09 เม.ย. 2568 | 14:02 น.
KEY
POINTS
กลางเดือนเมษายนของทุกปี กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นศูนย์กลางของความบันเทิงระดับโลก ไม่ใช่เพียงเพราะความร้อนระอุจากแดด หรือความเย็นของปืนฉีดน้ำ หากแต่เป็นพลังมหาศาลที่แผ่ออกมาจากเวที SIAM Songkran Music Festival เทศกาลดนตรีที่หลอมรวมวัฒนธรรมไทย เข้ากับเสียงบีตของ EDM (Electronic Dance Music) อย่างสง่างาม
ในปี 2025 เทศกาลนี้จะจัดขึ้นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 11 – 14 เมษายน ที่ Bravo BKK Arena โดยมีศิลปินระดับโลกเข้าร่วมมากมาย เช่น Dimitri Vegas, Steve Aoki, Alesso และ Hardwell ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการยกระดับเทศกาลสงกรานต์ของไทย ให้กลายเป็นเวทีดนตรีระดับนานาชาติอย่างแท้จริง
เบื้องหลังของเทศกาลนี้ มีชายคนหนึ่งที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้จัดงานเท่านั้น แต่เขาคือผู้สร้างโลกใบใหม่ที่เชื่อว่า วัฒนธรรมไทยสามารถยืนอยู่เคียงข้างวัฒนธรรมดนตรีสากลได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ชื่อของเขา คือ ‘รชต ธันยาวุฒิ’ ผู้ก่อตั้ง One Asia Ventures ผู้ซึ่งเปลี่ยนความหลงใหลในเสียงดนตรีให้กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค และสร้าง SIAM Songkran ให้กลายเป็น ‘แพลตฟอร์มทางวัฒนธรรม’
ในบทสัมภาษณ์นี้ รชต เปิดใจกับ The People เล่าถึงเส้นทางชีวิตจากเด็กหนุ่มที่เริ่มต้นจากการตีกลอง และซึมซับวัฒนธรรมดนตรี มาสู่นักจัดงานที่กล้าคิด กล้าลงมือ และกล้ายอมรับความเสี่ยง เพื่อผลักดันสิ่งที่เขาเชื่อว่า “ดนตรี คือวิถีที่ผู้คนจากต่างวัฒนธรรมจะเข้าใจกันได้เร็วที่สุด”
“ผมตีกลอง ผมอยู่กับดนตรีมาตั้งแต่มัธยม” รชต ธันยาวุฒิ เริ่มต้นเล่าอย่างไม่ลังเล
เสียงเครื่องเคาะจังหวะอาจเป็นจุดตั้งต้นของความหลงใหลในโลกของการแสดง แต่เบื้องหลังนั้น เขาเคยสัมผัสดนตรีในหลายรูปแบบมาก่อน ตั้งแต่เครื่องดนตรีไทยไปจนถึงเครื่องสากล
“ตอนเป็นเด็ก คุณแม่ให้เรียนเปียโน เรียนระนาด เรียนซอ อะไรไปเรื่อย” เขาว่าแบบนั้น “ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าทำไปทำไม” เขาหัวเราะเล็ก ๆ ตามหลัง
ประสบการณ์เหล่านั้นกลายเป็นรากฐานที่หนักแน่น เมื่อเวลาผ่านไป ดนตรีแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน กระทั่งเมื่อเขาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โลกของเสียงเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง
“ผมเริ่มฟังดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ได้พบประสบการณ์ ได้เจอกลุ่มคนที่ฟังเพลงพวกนี้ ทำให้สนใจอยากนำดนตรีรูปแบบนี้กลับมาเผยแพร่ที่ไทย”
ความคิดนั้นไม่ได้มาในทันที แต่เริ่มตกผลึกทีละน้อย จนกลายเป็นความตั้งใจแน่วแน่ที่จะผลักดันดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นที่รู้จัก
“โชว์บิซ คือการขายของที่คนไม่เห็นโปรดักต์ มันขายตัวคอนเซ็ปต์ ขายชื่อเสียงผู้จัด หรือขายฝัน” รชต พูดอย่างตรงไปตรงมา เมื่อถูกถามว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงมากเพียงใด
“ถ้าขายฝันไปได้ไกล ทุกอย่างที่ขายได้หมด ก็โชคดี แต่ถ้าขายฝันแล้วไม่รอด มันก็เจ็บ” เขาว่าต่อ
ประโยคนี้เป็นภาพสะท้อนของธุรกิจที่ผู้บริโภคไม่สามารถจับต้องสินค้าได้ทันที ทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ทั้งต่อแบรนด์ผู้จัดงาน ศิลปิน และประสบการณ์ที่ถูกสื่อสารผ่านภาพหรืออารมณ์ล่วงหน้า
รชต ไม่ได้พูดถึงตัวเลขผลตอบแทน หรือสูตรความสำเร็จแบบที่นักธุรกิจทั่วไปคาดหวัง แต่เขากลับพูดถึง ‘ฝัน’ และ ‘การขายฝัน’ อย่างเป็นระบบ ว่าทุกองค์ประกอบของงานต้องรองรับการเล่าเรื่องที่น่าเชื่อถือ และพร้อมจะเป็นจริงขึ้นในวันงาน
ความเสี่ยงของธุรกิจโชว์บิซ จึงไม่ได้อยู่ที่เวทีจะพังหรือศิลปินจะไม่มาเท่านั้น แต่คือการที่คนดูไม่เชื่อในสิ่งที่เราพยายามสื่อสารตั้งแต่ต้น ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสียทั้งเงิน เวลา และความน่าเชื่อถือในคราวเดียว
“เราต้องเปลี่ยน strategy ทุกปีครับ ไม่ว่าจะเป็น art work, theme งาน หรือ mood and tone” ผู้บริหารหนุ่มพูดถึงความจำเป็นในการปรับตัวของผู้จัดงาน ในยุคที่รสนิยมผู้ชมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เขายกตัวอย่างงานสงกรานต์ที่เขาจัดเมื่อปีก่อน ซึ่งใช้ธีมเข้มข้น “ท้าวเวสสุวรรณ ยืนถือกระบอง ตาเลเซอร์ เป็น milkyway” เพื่อสะท้อนกระแสสายมูในช่วงเวลานั้น
“ปีนั้นเป็นปีที่ทุกคนจะสายมูกันหนัก เราจะเอาอะไรมา remind คน ให้จับต้องได้ มันคือสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับงาน แล้วก็ได้ผล” เขากล่าว
แต่ในปีถัดมา เขาสังเกตว่าความรู้สึกของคนเปลี่ยนไปอีกแบบ “พอมาปีนี้ ผมมองว่าทำไมเทรนด์หมูเด้งมันมา ทําไมเทรนด์บัตเตอร์แบร์มันมา แสดงว่าคุณต้องการความสบายใจ”
เขาจึงเลือกใช้โทนสีและการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรและเปิดกว้าง
“การทําอาร์ตเวิร์ค ต้องออกมาให้ unisex และ LGBT บวกกับเห็นปุ๊บแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! สบายใจว่ะ เป็นสีชมพู สีฟ้า ผู้หญิงมองว่า เฮ้ย! น่ารัก”
แต่การรักษาเสน่ห์และความยั่งยืนของงาน ไม่ได้อยู่ที่กลยุทธ์ในการเลือกใช้ธีมเท่านั้น อีกหนึ่งปัจจัยที่เขาให้ความสำคัญ คือขีดจำกัดของสถานที่
“อีกประมาณสัก 2 ปี เราจะเจอเรื่องความอิ่มตัวของเวนิว” เขากล่าวถึง Bravo BKK Arena ซึ่งเป็นสถานที่หลักของงาน
