25 เม.ย. 2568 | 07:47 น.
KEY
POINTS
ในเดือนมิถุนายน ปี 1933 ประเทศสหรัฐอเมริกายังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ (The Great Depression) วิทยุเพิ่งเริ่มเข้าสู่ครัวเรือนส่วนใหญ่ เด็กหนุ่มชื่อ ‘อลัน โลแม็กซ์’ (Alan Lomax 1915 - 2002) และบิดาของเขา ซึ่งเป็นนักเก็บข้อมูลเพลงพื้นบ้าน ได้เริ่มต้นการเดินทางทั่วภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา เพื่อบันทึกเสียงของนักโทษ ชาวไร่ และแรงงานผิวดำ
วันหนึ่ง พวกเขาเดินทางไปยังไร่ ‘สมิทเธอร์ส’ (Smithers Platation) รัฐเท็กซัส ด้วยรถบรรทุกขนาดเล็กที่ด้านหลังบรรทุกเครื่องบันทึกเสียงแบบพกพา ประกอบด้วยอุปกรณ์เทอะทะที่ใช้แผ่นอะลูมิเนียมเป็นสื่อบันทึก และต้องเชื่อมต่อไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์
ที่นั่นเอง เขาได้พบกับชายผิวดำที่รู้จักเพียงชื่อสั้น ๆ ว่า ‘บลู’ (Blue) โดย บลู ร้องเพลงที่เขาแต่งเอง ก่อนจะร้องเพลง ‘Stagolee’ ตามคำขอของ อลัน เมื่อเสียงร้องจบลง อลัน เปิดปุ่ม playback ให้ บลู ฟังเสียงของตนเองเป็นครั้งแรก
ไม่มีใครพูดอะไร ไม่มีใครขยับ และผู้จัดการไร่ที่ยืนอยู่ข้างหลังก็เดินออกจากห้องไปอย่างเงียบงัน
สำหรับห้วงเวลานั้น อลัน โลแม็กซ์ มองว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่เขาตระหนักว่า ‘เสียง’ ของผู้คนธรรมดาที่ไม่มีเวทีหรือพื้นที่เล่าเรื่องของตนเอง สมควรที่จะถูกบันทึกและรักษาไว้เพื่อคนรุ่นหลัง
ตอนนั้น อลัน ยังไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ยังไม่รู้จักคำว่า ‘ethnomusicology’ หรือ ‘cultural equity’ เขารู้เพียงว่า ต้องมีใครสักคนทำหน้าที่นี้ ก่อนที่มันจะสูญหายไป
นับจากนั้นเป็นต้นมา อลัน ใช้เวลาเกือบเจ็ดทศวรรษของชีวิตเดินทางต่อไป เขาไปทั้งในพื้นที่เรือนจำ ทุ่งนา โบสถ์ บ้านชาวประมงในสกอตแลนด์ ชุมชนในเทือกเขาแอลป์ สถานีรถไฟใต้ดินในสเปน และถนนฝุ่นในมิสซิสซิปปี เพื่อบันทึกเสียงของผู้คนให้โลกได้รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของพวกเขา
อลัน โลแม็กซ์ เกิดเมื่อปี 1915 ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส เป็นบุตรของ ‘จอห์น เอ. โลแม็กซ์’ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผู้เชื่อมั่นว่า เพลงพื้นบ้านคือร่องรอยที่ยังมีชีวิตของอเมริกา
ปี 1933 จอห์น ได้รับทุนจาก American Council of Learned Societies เพื่อทำงานบันทึกเสียงภาคสนาม ตอนนั้น อลัน ยังเป็นเด็กหนุ่มวัย 18 ปี แต่มีความล้ำหน้ากว่าคนหนุ่มรุ่นเดียวกัน เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส (UT) ตอนอายุ 15 ในปีต่อมา ย้ายมาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ‘คาร์ล แซนเบิร์ก’ นักประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเพื่อนของ จอห์น เคยเอ่ยปากชมลูกชายของเพื่อนว่า เป็น “...หนุ่มอเมริกันรุ่นใหม่ที่เปล่งประกาย”
ในยุคที่ ‘วัฒนธรรมกระแสหลัก’ ยังไม่สนใจเสียงของผู้คนระดับล่าง และการศึกษาดนตรียังจำกัดอยู่ในหอประชุมกับวงดนตรีซิมโฟนี เสียงที่พ่อของเขาตามหากลับอยู่ตามคุก ในชนบท กลางทุ่งนา และในลมหายใจของผู้คน
สำหรับจอห์น โลแม็กซ์ เพลงไม่ได้เป็นเพียงการแสดงออกทางอารมณ์ แต่บันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองและภาษาท้องถิ่น เขาเชื่อว่าเพลงที่ร้องในเรือนจำในหลุยเซียนา หรือท่วงทำนองของเสียงขับร้องในไร่ฝ้าย มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าเพลงที่แสดงในคอนเสิร์ตฮอลที่มหานครนิวยอร์ก
อลันเอง ในตอนแรกยังไม่ได้มีความคิดชัดเจนนักว่า จะสืบทอดภารกิจของพ่อ แต่เมื่อได้ลงมือ ปรับหัวเข็ม กดแผ่นเสียงให้หมุน และได้ยินเสียงคนงานร้องผ่านออกมาทางลำโพง เขาเริ่มตระหนักว่า ‘การบันทึกเสียง’ ไม่ใช่แค่การเก็บสิ่งที่กำลังจะสูญหาย แต่คือการทำให้ใครบางคนได้ปรากฏ
ช่วงเวลานั้น โลแม็กซ์ผู้พ่อ ทำงานกับทาง Library of Congress อย่างเป็นทางการ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดเก็บเพลงพื้นบ้าน (Head of the Archive of American Folk Song) ในขณะที่ อลัน ค่อย ๆ กลายเป็นมือขวาในภาคสนาม โดยไม่ได้รับตำแหน่งทางราชการใด ๆ แต่สิ่งที่เขาได้รับ คือการเรียนรู้ผ่าน ‘เสียง’ ว่า สหรัฐอเมริกา ประเทศที่เขาเติบโตมานั้น มีร่องรอยของความไม่เท่าเทียมแฝงอยู่ในทุกท่อนของการขับร้อง
จากเรือนจำหลุยเซียนาในปี 1933 มีเสียงร้องของชายคนหนึ่งผ่านเข็มบันทึกเสียงเข้าสู่แผ่นอะลูมิเนียม นั่นคือ ‘ฮัดดี เลดเบตเตอร์’ (Huddie Ledbetter) หรือที่คนรู้จักกันภายหลังในชื่อ ‘ลีด เบลลี’ (Lead Belly) นักโทษผิวดำ ผู้มีเสียงร้องแหลมสูงอันทรงพลัง และถือกีตาร์ 12 สายเป็นเครื่องมือหลัก
อลัน โลแม็กซ์ และบิดา ได้พบศิลปินผิวสีคนนี้ ในขณะกำลังบันทึกเสียงในเรือนจำแองโกลา (Angola Prison Farm) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจเพลงพื้นบ้านของรัฐลุยเซียนา การบันทึกเสียงในครั้งนั้น ไม่ใช่แค่ ‘การค้นพบศิลปิน’ ตามปกติ แต่กลายเป็นบทนำของความสัมพันธ์อันซับซ้อน ระหว่าง ‘ผู้ร้อง’ กับ ‘ผู้ฟังที่ถือเครื่องอัดเสียงอยู่ในมือ’
ลีด เบลลี เป็นศิลปินที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเอง เขาร้องได้ทั้งเพลงบลูส์ เพลงแรงงาน เพลงเชิดชูศรัทธา ไปจนถึงเพลงป๊อปยุคใหม่ที่นิยมในเมือง แต่ อลัน กลับชื่นชอบเขาที่สุดในแบบที่ “ยังไม่ถูกขัดเกลา” ด้วยความดิบ เสียงแตก คำร้องหยาบโลน เขาจึงกีดกันไม่ให้ ลีด เบลลี ร้องเพลงร่วมสมัย
หากมองในแง่นี้ อลัน ก็กลายเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์และผู้ควบคุมในเวลาเดียวกัน
‘เกร็กจ์ มิลเนอร์’ (Greg Milner) ผู้เขียนหนังสือ Perfecting Sound Forever ยังระบุว่า อลัน โลแม็กซ์ ไม่ชอบกลุ่มนักร้อง Golden Gate Quartet ซึ่งกำลังโด่งดังในหมู่คนผิวดำในขณะนั้น เพราะมองว่าเสียงของพวกเขา “ประณีตเกินไป” เสียงประสานหมดจดเรียบร้อย คล้ายศิลปะที่ผ่านการขัดเกลา จนไม่เหลือร่องรอยดิบของท้องถิ่น
ในเชิงประวัติศาสตร์ ลีด เบลลี เป็นศิลปินผิวดำคนแรก ๆ ที่ถูกนำเข้าสู่เวทีการบันทึกเสียงและการแสดงอย่างเป็นระบบโดยคนขาวหัวก้าวหน้าในเมือง เขากลายเป็นภาพแทนของ ‘อดีต’ ที่คนในเมืองอยากรำลึก แต่ ลีด เบลลี ก็ต้องเล่นบทบาทนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้คงอยู่ในพื้นที่ที่เขาไม่เคยเลือกตั้งแต่แรก
ลีด เบลลี ได้รับการยกย่องในฐานะต้นแบบของนักร้องบลูส์/โฟล์ก และมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลัง อย่าง บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan), แวน มอร์ริสัน (Van Morrison) และเคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) แต่ต้นทางของเขา และเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เสียงของเขาสามารถเดินทางออกจากกำแพงคุก ไม่สามารถแยกออกจากการจัดวางของ อลัน โลแม็กซ์ ไปได้
ในปี 1940 ระหว่างการเดินทางภาคสนามในรัฐมิสซิสซิปปี อลัน โลแม็กซ์ มาถึงเมืองคลาร์กส์เดล ซึ่งในเวลานั้นคือศูนย์กลางสำคัญของดนตรีเดลต้าบลูส์
เขาได้ยินข่าวถึงเสียงขับร้องในโบสถ์ First African Baptist Church โบสถ์เก่าแก่ที่มีประวัติย้อนไปถึงยุคก่อนสงครามกลางเมือง ซึ่งเคยเป็นแหล่งกำเนิดของบทเพลงสปิริตชวล (spiritual) เสียงร้องประสานของผู้ศรัทธาที่ไม่มีเครื่องดนตรี ไม่มีโน้ตเพลง มีแต่หัวใจและจังหวะชีวิต
อลัน คาดหวังจะได้ยินสิ่งเหล่านี้อีกครั้ง เขาเตรียมเครื่องบันทึกไว้พร้อม รอเพียงสัญญาณของเสียง แต่เมื่อพิธีกรรมเริ่มต้นขึ้น เสียงที่ได้ยิน กลับไม่ใช่เสียงที่เขารอ
มันไม่ใช่เสียง spiritual ดั้งเดิม แต่เป็น กอสเปล (gospel) แนวใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังของยุคสมัย มีเปียโน มีการเรียบเรียงอย่างถูกต้อง และมีจังหวะจะโคนคล้ายเพลงป๊อป มันเป็นเสียงของศรัทธาที่ไม่ยึดติดกับอดีต เป็นเสียงของชุมชนที่ปรับตัวกับความทันสมัย ไม่ใช่จมอยู่ในความทรงจำ
วันนั้น อลันไม่ได้บันทึกเสียงใด ๆ เขาเพียงแค่ปิดเครื่อง แล้วเดินออกมาอย่างเงียบ ๆ ในขณะที่บาทหลวงของโบสถ์อธิบายกับเขาอย่างสุภาพว่า โลกกำลังเปลี่ยนไป และเสียงเพลงในโบสถ์ก็เปลี่ยนตามไปด้วย
เกร็กจ์ มิลเนอร์ ระบุว่า การที่ อลัน ตัดสินใจไม่บันทึกเสียงในวันนั้น ไม่ใช่เพราะดนตรีที่ได้ยินไม่มีคุณค่า แต่เพราะดนตรีนั้น ไม่ตรงกับสิ่งที่ อลัน ‘เชื่อ’ ว่าควรถูกเก็บไว้ คลาร์กส์เดล จึงเป็นฉากหนึ่งของความย้อนแย้ง ในขณะที่ อลัน เชื่อว่าทุกเสียงสมควรถูกฟัง แต่เสียงที่เขาได้ยินที่โบสถ์ในวันนั้น กลับไม่เข้าเกณฑ์
ไม่ไกลจากตัวเมืองคลาร์กส์เดล คือ ไร่สตอวัลล์ (Stovall Plantation) ที่ซึ่งแรงงานผิวดำจำนวนมากทำงานกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ที่นั่น เขาได้พบชายวัย 26 ปีคนหนึ่ง ชื่อ ‘แมคคินลีย์ มอร์แกนฟิลด์’ ผู้ที่เวลาว่างหลังเลิกงานจะหยิบกีตาร์ขึ้นมาร้องเพลงบลูส์แบบเดลต้า ด้วยท่วงทำนองช้า หนักแน่น และเต็มไปด้วยความรู้สึก ชายคนนั้นเรียกตัวเองว่า ‘มัดดี้ วอเตอร์ส’ (Muddy Waters)
อลัน ตั้งเครื่องบันทึกเสียงและกดปุ่ม เกร็กจ์ เขียนถึงจังหวะนั้นว่า “ในการเดินทางครั้งเดียวกันนั้น การตัดสินใจของอลันในการเปิดเครื่องบันทึกเสียง ได้เปลี่ยนทิศทางของดนตรีอเมริกันไปในแบบที่เรียกได้ว่า ‘สั่นสะเทือนถึงราก’”
เสียงที่ถูกบันทึก คือ เดลต้า บลูส์ แท้ ๆ ใช้สไลด์กีตาร์ น้ำเสียงคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นดินและประสบการณ์จัดจ้าน มันไม่ใช่เพลงที่ใครฟังในเมือง ไม่เคยถูกเล่นผ่านวิทยุ และยังไม่มีแม้แต่ชื่อในหน้าประวัติศาสตร์
เมื่อบันทึกเสร็จสิ้น อลัน เปิด playback ให้ มัดดี วอเตอร์ส ฟังเสียงของตัวเอง นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่นักกีตาร์หนุ่มจากไร่แห่งนี้ ได้ยินเสียงตัวเองผ่านแผ่นเสียง เขานิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า เขายัง “ทำได้ดีกว่านี้”
หลังจากนั้นไม่นาน มัดดี วอเตอร์ส ตัดสินใจเดินทางไปชิคาโก เขาเริ่มใช้กีตาร์ไฟฟ้า และกลายเป็นหัวใจของคลื่นชิคาโกบลูส์ ซึ่งต่อมากลายเป็นหนึ่งในเบ้าหลอมของดนตรีร็อกแอนด์โรล
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อลัน โลแม็กซ์ ไม่หยุดอยู่เพียงการบันทึกเสียงในชนบทของอเมริกา เขาเริ่มขยายขอบเขตงานของตนเองออกไปนอกประเทศ โดยเดินทางไปยังอังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ อิตาลี สเปน จาเมกา และประเทศในแคริบเบียน เป้าหมายยังคงเดิม บันทึกเสียงของผู้คนที่ไม่ได้มีพื้นที่ในระบบอุตสาหกรรมบันเทิง
ระหว่างปี 1950 – 1958 โลแม็กซ์ใช้เวลาอยู่ในยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะในอังกฤษ ซึ่งเขาทำงานร่วมกับ BBC ในฐานะผู้จัดและผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน เขาเป็นหนึ่งในผู้กระตุ้นให้เกิด ‘folk revival’ ที่อังกฤษในยุคหลังสงคราม โดยเชื่อมโยงดนตรีพื้นบ้านของชาวอังกฤษ เข้ากับกระบวนการทำความเข้าใจตนเองของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านจากจักรวรรดิ
เขายังทำงานในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ โดยใช้แนวทาง ‘field recording’ แบบอเมริกัน เดินทางด้วยอุปกรณ์บันทึกเสียงขนาดใหญ่ เข้าไปถึงหมู่บ้านชาวประมง ชุมชนเกษตรกรรม และกลุ่มดนตรีเร่ร่อนที่ไม่เคยถูกบันทึกมาก่อน
ในอิตาลี เขาบันทึกเสียงจากหลายภูมิภาค เช่น เนเปิลส์ ซิซิลี และซาร์ดิเนีย โดยเฉพาะในซาร์ดิเนีย เขาพบการร้องแบบ polyphonic ที่ซับซ้อนของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบดนตรีเปล่งเสียงที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป เขารู้สึกทึ่งกับความสามารถของชาวบ้านธรรมดาที่ร้องเพลงด้วยโครงสร้างเสียงซับซ้อนเกินคาดหมาย
อลัน โลแม็กซ์ ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ‘นักวิชาการ’ โดยตรง แต่ผลงานของเขาเริ่มถูกยอมรับในหมู่นักชาติพันธุ์วิทยาดนตรี (ethnomusicologists) ว่าเป็นการศึกษาที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งในศตวรรษที่ 20
หลังจากหลายทศวรรษของการเดินทาง อลัน โลแม็กซ์ ค่อย ๆ ขยับจากงานภาคสนาม ไปสู่งานสร้าง ‘ระบบ’ สำหรับความเข้าใจวัฒนธรรมผ่านเสียง
ในทศวรรษ 1980 เขาเสนอแนวคิด ‘Cultural Equity’ (ความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม) ซึ่งหมายถึงการที่ทุกวัฒนธรรม ควรมีสิทธิ์เท่ากันในการแสดงออก ถ่ายทอด และรักษารากเหง้าของตน โดยไม่ถูกกลืนโดยกระแสหลักหรือตลาดเสรี โดยมีเป้าหมายในการทำงาน คือ “เพื่อส่งคืนเสียงดนตรีและถ้อยคำของผู้คน ให้กลับไปสู่ผู้คน”
อลัน ก่อตั้ง Association for Cultural Equity (ACE) ขึ้นในปี 1983 เพื่อให้หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ดูแลคลังเสียงจำนวนมหาศาลที่เขาเก็บมาตลอดชีวิต และเริ่มต้นโครงการ The Global Jukebox ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เชิงวัฒนธรรมที่รวบรวมเพลงพื้นบ้านและรูปแบบการแสดงจากทั่วโลก โดยผู้ใช้งานสามารถสำรวจเพลงจากเผ่าในแอฟริกา, ชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้, เพลงซาร์ดิเนีย, เสียงจากฮังการี, หรือเพลงเร่ร่อนจากเอเชียกลาง
หลังจากเขาเสียชีวิตในปี 2002 มีการอนุรักษ์คลังเสียงที่เขารวบรวมไว้กว่า 5,000 ชั่วโมง และเปิดให้เข้าถึงผ่านระบบออนไลน์ โดยความร่วมมือระหว่าง ACE, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
อลัน โลแม็กซ์ เคยพูดว่า เขาอยาก “ส่งเสียงกลับคืนสู่ผู้คน” แต่เสียงที่ถูกส่งกลับออกไปนั้น ผ่านกระบวนการอะไร? และใครเป็นคนเลือกว่า เสียงไหนควรจะได้รับการฟัง?
ใน Perfecting Sound Forever เกร็กจ์ มิลเนอร์ ตั้งข้อสังเกตอย่างระมัดระวังว่า แม้ อลัน จะมีเจตนาชัดเจนในการบันทึก ‘เสียงของผู้ไร้เสียง’ แต่ในกระบวนการทำงาน เขากลับมีบทบาทในการเลือก กำกับ และคุมโทนเสียงเหล่านั้นอย่างเข้มงวด
เขายกกรณีของ ลีด เบลลี ที่ถูกห้ามไม่ให้ร้องเพลงป๊อปที่ชื่นชอบ เพียงเพราะ อลัน ต้องการ ‘ความดิบ’ แบบที่เขาเห็นว่า ‘จริงแท้’ หรือในกรณีของวงร้องประสานเสียง Golden Gate Quartet ซึ่ง อลัน มองว่าเสียงของพวกเขา ‘สะอาดเกินไป’ และไม่มีรากเหง้าท้องถิ่นมากพอ
ในมุมมองของนักวิชาการสมัยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม critical ethnomusicology และ postcolonial theory ได้ตั้งคำถามว่า การบันทึกเสียงของผู้ด้อยอำนาจ โดยคนที่มีอำนาจในการเลือกนั้น เป็นการฟังหรือการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาคหรือไม่ เพราะเสียงที่ถูกบันทึกไว้ อาจไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนของวัฒนธรรม แต่คือสิ่งที่ผ่านการจัดวางแล้ว โดยคนที่ถือเครื่องมือ
นักวิจัยบางคน เช่น เดโบราห์ หว่อง (Deborah Wong) และฟิลิป โบห์ลแมน (Philip Bohlman) ตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดเรื่อง ‘เสียงแท้’ (authenticity) ที่นิยมในยุคสมัยของ อลัน โลแม็กซ์ นั้น มีอคติอยู่ลึก ๆ โดยเฉพาะกับวัฒนธรรมผิวดำหรือชนพื้นเมือง เสียงจะถูกมองว่า ‘จริงแท้’ ก็ต่อเมื่อ ไม่ทันสมัย ไม่ถูกผสม ไม่กลายพันธุ์ และการบันทึกเสียงเหล่านี้อาจกลายเป็นการ ‘ตรึงอดีต’ ให้คนกลุ่มหนึ่งต้องอยู่ในภาพที่ผู้อื่นกำกับไว้
ถึงกระนั้น ก็ยากจะปฏิเสธว่า อลัน โลแม็กซ์ คือหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อ “สิ่งที่เราฟัง” ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาไม่ได้เป็นคนสร้างสรรค์เสียงดนตรี แต่เขาเก็บเสียงของโลกที่กำลังจะหายไป และทำให้กลายเป็นสมบัติของมนุษยชาติ
ในระยะเวลากว่า 60 ปีของการทำงาน อลัน โลแม็กซ์ มีผลงานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ามากมาย อาทิ งานบันทึกเสียงภาคสนามกว่า 5,000 ชั่วโมง จากกว่า 30 ประเทศ ทั้งในอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และแคริบเบียน, ร่วมกับบิดา เป็นผู้นำทีมเก็บเสียงให้กับ Archive of American Folk Song แห่ง Library of Congress ระหว่างปี 1937–1942, ค้นพบและบันทึกเสียงศิลปินพื้นบ้านระดับตำนาน เช่น เลด เบลลี (Lead Belly), วูดดี กัธรี (Woody Guthrie), มัดดี วอเทอร์ส (Muddy Waters) และ จีน ริตชี (Jean Ritchie)
นอกจากนี้ เขายังผลิตรายการวิทยุ-โทรทัศน์เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านให้กับ BBC ในช่วงพำนักในอังกฤษ (1950 – 1958) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘folk revival’ ทั่วยุโรป, มีบทบาทในการพัฒนาแนวคิด Cultural Equity และก่อตั้ง Association for Cultural Equity (ACE) ในปี 1983 เพื่อดูแลการเก็บ รักษา และเผยแพร่เสียงของชุมชนวัฒนธรรมต่าง รวมถึงก่อตั้งโครงการ The Global Jukebox ฐานข้อมูลเชิงวัฒนธรรมที่รวมเสียงดนตรีพื้นบ้านจากทั่วโลก โดยจัดแสดงในรูปแบบแผนที่เสียงให้คนเข้าถึง (theglobaljukebox.org)
อลัน โลแม็กซ์ ได้รับการยกย่องด้วยรางวัลระดับชาติ เช่น National Medal of Arts จากรัฐบาลสหรัฐฯ (1986) และ Grammy Trustees Award หลังจากเสียชีวิตในปี 2002 แต่เหนือกว่ารางวัล คือหลักฐานผลงานที่ยังคงได้ฟังจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของนักโทษในคุกที่หลุยเซียนา เสียงของชาวบ้านในเนเปิลส์ เสียงของหญิงชราในหมู่บ้านซาร์ดิเนีย หรือเสียงของนักร้องบลูส์ที่ไม่เคยมีแผ่นเสียงของตัวเอง
อลัน โลแม็กซ์ ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เขาถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์ ถูกตีความใหม่ในหลายมิติ แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เขาทำงานเพื่อทำให้โลก “ได้ยิน” อะไรบางอย่างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
เสียงเหล่านั้นยังไม่จางหาย และแผ่นเสียงยังหมุนวนต่อไป
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ที่มา:
Bohlman, Philip V. World Music: A Very Short Introduction. Oxford University Press, 2002.
Milner, Greg. Perfecting Sound Forever: An Aural History of Recorded Music. Farrar, Straus and Giroux, 2009.
“The Alan Lomax Collection – About This Collection.” Library of Congress,
https://www.loc.gov/collections/lomax/about-this-collection/.
“Alan Lomax.” Association for Cultural Equity,
https://www.culturalequity.org/alan-lomax/about-alan.
“Alan Lomax.” Wikipedia,
https://en.wikipedia.org/wiki/Alan_Lomax.
“Alan Lomax, Folklorist Who Sought Roots of Music, Dies at 87.” The New York Times, 21 July 2002,
https://www.nytimes.com/2002/07/21/obituaries/alan-lomax-folklorist-who-sought-roots-of-music-dies-at-87.html.