09 พ.ค. 2565 | 13:27 น.
ตัวละคร ไจโกะ นั้นไม่ถึงกับเป็นตัวละครหลักในเรื่องโดราเอมอน แต่ก็ไม่ใช่ตัวประกอบแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้ว หากโดราเอมอนไม่เดินทางจากอนาคตกลับมาช่วยเปลี่ยนแปลงปัจจุบันของโนบิตะล่ะก็ ไจโกะจะกลายเป็นนางเอกของเรื่องนี้ไปเลยในมัลติเวิร์สเรื่องโดราเอมอน ไจโกะเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์ตามอุดมคติของนางเอกในการ์ตูน ขณะที่ชิซูกะ กลับมีลักษณะภายนอกสอดคล้องกับอุดมคติ, ขนาดในตอนแรกสุดที่โดราเอมอนเพิ่งมาจากอนาคตและบอกว่าโนบิตะจะต้องแต่งงานกับไจโกะ โนบิตะถึงขั้นพูดออกมาว่า “ไม่เอานะ ฉันเกลียดยัยนั่น (いやだよ、ぼく。あの子きらい)” แล้วในตอนเดียวกันก็ยังมีฉากให้ไจโกะแสดงพฤติกรรมแกล้งคนอื่นเหมือนไจแอนท์ที่เป็นพี่ชายอีกด้วย คือแกล้งป้ายหมึกเต็มหน้าของโนบิตะ เรียกว่าตอนแรก ๆ นั้นผู้แต่งออกแบบไจโกะให้มีนิสัยใจคอและรูปลักษณ์ภายนอกไม่สอดคล้องกับอุดมคติหรือมาตรฐานทางสังคม แต่เมื่อเนื้อเรื่องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ จากเดิมที่เป็นแค่การ์ตูนแก๊ก กลายเป็นเนื้อเรื่องขนาดยาว ผู้แต่งทั้ง 2 ท่าน (ฟุจิโมะโตะ ฮิโระชิ: 藤本弘 และ อะบิโกะ โมะโตะโอะ: 安孫子素雄) ก็พัฒนาบุคลิกของไจโกะไปมากขึ้น ในเวอร์ชั่นต้นฉบับ 45 เล่มนั้นแม้จะมีไจโกะปรากฏตัวอยู่เพียง 14 ตอน แต่ก็เห็นพัฒนาการของตัวละครนี้ชัดเจน คือภายหลังไจโกะจะไม่ใช่คนขี้แกล้งเหมือนตอนเปิดตัวแล้ว และเป็นคนที่คิดมาก คิดลึกซึ้ง และมีความฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิง (เรื่องโดราเอมอนตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1969 ซื่งเป็นช่วงเดียวกับยุครุ่งเรืองของการ์ตูนผู้หญิงในญี่ปุ่นคือประมาณปลายทศวรรษที่ 60 ไปจนถึงทศวรรษที่ 70 ซึ่งเป็นยุคที่สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากหันมาประกอบอาชีพเป็นนักเขียนการ์ตูนทัดเทียมกับเพศชายกันมากขึ้น การที่ไจโกะอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงจึงนับว่าเข้ากับยุคสมัยนั้น ๆ อย่างสมเหตุสมผล เรียกว่าไจโกะก็เป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของยุคก็ว่าได้) จุดเชื่อมโยงสัมพันธภาพของไจโกะและโนบิตะ ก็คือเรื่องการ์ตูนนี่เอง ตามที่เคยเขียนวิเคราะห์ “โนบิตะ” ครั้งก่อน ว่า 1 ใน 4 พรสวรรค์ของโนบิตะคือการเป็นแมวมองการ์ตูนทุกแนว แม้แต่ไจแอนท์ก็ยังยอมรับความสามารถ เอาการ์ตูนที่น้องสาวตัวเองเขียนมาให้โนบิตะติชม (เล่ม 37 จากเวอร์ชั่นต้นฉบับ 45 เล่ม) อีกทั้งไจโกะยังเคยพยายามเขียนการ์ตูนแก๊กโดยเอาโนบิตะเป็นต้นแบบตัวละครอีกด้วย (เล่ม 22) ถึงขั้นแอบสะกดรอยตามโนบิตะและมีรูปถ่ายของโนบิตะเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเขียนหนังสือของตัวเอง จนไจแอนท์เข้าใจผิดว่าไจโกะแอบชอบโนบิตะด้วยซ้ำ จุดนี้ก็นับได้ว่าไจโกะเองก็ยอมรับความสามารถการเป็นนักวิจารณ์การ์ตูนของโนบิตะอยู่อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน ไม่มีใครรู้รายละเอียด ว่าในมัลติเวิร์สที่โนบิตะไม่ได้รู้จักกับโดราเอมอนนั้น โนบิตะกับไจโกะไปลงเอยแต่งงานกันได้อย่างไร ไม่รู้เลยด้วยว่าจุดเชื่อมสัมพันธภาพของทั้งคู่คือการ์ตูนหรือไม่ แต่ที่รู้ ๆ คือโนบิตะล้มเหลวในชีวิตหนักกว่าในภาคหลักอยู่มาก เพราะมีอัลบั้มรวมภาพถ่ายที่ระลึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโนบิตะ รูปร่างของไจโกะเปลี่ยนแปลงไป ไจโกะจึงเป็นตัวละครที่ค่อนข้างน่าเห็นใจเพราะถูกออกแบบให้ถูกตีความว่า “เป็นอนาคตที่ไม่น่าพึงปรารถนา” และโดราเอมอนก็ย้อนเวลากลับมาเพื่อแก้ไขอนาคตของโนบิตะ โดย 1 ในอนาคตที่ดีขึ้นของโนบิตะคือไม่ได้แต่งงานกับไจโกะ แต่ไปแต่งงานกับชิซูกะแทน อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งทั้ง 2 ท่านยังมีความห่วงใยต่อแฟนคลับและสังคมเด็ก ๆ ญี่ปุ่น จึงไม่ได้ตั้งชื่อที่แท้จริงให้กับไจโกะแต่อย่างใด เดิมทีก็ไม่อยากจะตั้งชื่อให้ทั้งไจแอนท์และไจโกะ แต่เนื่องจากไจแอนท์เป็นตัวละครหลัก ในที่สุดจึงต้องให้ไจแอนท์มีชื่อและนามสกุลเต็มอย่างเป็นทางการว่า โกดะ ทะเกะชิ (剛田武) ในขณะที่ไจโกะไม่มีชื่อจริงที่แท้จริง เพราะผู้แต่งเกรงว่าหากเด็ก ๆ ผู้อ่านเรื่องโดราเอมอนเกิดมีใครมีชื่อจริงเหมือนไจโกะโดยบังเอิญแล้วจะถูกเพื่อนล้อหรือแกล้งที่โรงเรียน จึงตัดสินใจให้ไจโกะเป็นชื่อจริงไปเลยคือ โกดะ ไจโกะ (剛田ジャイ子) ส่วนในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษนั้นไจแอนท์จะได้ชื่อว่า Big-G และไจโกะชื่อว่า Little-G เพื่อให้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน อย่างไรก็ตาม ใน “โดราเอมอนเวอร์ชั่นลับแล” (ออกอากาศในปี ค. ศ. 1973) กลับไม่มีตัวละครไจโกะ เพราะเริ่มเรื่องว่าแม่ของไจแอนท์เสียชีวิตตั้งแต่ต้นเรื่อง เลยไม่ได้คลอดไจโกะออกมา ตัวละครไจโกะเลยไม่มีตัวตน แต่ไปมีตัวละครที่คาแรคเตอร์คล้ายไจโกะแทนที่ชื่อว่า “โบตะโกะ (ボタ子)” และเป็นคนรับใช้บ้านชิซูกะไปแทน น่าเสียดายมากที่เวอร์ชั่นลับแลนี้ตัดสินใจตัดตัวละครไจโกะออกไปเสียดื้อ ๆ ทั้งที่เป็น “ความน่าจะเป็นรูปแบบหนึ่ง” ของชีวิตโนบิตะ อย่างไรก็ตาม เวอร์ชั่นลับแลนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ตัวละครไจโกะยังมีพื้นที่ให้พัฒนาบุคลิกต่อมาได้ เสน่ห์ของตัวละครไจโกะ ไม่ได้อยู่ที่ลักษณะภายนอก ไปอยู่ที่มิตรภาพพี่น้องของไจแอนท์และไจโกะ, การฉายแสงไปที่พรสวรรค์ด้านวิจารณ์การ์ตูนของโนบิตะ, รวมทั้งการทำให้ผู้อ่านต้องการเอาใจช่วยในความพยายามขัดเกลาตัวเองของไจโกะ ซึ่งคล้ายกับแนวทางการ์ตูนผู้หญิง หรือ “โชโจะมังงะ (少女漫画)” ที่ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1) Ren-ai (恋愛): ต้องแสดงให้เห็นเกี่ยวกับ “ความรัก” 2) Kat-tō (葛藤): ต้องแสดงให้เห็น “อุปสรรคหรือความขัดแย้ง” ของตัวละคร 3) Jō-ju (成就): ต้องแสดงให้เห็น “การเติบโตของตัวละคร” หลังจากผ่านอุปสรรคหรือความขัดแย้งนั้น แม้ว่าในมัลติเวิร์สที่ไม่มีโดราเอมอนย้อนเวลากลับมานั้น ไจโกะจะ “เป็นอนาคตที่ไม่น่าพึงปรารถนา” ของโนบิตะ แต่ในภาคหลักเราก็จะสามารถเห็นได้ว่า ไจโกะก็มีนิสัยและความสามารถที่น่าสนใจ มีใจสู้ รวมทั้งมีทัศนคติต่าง ๆ ที่ไม่แย่แต่อย่างใด การย้อนเวลากลับมาของโดราเอมอนอาจจะไม่ได้ช่วยให้ชีวิตโนบิตะดีขึ้นเพียงเท่านั้น แต่อาจมีผลทำให้ไจโกะดีขึ้นตามไปด้วยก็ได้ ใครจะไปรู้ เลยเชื่อได้ว่าคงมีผู้อ่านหลายคนที่แอบเอาใจช่วยไจโกะอยู่เช่นกัน ภาพ : Jaiko Gouda / animecharactersdatabase.com