูพิศาลธรรมโกศล (สุพจน์ กญจนิโก)’ เจ้าของนามปากกา ‘แพรเยื่อไม้’ ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง ‘หลวงตา’ ทำให้เขาได้ซึมซับความรู้ด้านวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โคลงฉันท์กาพย์กลอน ต่อมา ‘เณรน้อยบุญธรรม’ ได้ย้ายมาจำวัดอยู่ที่วัดช่องลม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหวนมาศึกษาภาษาบาลีจนสอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก และเปรียญ 3 ประโยค

บวชเณรจนกระทั่งอายุ 20 ปี จึงลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส 1 เดือนเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นพระ และได้บวชเป็นพระยาวนานร่วม 15 ปี แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจสึก เพราะร้อนผ้าเหลืองเนื่องจากสีกาเป็นเหตุ ตอนนั้นอายุได้ 26 ปีพอดี หลังจากลาสิกขาออกมาแล้ว ‘ทิดบุญธรรม’ ได้ไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ที่กรมอากาศโยธิน โดยยอมเป็นทหารเกณฑ์ที่อายุมากที่สุดในรุ่น เพราะอยากจะลิ้มรสชีวิตที่ยากลำบากดูบ้าง หลังจากที่สบายมา นับ 10 ปี

ด้วยความที่ ‘ทิดบุญธรรม’ เป็นคนมีอารมณ์ขัน และมีพรสวรรค์ในการร้องเพลง จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมวงดนตรี และร้องเพลงกับวงดนตรีทหารอากาศอยู่เสมอ ๆ จนกระทั่ง ‘พันอากาศเอกหญิงประชุม พุ่มศิริ’ ผู้ร้องเพลง ‘ลุ่มเจ้าพระยา’ เห็นแวว จึงมาชักชวนให้เข้าวงดุริยางค์ทหารอากาศ

แต่ว่ากันว่า ‘ทิดบุญธรรม’ ถูกกีดกันจากนักแต่งเพลงคนหนึ่ง จนมาวันหนึ่งผู้บังคับบัญชาคือ ‘พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา’ ได้เห็นความสามารถของ ‘ทิดบุญธรรม’ หรือ ‘พลทหารอากาศบุญธรรม’ ในตอนนั้น จึงเรียกให้ไปช่วยร้องเพลง  และเป็นพิธีกรให้กับงานของกองทัพอากาศ

โดย ‘พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา’ ได้ปรารภอยู่เสมอว่า “ถ้าผมไม่ตาย ไปเสียก่อน จะอยู่รอดูความสำเร็จของเด็กคนนี้”

จุดเริ่มต้นฉายา ‘ราชาเพลงแปลง’

หากพิจารณาถึงความสามารถอันเอกอุที่ ‘บุญธรรม พระประโทน’ ได้แสดงออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปลงเพลงซ้อนเพลงแปลง ตัวอย่างเช่น เพลงซูบารุ ที่กำลังดังในเมืองไทยจากการแปลงเพลงของ ‘ดอน สอนระเบียบ’ (ดาวประดับใจ) โดย ‘บุญธรรม’ จัดการแปลง ‘ซูบารุ’ ให้กลายเป็นเพลงตลกแบบขำกลิ้ง


รวมถึงเพลง ‘หน่อไม้ให้คุณ’ ที่ ‘บุญธรรม พระประโทน’ แปลงซ้อนแปลง จากเพลง ‘ดอกไม้ให้คุณ’ ของวง ‘คาราวาน’ (ที่จริงแปลงจาก ‘ดอกไม้ให้คุณ’ เวอร์ชัน ‘แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์’ หากดูจากการล้อเลียนมิวสิควิดีโอของ ‘พี่แจ้’) ซึ่งเพลงต้นฉบับเป็นของ Shoukichi Kina (เพลง Hana)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปลงเพลงดังของวง ‘คาราบาว’ ในยุคนั้นคือ ‘ท.ทหารอดทน’ เป็นเพลง ‘ท.ทหารอดนม’


