04 ธ.ค. 2563 | 10:19 น.
เคยได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับโดราเอมอนไปบ้างแล้ว เช่น เรื่องของเดคิสึงิ และเรื่องตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอนไปแล้ว แต่วันนี้จะมาคุยเรื่องเกี่ยวกับเจ้าปากแหลมซูเนโอะกันบ้าง ซูเนโอะนั้นได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากใบหน้าของสุนัขจิ้งจอก จึงมีใบหน้าและเรียวปากลักษณะแหลม ๆ เพราะต้องการให้ซูเนโอะมีนิสัยเจ้าเล่ห์เหมือนจิ้งจอก สาเหตุคือ แม้ว่าซูเนโอะมักจะเข้าพวกกับไจแอนท์เพื่อรังแกโนบิตะก็จริง แต่หลายครั้งซูเนโอะเองก็เป็นฝ่ายมาร่วมมือกับโนบิตะเพื่อล้างแค้นไจแอนท์เช่นกัน จัดว่าเจ้าเล่ห์แบบจิ้งจอกโดยแท้ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ถ้าหากจัดเดคิสึงิไว้ในหมวด ‘ศัตรูหัวใจ’ ของโนบิตะ, ไจแอนท์อยู่ในหมวด ‘ศัตรูด้านทำร้ายร่างกาย’, ซูเนโอะก็จัดอยู่ในหมวด ‘ศัตรูประเภททำลาย Self-Esteem (ความนับถือที่มีต่อตัวเอง)’ ของโนบิตะนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม วิธีที่ซูเนโอะใช้แกล้งโนบิตะนั้น จัดว่าโหดร้ายกว่าการทำร้ายร่างกายที่ไจแอนท์ใช้มากนัก วิธีของซูเนโอะนั้นบรรดาแฟนคลับชาวญี่ปุ่นเรียกว่าวิธี “ได้แค่ 3 คนเท่านั้นนะ” (三人用だから) โดย Flow ของการแกล้งทำร้าย Self-Esteem ของโนบิตะเป็นดังนี้เสมอ ๆ ตลอดทั้งเรื่องเลยก็คือ ซูเนโอะเอาอะไรสักอย่างมาอวดเพื่อน ๆ (เช่น ภาพถ่ายไปเมืองนอก, ของสะสมเก่าหายาก, ของเล่นเท่ ๆ ฯลฯ) -> ซูเนโอะชวนไจแอนท์และชิสุกะเล่นด้วย -> โนบิตะบอกว่าขอเล่นด้วย -> ซูเนโอะบอกว่า “ขอโทษนะ แต่เกมนี้เล่นได้แค่ 3 คนเท่านั้น” -> โนบิตะร้องไห้ไปขอของวิเศษจากโดราเอมอน การแกล้งแบบนี้ของซูเนโอะมีให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง เป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตอนแล้วตอนเล่า จัดว่าเป็นการกระทำที่เลวร้ายมาก และจงใจอย่างแน่นอน เช่น ฉากที่ซูเนโอะชวนไปเที่ยวด้วยรถยนต์ ซูเนโอะก็บอกว่า “ได้แค่ 3 คนเท่านั้น เพราะต้องมีคนขับอีกที่หนึ่งเป็น 4” เพื่อเขี่ยโนบิตะออกไป, มีตั๋วไปกินอาหารอร่อย ๆ ก็บอกว่า “มีตั๋วแค่ 3 ใบเท่านั้นนะ”, หรือตอนที่เอาวิดีโอเกมมาอวดก็บอกว่า “เกมนี้เล่นได้แค่ 3 คน” ฯลฯ เพื่อให้โนบิตะรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยวเพียงลำพังออกจากกลุ่ม (วิดีโอเกมบ้าอะไรจะเล่นได้แค่ 3 คน จริงมั้ย!?) ทำไมซูเนโอะจึงแกล้งโนบิตะแบบนี้? สาเหตุเดียวที่คิดได้คือ ซูเนโอะเป็นคนมีปมด้อยนั่นเอง เราสามารถรู้ได้จากการตั้งชื่อซูเนโอะอีกด้วย คำว่า ซุเนะ มาจากกริยา ซุเนะรุ (拗ねる) ที่แปลว่า งอน, ฉุนเฉียว, ปั้นปึ่ง บวกกับคำปัจจัย (Suffix) ว่า -โอะ (夫) ที่หมายถึง -ศักดิ์ เพื่อแสดงความเป็นเพศชาย ชื่อ ซุเนะโอะ จึงแปลว่า ‘งอนศักดิ์’ หรือ ‘ปั้นปึ่งศักดิ์’ ที่แสดงให้เห็นถึงการไม่เคยพอใจอะไรในตัวเอง ไม่เคยนับถือตัวเอง คือซูเนโอะเป็นคนขาด Self-Esteem ขั้นรุนแรงนั่นเอง ตัวละครในเรื่องที่มีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันบ่อย ๆ คือ เดคิสึงิซึ่งเรียนเก่งกีฬาเด่น, ชิสุกะเรียนเก่งรองจากเดคิสึงิและสวยน่ารัก, ไจแอนท์ตัวใหญ่แข็งแรง ทุกคนต่างก็มีจุดเด่นของตัวเองที่ซูเนโอะไม่สามารถเทียบได้ ในขณะที่โนบิตะนั้นไม่มีจุดเด่นอะไรเลยตามการรับรู้ของซูเนโอะ (โนบิตะเก่งพันด้ายและยิงปืน แต่ซูเนโอะไม่ได้ให้เครดิตทักษะเหล่านี้) โนบิตะจึงมีลักษณะของ loser ที่แท้จริง ที่ซูเนโอะล็อกเป้าเป็นเหยื่อในการทำร้ายความรู้สึก เพื่อให้ซูเนโอะเองรู้สึกดีกับตัวเอง คือซูเนโอะใช้โนบิตะเป็นเหยื่อในการเพิ่ม Self-Esteem ของซูเนโอะนั่นเอง ว่ามีคนที่ “ด้อยกว่าเราอยู่เสมอ รู้สึกดีจังที่เราเหนือกว่า” แบบนี้! น่าจะเป็นความรู้สึกที่เรา ๆ ท่าน ๆ สามารถเข้าใจได้ หรือรู้จักใครรอบตัวในโลกแห่งความเป็นจริงที่นิสัยเหมือนซูเนโอะแบบนี้ ซูเนโอะมีปมด้อยว่าตัวเองตัวเตี้ยกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน และฉี่รดที่นอนจนเรียนชั้นประถมฯ (ปิดเป็นความลับสุดยอด จนโดนพวกโนบิตะกับโดราเอมอนรู้จนได้) เรียนก็ไม่ได้เก่งอะไรมาก ทำคะแนนได้แย่ ๆ โดนแม่ดุก็บ่อย รวมทั้งลึก ๆ ก็อยากได้โดราเอมอนมาอยู่กับตัวเองด้วย อีกทั้งญี่ปุ่นในยุคของเรื่องโดราเอมอนนั้นคือต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งญี่ปุ่นยังเป็นสังคมแห่งชนชั้นกลางเกือบทั้งประเทศ เรียกว่า ‘สังคมชนชั้นกลาง 100 ล้านคน’ (一億総中流) คือประชากรญี่ปุ่นมีความแตกต่างทางชนชั้นน้อยมาก ไม่ได้มีใครที่สามารถสะสมที่ดินหรือทรัพย์สมบัติอย่างมากมายได้ (เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นถูกอเมริกาเข้ามารื้อถอนโครงสร้างกลุ่มอำนาจผูกขาดทางธุรกิจที่เรียกว่า Zaibatsu ทิ้งไปหมด) และมีกฎหมายภาษีมรดก ทำให้ความร่ำรวยไม่ได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ การที่พ่อของซูเนโอะสามารถสร้างฐานะตัวเองจนร่ำรวยแซงหน้าคนอื่นได้ใน 1 ชั่วอายุคน จัดว่าหาได้ยากมากสำหรับญี่ปุ่นยุค ’70s จึงไม่แปลกที่ทั้งพ่อและลูกจะขี้อวดกันทั้งคู่ เมื่อซูเนโอะไม่มีอะไรเด่นนอกจากความร่ำรวย ความร่ำรวยจึงกลายเป็นสิ่งเดียวที่ซูเนโอะพอจะเอามาอวดเพื่อน ๆ เพื่อเพิ่ม Self-Esteem ให้ตัวเองได้ นอกจากนี้ ซูเนโอะยังมีปมกับฮาวายมาก เวลามาอวดว่าไปเที่ยวเมืองนอกมา มักจะเป็นฮาวายเสมอ เช่น มีการกล่าวถึงว่าซูเนโอะไปฮาวายครั้งแล้วครั้งเล่าในเล่ม 7, เล่ม 21, เล่ม 27, เล่ม 38, เล่ม 44 เพราะเกาะฮาวายเป็นเกาะที่ชาวญี่ปุ่นนิยมอพยพไปอยู่อาศัย หรือไปเที่ยวกันมาก ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (ช่วงเดียวกับที่เริ่มเขียนโดราเอมอนสู่ท้องตลาด) ชาวญี่ปุ่นจัดให้ฮาวายเป็น เทบัง (定番) หรือเป็นไฟต์บังคับสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ฐานะดีและต้องการไปเที่ยวเมืองนอกเลยก็ว่าได้ ลักษณะนี้น่าจะคล้ายกับเมืองไทยในปัจจุบันที่คนฐานะดีจะต้องไปใช้ชีวิตช่วงสงกรานต์กับซะกุระที่ประเทศญี่ปุ่นก็ว่าได้ ดังนั้น ไม่มีอะไรจะเป็นการ ‘อวดร่ำอวดรวย’ ที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับโนบิตะมากไปกว่าการที่ซูเนโอะร่ำรวยในระดับที่ไปฮาวายรัว ๆ หลายรอบ และไปทีละเป็นเดือน แถมยังมีเครื่องบินส่วนตัวขับเที่ยวที่ฮาวายอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าซูเนโอะจะเลวร้ายกับโนบิตะมากเพียงใด เวลาในภาคพิเศษ เด็กทั้ง 5 คนนี้ก็จะมารวมพลังกันต่อสู้เพื่อโลกอยู่เสมอ เป็นไปตามแนวคิด อุจิ (内) และ โซะโตะ (外) แบบญี่ปุ่นโดยแท้ โดย อุจิ คือวงใน หมายถึงคนสนิท คนที่เราผูกพัน คนที่เราต้องติดต่อด้วยบ่อย ๆ ส่วน โซะโตะ ก็ตรงข้าม คือคนนอก หมายถึงคนที่เราไม่สนิท คนที่เราไม่ค่อยผูกพัน คนที่เราไม่ค่อยต้องติดต่อคบหาด้วย สัมพันธภาพของซูเนโอะและโนบิตะ ปกติจะเป็น โซะโตะ คือไม่สนิทกันเท่าไร แต่พอมีศัตรูจากวงนอกยิ่งกว่านั้นเข้ามา ซูเนโอะและโนบิตะก็พร้อมจะเป็นสัมพันธภาพวงในที่สนิทกันทันที ไม่ว่าเราจะทะเลาะกัน เกลียดกันมากมายเพียงใด เมื่อมีศัตรูที่ยิ่งใหญ่กว่าเข้ามากล้ำกราย เราก็จะกลายเป็นพันธมิตรกับศัตรูเดิมของเราชั่วคราวได้เพื่อต่อสู้กับศัตรูที่มาจากวงนอกออกไปมากกว่าได้ (เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ของตัวร้ายหลายตัวใน Dragon Ball กลายเป็นพวกพระเอก) เพราะในที่สุดแล้ว เด็กเหล่านี้ก็เป็นเพียงเด็กชั้นประถมฯ ที่ยังต้องทะเลาะ ร้องไห้ เรียนรู้ และเติบโตขึ้นต่อไป และเผชิญหน้ากับสังคมที่กว้างขึ้นไปกว่าสังคมโรงเรียนประถมฯ ในที่สุด