12 มี.ค. 2566 | 18:00 น.
“I’ll see you on the dark side of the moon”
‘อีกฝั่ง’ หรือ ‘ด้านมืด’ ของดวงจันทร์ ถือเป็นปริศนาของมวลมนุษย์เสมอมา ทุกวันที่ดวงอาทิตย์ต้องลาลับขอบฟ้าและดวงจันทร์ผงาดขึ้น สิ่งที่ปรากฎขึ้นคือด้านสว่างของดวงจันทร์ที่จะคอยเป็นมิตรฉายแสงยามราตรี แต่ในดาวเคราะห์ดวงสนิทเดียวกันนี้เอง อีกฟากหนึ่งของมันกลับกลายเป็นคนแปลกหน้าที่กลายเป็นตัวแทนแห่งปริศนาที่เราทุกคนได้แต่จินตนาว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไรหรือว่ามีอะไรที่หลบซ่อนอยู่
ไม่เกินความจริงหากมนุษย์อยากจะทะยานขึ้นฟ้าเพื่อไปดูว่าอีกด้านของมันมีอะไรซ่อนอยู่ แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสวมชุดอวกาศและก้าวขึ้นยานอะพอลโลเพื่อลองเวียนผ่านไปดูด้วยสายตาของตัวเองสักครั้ง
แต่เมื่อ 50 ปีก่อน ได้มีวงดนตรีหนึ่งนามว่า ‘พิงค์ ฟลอยด์’ (Pink Floyd) เปิดโอกาสให้ผู้ฟังของพวกเขาได้ลองไปเยือนอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ดูสัก (หลาย) ครั้ง ด้านมืดที่ดูห่างไกลเกินเอื้อมถึง แต่แท้จริงแล้วกลับซ่อนอยู่ภายในจิตใจของตัวเรานี้เอง ผ่านผลงานอัลบั้มลำดับที่แปด ของวง ‘The Dark Side of the Moon’ ที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคมปี 1973 หรือก็เป็นเวลาครึ่งศตวรรษพอดิบพอดี
แม้จะกรุยทางและนิยามสไตล์ตัวเองอย่างชัดเจนที่วิวัฒน์จาก ไซเคเดลิกร็อก (Psychedelic Rock) สู่วงดนตรีแนวโพรเกรสซิฟร็อก (Progessive Rock) จากอัลบั้ม Meddle ในปี 1971 ที่มาพร้อมบทเพลงยาว 23 นาทีอย่าง Echoes ที่กินพื้นที่ Side B ทั้งหน้าของแผ่นเสียงอัลบั้มไปเต็ม ๆ แต่ The Dark Side of the Moon ที่ถูกปล่อยสองปีต่อมาก็ถือเป็นอัลบั้มที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดของพวกเขา ทั้งในแง่ของแนวทางดนตรี คอนเซ็ปต์ และชื่อเสียงของวงอย่างชัดเจน
ถึงจะเป็นดนตรีที่มีความทดลองในสไตล์อยู่ค่อนข้างสูง ไม่ได้มีท่อนฮุคที่ฮิตติดหูหรือมิวสิควิดีโออันน่าจดจำ แต่อัลบั้ม The Dark Side of the Moon ก็ได้รับความนิยมและฮิตติดท็อป 200 อัลบั้มของการจัดอันดับ Billboard มาต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลากว่า 14 ปี และนอกจากในแง่ของความนิยมแล้ว Rock & Roll Hall of Fame ก็ยังเคยขนานนามอัลบั้มนี้ว่าเป็น
“ผู้วางรากฐานและกรุยทางให้กับการพัฒนาของกระแสดนตรีที่สำคัญอย่าง Psychedelic Space-Rock และ Blues-Based Progressive Rock”
เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ในบทความนี้เราจะพาไปไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ในแบบฉบับของ Pink Floyd, เปิดที่มาของการออกแบบปกอัลบั้มอันโด่งดัง และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็น The Dark Side of the Rainbow กับความบังเอิญเมื่อดนตรีจากอัลบั้ม The Dark Side of the Moon สามารถประกอบเข้ากับภาพยนตร์เรื่อง The Wizard of Oz (1939) ได้อย่างสมบูรณ์แบบจนผู้คนพากันตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ?
ด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์
นอกจากสไตล์ดนตรีที่ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกดนตรีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจหลักของ The Dark Side of the Moon ก็คือคอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม โดยอัลบั้มนี้ถือเป็นอัลบั้มแรกที่ โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) มือเบสของวงเป็นผู้เขียนเนื้อเพลงด้วยตัวเองทั้งหมด (และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะสร้างรอยร้าวในวงต่อไปในอนาคต)
โดยแต่ละบทเพลงในอัลบั้มล้วนเกี่ยวโยงกับด้านมืดของชีวิตไม่ว่าจะเป็น ความโลภที่ถูกเสียดสีผ่านเพลง Money, ความตายที่ถูกบรรยายผ่านเสียงร้องของ แคลร์ ทอร์รี่ (Clare Torry) ในเพลง The Great Gig in the Sky, ความไม่จีรังของมนุษย์กับเวลาที่ผ่านแล้วผ่านไปกับเนื้อเพลงของ Time และปัญหาทางสภาพจิตที่ได้แรงบันดาลใจจากอดีตสมาชิกอย่าง ซิด บาร์เร็ตต์ (Syd Barret) ในเพลง Brain Damage
และนี่คือตัวอย่างของเนื้อเพลง Time จากอัลบั้ม The Dark Side of the Moon
“
So you run and you run to catch up with the sun but it's sinking
Racing around to come up behind you again.
The sun is the same in a relative way but you're older,
Shorter of breath, and one day closer to death.
”
“
แล้วคุณก็วิ่งวน วิ่งไป เพื่อไขว่คว้าอาทิตย์มาครอง แต่มันกลับจมหาย
รู้ตัวอีกทีมันก็มาปรากฎขึ้นอยู่ที่เบื้องหลังของคุณเสียแล้ว
ดวงอาทิตย์ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนไป มีแต่คุณที่แก่ลง
ลมหายใจเริ่มหดหาย ล่วงอีกวันที่เขยิบเข้าสู่ความตาย
”
ลำแสง สามเหลี่ยม และสเปกตรัม
ไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ไม่ยาก ว่าปกอัลบั้ม The Dark Side of the Moon นั้นดังไกลและเป็นที่นิยมมากเพียงไหน ดังที่เราบอกไปก่อนหน้า ว่าแม้ไม่เคยฟังหรือไม่รู้จัก Pink Floyd มาก่อน แต่อย่างน้อยก็น่าจะต้องเคยเห็นภาพของสามเหลี่ยมที่มีแสงสเป็กตรัมทะลุผ่านตากันมาบ้าง (โดยเฉพาะที่ช่วงที่กระแส Nyan Cat เป็นที่นิยมจนถูกเอามาผนวกรวมกับ The Dark Side of the Moon นี่แหละครับ) นอกจากนั้น สามเหลี่ยมรูปนั้นยังถูกเอามาสกรีนลงเสื้อกันมากมายเต็มไปหมด จนกลายเป็นว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่เพียงเป็นภาพแทนของวง Pink Floyd อย่างเดียว แต่มันยังเป็นหนึ่งภาพกราฟฟิกสุดคลาสสิคอีกด้วย
สตอร์ม ธอร์เกอร์สัน (Storm Thorgerson) และ ออเบรย์ เพาเวลล์ (Aubrey Powell) คือชื่อของคนที่เราต้องคารวะหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ชื่นชอบปกของอัลบั้มนี้ เพราะว่าเขาทั้งสองจากกลุ่มศิลปินนามว่า ‘ฮิปโนซิส’ (Hipgnosis) คือผู้ที่ออกแบบปกอันโด่งดังนี้ขึ้นมา
หากย้อนกลับไปในยุคสมัยทศวรรษที่ 1970 กลุ่มศิลปินกลุ่มนักออกแบบกลุ่มนี้ถือว่าเป็นตัวท็อปแห่งวงการเลยก็ว่าได้ วงดนตรีร็อคในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น Black Sabbath, Electric Light Orchestra, AC/DC, Genesis, The Alan Parsons Project และรวมถึงหนึ่งในสมาชิกสี่เต่าทองอย่าง พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) ด้วย
