24 ก.พ. 2565 | 22:42 น.
แม้ว่าคุณพ่อโนบิตะจะเป็นตัวละครรองในโดราเอมอน แต่ก็มีความสำคัญกับโนบิตะและครอบครัวอย่างมากมาย ในเรื่อง แม้เราจะเห็นเพียงซีน ‘มนุษย์พ่อ’ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ หรือนั่งทานอาหารกับครอบครัว แต่มากไปกว่านั้น โนบิ โนบิสุเกะ คือชายผู้หาเงินเพื่อเลี้ยงดูทางบ้าน นี่คือเรื่องราวของคุณพ่อของโนบิตะ…โนบิ โนบิสุเกะ (野比のび助) เป็นเรื่องที่แปลกพอตัวที่โนบิตะตัดสินใจตั้งชื่อลูกของตัวเองด้วยชื่อเดียวกับพ่อของตัวเอง เพราะลูกของโนบิตะก็ชื่อ โนบิ โนบิสุเกะ เหมือนกันเป๊ะ แต่สะกดด้วยอักษรคนละชุด พ่อของโนบิตะจะใช้อักษรฮิระงะนะ (อักษรแสดงความเป็นภาษาญี่ปุ่น) ว่า “โนบิ (のび)” บวกกับอักษรคันจิ (อักษรจีนในภาษาญี่ปุ่น) ว่า “สุเกะ” (助) ในขณะที่ลูกของโนบิตะจะใช้อักษรคะตะกะนะ (อักษรแสดงความเป็นภาษาต่างประเทศที่เข้ามาในภาษาญี่ปุ่น) ทั้ง 4 พยางค์สะกดว่า โนบิสุเกะ (ノビスケ) ซึ่งก็มีแนวโน้มจากโลกแห่งความเป็นจริงที่ยุคสมัยยิ่งเปลี่ยนไปเท่าไรก็ยิ่งมีคำศัพท์จากต่างประเทศเข้ามาในภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นจนอาจแซงหน้าคำศัพท์จากจีนก็ได้ในอนาคต จึงพอจะพยากรณ์ได้ว่าญี่ปุ่นในโลกอนาคต น่าจะมีคนเลิกใช้อักษรคันจิแล้วหันมาใช้อักษรคะตะกะนะแทนกันมากขึ้น โดราเอมอนนั้นเริ่มตีพิมพ์มาตั้งแต่ปลายปี ค. ศ. 1969 ซึ่งก็คือเกิน 50 ปีมาแล้ว ดังนั้นโลกทัศน์ต่าง ๆ ค่านิยมและอุดมคติในเรื่องจึงยังมีความเป็นยุคโชวะอยู่มาก ตามที่หลายท่านทราบว่าญี่ปุ่นมีการแบ่งศักราชต่าง ๆ ตามรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิแต่ละพระองค์ดังนี้ ยุคโชวะ (昭和時代) คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ คือ ค. ศ. 1926-1989 (ปีโชวะที่ 1-64) ยุคเฮเซ (平成時代) คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ คือ ค. ศ. 1989-2019 (ปีเฮเซที่ 1-31) ยุคเรวะ (令和時代) คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินะรุฮิโตะ คือ ค. ศ. 2019-ปัจจุบัน (ปีเรวะที่ 1-ปัจจุบัน) พ่อของโนบิตะจึงเป็นภาพแทนแห่ง “ชาวยุคโชวะ” ซึ่งในญี่ปุ่นเวลากล่าวถึง “โชวะ” ก็จะมีภาพของความเป็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่มาก คือพ่อของโนบิตะเป็นคนในยุคก่อน Baby Boomers นิดหน่อย เขาเกิดในปี 1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) และเติบโตจนจำความได้ในช่วงหลังสงครามสงบใหม่ ๆ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องอายุของพ่อโนบิตะยังเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะตอนปรากฎตัวครั้งแรกในมังงะจะบอกว่าอายุ 36 แต่ในอะนิเมะบางครั้งจะมีกล่าวว่าอายุ 41 ให้แฟน ๆ นักอ่านได้ถกเถียงกันต่อไป อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบดีว่า หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี ค. ศ. 1945 ญี่ปุ่นถูกอเมริกาเข้ามารื้อถอนโครงสร้างกลุ่มอำนาจผูกขาดทางธุรกิจที่เรียกว่า Zaibatsu (財閥) ทิ้งไปหมด และมีกฎหมายภาษีมรดก ทำให้ความร่ำรวยไม่ได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ ญี่ปุ่นจึงเข้าสู่สภาพของสังคมชนชั้นกลางทั้งประเทศ และมีความแตกต่างทางชนชั้นน้อยมาก ด้วยน้ำพักน้ำแรงของ “มนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลาง” ที่พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อกอบกู้สถานภาพของประเทศนี่เองที่ทำให้ในที่สุดประมาณปี ค. ศ. 1960 ญี่ปุ่นก็กลับสู่สภาพของประเทศมหาอำนาจได้สำเร็จ และสร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจให้โลกได้ประจักษ์ในระหว่างทศวรรษที่ 60s จนถึงทศวรรษที่ 80s ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้จากบุคลิกและวิถีชีวิตของโนบิสุเกะที่เป็นพ่อของโนบิตะอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ เราจะได้เห็นวัยเด็กของโนบิสุเกะที่ต้องตัดผมหัวเกรียนแบบทรงนักเรียนเพราะการสืบทอดจากระบบกองทัพญี่ปุ่นสมัยก่อน แล้วยังมีคุณพ่อที่เข้มงวดมากกกกก