30 ก.ค. 2564 | 10:44 น.
“อะไรคือหลักการในชีวิตที่สำคัญที่สุด ซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียน?” “คุณมีหลักการอย่างไรในการหาเป้าหมายให้ได้เป็นอันดับแรก?” นี่คือตัวอย่างคำถามที่ ‘เรย์ ดาลิโอ’ (Ray Dalio) สุดยอดนักลงทุน ผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับจากผู้คนจำนวนมากในแต่ละวันเพื่อติดตามแนวคิดสำคัญสู่ความสำเร็จ เพราะในโลกการลงทุนที่ต้องต่อสู้กับความผันผวนของตลาดและเศรษฐกิจที่โหดร้าย... หนึ่งในบริษัทที่ทำผลงานได้โดดเด่นตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีย่อมหนีไม่พ้น Bridgewater Associates (บริษัทบริหารสินทรัพย์) ภายใต้การนำของ เรย์ ดาลิโอ ซึ่งปัจจุบันเป็นทั้งประธาน, ผู้บริหารการลงทุน (Chief Investment Officer) และผู้ก่อตั้ง หลังจากก่อตั้งวันแรกในปี 1975 กับเพื่อนอีก 1 คน จนเติบโตมีพนักงานขับเคลื่อนกว่า 1,500 คน บริหารทรัพย์สินมูลค่ากว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ (4.58 ล้านล้านบาท) ได้ในปัจจุบัน (มีนาคม 2021) ความสำเร็จของเขาไม่ใช่แค่ในหมวกนักลงทุนเท่านั้น เพราะตลอดการผจญภัยบนเส้นทางการลงทุน เรย์สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเครื่องมือและกระบวนการผ่านฝีมือการบริหารจนผู้คนจับตามอง อะไรทำให้เด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นกลางสร้างอาณาจักรยักษ์ใหญ่ได้สำเร็จ? คำตอบสั้น ๆ ที่เรย์ค้นพบคือ ‘หลักการ’ หรือ Principles ที่เขาเชื่อและตัดสินใจส่งต่อสู่ผู้คนผ่านปลายปากกาของตัวเองในหนังสือ ‘Principles: Life & Work’ (2017) ผลงานรวบรวมประวัติ หลักการชีวิต และหลักการทำงานเบื้องหลังความสำเร็จด้วยความยาวกว่า 500 หน้า หลังจากเผยแพร่ฉบับย่อบนอินเทอร์เน็ตในปี 2011 และมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 3 ล้านครั้ง จนได้รับคำชื่นชมจากสุดยอดนักธุรกิจชื่อดัง ทั้ง Bill Gates, Michael Bloomberg และ Mark Cuban ทว่าที่มาของหลักการมากมายมาจากไหน? นี่คือเรื่องราวของ ‘หลักการ’ ฉบับย่อยง่ายของสุดยอดนักบริหารที่น่าสนใจไม่แพ้เคล็ดลับการลงทุน จุดเริ่มต้นจากสมุด เรย์เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1949 และเริ่มเข้าสู่สนามการลงทุนกับหุ้นตัวแรกเมื่ออายุได้เพียง 12 ขวบ ก่อนจะเริ่มเดินหน้าศึกษาและพยายามทำความเข้าใจตลาด เศรษฐกิจ พร้อมปัจจัยมากมายเบื้องหลังการขึ้น-ลงของราคาที่ส่งผลต่อผลตอบแทน วิธีการง่าย ๆ ที่เขาใช้คือ การจดเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจสำหรับการลงทุนแต่ละครั้งลงไป เพื่อทบทวนเมื่อเทรดจนจบว่าเกณฑ์เหล่านั้นทำงานเป็นอย่างไร ก่อนจะพัฒนามาเป็น ‘หลักการ’ เพื่อต่อยอดการบริหารการลงทุนที่สามารถระบุข้อผิดพลาดและต้นตอของปัญหาได้ รวมถึงการจดข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีที่ตลาดทำงานรายวันอย่างขยันขันแข็ง กระบวนการเหล่านี้กลายเป็นผลสำเร็จเมื่อเขาใส่ข้อมูลเหล่านั้นลงไปในคอมพิวเตอร์ และใช้อัลกอริทึมในการช่วยวิเคราะห์แผนการลงทุนประกอบกับการขบคิดด้วยตัวเอง ก่อนจะปรับปรุงอัลกอริทึมตลอดหลายสิบปี จนท้ายที่สุด Bridgewater ก็กลายเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างระบบลงทุนที่แข็งแรงในการเทรด ทำให้การตัดสินใจลงทุนแม่นยำขึ้นกว่าเดิม แต่ยังไม่พอ!! เรย์มองไปไกลกว่านั้น เพราะหาก ‘หลักการ’ ที่เขาสร้างสามารถใช้กับการลงทุนเพื่อดักข้อผิดพลาดได้ ข้อผิดพลาดในชีวิตและการทำงานก็อาจมี ‘หลักการ’ เพื่อรับมือได้เช่นกัน ไม่ต่างจากระบบ Operation System ในการเทรด เรย์สร้างหลักการกว่า 200 ข้อเพื่อบริหารองค์กรโดยมีเป้าหมายคือ ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีและพนักงานที่ประสบความสำเร็จร่วมกัน “ตั้งแต่เด็ก ผมเป็นคนอยากรู้อยากเห็น เป็นคนที่มีความคิดเป็นเอกเทศและวิ่งตามเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ผมตื่นเต้นกับการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เพื่อไล่ตาม มีความล้มเหลวที่แสนเจ็บปวดเกิดขึ้นจากการไล่ตามพวกมัน และได้เรียนรู้ ‘หลักการ’ ที่จะป้องกันไม่ให้ผมทำผิดแบบเดิมซ้ำอีกครั้ง ได้เปลี่ยนแปลงและได้พัฒนา" สำหรับเขา หลักการที่ดีก็เป็นเหมือนสูตรอาหารสู่ความสำเร็จที่กลั่นมาจากประสบการณ์ การคิดทบทวน และการเรียนรู้จากคนอื่น ๆ ทว่าหัวใจสำคัญคือ มันไม่ใช่คู่มือตายตัวที่ต้องทำตาม หากแต่เป้าหมายคือ การเปิดกว้างเรียนรู้และตามหาหลักการของตัวเองให้เจอ และหากถามว่าอะไรคือส่วนสำคัญของ ‘หลักการ’ เหล่านั้น คำตอบคงหนีไม่พ้น ‘ข้อผิดพลาด’ “สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือการที่เราทำผิดพลาด เพราะนั่นคือโอกาสในการเรียนรู้ ปรับปรุงและเป็นบทเรียน” เขาเน้นย้ำ แม้จะฟังดูเรียบง่าย แต่ในยุคที่เราถูกมอมเมาด้วยภาพคนที่ประสบความสำเร็จ มีไม่มากนักที่จะโฟกัสไปที่ความล้มเหลว โดยเฉพาะความล้มเหลวของตัวเราเอง และนั่นคือสิ่งที่หนุ่มอเมริกันทำมาตลอด 40 ปี บันทึกความผิดพลาด หนึ่งในความผิดพลาดราคาแพงเกิดขึ้นเมื่อ Ross ผู้รับผิดชอบการเทรดลืมส่งคำสั่งซื้อขายให้กับลูกค้า จนหันมาอีกที ความเสียหายก็เกิดขึ้นหลายแสนดอลลาร์ไปเสียแล้ว แน่นอนว่าทางออกง่าย ๆ อาจเป็นการไล่ออกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขายอมไม่ได้กับความผิดพลาดนี้ แต่เรย์มองว่าการไล่ออกอาจยิ่งส่งเสริมให้พนักงานปกปิดความผิด กลายเป็นข้อผิดพลาดที่รุนแรงและราคาแพงกว่าเดิม ดังนั้นเพื่อพลิกปัญหาให้เป็นโอกาส เขากับ Ross ตัดสินใจสร้างเครื่องมือจัดการตัวแรกอย่าง ‘Error Log’ (บันทึกข้อผิดพลาด) โดยมีกฎง่าย ๆ ให้พนักงานทำตามคือถ้ามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ไม่ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหรือต้นทุนการเทรดแพงกว่าปกติ หน้าที่ของทุกคนคือการจดบันทึกไว้เพื่อให้เรย์ติดตามผลและแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำอีก แม้ว่าหลักการนี้จะไม่ใช่ของที่กลืนง่าย โดยเฉพาะคนที่ชินกับคำชมอันหอมหวาน ทว่าเรย์เชื่อว่าในโลกการลงทุน สิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์ การรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และหาข้อตกลงร่วมกันผ่านการตัดสินใจ ไม่ต่างจากการร่วมมือกับ Ross ในเหตุการณ์นี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ใน