และเพลงในอัลบั้ม ‘ท.ทหารอดนม’ ที่แปลงจากเพลงฮิตเพื่อชีวิตอื่น ๆ เช่น ‘วณิพกตาไม่บอด’ (แปลงจาก ‘วณิพก’ ของ ‘คาราบาว’) ‘กรรมของกู’ (แปลงจาก ‘กัมพูชา’ ของ ‘คาราบาว’) ‘ปั๊มเด็ก’ (แปลงจาก ‘เด็กปั๊ม’ ของ ‘คนด่านเกวียน’)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ตาผุยโกงแชร์’ ที่เป็นอีกเพลงที่เขา ‘แปลงซ้อนแปลง’ เนื่องจากวง ‘อมตะ’ ได้แปลงเพลง ‘Changing of the Guards’ ของ ‘Bob Dylan’ มาเป็นเพลง ‘ตาผุยชุมแพ’ แล้วก่อนที่ ‘บุญธรรม’ จะ ‘แปลงซ้อนแปลง’ อีกที (ฮา)


ย้อนกลับไปก่อนโด่งดัง ‘บุญธรรม พระประโทน’ เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยเกือบจะได้ชื่อว่าเป็น ‘พระเอกหนัง’ เพราะมีโอกาสจะได้เล่นหนังของ ‘ท่านมุ้ย’ ทว่า มีเหตุขัดข้องบางประการทำให้ต้องมีอันเลิกล้มไป ‘บุญธรรม’ จึงหันมาจับไมค์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเป็นนักร้องให้กับวงดุริยางค์ทหารอากาศ

โดย ‘พันอากาศเอกหญิงประชุม พุ่มศิริ’ ได้ตั้งชื่อในวงการให้เขาว่า ‘บุญธรรม พระประโทน’ เพื่อให้ใช้ในการร้องเพลงในฐานะนักร้องประจำวง เมื่อชั่วโมงบินในการร้องเพลงของเขา มากขึ้น ‘บุญธรรม’ จึงเริ่มหัดแปลงเพลง เช่น แปลงเพลง ‘ยิ้มแป้น’ ของ ‘รอยัล สไปรท์’ เป็น ‘ยิ้มแฉ่ง’ เป็นต้น

แรงบันดาลใจที่ทำให้ ‘บุญธรรม พระประโทน’ หันหน้าเข้าหา ‘วงการเพลงแปลง’ ก็เนื่องมาจากได้มีโอกาสได้ศึกษา ‘เพลงแปลง’ ของ ‘บรมครูเพลงแปลง’ ที่ชื่อ ‘ครูนคร มังคลายน’ จนกระทั่งสามารถแปลงเพลง ‘น้ำค้างเดือนหก’ ผลงานของ ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ เป็นเพลง ‘น้ำก๊อกที่หยดจากแป๊บ’

ต่อมา ‘บุญธรรม’ ได้รับการชักชวนจาก ‘สุวรรณ ทองพันธ์’ ให้มาร้องเพลงประจำที่ห้องอาหารเมรี แววความเป็นนักร้องของเขา เรื่องส่องประกายในขณะที่เป็นนักร้องประจำอยู่ที่ห้องอาหารเมรี ซึ่งในขณะนั้นมีแฟนเพลงประจำคือ ‘ธรรมนูญ ปุงคานนท์’ ผู้เป็นสามีของ ‘พันอากาศเอกหญิง ประชุมพุ่ม ศิริคุณธรรมนูญ’ ได้ชักชวนให้บุญธรรมไปร้องเพลงประจำที่ห้องอาหารบินหลา

ที่นี่เอง หลังจากที่เขาร้องเพลงอยู่ได้ประมาณปีเศษ ได้มีโอกาสได้พบกับ ‘ปิยะ ตระกูลราษฎร์’ พระเอกชื่อดังในตอนนั้น การเจอกันครั้งนั้น ทำให้ ‘บุญธรรม พระประโทน’ ได้มีโอกาส ‘ออกเทป’ จนนำไปสู่ชื่อเสียงที่โด่งดังคับประเทศ และกลายเป็นตำนานในเวลาต่อมา

‘บุญธรรม พระประโทน’ เคยให้สัมภาษณ์ว่า พอคุณปิยะเห็นเขาร้องเพลงแปลงเท่านั้น ก็บอกว่า “นี่มันเงินทั้งนั้น” เขาก็เลยชวนผมไปทำเทป แต่ว่าตอนแรก ‘บุญธรรม’ ยังไม่ไปเพราะกลัวติดคุก เนื่องจากทำนองเพลงที่เอามาแปลงทั้งหมดนั้นเป็นผลงานที่ลิขสิทธิ์

แต่ ‘ปิยะ ตระกูลราษฎร์’ บอกว่า ได้เคลียร์กับ ‘แอ๊ด คาราบาว’ ให้แล้ว สามารถแปลงเพลง ‘ท.ทหารอดทน’ ได้ ‘บุญธรรม’ ก็เลยทำเพลงชุด ‘ท.ทหารอดนม’  เป็นเทปชุดแรก ที่ในขณะนั้น ‘บุญธรรม พระประโทน’ อายุ 45 ปีแล้ว นับว่าช้ามากสำหรับการเริ่มต้นเป็นศิลปิน

‘บุญธรรม พระประโทน’ ถ่อมตัวเสมอมาว่า ตนไม่ใช่คนแรกที่แปลงเพลง แต่เป็นคนแรกที่เอาเพลงแปลงมาร้องเพื่ออัดเทปขาย โดยเทปชุด ‘ท.ทหารอดนม’ นั้น ทุกแผงเทป และรายการวิทยุเปิดกันกระหึ่ม ได้เงินค่าร้องชุดนี้มาทั้งหมด 500,000 บาทจากค่ายโอเชี่ยน

ต่อมาได้จึงทำสัญญากับค่ายเสียงทอง ทำเทปออกมาหลายชุด และขายดีทุกชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัลบั้ม ‘ไอ้เข่งขี้คุย’ ซึ่งแปลงมาจากเพลง ‘ไอ้โข่ง’ ของวง ‘คนด่านเกวียน’ ที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น


โดยในชุดนี้มีเพลงดังอีกเพลงคือ ‘ซุปหน่อไม้ให้คุณ’ (แปลงมาจากเพลง ‘ดอกไม้ให้คุณ’) ทำให้ ‘บุญธรรม พระประโทน’ เป็นนักร้องเพลงแปลงชื่อดัง และมีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย ได้ร่วมงานกับค่ายเทปต่าง ๆ อย่างมากมาย

ปี พ.ศ. 2538 ‘บุญธรรม พระประโทน’ ล้มป่วยเป็นโรคหัวใจโต อาการไม่ค่อยสู้ดีนัก ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิพลนานแรมเดือน โดยก่อนจะเข้า รพ.เขาได้ฝากผลงานเพลงแปลงไว้หนึ่งชุด ปรากฏว่าแฟนเพลงนิยมชมชอบงานเพลงชุดนี้มากยอดขายทะลุหลักล้าน เขาขึงต้องลุกจากเตียงคนไข้มาผลิตผลงานเพลงแปลงตามมาอีกชุดหนึ่ง และแฟนเพลงก็ให้การตอบรับดีเช่นเคย สิ่งนี้เองกลายเป็นยาขนานเอก ทำให้ ‘บุญธรรม พระประโทน’ ที่ป่วยอยู่ หายวันหายคืนจนฟื้นฟูร่างกายคืนสู่สภาพเดิม และสามารถสร้างสรรค์งานเพลงขึ้นใหม่ออกมาอีกชุดหนึ่งคือชุด ‘มนต์รักลูกครึ่ง’ ซึ่งเป็นเพลงแปลงจากเพลง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’

นอกจาก ‘เพลงเพื่อชีวิต’ สุดฮิต ‘บุญธรรม พระประโทน’ ได้แปลงเพลงลูกทุ่งอีกหลายชุด ซึ่งเป็นเพลงดังของยุคสมัย เช่น เพลงของ ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’

‘บุญธรรม พระประโทน’ ยังได้เคยแปลงเพลงสากลเอาไว้อีกหลายเพลง เช่น ‘รัสปูติน’ ในนามปากกา ‘ไมเคิล แจ็คยาว’

‘เจงกีสข่าน’ ในเพลง ‘ไม่เอาถ่าน’

หลังจากหายป่วย ‘บุญธรรม พระประโทน’ ได้บวชบำเพ็ญกุศลที่วัดปริวาสย่านถนนตก เมื่อวันที่ 27พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2538 อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2539 มีข่าวเศร้า ว่า ‘บุญธรรม พระประโทน’ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 57 ปี ปิดตำนาน ‘ราชาเพลงแปลง’ เบอร์ 1 ของเมืองไทยไปอย่างน่าเสียดาย

 

เรื่อง:  ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: ยูทูบ บุญธรรม พระประโทน