แต่ถ้าให้เล่าย้อนถึงกลุ่มศิลปินกลุ่มนี้คงต้องเล่ากันยาวแน่ ๆ แต่ถ้าจะให้เท้าความสั้น ๆ การออกแบบครั้งประวัติศาสตร์กับวง Pink Floyd ในอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาร่วมงานกัน แต่ทั้งสองได้ร่วมสร้างสรรค์ปกอัลบั้มกันมาตั้งแต่ Pink Floyd เปิดตัวอัลบั้มแรกในชื่อ A Saucerful of Secrets (1968) จนมาถึงอัลบั้มที่มีปกน่าจดจำอย่าง Ummagumma (1969), Atom Heart Mother (1970), และ Meddle (1971) ด้วย
“Do something clean, elegant and graphic”
คือบรีฟเดียวที่ศิลปินทั้งสองได้รับจาก ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) มือคีย์บอร์ดของวง ไอเดียของภาพเกิดขึ้นในเวลาเช้ามืดที่ทั้งคู่นั่งงมนึกไอเดียกันมาตลอดคืน จนธอร์เกอร์สันบังเอิญไปเห็นเข้ากับภาพของปริซึมที่มีลำแสงส่องผ่านในหนังสือของฟิสิกส์พื้นฐานเล่มหนึ่ง พวกเขาจึงเก็บมันเป็นหนึ่งในไอเดียที่จะไปนำเสนอกับทางวง และเมื่อได้เห็นสิ่งที่ธอร์เกอร์สันมานำเสนอ Pink Floyd ก็ตัดสินใจเลือกไอเดียนี้ในทันที จนมันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ยาวมาถึงทุกวันนี้
สำหรับความหมายของปก แฟน ๆ หลายคนก็ตีความว่ามันเกี่ยวโยงกับวัฏจักรของชีวิตที่วนเวียนไม่จบสิ้น (เพราะหากพลิกดูที่ปกทั้งหน้าและหลังเราจะเห็นว่าแสงสีขาวนั้นเชื่อมติดกัน) ลำแสงที่พุ่งผ่านสามเหลี่ยมเปรียบเสมือนการเกิด และการวิ่งทะลุสามเหลี่ยมก็เปรียบเสมือนการเผชิญชีวิตจนเหล่าคนแต่ละคนให้แตกต่างกันเสมือนสีสเปกตรัมที่ทุะลุกออกมา
แต่ครั้งหนึ่งธอร์เกอร์สันเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ว่าแรงบันดาลใจและความหมายหลัก ๆ ของปกอัลบั้มมาจากโชว์ของ Pink Floyd ที่มักเล่นกับแสงสี ส่วนสามเหลี่ยมที่เราเห็นก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความคิดและความทะเยอทะยาน
ภายหลังจากอัลบั้ม The Dark Side of the Moon พวกเขาก็ยังคงสร้างสรรค์ปกให้กับอัลบั้มของ Pink Floyd เรื่อยมา ซึ่งแต่ละอันก็ถือเป็นปกที่หลายคนขอยกขึ้นหิ้งและขนานนามว่าเป็นหนึ่งในปกที่ดีที่สุดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Wish You Were Here (1975) และ Animals (1977) โดยทั้งสองปกนี้ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยแม้แต่น้อย
ไขปริศนา The Dark Side of the Rainbow
‘The Dark Side of the Rainbow’ คือชื่อเรียกของภาพยนตร์ The Wizard of Oz (1939) ในเวอร์ชันที่อัลบั้ม The Dark Side of the Moon จะบรรเลงเป็นพื้นหลัง และทั้งสองกลับประกอบเข้ากันอย่างน่ามหัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นฉากที่แม่มดปรากฎตัวมาบนจักรยานพร้อม ๆ กับเสียงเตือนนาฬิกาอันเป็นอินโทรของเพลง Time หรือว่าจะเป็นช่วงที่พายุทอร์นาโดถล่มพร้อม ๆ กับเสียงดนตรีจาก The Great Gig in the Sky จนเสมือนว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็น Music Video ของอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ไปเลยทีเดียว