Bridgewater ทุกคนต้องให้ฟีดแบ็กอย่างเปิดกว้างทั้งดีและร้ายต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า รวมถึงเรย์ แต่การคาดหวังว่าทุกคนจะพร้อมหน้ายอมรับข่าวร้ายและข้อผิดพลาดของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแท้จริงแล้ว มันเจ็บปวดไม่น้อย... โดยเฉพาะสำหรับเรย์เอง ตัวอย่างเหตุการณ์เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารในปี 1993 เมื่อเรย์ได้รับคำประเมินจากผู้บริหารอีก 3 คนผ่านบทสนทนาในหัวข้อ “คิดว่าวิธีการของเรย์ส่งผลต่อคนและขวัญกำลังใจของบริษัทอย่างไร” ด้วยคำชมสั้น ๆ ว่าเขามีมาตรฐานสูงและเข้าใจตลาดการลงทุน ก่อนจะตามมาด้วยข้อด้อยยาวเหยียดอย่าง “บางครั้งเรย์ก็พูดหรือปฏิบัติกับพนักงานราวกับพวกเขาไร้ความรู้สึก ไร้ความสามารถ ไร้ความสำคัญ และกดขี่ข่มเหง” แม้จะอดไม่ได้ที่จะเริ่มตั้งข้อสงสัยกับวิธีการของตนเองว่าการมีมาตรฐานสูงไม่ดีอย่างไร ทว่าแทนที่จะใช้อีโก้มองข้ามไป เขาเปิดใจและใช้มันเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาวิธีเข้าหาผู้คน และเริ่มสื่อสารใหม่ให้พนักงานเห็นเป้าหมายร่วมกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญในบริษัทที่ “การสร้างความผิดพลาดนั้นยอมรับได้ แต่มันไม่โอเคหากไม่ยอมเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น “ผมมีหลักการสำคัญอันหนึ่ง: ความเจ็บปวด + การคิดทบทวน (Reflection) = ความก้าวหน้า” นี่คือประโยคที่พนักงาน Bridgewater ต่างคุ้นเคย ศิลปะของการไม่เห็นด้วย นอกจากวัฒนธรรมยอมรับความผิดพลาดแล้ว บริษัทที่เติบโตท่ามกลางคนเก่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โยนโจทย์ใหม่ให้เขาได้คิดอีกครั้งว่าในฐานะหัวหน้า เขาควรบริหารจัดการอย่างไรให้ได้ไอเดียและข้อสรุปที่ดีที่สุด? หลักการที่เรย์นำเสนอคือ การเปิดรับคำถาม หามุมมองของคนที่น่าเชื่อถือซึ่งมีความเห็นต่างจากเขาและพยายามทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจ เพราะเขามองว่าการหลีกหนีความคิดที่ขัดแย้งคือ อุปสรรคตัวร้ายของการเรียนรู้ และบางครั้งมันก็หมายถึงชีวิต “การค้นหามุมมองที่แตกต่างเพื่อตัดสินใจนั้นส่งผลต่อชีวิตคุณอย่างมาก สำหรับผม มันเทียบได้กับความเป็นความตายเลยละ” มีครั้งหนึ่งที่เรย์ได้รับข่าวร้ายระหว่างการตรวจร่างกายประจำปีในปี 2013 ว่าเขามีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งหลอดอาหารและภาวะ Dysplasia (เซลล์เจริญผิดปกติ) ขั้นรุนแรง โดยทางออกที่เป็นไปได้คือการตัดหลอดอาหารทิ้ง และเตรียมใจจากไปในอีกไม่กี่ปี แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัว เขาเลือกที่จะไม่ผ่าและเฝ้าดูอาการต่อไป โชคดีที่นิสัยชอบหามุมมองที่แตกต่างของเขากำเริบ ไม่ต่างจากตอนทำงาน เพราะเมื่อเขาเริ่มนัดหมอผู้เชี่ยวชาญอีก 4 คนและให้พวกเขาถกเถียงกันภายใน 48 ชั่วโมงเพื่อหาข้อสรุป ผลที่ได้คือการตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ ก่อนจะพบว่ามันไม่ใช่เนื้อร้าย และเขาไม่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง นั่นกลายเป็นบทเรียนที่เรย์ค้นพบว่า แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญแค่ไหนก็พลาดได้ ดังนั้นการเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่างคือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนตัดสินใจได้ถูกต้องยิ่งขึ้นทั้งในงานและชีวิต ไม่อย่างนั้นเขาคงเตรียมตัวตายไปนานแล้ว เคารพความแตกต่าง เรย์เชื่อว่าเบื้องหลังภาพฝันกับวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนต่างเปิดใจจำเป็นต้องอาศัย ‘ความโปร่งใส’ และ ‘ความจริง’ “ความโปร่งใสและความจริงอย่างสุดขั้วที่ผมหมายถึงคือ ผู้คนจำเป็นต้องพูดสิ่งที่พวกเขาเชื่อจริง ๆ เพื่อมองให้เห็นทุกสิ่ง” ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นความโปร่งใสและเปิดกว้างจากการยอมรับ ‘ข้อผิดพลาด’ การกล้าเล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมา และไม่พูดลับหลังกันโดยมีหลักฐานยืนยันเป็นวิดีโอการประชุม เมื่อทุกการประชุมในสำนักงานใหญ่เมือง Westport ถูกบันทึกเก็บไว้เพื่อให้พนักงานกลับมาย้อนดูตนเองและคนอื่น ๆ และเหล่าพนักงานต้องคิดวิเคราะห์ระหว่างการประชุมพร้อม ‘ให้คะแนน’ ผู้พูดแบบเรียลไทม์เสมอ เพื่อรับฟีดแบ็กและพัฒนาได้ทันที ยิ่งไปกว่านั้น เรย์ให้ความสำคัญกับการเข้าใจความแตกต่างของคนมาก เพราะหากหันมามองพนักงานกว่า 1,500 คนที่เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทาง ซึ่งมีความเก่งและความสนใจต่างกัน การเปิดรับความแตกต่างและมองหาจุดเด่นกลายเป็นที่มาของเครื่องมืออีกอันชื่อ ‘Baseball Card’ ที่รวบรวมคะแนนประเมินมิติต่าง ๆ ของพนักงาน ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ ความน่าเชื่อถือ เป็นค่าพลังไม่ต่างจากสถิติของผู้เล่นเบสบอล เพื่อให้พนักงานรู้จักกันดียิ่งขึ้น และเข้าหาได้ถูกคนเมื่อต้องการความช่วยเหลือจาก ‘คนที่ใช่’ ดังนั้นหากถามว่าทำไมเขาถึงเลือกแชร์หลักการเหล่านี้สู่ผู้คน คำตอบคือ เรย์เชื่อว่ามันคือสิ่งที่เขาควรทำ ส่งต่อหลักการสู่ผู้คน “ลองนึกว่าถ้าคุณค้นพบวิธีการรักษาโรคร้ายต่อมนุษยชาติ และคุณไม่อยากให้มันตายไปพร้อมคุณ นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึก ผมอยู่ใน Stage ของชีวิตที่อยากส่งต่อหลักการเหล่านี้ซึ่งช่วยให้ผมประสบความสำเร็จมากกว่าทำให้ตัวเองสำเร็จมากยิ่งขึ้น” มาถึงตรงนี้ เราอาจเห็นได้ว่าหลักการที่ร้อยเรียงผ่านประสบการณ์ของเรย์พิสูจน์แล้วว่า เขาไม่ได้เป็นเพียงนักลงทุนที่เก่งกาจ แต่ยังเป็นนักบริหารองค์กรด้วยวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ที่พาให้บริษัทขึ้นเป็นบริษัทเอกชนที่สำคัญที่สุดอันดับ 5 ของสหรัฐฯ จากนิตยสาร Fortune และหากต้องทิ้งท้ายไว้ เรย์เน้นย้ำผ่านหนังสือว่า หัวใจสำคัญคือการค้นหา ‘หลักการ’ ของตัวเองให้เจอ ที่มา: หนังสือ ‘Principles: Life & Work’ เขียนโดย Ray Dalio, สำนักพิมพ์: Nsix Publishing https://www.linkedin.com/pulse/why-principles-ray-dalio/ https://www.ted.com/talks/ray_dalio_how_to_build_a_company_where_the_best_ideas_win?language=en https://fs.blog/knowledge-project/ray-dalio/ เรื่อง: สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์ ภาพ: Roy Rochlin/Getty Images