“สมมติว่าผมทํา sold out ไปแล้ว เวนิวนี้ก็ขยายไม่ได้แล้ว นี่คือพื้นที่ใหญ่สุดเท่าที่ผมจะหาได้” เขาอธิบายว่าหากต้องการเติบโตต่อ ต้องหาที่ทางใหม่ เช่น การเปลี่ยนสถานที่ หรือปรับโครงสร้างการจัดงาน
“ถ้าเกิดผมขายตั๋วได้คูณห้า มันก็ไม่พออยู่ดี แล้วการขึ้นราคาตั๋วมากเกินไปก็อาจจะไม่ใช่ทางออก”
เขามองว่า ‘ความยั่งยืน’ ของอีเวนต์ไม่ได้หมายถึงการจัดได้ทุกปี หากแต่ต้องปรับตัวตามรสนิยมของผู้ชม สถานการณ์ของตลาด และข้อจำกัดของทรัพยากรอย่างชาญฉลาด
“ผมโฟกัสตลาดโลคอลเป็นหลัก” รชต ย้ำจุดยืนของเขา ในฐานะผู้จัดงานดนตรีระดับนานาชาติ
เหตุผลไม่ได้อยู่ที่เขาไม่สนใจผู้ชมต่างชาติ แต่เพราะเขาเข้าใจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
“ตลาดอินเตอร์ เค้าเลือกมาด้วยชื่อเสียงของตัวงานกับภาพ เค้าไม่ได้โฟกัสที่ธีมงานขนาดนั้น” เขาอธิบายพร้อมเสริมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ ‘โลเคชัน’ และ ‘ช่วงเวลา’ ถ้าสถานที่จัดงานอยู่ไกลเกินไป เดินทางลำบาก หรือเสี่ยงในแง่ของความปลอดภัย นักท่องเที่ยวจะไม่เลือกมาร่วมงาน ไม่ว่าตัวงานจะดีเพียงใด
“ต่อให้คุณจัดงานดีแค่ไหน แต่เค้าต้องเสี่ยงในการไปอยู่พื้นที่อันตราย อันนี้มันจะยาก”
ในทางกลับกัน กลุ่มคนไทยยังคงเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้มากกว่า แม้จะมีการแข่งขันสูงขึ้น แต่เขาเชื่อว่าการรักษาฐานผู้ชมในประเทศให้มั่นคง คือพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตระยะยาว
รชต ไม่ลืมให้เครดิตกับวัฒนธรรมสงกรานต์ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาร่วมงานได้ง่ายขึ้น
“เราต้องยกความดีให้สงกรานต์ คือสงกรานต์มีความแข็งแกร่งของตัว culture บวกกับเป็น period ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมา ดังนั้น เราไม่ต้องทำอะไรเยอะ”
“ปีที่แล้ว ยอดขายเราขึ้นมา 40 เปอร์เซ็นต์” เจ้าตัวบอก “ไม่ใช่ว่าเราขายได้ดีมาก แต่เป็นเพราะปีก่อนหน้านี้ สถานที่เราจำกัด คือเรา sold out ทุกปี”
เขาอธิบายว่า ปีที่ผ่านมาพื้นที่จัดงานขยายใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมได้มากกว่าเดิม และในปีนี้ เขาคาดการณ์ว่า “คงโตขึ้น 30% โดยประมาณ คือ 90,000 ถึงแสนนึง ภายใน 4 วัน เพราะพื้นที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม”
สำหรับเรื่องรายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจโชว์บิซ เขาเล่าว่า “เราก็เริ่มได้ตั้งแต่ปีที่แล้วราว 20%” และในปีนี้ มีการวางแผนอย่างชัดเจนมากขึ้นว่า “income ของสปอนเซอร์จะอยู่ที่ 30%”
