31 พ.ค. 2565 | 15:00 น.
หากพูดถึงนักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ‘มาร์เกอริต ดูราส’ (Marguerite Duras) คงเป็นหนึ่งในชื่อที่หลาย ๆ คนนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ งานเขียนของเธอโดดเด่นด้วยสไตล์การเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และประเด็นขบคิดที่ว่าด้วยความทรงจำและการมีอยู่ที่สุดแสนจะลึกซึ้งและคมคาย ผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกของเธอ ได้แก่ ‘Un barrage contre le Pacifique’ (1950), ‘Moderato Cantabile’ (1958), ‘Le Ravissement de Lol V. Stein’ (1964) และ L’Amant (1984) สาวผมบลอนด์ในดินแดนอาณานิคม ‘มาร์เกอริต ดูราส’ หรือชื่อเดิมคือ ‘มาร์เกอริต ดอนน่าดิเยอ’ (Marguerite Donnadieu) เกิดปี 1914 ที่ ‘เกีย บินห์’ (Gia Binh) ตำบลทางตอนเหนือของไซ่ง่อน (หรือนครโฮจิมินห์) ในยุคนั้นถือเป็นหนึ่งในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เรียกกันว่า ‘โคชินไชน่า’ (Cochinchina) ประกอบด้วย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เหตุผลที่ดูราสเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กที่นั่นเพราะพ่อแม่ของเธอต่างปรารถนาจะเดินทางมาแสวงหาบ่อเงินบ่อทองในดินแดนอาณานิคมตามแคมเปญที่รัฐฝรั่งเศสโฆษณาและสนับสนุนในยุคนั้น ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ ปิแยร์ ปอลล์ และดูราส พ่อของดูราสเสียชีวิตที่ฝรั่งเศสตอนเธออายุได้ 5 ขวบ ทำให้แม่ของเธอต้องผันตัวมาเป็นหัวหน้าครอบครัว หลังจากพ่อเสียชีวิต แม่พร้อมลูก ๆ อีก 3 คนเดินทางกลับมาอยู่ที่ฝรั่งเศส 3 ปี ก่อนที่จะกลับไปที่โคชินไชน่าอีกครั้ง ครั้งนี้พวกเขาไปอยู่ที่พนมเปญก่อนสักพัก แล้วย้ายไปที่เมือง ‘หวิญล็อง’ (Vinh Long) ประเทศเวียดนามอีกครั้ง นอกจากประกอบอาชีพครูแล้ว แม่ของดูราสตัดสินใจใช้เงินทั้งหมดซื้อที่ดินเพื่อวางแผนทำเกษตรกรรม ฝันหวานว่าจะได้กอบโกยรายได้ในดินแดนเขตร้อนชื้นแห่งนี้ แต่โชคร้ายที่ที่ดินนั้นมีน้ำจากทะเลจีนใต้เข้าท่วมทุกปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ (อันที่จริงแล้ว การซื้อขายที่ดินมีเบื้องลึกเบื้องหลัง คือแม่ของดูราสถูกหลอกกึ่งบังคับให้ซื้อโดยเจ้าหน้าที่รัฐอาณานิคม) ด้วยเหตุนั้น แม่ของดูราสเลยตั้งใจจะสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่สุดท้ายทั้งเขื่อนทั้งเงินทุนทั้งหมดก็จมหายไปกับน้ำจากทะเลจีนใต้ ดูราสบันทึกความโชคร้ายนี้ของแม่เธอและครอบครัวไว้ใน ‘เขื่อนกั้นแปซิฟิก’ (Un barrage contre le Pacifique)… “จริงอยู่ที่น้ำทะเลไม่ได้ขึ้นสูงระดับเดิมเหมือนกันทุกปี แต่มันก็ขึ้นสูงพอที่จะเผาผลาญทุกอย่างได้เสมอ ทั้งที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตาหรือค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามา” นักวิจารณ์หรือผู้ที่วิจัยเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของดูราสตั้งข้อสังเกตว่าแม่ของดูราสน่าจะมีอาการทางประสาท และหนึ่งในปมที่ชี้ชัดในสมมติฐานนี้คือความตั้งใจสร้างเขื่อนของแม่เธอที่ไม่ได้ปรึกษาใครเลยสักคนแม้แต่วิศวกร ดูราสเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่อันยากจนของครอบครัวเธอในดินแดนอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นที่พักโทรม ๆ กลางไร่นา อาหารการกิน เสื้อผ้า ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับชาวพื้นถิ่นเวียดนามมาก ซึ่งค่อนข้างต่างจากครอบครัวฝรั่งเศสครอบครัวอื่น ๆ ที่มองว่าการคลุกคลีกับพวกใต้อาณานิคมเป็นเรื่องเสื่อมเกียรติ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับดูราส ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสเท่ากับความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ ดูราสบอกเล่าในผลงานอัตชีวประวัติหลาย ๆ ชิ้นของเธอว่า แม่รักลูกชายคนโต (ปิแยร์) แบบออกนอกหน้า ไม่ว่าความผิดของเขาจะหนักหนาเพียงไหน ขโมยของ ขายสมบัติ รังแกน้อง ข่มขืนสาวใช้ของแม่ เขาก็ยังคงเป็นลูกที่แม่รักมากที่สุดจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตแม่ ดูราสเคยเขียนถึงความโกรธแค้นต่อความรักที่ลำเอียงสุดโต่งนี้ไว้ว่า “ฉันอยากฆ่าพี่ชายคนโตของฉัน อยากจะฆ่าเขา ปราบพยศเขาให้ได้สักครั้ง แค่ครั้งเดียวเท่านั้น และมองดูเขาตายไป ฉันจะทำเช่นนั้นเพื่อพรากของรักของหวงของแม่ไปต่อหน้าต่อตาเธอ ซึ่งก็คือลูกชายคนนั้นของเธอ ลงโทษเธอที่รักเขาได้มากถึงเพียงนี้ (…)” ชู้รักจากโคลง ช่วงชีวิตในวัยกำลังเข้าสู่ความเป็นสาวแรกแย้มของดูราสที่หวิญล็องถือเป็นช่วงที่ดูราสเขียนถึงบ่อยมาก นอกจากความสัมพันธ์กับแม่และพี่ชายคนโตที่เป็นแผลใหญ่ในชีวิตเธอแล้ว ยังมีเรื่องปมความสัมพันธ์กับชายหนุ่มทายาทมหาเศรษฐีชาวจีนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ ‘โคลง’ (Cholon) ย่านไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามอีกด้วย เรื่องราวนี้ถูกเล่าไว้ใน ‘L’Amant’ ค่อนข้างที่จะเปิดเผย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ไม่ชวนอภิรมย์ สัมพันธ์สวาทอันร้อนแรง รวมถึงเสียงลืออันอื้อฉาวของความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างหญิงสาววัยสิบห้าผมบลอนด์และชายหนุ่มพื้นถิ่นผิวเหลืองหัวดำ ดูราสและหนุ่มชาวจีนพบกันครั้งแรกตอนเธอนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำโขง ถือเป็นฉากหนึ่งที่สำคัญในชีวิต แต่ไม่มีรูปถ่ายบันทึกไว้ (ปกติในแต่ละฉากแต่ละตอนของชีวิตที่สำคัญ ๆ แม่ของดูราสจะถ่ายรูปเก็บไว้ แต่สำหรับดูราส ฉากเรือข้ามฟากนี้มีความสำคัญกว่าช่วงไหน ๆ ในวัยเด็ก แต่กลับไม่มีรูปที่บันทึกเหตุการณ์นั้นไว้ เธอจึงใช้วิธีการเขียนเพื่อเก็บความทรงจำนั้นไว้ และเธอค้นพบว่าการเขียนก็สามารถบันทึกเรื่องราวได้ไม่ต่างอะไรจากภาพถ่าย แต่พิเศษกว่าตรงที่ว่ามันบันทึกทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก (ภาพเหตุการณ์) และภายใน (ความรู้สึกในใจของเธอ)) ได้ เหตุผลที่ทำให้หนุ่มเศรษฐีเจ้าของลีมูซีนสีดำคันหรูเข้ามาพูดคุยกับดูราสที่เพิ่งอายุจะสิบห้า คงไม่ใช่เพราะชื่นชอบหรือมองเห็นความเป็นไปได้ของรักแท้ที่อาจเกิดขึ้น แต่เป็นเพราะส่วนผสมของเสื้อผ้าที่ดูพิลึกพิลั่นจนสะดุดตา วันนั้นดูราสสวมชุดกระโปรงสีขาวซึ่งเคยเป็นของแม่มาก่อน แม่ไม่ใส่แล้วเพราะเนื้อผ้าบางเกินไป เธอใส่รองเท้าส้นสูงสีทองที่เธอน่าจะมีอยู่คู่เดียวในช่วงนั้น รัดเข็มขัดผู้ชายไว้ใต้หน้าอก สวมหมวกปีกกว้างของผู้ชายที่มีริบบิ้นสีดำคาดซึ่งเป็นของลดราคาที่แม่น่าจะเป็นคนซื้อให้ แต่งหน้าทาปาก… เด็กสาววัยสิบห้ากับการแต่งกายเช่นนั้นคงถูกมองเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากโสเภณี เบื้องหลังของเสื้อผ้าชุดนี้… แม่ของเธอรู้เห็นเป็นใจทุกอย่าง เพียงแค่แม่ไม่พูดออกมาว่าเธอคิดจะขายลูกหรือใช้ลูกสาวเธอล่อมหาเศรษฐี คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่านี่คงเป็นบาดแผลในชีวิตของเธอใช่ไหม? แต่เปล่าเลย… สำหรับดูราส เธอกลับมองว่ามันเป็น ‘experiment’ และเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้เธอได้อยู่ห่างไกลจากแม่ มีชีวิตต่างจากแม่ และมีความสุขสมทางเพศ (la jouissance) ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ไม่มี เมื่อว่างเว้นจากการเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำ ดูราสจะนั่งรถลีมูซีนสีดำคันนั้นไปที่ห้องพักของชู้รักชาวจีน ฉากร่วมรักระหว่างเขาทั้งคู่ถือเป็นสิ่งที่ติดตาตรึงใจผู้อ่านมาก ไม่ใช่เพียงความร้อนรักหรือการบรรยายที่ค่อนข้างจะเปิดเผย แต่เป็นความรู้สึกหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ซึ่งไม่อาจแยกออกจากกันได้ระหว่างความใคร่ ความกลัว และความตาย “เขาต้องร่วมรักเพื่อต่อสู้กับความกลัว ฉันบอกเขาว่าฉันชอบคิดว่าเขามีผู้หญิงหลายคน คิดว่าเขาอยู่ท่ามกลางผู้หญิงพวกนั้น ชอบคิดปน ๆ ไปเรื่อย เรามองตากัน เขาเข้าใจสิ่งที่ฉันเพิ่งจะพูด แววตาเขาดูแปลกไปทันที มันไม่เหมือนเช่นเคย มันถูกยึดกุมไว้ในความชั่วร้าย ความตาย “… เขาทำราวกับฉันเป็นอีตัว เป็นอีนังโสโครก เขาบอกว่าฉันคือรักเดียวของเขา เขาต้องทำแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่เขาทำเมื่อต้องพูด เมื่อเรือนร่างต้องลงมือ เสาะหา ค้นพบ และเป็นเจ้าข้าวเจ้าของสิ่งที่มันต้องการ ทุกอย่างล้วนดีไปเสียหมด (…) ทุกอย่างดำเนินไปในกระแสพายุ ในพละกำลังแห่งความปรารถนา” อันที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างดูราสกับทายาทหนุ่มเศรษฐีชาวจีนไม่ได้ถูกเล่าใน L’Amant เป็นครั้งแรก แต่มันอยู่ในผลงานแทบทุกชิ้น ต่างเพียงรายละเอียดของโครงเรื่องและตัวละคร นักอ่านดูราสหลายคนตั้งคำถามว่าความจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่นั้นเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะในเล่มแรก ๆ ความสัมพันธ์เริ่มต้นจากการที่เด็กสาวถูกข่มขืนเสียด้วยซ้ำ แล้วจึงค่อย ๆ มีวิวัฒนาการมาเป็นตัวละครประเภทเด็กสาวประเภท ‘โลลิตา’ (Lolita) ที่มีลักษณะ ‘ยั่วเพศ’ พร้อมที่จะพุ่งตัวหาประสบการณ์ทางเพศ… ‘โซฟี โบแกร์ต’ (Sophie Bogaert) ผู้เชี่ยวชาญด้านอัตชีวประวัติของดูราสอธิบายว่าเหตุผลที่ดูเหมือนว่าดูราสจะค่อย ๆ เผยเรื่องที่เกิดขึ้นออกมาเรื่อย ๆ เพราะในช่วงแรกที่เธอเขียน สมาชิกบางคนในครอบครัวยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงอาจจะพูดหรือบอกเล่าอะไรได้ไม่เต็มปากเท่าไรนัก แต่หลังจากที่บุคคลต่าง ๆ เริ่มลาลับ เธอจึงเล่าอะไรต่อมิอะไรได้สะดวกใจขึ้น ถึงที่สุดแล้ว…ความสัมพันธ์นั้นก็ต้องจบลงเมื่อดูราสต้องเดินทางกลับฝรั่งเศสในปี 1932 หลังจากที่แม่ของเธอแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวกับโครงการสร้างเขื่อนกั้นแปซิฟิก สงคราม ความรัก และความเจ็บปวด ดูราสกลับมาศึกษาต่อในระดับชั้นเตรียมเข้าปริญญาตรี เธอเลือกเรียนกฎหมาย คณิตศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ช่วงเดียวกันนั้นเธอได้เจอกับผู้ชายที่เธอรักมากที่สุดในชีวิต ‘โรแบรต์ อัลแตลม์’ (Robert Altelme) หลังจบการศึกษา ดูราสทำงานเป็นเลขานุการกระทรวงอาณานิคม ในปี 1939 ดูราสตัดสินใจแต่งงานกับชายคนรักของเธอ และหลังจากนั้น 1 ปี เธอให้กำเนิดลูกคนแรก แต่เขากลับเสียชีวิตตอนเกิด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูราสและสามีของเธอเข้าร่วมกับขบวนการ ‘La Résistance’ เพื่อต่อต้านการรุกรานของเยอรมัน ปี 1943 อะพาร์ตเมนต์ของดูราสและสามีกลายเป็นที่รวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มปัญญาชนขบวนการ ‘La Résistance’ ที่นั่นพวกเขาถกเถียงเรื่องสงคราม การเมือง และวรรณกรรม เป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจที่สำคัญของดูราสที่ทำให้เธอกล้าตัดสินใจสานฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนตั้งแต่วัยเด็กให้เป็นจริง และปีเดียวกันนั้นเธอได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเธอ… ‘Les Impudents’ ปี 1944 กลุ่มปัญญาชนมิตรสหายของดูราสต้องสลายตัว สามีของเธอถูกจับและเตรียมถูกส่งตัวไปที่ค่ายกักกัน ‘ดาเชา’ (Dachau) ดูราสถึงขั้นต้องวางแผนยั่วยวนผู้ดูแลรับผิดชอบที่จับตัวสามีของเธอไป เธอยอม ‘ร่วมสัมพันธ์’ กับเขาเพื่อต่อรองให้เขาปล่อยสามีเธอ ซึ่งต้องรอจนถึงฝรั่งเศสรอดพ้นจากการยึดครองของเยอรมัน เธอถึงได้ตัวคนรักกลับมาจากค่ายกักกัน ดูราสดูแลสามีอยู่นานเป็นปีกว่าเขาจะกลับมาแข็งแรง แต่สุดท้ายก็เลิกรากันในปี 1947 และปีเดียวกันนั้น เธอแต่งงานใหม่ ให้กำเนิดลูกชาย และเลิกราหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี ประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดในชีวิตช่วงสงครามของดูราสถูกเขียนไว้ใน ‘La douleur’ ซึ่งรอถึงปี 1985 กว่าจะได้รับเผยแพร่… “หากเรามองเยอรมันว่าเป็นเรื่องความน่าสะพรึงกลัวของนาซี ไม่ได้มองมันเป็นเรื่องของหมู่มวลมนุษย์ นั่นเท่ากับเราให้ค่าเบ็ลเซิน (ค่ายกักกัน) ว่าเป็นอำนาจในภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น คำตอบเดียวคือต้องทำให้อาชญากรรมนี้เป็นอาชญากรรมของทุกคน กระจายมันออกไป เช่นเดียวกับความคิดที่ว่าด้วยความเสมอภาค ภราดรภาพ” ช่วงเดียวกันนั้น ดูราสตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฝรั่งเศสอีกด้วย แต่ไม่นานเธอก็ถูกไล่ออกเนื่องจากเธอมีปัญหากับสมาชิกคนอื่นในกลุ่มที่กล่าวหาว่าเธอสร้างความเสื่อมเสียให้แก่พรรคและประพฤติตัวไม่เหมาะสม กระนั้น เธอเขียนจดหมายตอบกลับว่าแม้จะถูกไล่ออก แต่ส่วนลึกของเธอยังคงเป็นคอมมิวนิสต์ไม่เสื่อมคลาย หลังจากนั้น เธอก็ร่วมขบวนการขับเคลื่อนสังคมมากมาย เช่น ต่อต้านสงครามแอลจีเรีย สิทธิสตรี เรียกร้องให้กฎหมายคุ้มครองการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ฯลฯ ดูราสกับนูโวโรมอง ช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ดูราสแข็งขันมากในโลกของงานเขียนและภาพยนตร์ เธอตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรมและเขียนบทละครและภาพยนตร์ออกมาหลายเรื่อง รวมถึงยังได้กำกับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของเธออีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน ดูราสก็ดื่มหนัก สุขภาพของเธอเสื่อมลงจนส่งผลต่อการทำงานเป็นอย่างมาก เธอต้องเข้ารับการรักษาจากโรคติดสุราอย่างจริงจังในช่วงนั้น ในปี 1981 เธอมีอาการมือสั่นจนไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ในปีเดียวกันนั้นเธอต้องวานให้ ‘ยาน อองเดรอา’ (Yann Andréa) หนุ่ม ‘ไบเซ็กชวล’ ที่อยู่กับเธอช่วงนั้นช่วยเธอเขียนเรื่อง ‘โรคแห่งความตาย’ (La maladie de la mort) โดยเธอเป็นคนพูดและให้เขาเขียนตาม ปี 1984 ดูราสได้รับรางวัลวรรณกรรมของฝรั่งเศส ‘Le prix Goncourt’ จากนวนิยายเรื่อง ‘L’Amant’ ที่นอกจากจะสะท้อนชีวิตวัยเด็กในดินแดนอาณานิคมแล้ว ยังนำเสนอสไตล์การเขียนแบบ ‘นูโว โรมอง’ (Nouveau Roman) ซึ่งเน้นเรื่องของฟอร์มการเขียนที่ฉีกออกจากขนบการเขียนแบบเดิม ๆ ปฏิเสธกฎเกณฑ์เดิม ๆ เพื่อยืนยันเสรีภาพของงานศิลปะและจักรวาลของวรรณกรรมที่ไม่จำเป็นต้องวิ่งคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง… “เรื่องราวในชีวิตของฉันไม่มีอยู่จริง มันไม่มีอยู่จริง มันไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีลู่ทาง ไม่มีเส้นสาย มีแค่พื้นที่กว้าง ๆ ที่เชื่อกันว่ามีใครอยู่ในนั้น แต่มันไม่จริง ไม่มีใครอยู่เลยแม้สักคน” ‘L’Amant’ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับ ฌอง-ฌาคส์ อานโนด์ (Jean-Jacques Annaud) ในชื่อภาษาอังกฤษ ‘The Lover’ แต่ภาพที่สะท้อนในภาพยนตร์กลับไม่ถูกใจดูราส เธอถึงขั้นบอกว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอตั้งใจจะเขียน ดูราสจึงเขียนเรื่องเดิมแต่เป็นเวอร์ชันใหม่ขึ้นมาในชื่อ ‘L’Amant de la Chine du nord) และตีพิมพ์ในปี 1991 ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Lover ‘ ของอานโนด์จะฉายในปี 1992 ดูราสเสียชีวิตด้วยวัย 82 ปี ในปี 1996 ร่างของเธอถูกฝังที่สุสาน ‘มงต์ปาร์นาส’ (Le cimetière Montparnasse) ซึ่งถือเป็นสุสานสำหรับบุคคลสำคัญระดับประเทศ ดูราสกลายเป็นนักเขียนที่เป็นที่จดจำถึงงานเขียนประเด็นชีวิตอันแหลมคมและสไตล์การเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ บรรดานักวิจารณ์วรรณกรรมต่างยกย่องให้เธอเป็นนักเขียนแถวหน้าของโลกวรรณกรรมยุคปลายศตวรรษที่ 20 จวบจนปัจจุบันชีวิต โดยผลงานของดูราสยังคงถูกยกมานำเสนอตามสื่อต่าง ๆ ของฝรั่งเศสอยู่หลายครั้ง และยังถูกแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์ ภาพ: IMDb - Marguerite Duras / IMDb - L'amant