25 เม.ย. 2562 | 13:07 น.
เวลาผมไปพบเจอพี่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” (นักเขียน, ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534) หรือนั่งพูดคุยกันเมื่อครั้งที่พี่อาจินต์ยังมีชีวิตอยู่นั้น เรื่องที่พูดคุยกันก็มักจะไม่พ้นเรื่องขีด ๆ เขียน ๆ หรือไม่ก็คุยกันเรื่องนักเขียนคนโน้นคนนี้เป็นส่วนมาก และถ้าจะบอกว่าเป็นการสนทนาเพื่อการเรียนรู้ก็ได้ เพราะจะทำให้เห็นถึงความสามารถของแต่ละคน ที่สามารถจะนำมาเป็นแนวทางในการทำงานได้นั่นเอง โดยเฉพาะบรรดานักเขียนอาวุโสชื่อดังในอดีตที่วายชนม์ไปแล้ว การพูดถึงด้วยความเคารพนับถือและการยกย่อง ทั้งการสร้างผลงานและเส้นทางชีวิต ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เรื่องที่พูดคุยกันน่าสนใจแล้ว ยังเกิดการเรียนรู้ไปในตัวอีกด้วย ในบรรดานักเขียนที่พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ พูดถึงบ่อยครั้งด้วยความนับถือและยกย่องฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานนั้น นอกจาก ครูเหม เวชกร, มนัส จรรยงค์, เสนีย์ เสาวพงศ์... รวมทั้งผองเพื่อนผู้มากฝีมือร่วมยุคสมัยเดียวกันแล้ว มีนักเขียนอีกคนหนึ่งที่พี่อาจินต์จะพูดถึงด้วยความเคารพนับถือบ่อยครั้งก็คือ “พี่อิศร์” เวลาพี่อาจินต์พูดถึง “พี่อิศร์” ทีไร จะต้องยกนิ้วหัวแม่โป้งพร้อมบอกว่า “สุดยอด” ทุกครั้ง แล้วพี่อาจินต์ก็เผยให้ผมรับรู้ว่า “พี่อิศร์” นี่แหละคือนักเขียนไอดอล หรือแบบอย่างที่พี่อาจินต์ชื่นชอบและยึดถือมาโดยตลอด ทั้งแนวความคิด ฝีมือ การทำงาน และโดยเฉพาะอุดมคติของวิชาชีพ ทั้งการเป็นนักหนังสือพิมพ์และเป็นนักเขียน ซึ่งถือเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความชัดเจนทั้งความคิดและแนวทางการทำงานเพื่อความยุติธรรมของสังคม เช่นเดียวกับ “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้กร้าวแกร่งในอุดมการณ์ “พี่อิศร์” คือใคร? แท้จริงแล้ว “พี่อิศร์” ที่พี่อาจินต์พูดถึงบ่อย ๆ ก็คือ “อิศรา อมันตกุล” นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งในเมืองไทยนั่นเอง และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้....ขอย้อนเรื่องราวความเป็นมาให้รู้พอสังเขปดังนี้ “อิศรา อมันตกุล” เขาเป็นลูกของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน เกิดวันที่ 17 พฤษภาคม 2464 โดยเป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนลูกทั้งหมด 10 คน เป็นครอบครัวมุสลิม ถ้าจะบอกว่าอิศราเป็นเด็กพระนครก็ย่อมได้ เพราะครอบครัวมีบ้านอยู่ที่ย่านถนนข้าวสาร บางลำพู “อิศรา อมันตกุล” มีชื่อในภาษามุสลิม “อิบรอฮีน อะมัน” เป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง จบชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนบำรุงวิทยาถนนจักรพงษ์ และในช่วง ปี 2472 ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 8 ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นนักเรียนที่สอบได้คะแนนในวิชาภาษาอังกฤษสูงสุดของประเทศ เมื่ออายุ 19 ปี ก็เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ โดยเริ่มเข้าทำงานในหนังสือสุภาพบุรุษ-ประชามิตร ร่วมกับ“กุหลาบ สายประดิษฐ์” และ “มาลัย ชูพินิจ” ที่ทำงานอยู่ในหนังสือสุภาพบุรุษ-ประชามิตรก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากนั้นเส้นทางชีวิตของ “อิศรา อมันตกุล” ก็โลดแล่นอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด ทั้งเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์หนังสือ “สุวัณณภูมิ” หลังจากนั้นก็โบยบินไปทำงานอีกหลายฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน, หนังสือพิมพ์สยามนิกร, หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์, หนังสือพิมพ์กิตติศัพท์, หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ยุคใหม่ และ หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ สำหรับเดลิเมล์ต่อมาก็คือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในปัจจุบันนั่นเอง “อิศรา อมันตกุล” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 ด้วยโรคมะเร็ง หลังจากนอนรักษาตัวนานร่วม 10 เดือน ณ ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปีพ.ศ. 2499- 2500 และ ปี พ.ศ. 2501 อิศรา ได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเป็นคนแรก และเป็นที่มาของ “มูลนิธิ อิศรา อมันตกุล” โดยมีสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และ สมาคมหนังข่าวแห่งประเทศไทย เป็นผู้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้จำกัดความหมายในความเป็น “อิศรา อมันตกุล” สั้น ๆ แต่มีความหมายหลายหลากว่า “เท่-สมาร์ท-ทรนง” ในความเท่ของอิศรานั้น นอกเหนือจากการแต่งเนื้อแต่งตัว หรือแม้กระทั่งทรงผมที่ดูเนี้ยบเรียบร้อยแล้ว ฝีมือการเขียนหนังสืออ่านแล้วยังรู้สึกเท่อีกด้วย โดยเฉพาะการตั้งชื่อนวนิยาย และเรื่องสั้นที่เขียนขึ้น ล้วนแล้วแต่โดนหรือกระแทกใจทั้งสิ้น อย่างเช่น การตั้งชื่อเรื่องสั้น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, เขาเลี้ยงงูพิษไว้ในใจ, เพลงแห่งอิสรภาพ, ยุคทมิฬ หัวเราะและน้ำตา, เหตุเกิดบน-แผ่นดิน ฯลฯ หรืออย่างการตั้งชื่อนวนิยาย ข้าจะไม่แพ้, วีรบุรุษใน-หนังฬา, เสือซ่อนเล็บ, จูบฉันแล้วจงตายเสีย, 108 แพศยา ฯลฯ ส่วนความสมาร์ทในตัวตนของอิศรา อมันตกุล นั้น พี่อาจินต์บอกว่า....พี่อิศร์เป็นคนอ่อนโยน เป็นคนมีน้ำใจ และให้เกียรติรุ่นน้อง เป็นคนพูดน้อยก็จริง แต่การพูดแต่ละครั้งมีประโยชน์ เป็นคนที่พูดเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย “แต่ลื้อรู้รึเปล่า...ถ้าดูในดวงตาของแกแล้ว...จะเห็นแววตาของแกคมกริบและแข็งกร้าว...แสดงถึงการเป็นคนเอาจริงเอาจังมาก...ผิดเป็นผิดถูกเป็นถูก” พี่อาจินต์เล่าให้ฟัง สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงการทำงานและตัวตนที่ชัดเจนของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ “อิศรา อมันตกุล” ก็คือ “ความทรนง” ในอุดมการณ์วิชาชีพของตนเอง “ลื้อคิดดูซิ” พี่อาจินต์บอกผม “เด็กหนุ่มอายุเพียง 19 ปี แต่สามารถไปร่วมงานกับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ใหญ่อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ได้...ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน....ต้องมีความทรนงในฝีมือจริง ๆ” พี่อาจินต์บอกว่า “ความทรนง” ของอิศรา อมันตกุล ไม่ใช่การโอ้อวด แต่เป็นการสำแดงศักยภาพในฝีมือ ดังนั้น จะเห็นว่าอิศรา อมันตกุล มีฝีมือการทำหนังสือเขียนหนังสือจัดเจนจัดจ้านอย่างมาก สามารถจะเขียนงานได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนพาดหัวข่าว, บทบรรณาธิการ, ข่าว, บทความ, สารคดี, เรื่องสั้น, นวนิยาย, แปลเรื่อง ฯลฯ เช่นเดียวกับความทรนงในอุดมการณ์ของวิชาชีพ “แม้พี่อิศร์จะเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ...ไม่ถือตัว...มีความเอื้อเฟื้อกับรุ่นน้อง ๆ...แต่สำหรับความเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์แล้ว แกจะยืดอกอย่างภาคภูมิใจ....ที่สำคัญคนอย่างพี่อิศร์จะไม่ยอมค้อมหัวให้กับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะความอยุติธรรม และอำนาจเผด็จการ....ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทรนงของพี่อิศร์น่านับถือยกย่องอย่างมาก” และจากการที่อิศรา อมันตกุล เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมให้อำนาจเผด็จการครองเมืองนี่เอง ในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ที่อิศราเป็นบรรณาธิการจึงถูกสั่งปิด ขณะเดียวกันยังถูกจับกุมร่วมกับเพื่อน ๆ และถูกคุมขังนานเกือบ 6 ปีเลยทีเดียว โทษฐานที่ใช้ความคิด ปากกา แท่นพิมพ์ และตัวหนังสือเป็นอาวุธห้ำหั่นกับเผด็จการและความอยุติธรรม ทั้งหมดดังที่บอกเล่ามาทั้งหมดแล้วนั้น เป็นบอกเล่าผ่านการพูดคุยกับพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงยุคสมัยที่ผ่านมา และบุคคลในวงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่บุกเบิกเส้นทางเอาไว้ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และก้าวเดิน เป็นการก้าวเดินอย่างทรนงเช่นเดียวกับ “อิศรา อมันตกุล”นั่นเอง! เรื่อง: นิรันศักดิ์ บุญจันทร์