แนวคิดคือถ้าแตะเป้าหมาย 30% ได้เมื่อไร เขาจะสามารถลงทุนเพิ่มเติม ในด้าน value หรือ production ได้มากขึ้น เช่น “อยากเล่นลูกเล่นพิเศษใช่มั้ย ทำได้ ถ้าถึง 30% ปุ๊บ อยากไปถ่ายที่ใหม่ จ่ายได้”
เขายังเชื่อมโยงการลงทุนกับช่วงเวลาของการโปรโมทด้วยว่า “ผมถึงกล้าไปลงทุนเอาอินโนเวชันใส่เข้ามา ถ้าเกิดว่ามันยังอยู่ที่เดิมของปีที่แล้ว ก็ไม่กล้าใส่ กลัวจะกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”
การเติบโตทางตัวเลขจึงไม่ใช่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่คือการใช้รายได้ที่มากขึ้นอย่างมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้ชมให้ดีขึ้นในทุกมิติ
ประสบการณ์ที่ให้บทเรียนสำคัญ
กว่าจะมาถึงวันนี้ มีเหตุการณ์ที่ให้บทเรียนแก่ รชต นับไม่ถ้วน
“อันหนึ่งที่ผมจําได้ แล้วยังฝังใจ” ผู้บริหาร วันเอเชียฯ เริ่มต้นด้วยเสียงเรียบนิ่ง “ผมมีศิลปินคนนึงที่ผมรักที่สุด ดีเจ อาวิชี (Avicii) เป็นแรงบันดาลใจ เป็นไอดอลของผม”
เขาเล่าว่าในปี 2014–2015 เขาได้คอนแทกต์ของ Avicii มาในราคาที่ดีมาก เตรียมจะจัดแสดงที่เอเชียทีค ทุกอย่างจองเรียบร้อยล่วงหน้าสองเดือน แต่สุดท้ายต้องยกเลิกกะทันหัน
“พอมีระเบิดตรงท่าเรือ เขายกเลิกครับ ฝรั่งเห็นเป็น civil war ศิลปินไม่กล้ามา” เขาพูดด้วยน้ำเสียงที่ยังคงสะเทือนใจแม้เวลาผ่านมาแล้วหลายปี “หลังจากนั้นไม่กี่ปี เขาก็เสียชีวิต”
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กลายเป็นบทเรียนสำคัญ คือการดีลกับศิลปินคู่หูดีเจจากอิตาลี DJ VINAI
“ตอนนั้นเรายังไม่มีพาวเวอร์มากพอ เราไปทํา bundle deal สมมติว่าโชว์ 5 ที่ เพื่อให้ค่าซื้อถูกลง”
แต่สถานการณ์เปลี่ยนกะทันหัน เมื่อ 3 จาก 5 โชว์ถูกยกเลิก เหลือเพียง 2 ที่ “ซึ่งจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย กลายเป็นงานเข้า แล้วเรายังเด็กอยู่ เรา take risk มากเกินไป แล้วยังไม่ได้ sign contract กับใครด้วย แค่ลมปาก”
โชคดีที่ศิลปินคู่นี้เคยแสดงในงานแต่งของเขา และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน “ผมบิลท์เขามาตั้งแต่ค่าตัว 1,500 ดอลลาร์ ตอนนี้ขึ้นมา 40,000 ดอลลาร์แล้ว” เขาจึงตัดสินใจติดต่อศิลปินโดยตรง
“ไปไหว้พระพิฆเนศที่ห้วยขวาง แล้วนึกครึ้มอกครึ้มใจ เอาวะ! โทรหาดีเจตรงเลยล่ะกัน” เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม “ดีเจคู่นี้ไปคุยกับ management ว่า สงสารมันเถอะ มัน loyalty กับเราขนาดนี้”
สุดท้าย management ก็ยอมให้เล่นเพียงสองโชว์ เหตุการณ์นี้กลายเป็นเครื่องเตือนใจที่ชัดเจนว่า “อย่าทําอะไรที่ไม่มี paper”
นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เขาจำได้ไม่ลืม “งานนึงมีพายุฝน ผมเจอศิลปินที่มาเห็นสายไฟแล้วไม่ยอมขึ้นเล่น เพราะกลัวไฟดูด” เขากล่าว “คือเราก็เช็กแล้ว มันไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่ perception ของเขาคือไม่มั่นใจ”
เรื่องเล็ก ๆ อย่างสายไฟ กลายเป็นปัจจัยใหญ่ที่กระทบโชว์ได้ทันที ถ้าไม่มีการจัดการความรู้สึกของศิลปินอย่างรอบคอบ
สำหรับรชต การเรียนรู้จากชีวิตจริงสำคัญกว่าทฤษฎีในห้องเรียน และที่สำคัญคือ “ล้มแล้วต้องลุกขึ้นเร็ว”
“ล้มแล้วต้องไม่นอนค้างต่อ ไปต่อเลย เพราะถ้าเกิดว่าค้างต่อไป มันไม่มีใครให้โอกาสเรา” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงแน่วแน่
“ใช่ครับ ผมเลยสร้าง IP (Intellectual Property) ตัวเอง” ผู้บริหารหนุ่ม พูดถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง โดยอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่า หากจะมีความร่วมมือกับต่างชาติ เขาจะไม่ใช้รูปแบบการซื้อ license อีกต่อไป เพราะการทำ license ต้องทำตามข้อบังคับทุกอย่างของต้นทาง ซึ่งจำกัดความคิดสร้างสรรค์และการปรับตัวให้เหมาะกับบริบทไทย
“ถ้าเกิดจะมีการทำร่วมกับต่างชาติ ต้องให้เค้ามาเป็นรูปแบบการลงทุนในประเทศ ผมกำลังทำอยู่กับเจ้านึง คือไม่เอา license เพราะการทำ license เค้าจะมีข้อบังคับเลยว่า you ต้อง follow ทุก requirement ทุก structure เราจะไม่สามารถเสนอไอเดียได้”
ทางเลือกคือการทำงานแบบ partnership โดยให้บริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนในประเทศไทย แต่ต้องเชื่อในแนวคิดของทีมงานไทยเป็นหลัก
การสร้าง IP ของตัวเอง นอกจากเป็นการสร้างแบรนด์แล้ว ยังหมายถึงการมีอำนาจควบคุมและความยืดหยุ่นในการบริหารทุกมิติของงาน ซึ่งรวมถึงการออกแบบ การผลิต การขาย และการวางแผนระยะยาว
“มีโอกาสล้มเหลวเยอะนะ ถ้าคาดการณ์ไม่ดี” รชต ธันยาวุฒิ กล่าวถึงความเสี่ยงในธุรกิจ EDM อย่างไม่ปิดบัง “อันซีนของผมเอง ปีที่แล้วก็ล้มเหลว ขณะที่อันซีน 2 ปีก่อนกำไรดีเลย”
เขาอธิบายว่า ความล้มเหลวของอีเวนต์หนึ่ง อาจเกิดจากปัจจัยเล็ก ๆ ที่มองข้าม เช่น การเลือกจังหวะเวลา หรือแม้แต่สถานที่ที่ไม่เหมาะสม
“คือแค่เลือกผิดจังหวะ เลือกผิดเดือน เลือกผิดสถานที่ ก็จบ”
สถานที่จัดงาน คือหนึ่งในตัวแปรที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะกับ EDM ที่ผู้ชมต้องการพื้นที่เฉพาะตัว
“สถานที่ที่ส่วนใหญ่เป็นสแตนด์อโลน จะดีกับ EDM มากกว่า เพราะคนมางาน เค้าแต่งตัวกันเต็มที่ แล้วเค้าก็ไม่ได้ต้องการให้พื้นที่จับจองของคนที่มาเดินทั่วไป”
การเลือกสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านหรือมีข้อจำกัดเชิงพื้นที่ จึงอาจทำให้บรรยากาศของงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมเป้าหมาย
แม้จะเป็นที่รู้จักจากการจัดงานเฟสติวัลขนาดใหญ่ แต่การจัดงานในคลับ บาร์ หรืองานขนาดเล็ก ยังคงมีบทบาทสำคัญใน ecosystem ของธุรกิจโชว์บิซ
