26 มิ.ย. 2562 | 07:47 น.
ถ้าคุณเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ที่จู่ ๆ ถูกพ่อที่ทิ้งคุณไปเมื่อสิบปีก่อนเรียกตัวให้มาขับหุ่นยนต์เพื่อออกไปกอบกู้โลก คุณจะทำอย่างไร? ถ้าเป็นอะนิเมะลูกผู้ชายมาตรฐานทั่วไป ตัวเอกคงฮึกเหิมเต็มที่ แล้วกระโดดขึ้นหุ่นยนต์ขับออกไปกู้โลก แต่ไม่ใช่กับ อิคาริ ชินจิ ตัวเอกของเรื่อง Neon Genesis Evangelion ที่เขาปฏิเสธภาระอันหนักอึ้งที่อยู่ข้างหน้า ***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง Neon Genesis Evangelion อิคาริ ชินจิ คือเด็กชายวัย 14 ที่เมื่อตอนอายุ 3 ขวบเขาก็ต้องเห็นการเสียชีวิตของแม่ตัวเองในการทดลอง หลังจากนั้น อิคาริ เกนโด พ่อของเขาทิ้งเขาไป ให้อาจารย์เป็นคนเลี้ยงเขาแทน และพอเห็นความจำเป็นว่าต้องใช้เด็กอายุ 14 ปีในการขับหุ่น Evangelion เกนโดก็ตัดสินใจเรียกลูกชายกลับมาทำหน้าที่นี้ มันไม่ใช่การกลับมาพบกันที่ชวนซึ้งอะไร เพราะเกนโดแค่นั่งอยู่ที่ห้องสั่งการแล้วสั่งให้ลูกชายที่อยู่ข้างล่างขึ้นไปขับหุ่นเพื่อสู้กับตัวประหลาดที่ถูกเรียกว่า เทวทูต ที่กำลังรุกรานเมืองโตเกียวใหม่ที่ 3 คำตอบของชินจิคือ ไม่ คงไม่น่าแปลกใจ เพราะพ่อที่ห่างหายไปนาน พอเรียกตัวกลับมา กลับให้ขึ้นไปขับหุ่นยนต์เสี่ยงตาย ไม่มีแม้แต่คำทักทายที่สมกับเป็นพ่อลูกกัน มันหนักเกินไปสำหรับเด็ก 14 ที่ไม่ว่าใครก็คงกลัว ไม่ใช่แบบอะนิเมะที่ผ่านมาที่ขนาดเด็กประถมฯ ยังดีใจที่ได้ออกไปขับหุ่นยนต์ แต่เมื่อพ่อเขาแสดงความผิดหวังที่ลูกชายไม่ยอมขับหุ่นยนต์ แล้วเรียกตัว อายานามิ เร เด็กสาวอายุเท่ากันที่อยู่ในสภาพบาดเจ็บทั้งตัว ให้ขึ้นไปขับหุ่นอีกครั้ง สุดท้ายชินจิทนไม่ไหวก็ขึ้นไปขับหุ่นแทนจนได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Neon Genesis Evangelion อะนิเมะที่มีฉากหน้าเป็นอะนิเมะหุ่นยนต์เท่ ๆ พอเมื่อดูไปเรื่อย ๆ แล้วคนดูก็จะเริ่มงงว่า มันเกี่ยวกับอะไรกันแน่ แต่ถ้าเรามุ่งเน้นไปที่ตัวเอก อิคาริ ชินจิ แล้ว อาจจะมองได้ว่า นี่คืออะนิเมะที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กชายที่กำลังจะกลายเป็นหนุ่มคนหนึ่ง ในวัย 14 ปี ตัวชินจิอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการเป็นเด็กกับวัยรุ่นที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ พูดง่าย ๆ ก็เป็นวัยที่ฮอร์โมนพุ่งพล่าน ปัญหาคือ ชีวิตของเขาไม่ได้รับการเลี้ยงดูแบบที่ควรจะเป็น ทั้งการเสียชีวิตของแม่ตั้งแต่เขายังเด็ก แล้วยังมาถูกพ่อทอดทิ้งไป กลายเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้มีโอกาสผ่านพัฒนาการความสัมพันธ์กับพ่อแม่ในแบบที่ควรเป็น ตามแนวทางจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จะปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างไรดี หลังจากภารกิจแรก แทนที่จะได้อยู่กับพ่อ เขาก็ต้องไปอยู่กับ คัตซึรางิ มิซาโต เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NERV ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล แต่ด้วยความที่เธอเองก็ใช้ชีวิตเป็นสาวโสดทุ่มเทให้กับงานมาตลอด ทำให้เธอก็ดูแลเขาเหมือนพี่สาวมากกว่า ในตู้เย็นก็มีแต่เบียร์แช่เย็นไว้ การต้องร่วมชายคากับหญิงสาวโสดและสวย แถมยังมีท่าทีเปิดเผย สำหรับเด็กชายวัยนี้แล้วก็คงทำให้ต้องหวั่นใจไม่น้อย เมื่อได้พบกับ อายานามิ เร เด็กสาวรุ่นเดียวกันที่ทำหน้าที่คนขับหุ่นเหมือนกัน เขาก็ดูเหมือนจะสนใจเธอเหมือนกัน เพราะเป็นเด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันที่เขามีโอกาสใกล้ชิด แต่สุดท้ายเขาก็ต้องพบกับความเจ็บปวด เมื่อสายตาของเรมองข้ามผ่านเขาไป และดูเหมือนจะมีแค่เกนโดเท่านั้นที่ทำให้เธอยิ้มได้ เป็นความเจ็บช้ำของเด็กชายตามแนวจิตวิเคราะห์ ปมอิดิปัส ของฟรอยด์อย่างชัดเจน เมื่อเขาต้องยอมรับว่าเขาสู้พ่อของตัวเองไม่ได้ เมื่อมีสมาชิกใหม่มาร่วมทีม โซริว อาสุกะ แลงลีย์ เด็กสาวที่ใจร้อนและมีนิสัยเปิดเผย หลังจากที่เขาต้องร่วมชายคากับเธอเพื่อซ้อมกันต่อสู้แบบประสานจังหวะกันให้พร้อมเพรียง ดูเหมือนทั้งสองคนจะเปิดใจให้กัน และชินจิถึงกับพยายามจะจูบเธอระหว่างที่หลับ (แต่ก็ตัดสินใจยั้งไว้เมื่อเธอละเมอหาแม่ที่เสียไปแล้ว) ดูเหมือนเด็กชายวัยเริ่มแตกหนุ่มอย่างชินจิจะต้องเจอกับความเย้ายวนจากตัวละครสาวหลายคนที่เขามีโอกาสชิดใกล้ ซึ่งเขาเองก็ต้องค่อย ๆ พัฒนาอีโก้ของตนเองไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครสาว ๆ เหล่านั้นได้ แต่ในขณะที่อัตลักษณ์เรื่องเพศของเขายังไม่ชัดเจน ชินจิก็เจอกับการเย้ายวนอีกครั้ง ในรูปแบบของ คาโอรุ เพื่อนเพศเดียวกัน ที่ดูจะสนใจในตัวเขาเป็นพิเศษ แล้วก็ยังพยายามเข้ามาสนิทสนม ขนาดที่รุกเข้ามาขณะที่ชินจิกำลังอาบน้ำ และเป็นเพราะว่าคาโอรุมาทำหน้าที่นักขับหุ่นยนต์เช่นเดียวกัน แถมคาโอรุยังขับหุ่นยนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้ชินจิได้แต่ชื่นชมในตัวเขา คาโอรุกลายมาเป็นตัวแทนของ พ่อ ที่เขาไม่เคยสัมผัส จนดูเหมือนชินจิจะเปิดใจให้กับคาโอรุ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องเจ็บปวดอีกเมื่อพบว่า จริง ๆ แล้วคาโอรุก็คือหนึ่งในเทวทูตที่ลอบเข้ามาโดยมีเป้าหมายคือสิ่งที่อยู่ใต้ฐานทัพนั่นเอง และสุดท้ายเพื่อให้แผนการของเขาสำเร็จ เขาก็บีบให้ชินจิต้องฆ่าด้วยมือตัวเอง สร้างบาดแผลในใจชินจิอย่างรุนแรง หลังจากการพลิกไปพลิกมาหลายต่อหลายครั้ง Neon Genesis Evangelion ฉบับดั้งเดิมที่ฉายทางทีวี 26 ตอน กลับปิดท้ายเรื่องด้วยสองตอนสุดท้ายที่ชวนงงจนแฟนได้แต่เหวอ หลังจากปูเรื่องการต่อสู้ด้วยหุ่นยนต์กับสัตว์ประหลาดลึกลับ พัฒนาการของตัวละคร ไปจนถึงการอ้างอิงพระคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่สองตอนสุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่องนามธรรม คล้ายจะพูดถึงสภาพจิตใจของชินจิ แล้วลงท้ายว่า ชินจบพบกับความสุข ลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่เขานั่งหงอย และตัวละครทั้งหลายในเรื่องก็มายืนปรบมือแสดงความยินดีกับเขา และลงท้ายด้วยคำว่า ขอบคุณ พร้อมทั้งรอยยิ้มของชินจิ เล่นเอาคนงงถึงขนาดมีคนขู่ฆ่าผู้กำกับ จนสุดท้ายผู้กำกับก็ต้องเข็นฉบับภาพยนตร์ออกมาอีกสองเรื่องเพื่ออธิบายตอนจบ แม้ฉบับภาพยนตร์จะออกฉาย แต่จนแล้วจนรอด มันก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกระจ่างชัดกับคนดูว่าตกลงทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับอะไร แต่ถ้ามองเรื่องของพัฒนาการของเด็กช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างชินจิแล้ว ก็อาจจะได้คำตอบว่า เขาเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ด้วยตัวของตัวเองแล้ว ในฉบับภาพยนตร์ มีฉากที่เลื่องชื่อฉากหนึ่งคือ ชินจิไปเยี่ยมอาสุกะที่นอนโคม่าอยู่ในโรงพยาบาลหลังจากออกไปสู้กับเหล่าเทวทูต ตัวชินจิเองก็สับสนจากเรื่องต่าง ๆ ที่รุมเร้าตัว แต่เมื่อเขาเห็นอาสุกะนอนอยู่โดยมารู้ว่าเธอกึ่งเปลือยอยู่บนเตียง ภาพก็ตัดมาที่เขากดล็อคประตูห้อง และตัดมาอีกที ที่มือของเขาก็มีของเหลวสีขาวขุ่นเปรอะอยู่เต็ม นี่อาจจะเป็นที่มาของรอยยิ้มของชินจิในตอนจบฉบับฉายทางโทรทัศน์ก็ได้ ตลอดเรื่อง ชินจิเริ่มต้นจากเด็กชายที่ถูกทอดทิ้ง แต่เมื่อช่วงที่เขาจะกลายเป็นหนุ่ม กลับต้องมาสานสัมพันธ์กับคนมากมาย รวมถึงสาว ๆ หลายคน ซึ่งคงสร้างความสับสนให้กับเขาไม่น้อย เพราะเขาไม่เคยได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างเต็มที่จนไม่สามารถมีพัฒนาการได้อย่างเหมาะสม ขนาดที่ในเรื่องเขาเกิดอาการ ปมเม่น ที่ไม่กล้าสนิทกับใครเพราะเชื่อว่าเข้าใกล้ใครแล้วก็จะทำให้คนนั้นเจ็บปวดได้ ทำให้ตลอดเรื่องเขาต้องค่อย ๆ พัฒนาอีโก้ของตนเองเพื่อสานสัมพันธ์กับคนอื่นต่อไป การตั้งชื่อตัวละคร ก็อาจจะมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่เราคิด เพราะนามสกุล อิคาริ ที่เขียนด้วยคันจิ 碇 ที่ถ้าดูจากตัวคันจิแล้วจะหมายความว่า สมอเรือ ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับชื่อตัวละครอีกสองตัวคือ อายานามิ เร และ โซริว อาสุกะ เพราะทั้ง อายานามิ และ โซริว (เปลี่ยนเป็น ชิคินามิ ในฉบับ Rebuild) ก็คือชื่อของเรือของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อาจจะหมายความว่าเขาคือสิ่งที่คอยถ่วงเรือทั้งสองอยู่ก็ได้ และคำว่า อิคาริ ก็พ้องเสียงกับคำว่า 怒り ที่หมายถึงอารมณ์โกรธ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายในวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ดีไซน์ของหุ่นยนต์ในเรื่อง ที่มาเปิดเผยในภายหลังว่า จริง ๆ แล้วมันคือสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่ต้องใส่เกราะครอบไว้เพื่อเป็นการควบคุมมัน และจริง ๆ แล้ว ในตัวหุ่นนั้นก็มีวิญญาณของแม่ชินจิที่ถูกดูดเข้าไปในหุ่นจนเชื่อว่าเสียชีวิต แต่ในการบังคับหุ่น เขาต้องเข้าไปใน Entry Plug ที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว แล้วค่อยถูกสอดเข้าไปในต้นคอของหุ่น ถ้าจะมองว่า Entry Plug เป็นสัญลักษณ์แทนองคชาตของเกนโดก็คงได้ เพราะมันคือสิ่งประดิษฐ์ของเขา และค่อยถูกสอดเข้าไปในหุ่นที่มีวิญญาณของแม่อยู่ และในการควบคุม ใน Entry Plug ก็จะมี LCL ของเหลวสีส้มไหลเข้ามาเพื่อเป็นการเชื่อมต่อคนขับกับหุ่น โดยที่คนขับสามารถหายใจในของเหลวนั้นได้ ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่อาศัยน้ำคร่ำในการอาศัยอยู่ในท้องแม่ สัญลักษณ์ของการให้กำเนิดยังลามไปถึง สายไฟที่ส่งพลังงานให้กับตัวหุ่นระหว่างออกไปสู้ ก็มีชื่อว่า Umbilical Cord หรือ สายรก นั่นเอง จึงอาจจะอนุมานได้ว่า การที่ชินจิขึ้นไปขับหุ่นในแต่ละครั้ง เขาก็ผ่านกระบวนการ เกิดใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อที่จะเติบโตมากขึ้น มีอีโก้เพียงพอที่จะสานสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้ เพียงแต่ในเรื่องเพศเขาเองก็ยังคงสับสนอยู่เพราะว่าเขาถูกกระตุ้นหลายต่อหลายทาง โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการเติบโตเหมือนเด็กคนอื่นที่สามารถเอาชนะปมอิดิปัสได้ และเมื่อเขาพบว่า จริงๆ แล้ว อายานามิ เร ก็คือร่างโคลนของแม่เขาเอง ก็ยิ่งทำให้เขาสับสนเข้าไปใหญ่ จนสุดท้าย ในฉบับภาพยนตร์นั่นเอง ที่เขาพบว่า เขาสามารถจัดการกับความสับสนว้าวุ่นในใจ “ได้ด้วยมือตนเอง” ทำให้เขากล้าพอที่จะไม่ยอมทำตามคำสั่งหรือความเห็นของคนอื่น แต่ตัดสินใจ เลือกสร้าง “โลก” และ “อนาคต” ในแบบของตัวเอง นั่นอาจจะเป็นที่มาของประโยคปิดท้ายเรื่องที่เป็นตัวหนังสือสีขาวบนฉากหลังสีดำเรียบ ๆ ว่า “แด่คุณพ่อ ขอบคุณ แด่คุณแม่ ลาก่อน แด่เด็กทุก ๆ คน ขอแสดงความยินดีด้วย” ... เรื่อง: ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล