28 พ.ย. 2561 | 16:12 น.
จำเป็นแค่ไหนที่ประวัติศาสตร์ต้องมีความสมจริง ? หากตำนานมีการบิดเบือน เรายังจะเรียกว่าตำนานหรือไม่ ? คำถามหลากหลายที่อีรุงตุงนังประดังประเดใส่เข้ามาระหว่างดูหนัง Bohemian Rhapsody เพราะหนังชีวประวัติของวงระดับโลกอย่าง Queen เรื่องนี้ ช่างแตกต่างกับวง Queen ที่ได้อ่านมาตามหน้าหนังสือหรือนิตยสารดนตรีที่คุ้นชิน จนเราแทบไม่มั่นใจว่าเราควรเชื่ออะไรมากกว่าระหว่าง “สิ่งที่เห็น หรือ สิ่งที่เป็นจริง” เปรียบได้ดั่งประวัติศาสตร์สงครามในบทเรียนของผู้ชนะ แม้จะไม่เคยอ่านแต่เราเชื่อว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ต้องเขียนเรื่องราวของตนไม่เหมือนกัน Queen เองก็คงไม่แตกต่าง เมื่อสามในสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่เลือกที่จะทำหนังเรื่องราวของตนเองโดยยึดแกนกลางของ Front Man ที่เสียชีวิตไปนานแล้วอย่าง Freddie Mercury มาเล่าขาน เฟรดดี้ ในวัยหนุ่มรุ่มร้อนไปด้วยความฝันและความหวัง เขาเฉยชากับครอบครัวชาวเปอร์เชียที่อพยพมาอยู่อังกฤษและพร่ำบ่นเขาแต่เรื่องคุณธรรมและความดีงาม และเลือกที่จะเจิดจ้ายามค่ำคืนไปกับการตระเวนดูวงดนตรีฮาร์ดร็อคสามชิ้นวงหนึ่ง เขารอที่จะสบโอกาสได้ทำตามความฝันของเขา จนกระทั่งโอกาสได้มาถึงเมื่อนักร้องนำลาออกจากวงสมัครเล่นวงนั้น เฟรดดี้จึงเสนอตัวกับวงนั้น แม้รูปลักษณ์ภายนอกของเขาไม่ชวนพิสมัย ฟันหน้าที่ยื่นมาคือปมด้อยที่ชวนยั่วล้อ แต่ปมเด่นของเขาที่สมาชิกในวงต้องทึ่งนั่นคือเสียงระดับเทพที่หยุดโลก ท้ายที่สุด ไบรอัน เมย์ และ โรเจอร์ เทย์เลอร์ ก็เปิดใจรับชายคนนี้มาเป็นนักร้องนำของวง พร้อมกับรับมือเบสอย่างจอห์น ดีคอน มาร่วมวง พร้อมตั้งชื่อที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่และอลังการอย่าง Queen