28 เม.ย. 2564 | 18:39 น.
ชิสุกะ คือนางเอกของเรื่องโดราเอมอน และมีชะตาลิขิตจะต้องแต่งงานกับโนบิตะ ทุกคนทราบกันดี แต่วันนี้เราจะลองมองชิสุกะด้วยมุมมองอีกแบบกัน ในตอนแรก ๆ ของมังงะนั้น โนบิตะเรียกชิสุกะแค่ ‘ชิสุจัง’ หรือบางครั้งเรียก ‘ชิสุโกะ’ ก็มี แต่พอเนื้อเรื่องดำเนินต่อไป และเริ่มมีอะนิเมะ มีการเรียกเต็มว่า ‘ชิสุกะจัง’ ในเวอร์ชันอะนิเมะ และในที่สุดก็กลายเป็นมาลงตัวว่าให้โนบิตะเรียกชิสุกะว่า ‘ชิสุกะจัง’ ในที่สุด ชิสุกะมีชื่อนามสกุลจริงคือ มินะโมะโตะ ชิสุกะ (源静香) มินะโมะโตะเป็นนามสกุลคนญี่ปุ่นทั่วไป คำว่าชิสุกะก็เป็นชื่อของผู้หญิงญี่ปุ่นทั่วไปเช่นกัน โดยที่อักษร ชิสุ (静) แปลว่า ‘เงียบ’ ในขณะที่ กะ (香) แปลว่า ‘กลิ่นหอม’ ถ้าแปลแบบกำปั้นทุบดินก็คือ สุภาพสตรีควรจะ ‘สงบเสงี่ยมและประทินผิวให้หอม’ เรียกว่าตั้งชื่อตามขนบกุลสตรีญี่ปุ่นเลยทีเดียว ชิสุกะนั้นถูกเลี้ยงดูอย่างค่อนข้างเข้มงวดเพื่อให้เป็นกุลสตรีตามแบบฉบับญี่ปุ่นโบราณที่เรียกว่า ‘เรียวไซเค็มโบะ (良妻賢母)’ ที่แปลว่า ‘ภรรยาที่ดีและแม่ที่ชาญฉลาด’ บอกไว้ชัดเจนถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นยุคโชวะ (ดูอ้างอิงการแบ่งศักราชแบบญี่ปุ่นด้านล่าง) เพราะเรื่องโดราเอมอนเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1969 จัดอยู่ในยุคโชวะนั่นเอง แล้วระบบการศึกษาญี่ปุ่นในยุคนั้นยังเป็นระบบการศึกษาที่เรียกว่า Spartan Education (スパルタ教育) อีกด้วย คือระบบการศึกษาแบบยัดเยียดทุกสิ่ง มีเพียงมาตรวัดเดียวและเป็นระบบแพ้คัดออก แม่ของชิสุกะจึงมีการจ้างติวเตอร์มาติวที่บ้าน และเข้มงวดเรื่องเรียนพอสมควร ชิสุกะเคยสอบได้คะแนนถึง 85/100 แต่กลับถูกแม่ดุด่าอย่างแรงจนร้องไห้ (ในเล่ม 21 จาก 45 เล่มที่เป็นเวอร์ชันต้นฉบับ) นอกจากนี้ ชิสุกะยังต้องเรียนรู้ศิลปะหลายอย่างที่กุลสตรีพึงเรียนเช่น เปียโน, ไวโอลิน, บัลเล่ต์, และเรียนจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่เรียกว่าอิเคะบะนะ (生け花) อีกด้วย ตัวชิสุกะเองชอบไวโอลินมากกว่าแต่ว่าเล่นไม่เก่ง ในขณะที่เล่นเปียโนได้ดีแม้ว่าตัวเองจะไม่ชอบ แต่คุณแม่ของชิสุกะชอบเปียโนมากกว่าจึงค่อนข้างซีเรียสกับการเรียนเปียโนของลูกสาวมาก มีฉากที่ชิสุกะเรียนเปียโนด้วยใบหน้าเกือบจะร้องไห้ออกมาก็มี ชิสุกะยังชอบอาบน้ำมาก อาบน้ำเฉลี่ยวันละ 3 ครั้ง ทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเมืองหนาว นอกจากฤดูร้อนในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่จะร้อนเหมือนประเทศไทยแล้ว อีก 10 เดือนที่เหลือจะอากาศเย็นหรือหนาว คนญี่ปุ่นทั่วไปโดยเฉลี่ยอาบน้ำไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ในฤดูหนาวบางคน 2-3 วันถึงจะอาบน้ำสักครั้งก็มี ชิสุกะจึงจัดว่ามีนิสัยชอบอาบน้ำในระดับที่สุดโต่งมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นปกติ อาจเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นกุลสตรีที่ต้องคอยชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ แต่จริง ๆ แล้วชิสุกะมีความคับข้องใจในฐานะกุลสตรีอยู่หลายครั้งในเรื่อง เช่น ของโปรดที่ชอบที่สุดคือมันเผา แต่กลับไม่สามารถบอกใครได้ว่าชอบ เนื่องจากกินแล้วอาจจะผายลมและทำให้ ‘ไม่เป็นกุลสตรี’ ทั้งที่ชอบแสนชอบแต่ก็บอกใครไม่ได้ เวลาอยู่บ้านถึงขั้นเผามันกินเองที่สวนหลังบ้านก็มี เวลาเพื่อนมาเยี่ยมก็ถึงขั้นเสิร์ฟมันเผาเป็นอาหารว่างก็มี (ในเล่ม 5 อาหารว่างในบ้านชิสุกะเป็นมันเผา) ยังมีอีกหลายตอนอีกที่แสดงความคับข้องใจของชิสุกะในฐานะ ‘กุลสตรี’ เช่นในเล่ม 42 ชิสุกะเห็นซูเนโอะกับไจแอนท์ปีนต้นไม้แล้วก็ได้แต่นึกอิจฉา พร้อมกับบอกโนบิตะว่า “แม่บอกว่าเป็นลูกผู้หญิงห้ามปีนต้นไม้นะ (女の子は木のぼりなんかしちゃいけません)” จนโนบิตะเลยไปปรึกษาโดราเอมอน และได้ของวิเศษเป็น ‘เชือกสลับร่าง’ สลับจิตใจของโนบิตะไปอยู่ในร่างของชิสุกะ และ สลับจิตใจของชิสุกะไปอยู่ในร่างของโนบิตะแทน ชิสุกะในร่างของโนบิตะเอ็นจอยกับชีวิตแบบผู้ชายมาก รีบไปปีนต้นไม้อย่างคล่องแคล่วจนถึงยอด แล้วก็รีบไปเล่นเบสบอล (เบสบอลเป็นกีฬาฮิตของเพศชายเท่านั้น) แล้วโชว์ผลงานท็อปฟอร์มในเบสบอลอย่างมากจนไจแอนท์กับซูเนโอะยังทักว่า “โนบิตะเล่นเก่งราวกับเป็นคนละคน (まるで人がかわったみたいだぜ)” ซึ่งอันนี้ก็พิสูจน์สิ่งที่ผู้เขียนคอลัมน์นี้เคยเขียนไว้ใน https://thepeople.co/nobita-doraemon/ ว่าจริง ๆ แล้วโนบิตะนั้นไม่ใช่คนที่ร่างกายอ่อนแอเลย เพราะชิสุกะในร่างโนบิตะสามารถใช้ร่างโนบิตะเล่นกีฬาหรือออกกำลังได้เข้าขั้นเทพ ก่อนที่ชิสุกะจะเปลี่ยนใจขอกลับคืนร่างเดิมเพราะไม่อยากให้โนบิตะเห็นร่างกายของตัวเองตอนอาบน้ำ จึงต้องจบตอนไปทั้งอย่างนั้น ในขณะที่โนบิตะในร่างของชิสุกะก็เหนื่อยหน่ายกับความเข้มงวดทางสังคมในฐานะผู้หญิง ที่ต้องเล่นโดดเชือกกับเพื่อนผู้หญิง, เมาท์มอยกับเพื่อนผู้หญิงก็ไม่ราบรื่น, โดนแม่ของชิสุกะดุด่าที่นั่งขัดสมาธิหรือนอนไขว่ห้าง ทำให้โนบิตะตระหนักถึงบทบาทของกุลสตรีที่หนักหน่วง และตัดสินใจสลับร่างกับชิสุกะเพื่อคืนร่างเดิมในที่สุด ตัวละครชิสุกะจึงทำให้เราทราบได้ถึงความคาดหวังทางสังคมที่ญี่ปุ่นมีต่อเพศหญิง สังเกตได้ว่าบรรดาแม่ ๆ ของตัวละครหลักมีเพียงแม่ของไจแอนท์คนเดียวที่ทำงาน และยังเป็นการทำงานที่บ้านซึ่งเป็นร้านขายของชำอีกด้วย ในขณะที่แม่ของโนบิตะ, ซูเนโอะ, ชิสุกะ นั้นเป็นแม่บ้านเต็มเวลาไม่ได้ทำงานอะไร ในโลกแห่งความจริงของสังคมญี่ปุ่นเองทุกวันนี้ในระบบบริษัทก็ยังมีแนวโน้มที่จะเป็น ‘สังคมแห่งเพศชาย’ เนื่องจากพนักงานผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วก็นิยมลาออกเพื่อไปเป็นแม่บ้าน ถ้าใครคิดจะทำงานต่อก็มีแนวโน้มจะทำงานด้วยสัญญาจ้างแทน หรือไม่ก็เป็น Part-time หรือ Freelance มากกว่า เนื่องจากไม่สามารถทำงานหนักหน่วงในฐานะพนักงานเต็มเวลาเหมือนผู้ชายได้ ในระดับนานาชาติก็มีนักวิชาการอย่าง Hofstede, Hofstede, and Minkov (2010) (ดูอ้างอิงด้านล่าง) ทำวิจัยเรื่องสังคมในหลายประเทศ ก็ค้นพบในลักษณะเดียวกันว่าสังคมญี่ปุ่นยังเป็นสังคมแห่งเพศชายที่มีดัชนี Masculinity สูงมาก คือยังเป็นสังคมเพศชายที่มีความก้าวร้าวห้ำหั่นกันในการทำงานสูง และยังไม่ค่อยเปิดกว้างสำหรับเพศหญิงนัก ในภาษาญี่ปุ่นเอง คำว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ จึงยังใช้คำว่า Salaryman อยู่ ยังไม่นิยมใช้คำว่า Salarywoman กัน อีกทั้งพนักงานเพศหญิงนั้นที่ญี่ปุ่นนิยมเรียกว่า Office Lady ซึ่งมีความหมายออกไปในทาง Pink-collar คือเป็นงานแนวเอกสาร, บริการ, รับแขกเสิร์ฟเครื่องดื่ม มากกว่างาน White-collar ที่แทนด้วยคำว่า Salaryman ซึ่งมีแนวโน้มจะเติบโตในหน้าที่การงานมากกว่า นอกจากนี้ ยังเคยมีคดีที่มหาวิทยาลัยแพทย์ในโตเกียวที่แก้ไขคะแนนของผู้สอบเข้าที่เป็นผู้หญิงเพื่อลดสัดส่วนของนักศึกษาแพทย์เพศหญิงไม่ให้สอบเข้าคณะแพทย์ได้จำนวนมากเกินไป เนื่องจาก ‘คิดเอาว่า’ นักศึกษาแพทย์เพศหญิงเมื่อแต่งงานก็ต้องลาออกจากอาชีพแพทย์อยู่ดี เลยไม่จำเป็นต้องให้มีแพทย์ผู้หญิงเยอะนัก ทำให้เกิดเรื่องฟ้องร้องกันใหญ่โตเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ ก็ทำให้เห็นชัดว่าสังคมญี่ปุ่นยังไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้เพศหญิง ‘ทำงาน’ ได้เท่าเทียมกับเพศชายมากนัก อย่างไรก็ตามสังคมญี่ปุ่นเองก็มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้เพศหญิงได้มีบทบาทในระบบบริษัทและในสังคมมากขึ้นกว่าเป็นเพียงภรรยาที่ดีและแม่ที่ชาญฉลาด อย่างที่เรื่องเซเลอร์มูน ( https://thepeople.co/sailor-moon-japanese-feminist ) เคยจุดกระแสเฟมินิสต์สำเร็จทั้งในญี่ปุ่นและในอเมริกามาแล้ว เรื่องโดราเอมอนเองก็ยังมีออกอากาศอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ในอนาคตอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในคาแรกเตอร์ของชิสุกะมากขึ้นกว่านี้ก็เป็นได้ จึงน่าติดตามการดำเนินเรื่องต่อไปของโดราเอมอนเป็นอย่างยิ่งว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกับสังคมโลกที่เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง อ้างอิง 1) ญี่ปุ่นมีการแบ่งศักราชต่าง ๆ ตามรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิแต่ละพระองค์ดังนี้ ยุคโชวะ (昭和時代) คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ คือ ค. ศ. 1926-1989 (ปีโชวะที่ 1-64) ยุคเฮเซ (平成時代) คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ คือ ค. ศ. 1989-2019 (ปีเฮเซที่ 1-31) ยุคเรวะ (令和時代) คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินะรุฮิโตะ คือ ค. ศ. 2019-ปัจจุบัน (ปีเรวะที่ 1-ปัจจุบัน) 2) Hofstede, G., Hofstede, G. J., & Minkov, M. (2010). Cultures and Organizations: Software of the Mind: Intercultural Cooperation and Its Importance for Survival. (3rd ed.). New York, NY: McGraw-Hill.