“มันช่วยให้ความเข้าใจเทรนด์ของเด็ก ๆ” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานรุ่นใหม่ได้ลองสนามจริง และเป็นเวทีทดลองแนวคิดใหม่ ๆ ด้วย
“คือผมรับเด็กใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ เด็กพวกนี้ เค้ามีไอเดียของเค้า บางทีมันดี แต่บางทีมันอาจจะไม่ดี เราก็จะทำเป็นทีมเอ ทีมบี เราส่งไปเล่นเลย ปีที่แล้วมีพวกงานป๊อปอัพ งานข้าวจี งานเล็ก ๆ เราก็เซ็ทยูนิตขึ้นมา คนนี้เป็นโอเปอเรชัน คนนี้เป็นโปรดักชัน คนนี้เป็นทีมพีอาร์”
สำหรับ รชต นี่คือพื้นที่สำคัญในการสร้างแฟนใหม่ และเรียนรู้การบริหารงานในระดับย่อมก่อนจะขยายสเกล
“เราทิ้งงานสเกลเล็กไม่ได้ เราได้กลุ่มแฟนคลับใหม่ เราได้ทดลองงาน ก็ยังทำอยู่ตลอด หนึ่งปีมีมากกว่า 4 งาน มีเกือบทุกเดือนแหละ แต่เราไม่ได้เอามาพูดถึง เพราะมันแทบไม่เจนเนอเรทรายได้”
ไม่ยอมแพ้ต่อความฝัน
“ก่อนหน้านี้ ถ้าเกิดให้ผมถามตัวเองว่าผมเป็นใคร ผมยังนึกไม่ออก” รชต ธันยาวุฒิ เล่าอย่างตรงไปตรงมา
“แต่พอได้มาอยู่กับภรรยา เรานั่งคุยกันเยอะ สรุปแล้วเราเป็นอย่างไรกันแน่ ผมนิยามตัวเองว่า ผมไม่เคยยอมแพ้อะไร”
เขาเล่าย้อนไปถึงวัยเด็กว่าเคยมีน้ำหนักตัวเกินร้อยกิโล แต่ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิต ด้วยการเรียนคอร์สเทรนเนอร์ฟิตเนสของอเมริกา ศึกษาเรื่องอนาโตมี สารอาหาร และฟิตตัวเองอย่างหนัก รวมถึงช่วงก่อนเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งภาษาอังกฤษยังอ่อนมาก แต่สุดท้ายก็ฝ่าฟันจนสอบ SAT ผ่าน และเรียนจบปริญญาโทที่อเมริกาได้สำเร็จ
“ภาษาอังกฤษผมห่วยตลอด แต่พอมีแค่ปีเดียว ผมไม่มีทางเลือก ต้องสอบ SAT เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ปีนึง มันก็ทำได้”
เส้นทางในวงการโชว์บิซของเขา ไม่ต่างจากการต่อสู้แบบนั้น “ยอมรับว่า กว่าผมจะทำงานสเกลระดับนี้ได้ ผมล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร”
ตั้งแต่เริ่มจากผับเล็ก ๆ สู่เฟสติวัลหมื่นคน ตั้งแต่การขาดทุนจากงานแรกจนหมดตัว สู่การเป็น artist agent และกลายเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทระดับโลก เส้นทางของรชตไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยบทเรียนและแรงผลักดันจากความเชื่อในตัวเอง
จากเด็กที่ตีกลองและเรียนดนตรีตามคำแนะนำของแม่ สู่ผู้บริหารที่ควบคุมอีเวนต์ระดับนานาชาติ ชีวิตของ รชต ธันยาวุฒิ คือหลักฐานที่ชัดเจนว่า แรงศรัทธา ความพยายาม และการไม่ยอมแพ้ต่อความฝัน สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนๆ หนึ่ง และอาจเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการจัดงานเฟสติวัลในประเทศนี้ไปอีกหมุดหมายหนึ่ง