03 มิ.ย. 2566 | 11:30 น.
- กลุ่ม Hipgnosis กลุ่มศิลปินนักออกแบบปกอัลบั้มระดับตำนาน พวกเขาออกแบบปกอัลบั้มขึ้นหิ้งมากมาย รวมถึงอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ของวง Pink Floyd ซึ่งเป็นภาพที่ไปไกลมากกว่าแค่ภาพปกอัลบั้ม
- กลุ่ม Hipgnosis มีศิลปินเด่นคือ ‘สตรอม ธอร์เกอร์สัน’ (Storm Thorgerson) ทำงานร่วมกับศิลปินรายอื่น พวกเขาโด่งดังจากการออกแบบด้วยไอเดียที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร แทบจะตรงข้ามกับตำราด้านการตลาดเสียด้วยซ้ำ
ในอัลบั้มดนตรีสักอัลบั้มหนึ่ง นอกจากองค์ประกอบหลักอันสำคัญอย่างบทเพลงชั้นดี เนื้อหางดงามเปี่ยมความหมาย ลึกซึ้งคมคาย และดนตรีอันไพเราะเสนาะหู จับจิตจับใจผู้คนแล้ว องค์ประกอบเสริมอันสำคัญไม่แพ้กันคือ ปกอัลบั้มอันโดดเด่น เตะตา และสื่อสารถึงบุคลิกภาพของศิลปินเจ้าของผลงาน หรือแก่นสารของงานเพลงในอัลบั้มได้เป็นอย่างดี (ถึงแม้ทุกวันนี้คนจะฟังเพลงออนไลน์จากการฟังสตรีมมิงกันมากกว่าแผ่นซีดีก็เถอะนะ) ในคราวนี้เราเลยจะขอเล่าถึงเรื่องราวของนักออกแบบปกอัลบั้มที่เป็นตำนานของวงการดนตรีโลกผู้หนึ่ง
นักออกแบบผู้นั้นมีชื่อว่า ‘สตรอม ธอร์เกอร์สัน’ (Storm Thorgerson)
หนึ่งในศิลปิน/นักออกแบบ ผู้ก่อตั้ง Hipgnosis กลุ่มศิลปินนักออกแบบกราฟิกชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุค 60s - 70s เขาออกแบบและทำปกอัลบั้มระดับคลาสสิกขึ้นหิ้งให้กับเหล่าศิลปินและวงดนตรีร็อกที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในยุคนั้นหลายต่อหลายวงอย่าง Pink Floyd, T. Rex, UFO, Bad Company, Led Zeppelin, AC/DC, Scorpions, Yes, Paul McCartney & Wings, The Alan Parsons Project, Genesis, Peter Gabriel, ELO เป็นต้น
Hipgnosis ประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้งอย่าง สตรอม ธอร์เกอร์สัน และ ออเบร เพาเวลล์ (Aubrey Powell) สมทบด้วย ปีเตอร์ คริสโตเฟอร์สัน (Peter Christopherson) ในเวลาต่อมา
แรกเริ่มเดิมที ในปี 1968 ธอร์เกอร์สัน และ เพาเวลล์ ถูกเพื่อน ๆ นักดนตรีจากวงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกระดับตำนานอย่าง Pink Floyd เสนอให้ออกแบบปกอัลบั้มที่สองของพวกเขาอย่าง A Saucerful of Secrets (1968) ที่ออกกับค่าย EMI รวมไปถึงออกแบบและถ่ายภาพปกอัลบั้มให้กับวงดนตรีอื่น ๆ ในค่ายด้วย อย่าง The Pretty Things, Free, Toe Fat และ The Gods ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นพวกเขายังเป็นนักศึกษาศิลปะและภาพยนตร์อยู่ที่ Royal Collage of Art อีกทั้งยังใช้ห้องมืดของมหาวิทยาลัยในการทำงานด้วยซ้ำไป
หลังจากจบการศึกษาในช่วงต้นปี 1970 พวกเขาก็เปิดสตูดิโอขึ้นมา โดยได้ชื่อว่า ‘Hipgnosis’ (อ่านว่า “ฮิปโนซิส”) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกราฟิตี้บนผนังประตูอะพาร์ตเมนต์ พอพวกเขาเห็นปั๊บก็ชอบปุ๊ปเลยทันที โดยนอกจากจะเป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า ‘Hypnosis’ (แปลว่า “การสะกดจิต”) แล้ว ยังเป็นการประกอบกันของคำที่มีความหมายแตกต่างกันสองคำอย่าง ‘Hip’ ที่หมายถึง ใหม่, เท่, เก๋, คูล, ดึงดูดใจ กับคำว่า ‘Gnosis’ (อ่านว่า ‘โนซิส’) คำโบราณที่หมายถึง ‘ความรู้อันลึกซึ้ง’ นั่นเอง
Hipgnosis เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็เมื่อตอนที่ออกแบบปกให้กับ Pink Floyd ในอัลบั้มอันลือลั่นอย่าง The Dark Side of the Moon (1973) ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อ กับภาพกราฟิกของแท่งสามเหลี่ยมปริซึมที่ถูกยิงด้วยเส้นแสงและฉายแถบสีสเปกตรัมออกมาบนพึ้นดำ ที่ออกแบบโดยสมาชิกกลุ่ม Hipgnosis อย่าง สตอร์ม ธอร์เกอร์สัน และ ออเบรย์ เพาเวลล์ ส่วนภาพกราฟิกที่เห็นบนปกวาดโดย จอร์จ ฮาร์ดี้ (George Hardie) กราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สมาชิกอีกคนของกลุ่ม Hipgnosis
The Dark Side of the Moon
ก่อนหน้านี้ Hipgnosis เคยออกแบบปกอัลบั้มให้ Pink Floyd มาแล้วสองสามอัลบั้มที่มีผลตอบรับค่อนข้างอื้อฉาว ค่ายต้นสังกัดของวงที่เคยรู้สึกมึนตึ้บกับดีไซน์หลุดโลกของปกอัลบั้มอย่าง Atom Heart Mother (1970) และ Obscured by Clouds (1972) เสนอแนะว่าพวกเขาอยากจะเห็นปกอัลบั้มแบบ ‘ปกติธรรมดา’ ที่มีโลโก้ชื่อวงและตัวหนังสือบนปกเสียที อย่างไรก็ดี ธอร์เกอร์สันและเพาเวลล์ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับข้อเสนอแนะนั้น เพราะทางวงเป็นคนจ้างพวกเขาโดยตรง
แต่สำหรับอัลบั้มนี้ ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) ให้โจทย์ไปว่าเขาอยากได้อะไรที่ “ฉลาด ประณีตสะอาดตา และมีคลาสกว่าปกที่ผ่าน ๆ มา” และอยากได้อะไรที่เป็นกราฟิกมากกว่าภาพถ่าย
ธอร์เกอร์สัน ได้ไอเดียของปริซึมมาจากหนังสือเรียนฟิสิกส์พื้นฐานที่เป็นภาพแสงส่องผ่านปริซึม ความจริงดีไซน์นี้ เดิมทีธอร์เกอร์สันดีไซน์สำหรับเสนอเป็นแบบโลโก้ของค่ายเพลง Charisma (ค่ายเพลงแรกของวงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกชื่อดังอีกวงอย่าง Genesis) แต่ถูกปฏิเสธไป ต่อมาดีไซน์ตัวนี้เป็นตัวเชื่อมโยงไปถึงโชว์อันอลังการตระการตาของวงที่มีความโดดเด่นในเรื่องแสงสี และเป็นนัยถึงแนวคิดของความทะเยอทะยานและความบ้าคลั่งที่ โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) สื่อสารผ่านเนื้อหาของบทเพลงในอัลบั้มนี้ของเขาด้วย
แสงสเปคตรัมที่ฉายจากปริซึมบนปกหน้าถูกออกแบบให้วิ่งไปยังหน้าพับบนซองที่มีปริซึมกลับหัววางอยู่และวิ่งสะท้อนกลับไปกลับมา โรเจอร์ วอเตอร์ส เสนอไอเดียว่าควรจะมีสัญลักษณ์ของชีพจรอยู่บนแถบสเปคตรัมในหน้าพับด้วย เพื่อเชื่อมโยงกับเสียงเต้นของหัวใจที่แทรกเป็นซาวด์เอฟเฟกต์ในอัลบั้ม แถบสีของสเปคตรัมมีหกสีแทนที่จะเป็นเจ็ด (ขาดสีคราม) ด้านในอัลบั้มมีสติ๊กเกอร์กราฟิครูปปิรามิดและโปสเตอร์ภาพวง และภาพมหาพีระมิดกีซาที่ธอร์เกอร์สัน เดินทางไปถ่ายถึงอียิปต์ และอัลบั้มนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ Pink Floyd พิมพ์เนื้อเพลงลงไปบนซองอัลบั้ม
อัลบั้มนี้เป็นปรากฏการณ์หลายอย่างของ Pink Floyd ตัวอัลบั้มเองก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่น่าสนใจ นอกจากอัลบั้มชุดนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารในฐานะหนึ่งในอัลบั้มที่ขายดีที่สุดและอยู่บนชาร์ตบิลบอร์ดอย่างยาวนานที่สุดตลอดกาล ปกอัลบั้มนี้ยังถูกโหวตเป็นหนึ่งในงานออกแบบปกอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลจากสื่อมวลชนหลายแขนงรวมถึงนิตยสารดนตรีชั้นนำหลายเล่มอีกด้วย
ในปี 2011 นิตยสาร Rolling Stone จัดให้ปกนี้อยู่อันดับสองในปกอัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาล เป็นรองก็แค่เพียงปกอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles เท่านั้น
หลังจากนั้น งานก็เข้า Hipgnosis ทันที พวกเขากลายเป็นที่ต้องการตัวและเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของวงดนตรีร็อกชั้นนำในยุคนั้นดังที่เอ่ยชื่อไปแล้ว และกลายเป็นกลุ่มนักออกแบบปกอัลบั้มที่โดดเด่นเป็นเอกที่สุดในยุคสมัยนั้นเลยก็ว่าได้
Wish You Were Here
ผลงานออกแบบปกอัลบั้มวงดนตรี Pink Floyd อันโดดเด่นอีกชิ้นของ Hipgnosis คือปกอัลบั้ม Wish You Were Here (1975) ที่ออกแบบภายใต้ธีมหลักที่เป็นถ้อยคำว่า ‘absence’ (การไม่มีตัวตน, การสาบสูญไป) อันเป็นธีมที่อุทิศให้กับ ซิด แบร์เร็ตต์ (Syd Barrett) อดีตมือกีตาร์/นักร้องนำ นักแต่งเพลงและผู้ก่อตั้งวง (เขายังเป็นผู้ตั้งชื่อวง Pink Floyd โดยได้ไอเดียมาจากชื่อของพ่อเพลงบลูส์อเมริกันสองคนอย่าง พิงก์ แอนเดอร์สัน (Pink Anderson) กับ ฟลอยด์ เคาน์ซิล (Floyd Council) นั่นเอง) ที่มีอาการป่วยทางจิตจากการเสพยาเสพติดหลอนประสาทเกินขนาด จนต้องระเห็จออกจากวง และหายตัวไปจากเพื่อนพ้องและสาธารณชน หลังจากวงประสบความสำเร็จและเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ไม่นาน
เรื่องนี้มีเบื้องหลังอันแสนเศร้าว่า ในวันที่ 5 มิถุนายน ปี 1975 ขณะที่สมาชิกวงดนตรี Pink Floyd กำลังบันทึกเสียงร้องประสานของเพลง Shine On You Crazy Diamond หนึ่งในซิงเกิ้ลของอัลบั้มนี้ในสตูดิโอแอบบี้โรด ลอนดอน จู่ ๆ ชายคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่นั่นด้วยสภาพที่ไม่น่าโสภานัก ด้วยร่างกายอ้วนฉุ เสื้อผ้าเก่าโทรม ผมและคิ้วถูกโกนจนเกลี้ยง ท่าทีประหลาดพิลึกพิกล ผุดลุกผุดนั่งไม่อยู่สุข ไม่มีใครในนั้นรู้จักเขา ทุกคนต่างงุนงงสงสัยว่าผู้ชายคนนี้เป็นใครและเข้ามาทำอะไรที่นี่
จนเวลาผ่านไปเกือบชั่วโมง ริชาร์ด ไรท์ จึงตระหนักขึ้นมาได้ว่า ผู้ชายคนนี้คือเพื่อนรักของพวกเขาที่เคยร่วมก่อตั้งวงดนตรีวงนี้ขึ้นมา อันที่จริงเขาเป็นคนตั้งชื่อวงดนตรีวงนี้ด้วยซ้ำ เขาคือ ซิด แบร์เร็ตต์ อดีตมือกีตาร์และนักร้องนำหนุ่มรูปงามของ Pink Floyd นั่นเอง!
ทันทีที่รู้ ทุกคนในที่นั้นต่างพากันตกตะลึง โรเจอร์ วอเทอร์ส ถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ เดวิด กิลมัวร์ (David Gilmour) เองก็ร้องไห้เช่นเดียวกัน สักพัก เมื่อซิดได้ยินเพลง Shine On You Crazy Diamond ดังขึ้น เขาถามอ้อมแอ้มขึ้นมาว่า “จะให้ฉันเล่นกีตาร์ตอนไหน?”
แน่นอนว่าไม่มีใครเอากีตาร์ให้เขาเล่น พวกเขาได้แต่บอกกับซิดว่า “เสียใจด้วยเพื่อน เราอัดพาร์ตกีตาร์ไปหมดแล้ว” น่าประหลาดที่เขาปรากฏตัวขึ้นมาอย่างปุบปับ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครพบเห็นเขามาหกเจ็ดปีแล้ว บังเอิญเหลือเกินที่เป็นวันเดียวกับที่สมาชิกวง Pink Floyd กำลังบันทึกเสียงเพลงที่แต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้เพื่อนผู้หายหน้าไปอย่างซิดกันอยู่ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้วงตัดสินใจปรับเปลี่ยนช่วงท้ายของเพลงนี้จนกลายเป็นแบบที่ได้ยินกันในที่สุด
อนึ่ง ถ้าตัดคำว่า ‘on’ และ ‘crazy’ ออกจากชื่อเพลงเพลงนี้ และเอาอักษรตัวหน้าของคำที่เหลือมารวมกัน ก็จะได้คำว่า ‘ซิด’ นั่นเอง (S)hine On (Y)ou Crazy (D)iamond = Syd
กลับมาที่ปกอัลบั้ม แล้วอะไรล่ะ ที่จะเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงการไม่มีตัวตนและการหายสาบสูญ? จะทำปกแผ่นเสียงเป็นสีขาวว่าง ๆ ก็ไม่ได้ เพราะ เดอะ บีทเทิลส์ เอาไอเดียนี้ไปใช้กับ White Album ของพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายธอร์เกอร์สันเลยคิดไอเดียการ ‘ซ่อนปก’ ขึ้นมา
โดยสมัยนั้น แผ่นเสียงมักจะถูกหุ้มด้วยแผ่นพลาสติกใส ๆ บาง ๆ เหมือนกระดาษแก้วที่ใช้หุ้มกล่องซีดีแบบทุกวันนี้ เขาเลยเปลี่ยนไปใช้พลาสติกสีดำทึบแทน เพื่อให้คนซื้อมองไม่เห็นซองแผ่นเสียงข้างใน ตามหลักการ คนซื้อจะต้องแกะพลาสติกหุ้มออกเพื่อจะเอาแผ่นเสียงที่เขาต้องการข้างในออกมา แต่ก็มีบางคนที่ค่อย ๆ ใช้มีดกรีดตรงขอบแล้วค่อย ๆ เลื่อนเอาแผ่นเสียงออกมาเหมือนกัน ดังนั้น ทุกวันนี้ก็จะมีคนที่ยังมีอัลบั้มแผ่นนี้อยู่โดยที่มีพลาสติกสีดำหุ้มอยู่แล้วก็ไม่เคยได้เห็นภาพบนปกอัลบั้มนี้เลยด้วยซ้ำ แบบนี้พอจะเรียกว่าปกอัลบั้มนี้ ‘หายไป’ ได้ไหม?
ปกที่ถูกซ่อน (หรือหายไป) นี้ น่าจะเป็นงานออกแบบที่ไม่ตรงกับหลักการตลาดที่ไหนในโลก (ที่สินค้าจะต้องเป็นเป้าสายตา, สีสันสดใส, ชื่อมองเห็นได้โดดเด่นชัดเจน) เพราะคนซื้อไม่มีทางมองเห็นข้างในเลย ก็เป็นที่แน่นอนว่าทางค่ายเพลงก็ต้องบ่นอย่างไม่สบอารมณ์ว่า ถ้าทำอย่างงี้แล้วทำไมยังจะต้องทำปกอัลบั้มสวย ๆ พิมพ์ภาพสีแพง ๆ ลงไปทำไมอีก? ในเมื่อไม่มีใครได้เห็นเลย นับเป็นโชคดีที่เมื่อธอร์เกอร์สันนำไอเดียนี้ไปเสนอกับสมาชิกวงพิงก์ฟลอยด์รวมถึงทีมงานอื่น ๆ พวกเขากลับชื่นชอบเอามาก ๆ จนถึงกับยืนขึ้นปรบมือรอบโต๊ะเลยทีเดียว
ภาพปกอัลบั้มข้างในพลาสติกหุ้ม เป็นภาพชายในชุดสูทสองคนกำลังจับมือกัน ฟังดูก็คงไม่แปลกอะไร ถ้าชายคนทางขวามือของภาพไม่ได้กำลังลุกเป็นไฟอยู่! ภาพนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดเกี่ยวกับคนที่มีแนวโน้มจะปกปิดความรู้สึกของตัวเองเพราะกลัวการถูกปฏิเสธ และพยายามหลีกหนีให้พ้นไปจากความกลัวการเจ็บปวด (หรือในสำนวนที่ว่า ‘ถูกแผดเผา’ จากความสัมพันธ์)
นอกจากนั้นยังไปพ้องกับคำว่า ‘Shine On’ อันเป็นชื่อเพลงในอัลบั้มที่เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงอัจฉริยะที่สาดแสงเจิดจ้าแผดเผาตัวเองจนไหม้เป็นจุณไป และคำว่า ‘ถูกเผา’ ก็ยังเป็นสำนวนในวงการดนตรีที่ใช้กับศิลปินที่ถูกปฏิเสธส่วนแบ่งที่เขาควรได้จากลิขสิทธิ์เพลงของตนเอง ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความฉ้อฉลของธุรกิจดนตรีและค่ายเพลงในยุคนั้นอีกด้วย
ภาพนี้ถูกถ่ายในโรงเก็บของของสตูดิโอวอร์เนอร์ บราเดอร์ส ชายทั้งสองเป็นสตันต์แมนผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานอยู่ในวงการหนังฮอลลีวูด โดยชายที่ตัวลุกเป็นไฟนั้นใส่ชุดกันไฟอยู่ใต้สูท สวมวิกและหมวกกันไฟอยู่บนศีรษะ ถ่ายกันเพียงเทคเดียว แต่ในระหว่างการถ่ายทำเกิดอุบัติเหตุลมเปลี่ยนทิศ พัดเปลวไฟมาโดนหน้าของเขาจนหนวดไหม้เป็นแถบ สุดท้ายพวกเขาต้องเปลี่ยนตำแหน่งกันจึงถ่ายต่อได้ (และอาศัยกลับฟิล์มเอาทีหลัง) ถ้าดูให้ดี ตรงกรอบขวามือของภาพจะทำเป็นลูกเล่นให้มีรอยไหม้เหมือนไฟลามมาโดนด้วย (เก๋ซะ!)
ส่วนปกหลังเป็นภาพของชายไร้หน้าที่ธอร์เกอร์สันเรียกว่า ‘Floyd salesman’ ที่กำลังขายวิญญาณอยู่กลางทะเลทราย ในภาพ ข้อมือและข้อเท้าของเขาไม่มีอยู่ มองดูเหมือนกับเป็นชุดที่ว่างเปล่า ที่เป็นธีมเกี่ยวกับการหายไปหรือการไม่มีตัวตนเช่นเดียวกัน และการไร้หน้าไร้ตัวตนของคนในภาพนี้ก็เป็นสัญลักษณ์แฝงถึงความหน้าไหว้หลังหลอก ความไร้ศีลธรรม ไร้ศักดิ์ศรีของคนในธุรกิจดนตรีเช่นเดียวกัน (ภาพคนในชุดสูทที่ว่างเปล่านี้ ธอร์เกอร์สันน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากงานของจิตรกรเซอร์เรียลลิสต์ชาวเบลเยียมชื่อดังอย่าง เรอเน มากริตต์ (Rene Magritte) นั่นเอง)
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อทำให้แผ่นเสียงแผ่นนี้เป็นที่จดจำได้ของคนซื้อ (ตามความต้องการของฝ่ายขาย) ธอร์เกอร์สันเลยต้องทำสติ๊กเกอร์ป้ายชื่อวงและชื่ออัลบั้มเพื่อติดบนซองแผ่นเสียงอีกทีนึง ป้ายนี้เป็นรูปการ์ตูนที่วาดโดย จอร์จ ฮาร์ดี้ โดยเลียนแบบมือของปกหน้าที่กำลังจับกันอยู่บนหน้าปกด้านใน
ปกอัลบั้ม Wish You Were Here ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของปกอัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Rolling Stone ปี 2011
Animals
อีกผลงานปกอัลบั้มอันโดดเด่นที่ Hipgnosis ออกแบบให้ Pink Floyd ก็คือ ปกอัลบั้ม Animals (1977) โดยดีไซน์และแนวคิดของปกอัลบั้มนี้มาจากไอเดียของ โรเจอร์ วอเตอร์ส นักร้องนำ มือเบส และหัวหน้าวง ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการทำคอนเซปต์อัลบั้มชุดนี้มาจากนวนิยาย Animals Farm (1945) ของนักเขียนอังกฤษ จอร์จ ออร์เวล (George Orwell)
ตอนแรกธอร์เกอร์สัน ไม่พอใจ เพราะทางวงปฏิเสธไอเดียแรกของเขา เป็นภาพเด็กน้อยเดินเข้าไปในห้องนอนของพ่อกับแม่และเห็นพวกเขากำลังมีเซ็กซ์กันอย่างป่าเถื่อน “เหมือนกับสัตว์” (ไอเดียโหดสัสมาก ลองดูแบบร่างปกอัลบั้มได้ในลิงก์นี้) แต่ไอเดียของหมูบิน/ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์นั้นทำออกมาได้อย่างวิเศษจนธอร์เกอร์สันต้องยอมรับในที่สุด
หมูสีชมพู (ตัวละครเอกในนวนิยาย Animals Farm) หรืออันที่จริง ‘บอลลูนหมู’ ที่ชื่อเล่นว่า อัลจี้ (Algie) ตัวนี้ มีขนาด 20 x 30 ฟุต โดยทางวงจ้างบริษัทผลิตบอลลูนและเรือเหอะของเยอรมันอย่าง Ballon Fabrik และศิลปินชาวออสเตรเลียน เจฟฟรีย์ ชอว์ (Jeffrey Shaw) ทำขึ้นมา
บอลลูนยางอัดด้วยแก๊ซฮีเลียมตัวนี้ถูกทำขึ้นเพื่อให้ลอยอยู่เหนืออาคาร Battersea Power Station อาคารผลิตพลังงานถ่านหินหลังเก่าของรัฐบาลอังกฤษ (ที่วอเตอร์ส เคยขับรถผ่านทุกวันและเกิดความประทับใจจนนำมาใช้เป็นฉากบนปกอัลบั้มนี้ของวง)
การถ่ายภาพสำหรับทำปกอัลบั้มนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม 1976 Pink Floyd ขนทีมงานคอนเสิร์ตของพวกเขาทั้งทีมมาช่วยถ่ายปกอัลบั้มนี้ (เอาแค่ช่างภาพก็ปาเข้าไปอย่างน้อย 11 คนแล้ว) ณ สถานที่ถ่ายทำใกล้กับแม่น้ำเทมส์ในลอนดอน วันนั้นอากาศปลอดโปร่ง ท้องฟ้าสดใส ดวงอาทิตย์สาดแสงลงบนอาคารอย่างสวยงาม มีเมฆลอยเข้ามาถูกจังหวะเพิ่มความตระการตาให้กับฉากหลังอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างพร้อมสรรพ แต่ขาดอยู่อย่างเดียวที่บอลลูนหมูดันอัดแก๊สไม่เข้า แน่นอนว่าลอยไม่ขึ้น สุดท้ายทีมงานก็ได้แต่ถ่ายฉากเปล่า ๆ ไปโดยไม่มีหมู
ทีมงานกลับมาในวันที่สอง และรออยู่ที่ตำแหน่งเดิม ท้องฟ้าสดใสไร้เมฆ บอลลูนหมูสีชมพูถูกอัดแก๊สเข้าไปสำเร็จและถูกปล่อยลอยขึ้นเหนืออาคารอย่างช้า ๆ ทว่าสง่างาม แต่ก่อนที่ช่างภาพจะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ดันมีลมเจ้ากรรมกรรโชกมาอย่างแรงจนพัดบอลลูนหมูขนาดยักษ์ขาดจากเชือกขึงปลิวหายไปต่อหน้าต่อตาทีมงานทุกคน
สุดท้ายพวกเขาก็เลยต้องถ่ายฉากเปล่าๆ โดยไม่มีหมูไปอีกวัน (วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่ามีหมูบินเหนือน่านฟ้ากรุงลอนดอนผ่านสนามบินฮีธโรว์ นักบินรายงานขำๆ ว่า พบหมูบินลึกลับไม่ทราบที่มาบินผ่านหน้าไป และลอยไปตกอยู่ในฟารม์แห่งหนึ่งที่เมืองเคนท์ โดยชาวไร่ท้องถิ่นที่นั่นเก็บเอาไว้ได้ (ครั้งแรกที่เห็น ชาวไร่อุทานกับเมียว่า “เธอต้องไม่เชื่อแน่ๆ เลยว่าฉันเห็นอะไรมา!”)
วันที่สาม ทีมงานกลับมาที่เดิมพร้อมกับบอลลูนหมูที่เก็บกู้และซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน พวกเขาอัดแก๊สได้สำเร็จและปล่อยขึ้นไปลอยเท้งเต้งเหนืออาคารระหว่างปล่องไฟสองปล่องอย่างสวยงามและสงบนิ่งอยู่บนนั้นทั้งวันเหมือนเจ้าหมูที่แสนเชื่องอย่างที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรก
ภาพที่เห็นบนปกอัลบั้มเป็นภาพที่ได้มาจากหลายวัน (ที่ถูกถ่ายจากกล้องและฟิล์มแทบทุกประเภทที่พวกเขาหาได้) ภาพฉากหลังที่สมบูรณ์แบบที่สุดนั้นได้มาจากภาพถ่ายในวันแรก ส่วนภาพของบอลลูนหมูนั้นเป็นภาพของวันที่สาม ที่ธอร์เกอร์สันเอามาคอลลาจลงไปบนภาพฉากหลังอีกทีหนึ่ง
ในตอนแรก ธอร์เกอร์สันเสนอแนะว่าไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพบอลลูนหมูในสถานที่จริงก็ได้ เพราะเขาสามารถเอามาตัดแปะทีหลังได้อยู่แล้ว แต่วอเตอร์สไม่ยอม เขายืนยันว่าทุกอย่างต้องถ่ายทำจริง ๆ จากสถานที่จริง ธอร์เกอร์สันยอมรับในภายหลังว่าวอเตอร์สเป็นฝ่ายถูก คุณค่าความงาม คุณภาพทางอารมณ์ และความดีงามของผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะถูกทำขึ้นจริง ๆ ในสถานที่จริง และสิ่งนี้ก็กลายเป็นแนวคิดหลักในการทำงานร่วมกันระหว่าง Pink Floyd และ Hipgnosis อย่างต่อเนื่องยาวนานในเวลาต่อมา
ไม่ตั้งราคาค่าออกแบบ!
มีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Hipgnosis ตรงที่ว่า พวกเขาไม่เคยตั้งราคาค่าออกแบบปกอัลบั้มของพวกเขาเลย หากแต่บอกให้ศิลปินและวงดนตรีที่พวกเขาออกแบบปกอัลบั้มให้ จ่ายค่าออกแบบมา “ตามแต่ที่พวกเขาพอใจกับผลงาน” (ฮิปซะไม่มี!) ผลลัพธ์โดยส่วนใหญ่ก็ออกจะเป็นที่พึงพอใจด้วยกันทั้งผู้ออกแบบและลูกค้า (นโยบายแบบนี้คงเอามาใช้ที่บ้านเราไม่ได้ เพราะโดยส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะขอต่อราคาเอาไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นงานด้วยซ้ำไป!)
สิ่งที่ทำให้ผลงานของ Hipgnosis โดดเด่นเกิดจากสไตล์การออกแบบที่ผสมผสานกระบวนการถ่ายภาพอันสมจริงเข้ากับเทคนิคทางกราฟิกหลากหลายที่พวกเขาเป็นคนบุกเบิกขึ้นอย่าง การแต่งภาพที่ใช้ทั้งเทคนิคในห้องมืด การซ้อนภาพ การใช้แอร์บรัช (เดี๋ยวนี้ใครยังรู้จักบ้าง?) และการตัดแปะฉีก ขีดฆ่า ลบรูปภาพด้วยทินเนอร์ เทคนิคทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานของโปรแกรมออกแบบสำเร็จรูปที่เราใช้กันจนเกร่อในปัจจุบันอย่าง Adobe Photoshop (แต่สมัยนั้นเขาทำกันด้วยมือล้วน ๆ)
เทคนิคที่น่าสนใจในการถ่ายภาพของพวกเขาก็คือ พวกเขาใช้กล้องถ่ายภาพแบบมีเดียมฟอร์แมต ที่ใช้ฟิล์มที่มีกรอบแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหมาะกับการวางลงบนปกแผ่นเสียงพอดิบพอดีโดยไม่ต้องตัดภาพทิ้งมากนัก
เอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกอย่างในงานของพวกเขาก็คืออารมณ์ขันแปลก ๆ เสียดสี ห่าม ๆ และตลกร้าย ทะลึ่งตึงตัง การเล่นคำผวน สองแง่สองง่าม บางครั้งก็หวิดจะทำให้พวกเขาเสียลูกค้าและเกิดปัญหาอยู่เป็นเนือง
ดังเช่นในงานออกแบบปกอัลบั้มลำดับที่ 5 ของ Led Zeppelin อย่าง Houses of The Holy (1973) ร่างแรก ทอร์เกอร์สันใช้รูปไม้เทนนิสวางอยู่บนสนามเทนนิสสีเขียว อันเป็นการเล่นคำพ้องเสียงระหว่างคำว่า ‘Racquet’ (ไม้เทนนิส) กับคำว่า ‘Racket’ (เสียงอึกทึกคึกโครม) ซึ่งหมายถึงเสียงดนตรีของวง แต่ทางวงไม่ตลกด้วย และฉุนขาดจนไล่ทอร์เกอร์สันออก ยังดีที่เพาเวลล์เข้ามากู้สถานการณ์ด้วยถ่ายรูปทำปกอัลบั้ม “เด็กเปลือยบนหินผา” อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
ภาพถ่ายบนปกอัลบั้มของพวกเขายังมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาในอัลบั้ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นในเชิงสัญลักษณ์หรือแฝงความหมายซ่อนเร้น เนื่องจาก ธอร์เกอร์สัน และ เพาเวลล์ เป็นนักศึกษาภาพยนตร์ พวกเขาจึงเคยชินกับการจัดฉากและนักแสดงสำหรับถ่ายภาพ หลายต่อหลายครั้งก็จัดหนัก จัดเต็ม และจัดใหญ่จนน่าทึ่ง เมื่อนึกไปถึงสมัยของพวกเขาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อใช้ถ่ายทอดจินตนาการอันบรรเจิดออกมาเป็นภาพจริง ๆ
นอกจากเทคนิคทางกราฟิกข้างต้นแล้ว ความโดดเด่นอีกประการในการออกแบบปกอัลบั้มของพวก Hipgnosis ก็คือเทคนิคและนวัตกรรมในการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือซองแผ่นเสียงที่สอดแทรกด้วยลูกเล่นพิสดารพันลึกมากมาย ทั้งการใช้เทคนิคของหมึกพิมพ์ การไดคัท การคาดแถบกระดาษ (เพื่อให้บนปกอัลบั้มมีแต่รูปล้วน ๆ โดยไม่มีตัวหนังสือใด ๆ เลย) อันเป็นรากฐานและต้นธาร ส่งอิทธิพลให้กับแนวความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบปกแผ่นเสียงและงานกราฟิกดีไซน์ในปัจจุบันอย่างมากมาย
ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นในรูปแบบนี้ของพวกเขาก็คือปกอัลบั้มลำดับที่ 8 ของวงดนตรีฮาร์ดร็อกชื่อก้องโลกอย่าง Led Zeppelin ในชุด In Through the Out Door (1979) กับลูกเล่นขั้นเทพของซองแผ่นเสียงด้านใน ที่มีรูปภาพลายเส้นขาวดำดาษ ๆ ธรรมดา ๆ แต่เมื่อเอาน้ำลูบลงไป ภาพก็จะค่อย ๆ ปรากฏสีสันขึ้นมาบนรูปให้เห็นเป็นอัศจรรย์! (โอ้แหมน!) ปกอัลบั้มนี้ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ สาขาปกอัลบั้มยอดเยี่ยมในปี 1980 อีกด้วย
นอกจากที่กล่าวมาเหล่านี้ ยังมีงานปกอัลบั้มชั้นเยี่ยมและเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคอันก้าวล้ำนำสมัยอีกมายมายหลายชิ้นที่พวกเขาออกแบบ หลายชิ้นกลายเป็นตำนานในวงการออกแบบ และเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกรา ในปี 1983 กลุ่ม Hipgnosis ก็ปิดตัวลงและแยกย้ายกันไปทำงานทางใครทางมัน เหลือไว้แต่ผลงานที่ยังคงทนทานเหนือกาลเวลา ตราบเท่าที่ยังมีคนฟังเพลงในอัลบั้มเหล่านั้นอยู่ แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการฟังไปอย่างสิ้นเชิงแล้วก็ตามที ในภายหลังธอร์เกอร์สันเองก็ยังคงถูกเรียกตัวมาออกแบบปกอัลบั้มให้ Pink Floyd ต่ออีกหลายต่อหลายชุด รวมถึงวงดนตรีและศิลปินชั้นนำอีกหลายต่อหลายคน
ในช่วงท้ายของชีวิตธอร์เกอร์สันทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งที่เขาต่อสู้อยู่หลายปี จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยอายุ 69 ปี ในวันที่ 18 เมษายน 2013
หลังจากที่เขาเสียชีวิต เดวิด กิลมัวร์ มือกีตาร์ของ Pink Floyd ได้แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ถึงธอร์เกอร์สันว่า “เขาเป็นพลังที่มั่นคงในชีวิตของผม ทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว เป็นเพื่อนแท้ที่พึ่งพาได้ในยามยาก และเป็นเพื่อนผู้ยิ่งใหญ่” และกล่าวว่าเขาเป็น “อัจฉริยะทางการออกแบบ”
นิค เมสัน (Nick Mason) มือกลองของ Pink Floyd กล่าวว่าเขาเป็น “นักทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจวบจนวาระสุดท้าย"
ภาพประกอบ: สตรอม ธอร์เกอร์สัน ไฟล์จาก Getty Images กับโลโก้วง Pink Floyd และปกอัลบั้ม The Dark Side of the Moon
อ้างอิง:
หนังสือ Mind Over Matter: The Images of Pink Floyd โดย Storm Thorgerson และ Peter Curzon