23 ม.ค. 2562 | 18:08 น.
สถานการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรีย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้กระทั่งนักร้องนักดนตรี อย่าง โอมาร์ สุลีย์มาน (Omar Souleyman) ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่เมือง Ras al-Ayn ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นเมืองร้าง เพราะผลจากการสู้รบ ด้วยความร้อนระอุของสงครามกลางเมืองที่ปะทุต่อจากชนวนอาหรับสปริง ในปี ค.ศ. 2011 นักร้องคนนี้ตัดสินใจฝ่าดงกระสุน หนีตายข้ามพรมแดนมาพำนักลี้ภัยในประเทศตุรกี “ที่สุดที่ผมปรารถนา คือให้มันหยุดเสียที เพื่อทุกคนจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ” โอมาร์ เผยความในใจ “ผมได้เห็นผู้คนหิวโหย เห็นผู้คนล้มตาย นั่นทำให้ผมเศร้าใจ บางครั้งผมแทบไม่อยากจะร้องเพลงอีกต่อไป” เดิมที โอมาร์ สุลีย์มาน มีพื้นฐานมาจากชนชั้นแรงงาน แต่จากการทำงานพิเศษด้วยการรับจ้างร้องเพลงตามงานแต่งงานและงานปาร์ตี้ต่างๆ ทำให้เขาค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียงขึ้นทีละน้อย กล่าวกันว่าเขามีผลงานถึง 700 อัลบั้ม ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากบันทึกการแสดงสดในงานแต่งงานของบ่าวสาวคู่นั้นๆ ที่ลงเอยด้วยการมอบบันทึกการแสดงสดของวันนั้นให้เป็นของขวัญ อัลบั้มเหล่านี้บังเอิญมีโอกาสแพร่หลายไปตามท้องตลาด วันดีคืนดี มาร์ค เกอร์กิส นักดนตรีจากแคลิฟอร์เนีย เดินทางผ่านมาพบเข้า เขามีโอกาสได้ยินเสียงเพลงเหล่านี้ มาร์คจึงสนใจ เสาะหา และติดตามซื้ออัลบั้มเพลงเหล่านี้จากแผงขายเพลงในตลาดนัด และรวบรวมทำออกขาย ภายใต้สังกัดอินดี้ ชื่อว่า “ซับไลน์ ฟรีเควนซีส์” ที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา โอมาร์ เป็นมุสลิมนิกายซุนนีก็จริง แต่บ้านเกิดทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่หลอมรวมสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน “ดนตรีของผมมาจากชุมชนที่ผมเกิด มาจากพวกเคิร์ด, อัสซีเรีย และอาหรับ ทุกอย่างรวมกันอยู่ในชุมชนแห่งนี้ แม้กระทั่งพวกเติร์กซึ่งอยู่ไม่ไกลอออกไป แค่เพียงข้ามผ่านพรมแดน หรือแม้แต่อิรัก...” บทเพลงของ โอมาร์ นั้น เรียกรวมๆ ว่า “ดับเก” (Dabke) พื้นฐานเป็นเพลงเต้นรำยอดนิยมที่กระจายอยู่ทั่วไปในย่านตะวันออกกลาง ทั้งในซีเรีย อิรัก เรื่อยไปจนถึงเลบานอน โอมาร์ถ่ายทอดเสียงร้องออกมาทั้งในภาษาเคิร์ดและอาหรับ แต่มูลเหตุที่บทเพลงของเขาโดนใจแฟนเพลงหมู่มาก วิเคราะห์กันว่ามาจากการที่เขาเรียบเรียงเพลงป๊อปพื้นถิ่นเหล่านี้เสียใหม่ จากเดิมที่เคยร้องบรรเลงกันอย่างแช่มช้าก็ดัดแปลงให้เป็นเพลงที่มีจังหวะรวดเร็ว ราวกับกีฬา “กายกรรม” อันระทึกและหฤหรรษ์ จังหวะความเร็วเหล่านี้ ด้านหนึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาเป็นเครื่องดนตรีใหม่ๆ เช่น กลอง ที่เล่นได้เร็วขึ้น หรือ ซินธิไซเซอร์ ที่สามารถปรุงแต่งเสียงสังเคราะห์ เพื่อเลียนเสียงเครื่องเป่าตระกูล “ลิ้น” (reed woodwind instrument) “มันเคยเป็นเพลงช้ามาก่อน แต่เมื่อคีย์บอร์ดเข้ามา ทุกๆ ปี เราจะทำให้มันเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน” โอมาร์ยังเสริมด้วยว่า สไตล์ของการเล่นแบบนี้ มีขึ้นเพื่อการแสดงสดโดยเฉพาะ “ดนตรีเร็วเป็นส่วนหนึ่งของกีฬา มันทำให้คุณเคลื่อนไหว มันเป็นเหมือนกีฬาที่ทำให้คุณกระโดดโลดเต้นได้ และนั่นพลอยทำให้ผู้ชมเป็นไปอย่างเดียวกัน พวกเขามีทีท่าที่จะเต้นรำกับเพลงจังหวะเร็วๆ” ในเวลาเดียวกัน โอมาร์ สุลีย์มาน ยังมีทีมกวีที่พร้อมจะเขียนคำร้องใหม่ๆ ให้เขาหยิบมาด้นสดระหว่างการร้องบรรเลงบนเวที ด้วยลีลาภาษาที่โดนใจ ดังตัวอย่างเช่น “เธอเปรียบดั่งภูสูง ทุกเวลาที่ฉันปีนป่าย ทุกจังหวะก้าวนั้นฉันคิดถึงเธอ” หรือจะเป็น “ดวงใจน้อยๆ ของฉันกำลังสั่นไหว เพราะความรักของเธอ” ด้วยชื่อเสียงและคอนเน็คชั่นที่เชื่อมโยงกับโลกตะวันตก เปิดทางให้ศิลปินคนนี้มีโอกาสอัดเสียงกับศิลปินชื่อดังบางราย เช่น บียอร์ก หรือได้รับเชิญให้ไปแสดงในเทศกาลดนตรีต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนที่ซีเรียจะแปรสภาพเป็นสมรภูมิกลางเมือง แม้กระทั่งในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ชื่อชั้นของ โอมาร์ สุลีย์มาน ศิลปินจากซีเรีย ดูจะเรียกความสนใจได้ดีขึ้น เขามีอัลบั้ม Wenu, Wenu ออกขายในอังกฤษ กับ “ริบบอน/โดมิโน” ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่มีศิลปินดัง อาร์ติก มังกีส์ อยู่ในสังกัด เขาเคยได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเทศกาลกลาสตันเบอรี จากนั้นในเดือนธันวาคม 2013 เขาร่วมแสดงในงานมอบรางวัลโนเบลที่นครออสโล ประเทศนอร์เวย์ ต่อด้วยการทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา แน่นอน คงมีคนตั้งข้อสงสัยว่า แล้ว โอมาร์ สามารถเป็นตัวแทนศิลปินซีเรียได้จริงๆ หรือ ? เพราะแม้กระทั่งศิลปินเพลงบางคนจากชาติเดียวกันยังไม่เห็นพ้อง พร้อมตอกย้ำเหตุผลว่า เอาเข้าจริงๆ บทเพลงของซีเรียมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมมากกว่าเพลงเต้นรำดาดๆ แบบนั้นมาก “ถ้าใครสักคนสองคนพูดอย่างนั้น มันก็เป็นความเห็นของเขา ผมไม่อาจโต้เถียงได้หรอก” โอมาร์ สะท้อนปฏิกิริยาออกมา “บางทีอาจเป็นเพราะอิจฉา บางทีอาจเป็นเพราะเรื่องอื่นๆ การผสมผสานดนตรีดั้งเดิมกับเพลงป๊อปเป็นเส้นทางที่ทอดยาวไปเบื้องหน้า ใครๆ ก็ฟังเพลงแบบนี้กันทั้งนั้น” ทว่า ปัญหาสำคัญกว่านั้นน่าจะย้อนกลับมาที่สถานการณ์ในซีเรียมากกว่า ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่านับจากสงครามปะทุขึ้นเมื่อปี 2011 จนถึงเดือนตุลาคม 2017 มีประชาชนล้มตายจากสงครามไปแล้วถึง 4 แสนคน ประชากรเกือบ 5 ล้านคนต้องอพยพหนีภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และอีกเกือบ 20 ล้านคนยังต้องทนทุกข์ทรมานจากไฟสงคราม “ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นเช่นใด ไม่มีดนตรีในซีเรียอีกต่อไป ทุกอย่างหยุดนิ่ง ถึงแม้จะมีนักดนตรีสักคนคิดอยากจะทำเพลงออกมา แต่เขาคงไม่มีวันทำ เหมือนอย่างที่เคยทำ จะด้วยความเบิกบานหรือด้วยความปรารถนาที่แท้จริง หลังจากการฆ่าและการทำลายล้าง เป็นเรื่องยากที่จะสร้างสรรค์งานดนตรีต่อไป “สงครามส่งผลกระทบกับทุก ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวผม ผมไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ผมไม่รู้ว่ามันจะมีทางออกอย่างไร” ถ้อยคำที่เจ้าตัวเปรยออกมาทิ้งท้าย ราวกับจะบอกว่า คำตอบนั้นยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม