28 พ.ย. 2561 | 16:46 น.
ล่าสุดเมื่อโลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ลีโอนาร์โดก็เปิดตัวกองทุน America’s Food Fund ที่เขาร่วมกับ ลอเรนซ์ พาวเวลล์ จ็อบส์ (ภรรยาของสตีฟ จ็อบส์) แห่ง Apple และ Ford Foundation ระดมเงินทุนเพื่อมอบให้มูลนิธิ Feeding America และ World Central Kitchen ซึ่งเงินทุนที่ได้รับบริจาคทั้งหมดจะนำไปจัดหาอาหารให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทั้งเด็กนักเรียนที่ปกติต้องพึ่งพาอาหารที่โรงเรียน ครอบครัวที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ที่รวม ๆ แล้วมีเกือบ 40 ล้านคนทั่วสหรัฐอเมริกา ลีโอนาร์โดตั้งเป้าระดมทุนไว้ที่ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 490 ล้านบาท ซึ่งเพียงแค่แรกเริ่ม กลุ่มผู้ก่อตั้งและ Apple รวมทั้ง โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดัง ก็ร่วมสมทบทุนเข้ากองทุนนี้ไปแล้ว 12 ล้านเหรียญ และเมื่อเปิดให้ระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Go Fund Me นับถึงวันที่ 6 เมษายนนี้ ยอดก็พุ่งไปแล้ว 13.25 ล้านเหรียญ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลีโอนาร์โดระดมทุนทำอะไรอย่างนี้ เพราะที่ผ่านมา นักแสดงหนุ่มทุ่มเทตัวเองเพื่อประเด็นสังคม โดยเฉพาะ "สิ่งแวดล้อม" มาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ทันทีที่ จูเลียน มัวร์ ประกาศชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมครั้งที่ 88 เสียงเฮก็ดังลั่นทั่วทั้งฮอลล์แบบถล่มทลาย เพราะผู้ชนะหาใช่ใคร แต่คือ ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ จากเรื่อง The Revenant (2015) ที่เข้าชิงรางวัลนี้มาแล้วถึง 5 ครั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจบทเวทีไม่ใช่เพียงความปลาบปลื้ม ความปิติ หรือความสุขที่เขาเฝ้ารอมานานกว่า 22 ปี แต่คือสุนทรพจน์ความยาว 3 นาที ที่เรียกร้องให้ทุกคนบนโลกตระหนักถึงวิกฤตสภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ สะท้อนให้เห็นความใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งบทบาทที่ลีโอนาร์โดอุทิศตนเพื่อโลกสีเขียวใบนี้ “The Revenant คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เราพบว่าปี 2015 เป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ กองถ่ายเราจึงต้องย้ายสถานที่ลงไปถ่ายทําแถบขั้วโลกใต้เพื่อเจอหิมะ สภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง และกําลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ นับเป็นภัยคุกคามเร่งด่วนที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ต้องเผชิญหน้า เราจําเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และหยุดผัดวันประกันพรุ่งเสียที” ย้อนกลับไปในปี 1998 ลีโอนาร์โดเริ่มสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมหลังปิดกล้องภาพยนตร์ Titanic ระหว่างนั้นเขาสำรวจความหลงใหลของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะพบคำตอบว่าคือ “ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” “ตอนเด็ก ๆ ผมเคยสนใจวิทยาศาสตร์และความหลากหลายทางชีววิทยา น่าจะเกิดจากการชมภาพยนตร์เกี่ยวกับป่าฝนในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ผมได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติผ่านภาพยนตร์สารคดีไอแม็กซ์และสื่ออื่น ๆ ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ผมรักมาตลอด หลังถ่ายทำภาพยนตร์ Titanic ผมจึงตัดสินใจทำตามความสนใจของตัวเอง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ลีโอนาร์โดมีโอกาสพบ อัล กอร์ รองประธานาธิบดี ณ ขณะนั้นที่ทำเนียบขาว กอร์ได้ดึงกระดานออกมาวาดรูปโลกกับบรรยากาศรอบๆ ก่อนจะพูดว่า ถ้าอยากมีส่วนร่วมในประเด็นสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนคือเรื่องสำคัญที่มนุษยชาติกำลังจะประสบในอนาคต “จำได้ว่าตอนนั้นราว ๆ 17-18 ปีที่แล้ว สภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่มนุษยชาติไม่เคยประสบมาก่อน นั่นทำให้ผมสนใจเรื่องนี้ เราประกาศวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ในปี 1999, เริ่มก่อตั้งมูลนิธิ และเริ่มออกมาพูดถึงประเด็นนี้มากขึ้น หลังจากนั้นสารคดี An Inconvenient Truth (2006) ของกอร์ก็สร้างออกมา และนั่นก็ส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้าง” มูลนิธิ ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ (Leonardo DiCaprio Foundation) เริ่มโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทันที โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ความร่วมมือกับองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก่อนต่อยอดมาสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับสัตว์ป่าจากภาวะสูญพันธุ์ เพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศองค์รวม ปัจจุบัน มูลนิธิของลีโอนาร์โด สนับสนุนโครงการทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ บริจาคเงินแก่องค์กรการกุศลจํานวนมาก อาทิ 15 ล้านเหรียญ แก่องค์กร Save The Planet, 3 ล้านเหรียญ เพื่อพิทักษ์สัตว์ทะเล, 61,000 เหรียญ เพื่อสนับสนุนสิทธิชาวเกย์, 1 ล้านเหรียญ สําหรับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติ และ 1 ล้านเหรียญ เพื่ออนุรักษ์เสือทั่วโลก กระทั่งประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน ยังเคยกล่าวชื่นชมเขาว่าเป็น “ลูกผู้ชายตัวจริง” ขณะที่ชีวิตส่วนตัว หนุ่มลีโอก็พยายามดำเนินชีวิตประจำวันตามแบบฉบับวิถีสีเขียวอยู่เสมอ ว่ากันว่าหลังคาบ้านของเขาติดแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้รถไฟฟ้า และพยายามขับรถไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อวัน ก่อตั้งทีมรถซิ่งไฟฟ้าเพื่อลดใช้พลังงานเชื้อเพลิง อีกทั้งยังซื้อเกาะแห่งหนึ่งในประเทศเบลีซ ด้วยความตั้งใจว่าจะสร้างรีสอร์ตเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปี 2007 เขาประยุกต์ศาสตร์ภาพยนตร์กับความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงมือเขียนบท อำนวยการสร้าง และบรรยายเสียงด้วยตัวเองใน The 11th Hour ภาพยนตร์สารคดีตีแสกปมวิกฤตอันตรายจากสภาวะโลกร้อน โดยมีแขกรับเชิญเป็นเหล่านักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และผู้เชี่ยวชาญ อาทิ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ, สตีเฟน ฮอว์กิง, วิลเลียม แม็คโดนาฟ ฯลฯ มากล่าวให้ความรู้ถึงผลกระทบจากวิกฤตนี้ “มันไม่ใช่แค่การคิดถึงสภาวะโลกร้อนสองสามชั่วโมงต่อวัน เพราะมันกำลังทำลายโลกเราอย่างช้าๆ มันไม่ใช่เหตุการณ์เอเลียนจะมายึดครองโลกนี้ในสัปดาห์หน้าแล้วเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องประเทศ แต่สภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันก็น่ากลัวมาก” ระยะเวลาผ่านไป จากเพียงความหลงใหลกลายเป็นการเสพติด กระทั่งในปี 2013 หลังสิ้นสุดการแสดง The Wolf of Wall Street เขาประกาศพักงานแสดงชั่วคราว เพื่อใช้เวลากับงานสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ โดยให้เหตุผลว่ารู้สึกเหนื่อยล้าจากการแสดง และขอทุ่มเวลาให้กับงานอนุรักษ์อย่างเดียว “ผมอยากทําให้โลกน่าอยู่ขึ้นอีกสักนิด ผมจะบินไปทั่วโลกเพื่อทำสิ่งดี ๆ สำหรับสิ่งแวดล้อม” และหากติดตามทวิตเตอร์ของเขาจะพบว่า ลีโอนาร์โด ทวีตเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นประจํา ทั้งยังเป็นกระบอกเสียงสําคัญในการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์มาโดยตลอด กระทั่งนิตยสาร Time เคยยกย่องว่าเป็นดาราผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้ฉลาดมากที่สุดในปี 2014 ทั้งเขายังได้รับรางวัล Crystal Award จากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) สําหรับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ “คนหลายร้อยล้านคนไม่ได้เป็นคนก่อสร้างปัญหานี้ แต่พวกเขากลับกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ” นั่นคือความไม่ยุติธรรมที่เขาต้องการป่าวประกาศให้ทุกคนในโลกรับรู้ เราต้องสนับสนุนผู้นำที่ไม่เข้าข้างกลุ่มก่อมลพิษรายใหญ่ แต่สนับสนุนผู้นำที่เป็นกระบอกเสียงแก่มวลมนุษยชาติ แก่ชนพื้นเมืองทั่วโลก แก่อีกหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน แก่ลูกหลานของเรา และแก่ผู้คนที่เสียงของเขาถูกกลืนหายไปจากความละโมบของเกมการเมือง” ชัยชนะบนเวทีออสการ์เป็นเพียงความสำเร็จในฐานะนักแสดงเท่านั้น ทว่าสิ่งที่เขาปรารถนาลึก ๆ คือชัยชนะเหนือสภาวะโลกร้อนต่างหาก และเขายังต้องต่อสู้ฝ่าฟันมันไปอีกนาน ตราบใดที่เราทุกคนยังไม่หันมารักโลกอย่างแท้จริง ที่มา
หมายเหตุ: อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2020