28 พ.ย. 2561 | 15:57 น.
สารคดีชีวิตของ Whitney Houston กำลังฉายอยู่ไม่กี่โรงในประเทศนี้ Whitney ที่เราได้รู้จักในสารคดี เป็นคนคนหนึ่งที่ร้องเพลงดีและย่ำแย่ ร่ำรวยและยากจน ติดยาและกลับตัว รักครอบครัว และล้มเหลวกับชีวิตครอบครัว มั่นใจทุกครั้งบนเวที และอาจจะยังคงสับสนกับทุกสิ่งไปจนบั้นปลายชีวิต ชีวิตของเธอที่เปลี่ยนจากก้อนเนื้อมาเป็นภาพ เสียงและความหมายที่ล่องลอยอยู่กับพวกเรานี้ ยังคงดำเนินไป เคยสงสัยไหมว่าชีวิตของเราในความเข้าใจของคนอื่นเป็นอย่างไร? รักครั้งแรกของคุณจะรู้ไหมว่าตอนนี้คุณไม่ได้งี่เง่าเท่าตอนนั้นแล้ว เมดูซ่าเป็นปีศาจที่มีหัวเป็นงู หากมันมองไปที่ใคร คนคนนั้นจะต้องคำสาปและกลายเป็นหินตลอดไป ความทรงจำของเราก็ทำงานเช่นนั้นหรือไม่ เมื่อมันมองไปที่ใครแล้ว คนคนนั้นก็อาจไม่มีโอกาสกลายเป็นอย่างอื่นอีกเลย สารคดีเรื่อง Whitney The Film(2018) อาจกำลังพยายามแก้ไขคำสาปนี้ให้กับนักร้องที่เรารัก ปลดปล่อยให้เธอได้กลายเป็นอย่างอื่นบ้าง ปลดปล่อยให้เพลงรักของเธอที่นิ่งเป็นหินมาหลายปี ได้ถูกฟังแบบอื่นบ้าง ได้มีความรักแบบอื่นบ้าง ในเรื่อง เราจะเห็นคนใกล้ตัวและครอบครัวของเธอเรียกเธอว่านิปปี้ มันเป็นชื่อเล่นตั้งแต่เกิดของวิตนีย์ ฮูสตัน เธอบอกว่ามันง่ายเหลือเกินที่จะขึ้นเวที แล้วเป็นวิตนีย์ ฮูสตัน แต่ยากเหลือเกินที่จะเป็นนิปปี้ เธอสามารถเรียกวิตนีย์ในตัวเธอออกมาร้องเพลงบนเวทีได้ด้วยการเรียกเพียงครั้งเดียว แต่พอเรียกหานิปปี้ เธอกลับรู้สึกเหมือนไม่ได้ยินเสียงอะไรตอบกลับมา เราเคยมีอำนาจมากพอที่จะเป็นตัวเองหรือไม่? ลองนึกว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในหัวของวิตนีย์ เธอได้ยินเสียงเป็นล้านเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน กำลังเรียกเธอว่าวิตนีย์ ไม่มีใครมีความลังเลสงสัยอะไรในชื่อนี้ ทุกคนกล้าพูดมันออกมาไม่ลังเล รู้ดีว่าเธอคือใคร และในขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงอยู่อีกประมาณสิบกว่าเสียง พยายามเรียกเธอว่านิปปี้ หนึ่งในเสียงเหล่านั้นคือพ่อของเธอที่ทำบัญชีให้เธอ และโกงเงินเธอไปจำนวนมาก และพี่น้องของเธอที่มีอาชีพร่วมกับอาชีพของเธอ นั่นหมายความว่าในสิบกว่าเสียงนั้น เป็นนิปปี้อย่างเลือนรางที่สลับมาเป็นวิตนีย์ แม้แต่พ่อ เพื่อน พี่น้องของเธอ ก็ยังไม่สามารถมองเธอเป็น “แค่นิปปี้” ได้อีกต่อไป คนคนหนึ่งกำลังได้ยินอะไรในหัวของตัวเอง? เราอาจจะลืมไปแล้วว่าเสียงต่างๆ ในหัวของเรา ไม่ใช่ของเรา ภาษาที่เราใช้กันอยู่ทั้งหมดนี้ เราไม่ได้คิดมันขึ้นมาเองคนเดียว ผู้คนเป็นล้านสร้างอิทธิพลต่อกันและกลายเป็นเสียงภาษาในหัวเรา เราเป็นคนที่เรียนไม่เก่ง ก็เพราะมีโรงเรียนมาบอกเรา เราเป็นคนที่ยังไม่ค้นพบตัวเอง ก็เพราะมันมีคนที่คิดว่าตัวเองค้นพบตัวเองมาบอกเรา เราเป็นไพร่ เป็นแค่ประชาชนคนตัวเล็กๆ ก็เพราะมีสภาพของสังคม กฎหมาย และคนอื่น ที่คอยพร่ำบอกเราว่าเราเป็นอย่างนั้น สำหรับพวกเรา เสียงในหัวของเราคงต่างออกไปจากที่วิตนีย์ได้ยิน หากวันนี้เรามีครอบครัวหนึ่งครอบครัว งานหนึ่งงาน เพื่อนสองสามกลุ่ม มันคงไม่ยากที่จะจัดการตัวเองและบอกกับตัวเองว่าเราเป็นใคร เรามั่นใจได้พอสมควรว่าแขนขาและคำพูดคำจาของเรานี้มีความเป็นส่วนตัว ไม่ได้ถูกคาดหวัง ถูกจำแนกให้ต้องกลายเป็นสิ่งอื่นๆ ตามความต้องการของคนอื่นตลอดเวลา ไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีวิกิพีเดีย ในแง่หนึ่งมันคือสภาวะที่อำนาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ เราไม่มีชื่อเสียงไปต่อรองกับใคร และในอีกแง่หนึ่งมันหมายถึงส่วนหารของตัวตนที่น้อยลง กล่าวคือ เราไม่ต้องแบ่งความเป็นตัวของตัวเองให้กับใครก็ไม่รู้ที่เราไม่ได้รู้จัก เราจะทนเป็นตัวเองได้นานขนาดไหน เมื่อในระยะเวลาสักสิบปี มีเสียงบางเสียงคอยบอกกับเราอย่างหนักแน่นกว่าตัวเราเองว่าเราเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ เสียงของนิปปี้จะสู้กับลำโพงคอนเสิร์ตได้อย่างไร ผมสงสัยทุกครั้งว่าการมีข่าวเมาท์ดาราส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพจิตของคนทั้งประเทศ นักข่าวสายบันเทิงเอาความภาคภูมิใจในตัวเองมาจากไหน และทำไมดาราต้องยอมตอบคำถาม ส่วนพวกเราจำเป็นหรือไม่ และมีสิทธิหรือไม่ ที่จะไปยุ่งยากกับเรื่องของดารา เขามีชีวิตของเขาเพื่อให้เราวิจารณ์จริงหรือ นี่คือชุดจริยธรรมการสื่อสารที่เรากำลังถืออยู่จริงหรือ คือเมื่ออะไรสักอย่างเป็นข่าว มันก็กลายเป็นของเรามากกว่าที่มันจะเป็นตัวของมันเอง ผมว่าวิธีคิดที่จะวิจารณ์ทุกอย่างแบบนี้สมควรใช้กับรัฐบาล ทุน หรืออำนาจที่ส่งผลต่อสังคมของพวกเราในภาพรวม เราต้องช่วยกันวิจารณ์มันอย่างเปิดเผยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เราควรใช้หลักการเดียวกันนี้กับชีวิตของคนอื่นจริงหรือ เราจะวิจารณ์ว่าใครจะเลิกกับใคร เพื่อประโยชน์อะไรของสังคม? ไม่นานมานี้สังคมตะวันตกพูดถึง Right to be forgotten หรือสิทธิที่จะถูกสาธารณะลืม เกิดจากคดีฟ้องร้องที่ชายคนหนึ่งต้องการจะลบประวัติบางอย่างของตัวเองออกจาก google เวลาที่มีคนเสิร์ชชื่อเขา เพราะมันทำให้เข้าถูกเข้าใจผิดว่าเขายังคงเป็นแบบนั้นอยู่ ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้วอีกต่อไป เขาเชื่อว่าการที่เขาถูกบันทึกเอาไว้แบบนั้นทำให้เขาได้งานยากขึ้น การฟ้องร้องจบลง เขาชนะ กูเกิ้ลลบประวัติส่วนตัวนั้นออก และมีนโยบายจะลบให้กับคนที่แจ้ง ผมเคยลองแจ้งไปที่กูเกิ้ลเพื่อที่จะให้ลบคลิปวีดีโอที่รุ่นพี่สมัยเรียนให้ผมไปพูดเชิญชวนคนมางานอะไรสักอย่างที่ผมไม่ได้รับรู้ว่ามันสำคัญยังไง แต่ก็พูดไปด้วยความหัวอ่อน ดูโง่จริงๆ ผมรู้สึกอายและโง่ที่เป็นเด็กหัวอ่อน ตอนนี้ผมว่าผมไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว และอยากจะลบมันออกไป แต่ในกรณีของผม ลบไม่ได้ (ผมส่งเอกสารไปครบถ้วน แต่กูเกิ้ลตอบกลับมาว่าประเทศของคุณยังไม่มีการรับรองสิทธินี้ เขาจะยังไม่ดำเนินการให้ อ้อ แย่จัง ข่าวดีของโลกตะวันตกไม่ใช่ข่าวดีของโลกทั้งใบ) ไม่ใช่แค่บุคคลสาธารณะที่เผชิญกับการแบ่งหารและถูกสาปให้กลายเป็นตัวตนแบบใดแบบหนึ่ง เราทุกคนต่างเผชิญกับมัน และเป็นฝ่ายที่กระทำมันด้วยความทรงจำของเรา บางครั้งเราลืมว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คนที่เรารู้จักก็เช่นกัน ตัวเราเองก็เช่นกัน แต่เราก็ยังคงทำอะไรไม่ได้นอกจากเชื่อในประวัติศาสตร์และสิ่งที่เรารับรู้มา เพราะก็ไม่มีอะไรให้เชื่อมากกว่านั้น แต่จริงหรือไม่ว่าหากใครสักคนสารภาพรักกับเราเมื่อวาน มันก็อาจเป็นความจริงที่มีอายุสิ้นสุดแค่เพียงเมื่อวาน ในสภาวะที่จะเชื่อก็ไม่ได้ จะไม่เชื่อก็ไม่ได้เช่นนี้ การเผื่อใจ หรือคงไว้ซึ่งความสงสัย (Skepticism) วางใจว่ามันจะเปลี่ยนไป จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความสัมพันธ์ต่างๆ ในชีวิต มีความสำคัญต่อการไม่ทำร้ายคนอื่นหรือตัวเอง ด้วยการไม่จดจำสิ่งต่างๆ เอาไว้ในแบบเดียว นี่เป็นเรื่องเดียวกับการเลือกชุดจริยธรรมการสื่อสาร หากเราเลือก free-hate speech (ทุกคนจะพูดอะไรก็ได้ รวมทั้งการด่าทอเหยียดหยามน้ำใจกัน) หรือเลือก political correctness (ทุกคนจะพูดอะไรก็ไม่ได้ ต้องระวังให้มันไม่ด่วนสรุปหรือทำร้ายใครในทุกๆ คำ เช่น ห้ามพูดว่าดำ อ้วน จน ห้ามใช้คำว่านาย กับเพศที่สาม ฯลฯ ซึ่งมักจะลามไปถึงสภาวะที่ แทบจะพูดอะไรไม่ได้เลย หรือกลายเป็นข้ออ้างในการปิดปากใครต่อใครไม่ให้พูดอะไรก็ตาม) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งและยึดอยู่กับมันตลอดเวลา ไม่โอกาสใดก็โอกาสหนึ่ง เราจะกลายเป็นคนที่ทำร้ายคนอื่นและอนุญาตให้คนอื่นทำร้ายตัวเอง ด้วยชุดจริยธรรมที่เราเองเลือก เพราะสังคมมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีหลักการเดียวสามารถครอบคลุมมันเอาไว้ได้ สิ่งที่ผมยังคิดอยู่ และคิดว่าจะคิดต่อไปก็คือ เรามีสิทธิแค่ไหนที่จะไปเป็นเสียงเสียงหนึ่งในหัวของคนอื่น และหากเราจะเป็นเสียงในหัวของคนอื่น เราจะเป็นเสียงแบบไหน อยากชวนมาไม่แน่ใจไปด้วยกัน เพื่อนร่วมงานของเธอคนหนึ่งพูดในสารคดีว่า วิตนีย์ค้นพบความหมายที่ไม่มีใครพบในเพลงที่เธอร้อง ผมคิดว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับวิตนีย์เพียงคนเดียว แต่เป็นพวกเราทุกคนที่ยังคงมีความหมายมากกว่าที่คนอื่นพบเสมอ และคนอื่นก็เช่นกัน เขามีอะไรมากกว่าเท่าที่เราได้พบเสมอ และมันกว้างขวางลึกซึ้งมากกว่าความทรงจำ หรือหลักการแบบเดียวที่เราเตรียมเอาไว้รับมือกับมัน เสมอ I have nothing อาจถูกฟังครั้งแรกในฐานะเพลงรักที่คนรักยื้อยุดไม่ให้คู่รักไปจากตัวเอง แต่จะเป็นอย่างไรหากเราลองฟังมันด้วยชุดความสัมพันธ์เหล่านี้บ้าง นิปปี้ร้องให้พ่อ ตอนที่ใกล้จะรู้ว่าพ่อโกงเงินของตัวเอง วิตนีย์ร้องให้ลูก ตอนที่รู้ว่าลูกเริ่มเกลียดการเกิดเป็นลูกสาวของวิตนีย์ วิตนีย์ร้องให้กับอาชีพของเธอ แหล่งทุนของเธอ และผู้ชมของเธอในวันที่เธอตกต่ำย่ำแย่ นิปปี้ร้องให้เพื่อนเลสเบี้ยนของเธอ บอกเขาว่าอย่าคิดอะไรกับเธอมากไปกว่านี้และต้องมองหน้ากันไม่ติดอีกเลย เธอไม่มีเพื่อนเหลืออีกแล้ว หรือกำลังเธอร้องให้ทุกอย่างพร้อมกัน เป็นไปได้ไหมที่เราจะฟัง I will always love you ในฐานะเพลงที่วิตนีย์ร้องให้นิปปี้ ให้ตัวเธอเองในอดีตที่จากเธอไปแล้ว เรื่อง: วริศ ลิขิตอนุสรณ์