เมื่อได้มีแฟน Pink Floyd ไปค้นพบการจับคู่กันเข้า มันก็ถูกแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จนมันได้กลายเป็นปริศนา กลายเป็นตำนาน กลายเป็นเรื่องเล่าที่เหล่าแฟน ๆ ก็พากันแนะนำว่าต้องลองจับทั้งสองอย่างนี้มาเปิดพร้อม ๆ กันดูสักครั้ง แต่ความจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่ คนที่น่าจะตอบได้ดีที่สุดก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างอัลบั้มนี้ขึ้นมา
อลัน พาร์สันส์ (Alan Parsons) ผู้ดูแลการอัดและมิกซ์เสียงให้กับ The Dark Side of the Moon ก็ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์และตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสองอย่างไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นสิ่งที่คนคิดกันไปเองมากกว่า มันอาจจะมีความบังเอิญที่เข้ากันจริง แต่มันไม่ใช่ความตั้งใจของผู้สร้างอย่างแน่นอน
นอกจากนั้นพาร์สันส์ก็ยังได้ยกตัวอย่างว่าเขาก็เคยเปิดดูรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง และฟังเสียงจากอีกช่องหนึ่ง ซึ่งในบางคราวมันก็กลับเข้ากันได้อย่างมหัศจรรย์เหมือนกัน และ The Dark Side of the Rainbow ก็เป็นหนึ่งกรณีที่เข้าข่ายความบังเอิญแบบนั้น
โรเจอร์ วอเตอร์ส ก็ออกมาไขข้อข้องใจกับประเด็นนี้ในรายการของ โจ โรแกน (Joe Rogan) เช่นเดียวกัน โดยวอเตอร์สได้บอกว่ามันก็อาจจะจริงที่มันเข้ากันอย่างน่ามหัศจรรย์ แต่สิ่งที่สำคัญคือมันไม่ใช่เจตนาของวง Pink Floyd หรือคนที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน มันก็แค่เรื่องบังเอิญ
“หรือไม่แน่มันก็อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ฟ้าลิขิตก็ได้นะ!”
ท้ายที่สุด ดังที่เราได้กล่าวไปในตอนเริ่มต้น แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ไปสำรวจและเห็นด้านมืดของจันทราด้วยตัวของเราเอง แต่อย่างน้อย Pink Floyd ก็สามารถพาเราไปสำรวจมันได้ พาให้เราสวมหูฟังหรือเปิดเครื่องเสียงแล้วมองไปที่ท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้วตั้งคำถามว่าอีกฟากฝั่งหนึ่งของดวงจันทร์ที่เราไม่เห็นมันจะเป็นอย่างไรกัน
แต่บางที ด้านมืดของจันทราในแบบฉบับของ Pink Floyd อาจจะอยู่ใกล้กว่าที่เราคิด มันอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองข้าม หรือมันอาจจะเป็นที่ ๆ เรายืนอยู่ทุก ๆ วัน อาจจะเป็นความธรรมดาของชีวิต อาจจะเป็นการตั้งอยู่ของความเป็นมนุษย์ ที่เปรียบเสมือนด้านมืดของดวงจันทร์ที่ดูห่างเกินเอื้อม ไกลเกินเห็น แต่มันคือตัวเรานี้เอง
“There is no dark side of the moon, really. Matter of fact, it's all dark.”
ภาพ:
ปกอัลบั้ม The Dark Side of the Moon (1973)
Getty Images
IMDb
อ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2023/02/28/arts/music/pink-floyd-dark-side-of-the-moon-50th-anniversary.html
https://www.rockhall.com/inductees/pink-floyd
https://www.sarakadee.com/2016/05/11/the-dark-side-of-the-moon-cover/
https://spinditty.com/genres/The-Meaning-of-Pink-Floyds-Dark-Side-of-the-Moon
https://extrachill.com/pink-floyd-dark-side-of-the-moon-album-cover-prism-meaning