ตามแบบฉบับเอเชียตะวันออกยุคเก่า ไม่เคยแสดงความอ่อนโยนหรือให้กำลังใจใด ๆ กับลูกอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจริง ๆ ลึก ๆ จะเป็นห่วง แต่ก็จะไม่แสดงออก ในวัยที่มีครอบครัวแล้ว โนบิสุเกะยังชอบแต่งชุดญี่ปุ่นเวลาอยู่บ้าน แม้ว่าเวลาไปทำงานจะใส่สูทก็ตาม (ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นยุคใหม่จริง ๆ เวลาอยู่บ้านก็นิยมแต่งตัวแบบตะวันตก ไม่ค่อยมีใครใส่ชุดญี่ปุ่นอยู่บ้านกันบ่อยนัก), แล้วยังมักจะมอบหน้าที่ดูแลงานบ้านและดูแลโนบิตะให้กับภรรยาเป็นผู้จัดการอีกด้วย ยกเว้นแค่บางครั้งที่โนบิสุเกะจะเทศนาลูกบ้าง แต่ยังแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าผู้ชายทำงานหาเลี้ยงครอบครัวส่วนผู้หญิงดูแลลูกและดูแลบ้าน ตามแบบฉบับชาวยุคโชวะ แม้แต่รสนิยมในเรื่องต่าง ๆ โนบิสุเกะก็ยังมีรสนิยมคล้ายกับมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางชาวญี่ปุ่นทั่วไป คือชอบดื่มเหล้าสังสรรค์, ชอบตีกอล์ฟทั้งเป็นงานอดิเรกและเพื่อธุรกิจ, ยังชอบตกปลาอีกด้วย และสูบบุหรี่จัดมาก แน่นอนว่าเป็นคนบ้างานด้วย เพราะทำงานหนักแบบยอมตายเพื่อให้งานเสร็จ, ยังมีอยู่ตอนหนึ่งที่โนบิตะ, โดราเอมอน และคุณแม่ไปซื้อของที่ใกล้ ๆ บริษัทก็เลยแวะไปรับคุณพ่อกลับบ้าน แล้วพบว่ารถไฟฟ้าชั่วโมงเร่งด่วนของญี่ปุ่นนั้นหนาแน่นอย่างโหดร้ายมาก ทุกคนถึงจะเข้าใจชะตากรรมที่คุณพ่อต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมากขึ้น, ยังมีอีกตอนที่โดราเอมอนใช้ไทม์แมชชีนไปพาคุณย่ามาเจอโนบิสุเกะที่กำลังเมามาย และโนบิสุเกะก็ระบายให้ฟังว่า “หัวหน้าเขาแกล้งผมครับแม่ เขากลั่นแกล้งผม” แล้วก็ร้องไห้โฮด้วยความอัดอั้นออกมา ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนได้มีประสบการณ์กันเป็นปกติในโลกแห่งความเป็นจริงของญี่ปุ่น ที่บางคนถูกกลั่นแกล้งกันในที่ทำงานจนต้องฆ่าตัวตายก็มี ตอนที่ผู้อ่านอ่านแล้วรู้สึกหน่วง ๆ แบบเจ็บลึกในใจอีกตอน ก็เห็นจะเป็นในเล่ม 43 (จากเวอร์ชันที่มี 45 เล่ม) คือเฉลยให้เห็นว่าจริง ๆ โนบิสุเกะมีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพอย่างมาก ถึงขั้นเคยประกวดได้รางวัลมาก่อน แต่เนื่องจากฐานะยากจน และคุณพ่อที่เข้มงวดนั้นห้ามเด็ดขาดไม่ให้ไปเรียนต่อวิทยาลัยศิลปะเพราะจะกลายเป็นศิลปินไส้แห้ง (ค่านิยมของยุคเก่า ไม่อยากให้ลูกเป็นศิลปินหรือนักเขียนไส้แห้ง ไม่อยากให้ลูกไปเต้นกินรำกินเป็นดารา อะไรแบบนั้น) แม้จะมีเศรษฐีเสนอเงินและเส้นสายให้ไปเรียนต่อเพื่อแลกกับการยอมแต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีแสนสวย แต่โนบิสุเกะกลับเลือกศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเองโดยการยอมทิ้งความฝันการเป็นศิลปิน และปฏิเสธข้อเสนอการแต่งงานนี้ ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเศรษฐีคนนั้น ต่อมาภายหลังจึงได้พบกับแม่ของโนบิตะแทน แล้วก็ใช้ชีวิตตามแบบฉบับสำเร็จรูปของมนุษย์เงินเดือนยุคโชวะคือ แต่งงาน, มีลูก, มีบ้าน (結婚、出産、マイホーム) และทำให้โนบิตะรอดจากการสลายหายไปเพราะการเปลี่ยนไทม์ไลน์ที่พ่อไปแต่งงานกับคนอื่นแทน นอกจากชีวิตของตัวละครหลักอย่างโดราเอมอน, โนบิตะและผองเพื่อนที่สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการ และความเป็นไปได้นานา ๆ ประการแห่งอนาคตแล้ว ชีวิตของโนบิสุเกะ ผู้เป็นพ่อของโนบิตะ กลับจะสะท้อนให้เห็นญี่ปุ่นยุคเก่า, สงคราม, ความอดอยากและยากจน, ความไร้ทางเลือกในชีวิต, การต้องยอมทิ้งความฝันและพรสวรรค์เพื่อโลกแห่งความจริง, การทำงานแบบถวายหัวให้บริษัทเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นขององค์กรและของประเทศชาติ เหล่านี้ล้วนเป็นอีกสิ่งที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกนับถือใจสู้ของเหล่ามนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเหล่านี้ และทำให้อยากหยิบโดราเอมอนขึ้นมาอ่านได้อีกหลายครั้งอย่างมิรู้เบื่อ เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล