‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

ชีวิตของ ‘ประเทือง เอมเจริญ’ ผู้ใช้ชีวิตแบบทุ่มหมดตัวให้กับศิลปะ จนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปี 2548

  • มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทืองและพี่ชาย ไม่พอใจที่แม่มีสามีใหม่ เลยพากันหนีออกจากบ้านไปเป็นคนร่อนเร่พเนจร 
  • วันหนึ่งประเทืองได้ดูหนังฝรั่งเรื่อง ‘ลัสต์ ฟอร์ ไลฟ์’ (Lust for Life) ซึ่งเกี่ยวกับชีวประวัติของ ‘วินเซนต์ แวนโก๊ะ’ ทำให้เขาหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จุดมุ่งหมายหลักในชีวิตที่แท้จริงคืออะไร? 

‘ประเทือง เอมเจริญ’ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2478 ณ บ้านริมคลองบางไส้ไก่ จังหวัดธนบุรี ถิ่นพระเจ้าตาก (ปัจจุบันจังหวัดนี้ไม่มีในแผนที่เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปแล้ว) 

ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 จาก 3 คนของนายชิต และนางบุญช่วย ที่ฐานะทางครอบครัวไม่สู้จะดีสักเท่าไร

ประเทืองเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเทศบาลวัดสุทธาวาส ใกล้ ๆ บ้าน แต่พอจบ ป.4 บิดาของท่านผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวก็ถึงแก่กรรม ประเทืองจึงจำใจต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยที่บ้านทำงานหารายได้ แทนที่จะได้เรียนหนังสือวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ตามประสาเด็ก 

ประเทืองต้องกระเสือกกระสนทำงานหนัก ทั้งทำสวน ขายขนม แบกหาม ตีเหล็ก เสิร์ฟกาแฟ และอาชีพจิปาถะอื่น ๆ อีกร้อยแปด

กลายเป็นคนร่อนเร่ ใช้ชีวิตอย่างอนาถา

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทืองและพี่ชาย ไม่พอใจที่แม่มีสามีใหม่ เลยพากันหนีออกจากบ้านไปเป็นคนร่อนเร่พเนจร 

‘ชำนาญ เอมเจริญ’ พี่ชายของประเทือง จบจากเพาะช่าง จึงมีความรู้ด้านศิลปะ พาประเทืองไปตระเวนรับจ้าง ออกแบบเขียนป้ายโฆษณา ทาสีศาลพระภูมิ ไม่เกี่ยงแม้กระทั่งล้างรถหรืองานอะไรก็ได้ถ้ามีคนจ้าง วันไหนมีงานก็ได้รายได้แค่พอซื้อข้าวซื้อน้ำประทังชีวิต วันไหนไม่มีงานก็ต้องอดข้าวดื่มน้ำคลองไป 

สองพี่น้องไม่มีเงินพอที่จะไปเช่าห้องหับที่ไหนซุกหัวนอน กลางค่ำกลางคืนเลยต้องอาศัยนอนกับคนอนาถา หมา และยุงตามสวนสาธารณะ อยู่อย่างนั้นครึ่งปีจนทั้งคู่ซูบผอมใกล้ตายถึงได้ตัดสินใจบากหน้ากลับบ้านตามเดิม  

เรียนรู้ศิลปะแบบครูพักลักจำ

หลังกลับมาอยู่บ้าน พี่ชายของประเทืองได้งานทำที่บริษัททำป้ายชื่อว่า ‘เอสจันโฆษณา’ เลยพาน้องชายซึ่งมีวุฒิแค่ ป.4 ไปฝากงานด้วย ประเทืองเริ่มงานประจำที่บริษัท โดยการเป็นพนักงานทำความสะอาด และเป็นลูกมือเตรียมสีให้ช่างเขียน ได้รับเงินเดือนเดือนแรก 80 บาท 

ประเทืองทำงานอย่างขยันขันแข็งเคียงคู่ไปกับการเรียนรู้เทคนิคการเขียนป้าย จนได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นช่างใหญ่เงินเดือนนับพันบาทได้อย่างรวดเร็ว 

บริษัทเอสจันโฆษณามีเจ้าของเป็นคนจีนที่ทุกคนเรียกว่า ‘ซิงแซ’ ซึ่งประเทืองนับถือเป็นครูศิลปะคนแรกในชีวิต เมื่อว่างจากงาน ซิงแซมักจะนั่งวาดภาพเป็นงานอดิเรก ส่วนประเทืองก็ชอบไปยืนดูและคอยรับใช้ล้างพู่กัน เสิร์ฟน้ำ ซิงแซชอบปาดสีเร็ว ๆ หนา ๆ ลงไปบนภาพตามสไตล์อิมเพรสชันนิสม์

ทั้ง ๆ ที่ใช้พู่กันป้ายสีออกมาเป็นภาพเหมือนกัน แต่ภาพวาดของซิงแซนั้นช่างให้ความรู้สึกแตกต่างกับป้ายโฆษณาที่ประเทืองเขียนอยู่ทุกวัน สิ่งที่เห็นจึงแปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจสำหรับประเทืองผู้ไม่เคยเล่าเรียนศิลปะมาก่อนเลยเป็นอย่างมาก

ช่างเขียนภาพประกอบหนังมือทอง

ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่เอสจันโฆษณา ประเทืองมักใช้เวลาในวันหยุดไปช่วยงานน้องชาย ‘ประเสริฐ เอมเจริญ’ ที่ทำอาชีพวาดภาพประกอบในโรงหนังและมีงานล้นมือจนทำไม่ทัน

หนังเรื่องใหม่ออกมาฉายแต่ละทีก็ต้องวาดภาพชุดใหม่ยกชุด หนังใหม่เข้าโรงเดือนละหลาย ๆ เรื่อง แถมโรงหนังใหม่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ประเทืองช่วยไปช่วยมาจนเวลาที่มีในวันหยุดไม่พอ ก็เลยตัดสินใจลาออกมาเป็นช่างเขียนภาพประกอบหนังเหมือนน้องชายด้วยอีกคน 

ประเทืองฝีมือดี งานไว ทำให้ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักในวงการ ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำถึงเดือนละหลักหมื่น ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากในสมัยเมื่อ 60 ปีที่แล้วที่ทองยังราคาบาทละแค่ 400 

หนุ่มติสท์ มีชื่อเสียง หน้าที่การงานดี ก็ย่อมจะฮอตเป็นธรรมดา ท่านพบภรรยาในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 ท่าน คือ ‘คำยอด’ กับ ‘นิตยา’ ครอบครัวที่ขยายใหญ่มี 2 ศรีภรรยาบวกกับลูก ๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นมา ถูกจัดสรรให้อยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้อย่างปกติสุข โดยมีประเทืองเป็นที่พึ่งของบ้าน 

ตื่นรู้เพราะดูหนัง

ในช่วงนั้นประเทืองใช้เวลาว่างจากงานและครอบครัวไปกับการศึกษาศิลปะด้วยตนเอง โดยการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้รู้ ดูนิทรรศการ ดูหนังสือจากต่างประเทศ ดูคอนเสิร์ต ดูละคร และดูหนัง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เสียค่าตั๋วเพราะเป็นคนวาดภาพประกอบเอง 

ประเทืองชอบดูหนังเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะดูฟรี แต่เพราะคิดว่าภาพยนต์เป็นการนำศิลปะทุกแขนงทั้งวรรณกรรม จิตรกรรมดนตรี การแสดง มารวมไว้ในที่เดียว ถ้าตั้งใจดูดี ๆ ก็จะช่วยเปิดมุมมองทางศิลปะได้มาก จนวันหนึ่งประเทืองได้ดูหนังฝรั่งเรื่อง ‘ลัสต์ ฟอร์ ไลฟ์’ (Lust for Life) ที่จั่วหัวเป็นภาษาไทยว่า ‘แรงปรารถนา เพื่อชีวิต’ นำแสดงโดย ‘เคิร์ก ดักลาส’ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติของ ‘วินเซนต์ แวนโก๊ะ’ ศิลปินชาวดัตช์ผู้ซึ่งมีชีวิตอันอาภัพ แต่กลับมาโด่งดังคับฟ้าเมื่อเจ้าตัวลาโลกไปแล้ว ประเทืองชอบหนังเรื่องนี้มากถึงขั้นคลั่งไคล้ ดูซ้ำไปซ้ำมาจนแทบจะแสดงแทนเคิร์กได้เลยเพราะจำบทได้ครบทุกฉาก

ชีวิตของแวนโก๊ะสะกิดใจให้ประเทืองหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จุดมุ่งหมายหลักในชีวิตที่แท้จริงคืออะไร? ประเทืองมองว่างานที่ทำอยู่ถึงแม้จะทำให้ชีวิตสุขสบายด้วยเงินเดือนมหาศาล แต่ก็เป็นแค่การรับจ้าง ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่ได้ช่วยยกระดับจิตใจใคร ไม่ได้สร้างสรรค์คุณค่าอะไรทิ้งไว้ให้มวลมนุษย์ เหมือนใช้ชีวิตแค่เกิดมาแล้วตายไปอย่างไร้ความหมาย 

คิดได้ดังนั้นแล้วเลยกลับบ้านไปกอดแม่กอดเมียเพื่อประกาศว่า ต่อไปนี้จะเลิกอาชีพวาดภาพประกอบหนังอย่างเด็ดขาด และจะเริ่มเป็นศิลปินขนานแท้ที่สร้างสรรค์เฉพาะศิลปะบริสุทธิ์อย่างเต็มตัว ได้ยินได้ฟังดูแล้วที่บ้านก็คงงง ๆ อยู่ว่ากินยาผิดซองหรือเปล่า แต่ก็สนับสนุนความตั้งใจอย่างเต็มที่ 

เลิกรับจ้างกลับมาตกยากอีกหน

ปีนั้นเป็นปี 2505 ประเทืองมีอายุได้ 27 พอดี การตัดสินใจมุ่งมั่นเป็นศิลปินอย่างปัจจุบันทันด่วนเรียกได้ว่าเป็นการเอาชีวิตไปเดิมพันขนานแท้ ทั้ง ๆ ที่งานเดิมที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ปากท้องลูกเมียและแม่ที่แก่ชราก็ยังต้องเลี้ยงดู อีกทั้งวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยตอนนั้นก็เพิ่งจะเริ่มต้น หอศิลป์สักแห่งก็ไม่มี ศิลปะยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ห่างไกลจากชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ ผลงานศิลปะไม่ได้มีราคา ไม่เป็นที่นิยมซื้อหากันเหมือนสมัยนี้ จะวาดภาพไปขายใครยังแทบจะนึกไม่ออก

พอประเทืองเริ่มเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์แต่ผลงานศิลปะ อุปสรรคก็ค่อย ๆ มีเข้ามาทีละเรื่องสองเรื่องจนมากมายอีนุงตุงนังเกินคาด แรก ๆ หวังจะเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ข้างบ้านชื่อ ‘อาร์ท แอนด์ จอย’ ไว้หารายได้พอเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เปิดได้สักพักก็ทนขาดทุนไม่ไหวต้องปิดไปตามระเบียบ

วันหนึ่งลูกชายที่ยังเล็กก็ร้องไห้กระจองอแงไม่หยุดหย่อน พอพาไปหาหมอก็พบว่าเป็นมะเร็งและอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต แม่ของประเทืองพออายุมากขึ้นก็เริ่มมีอาการป่วยทางจิต เคยเอามีดทิ่มคอตัวเอง ต้องหามส่งโรงพยาบาล 

ด้วยปัญหาที่ประดังเข้ามา ผลงานภาพวาดของประเทืองในยุคแรกเริ่มนี้เลยดูดำเมี่ยม มืดตึ๊ดตื๋อ แต่ละฝีแปรงเปรียบประดุจรอยเลือดและน้ำตาของคนวาด 

เวลาล่วงเลยไปหลายปีผลงานสไตล์แรง ๆ ล้ำ ๆ สะท้อนอารมณ์เศร้าที่ประเทืองสร้างขึ้นมานั้น ขายไม่ได้เลยสักกะชิ้น 

พอไม่มีรายได้นานเข้า ครอบครัวที่เคยมีกินมีใช้ก็เริ่มอัตคัดเข้าขั้นยากจน ผักบุ้งจิ้มน้ำพริกแทบจะเป็นอาหารหลักในทุกมื้อจนลูกเมียขาดสารอาหาร บ้านช่องก็เริ่มผุพัง ประตูแหว่ง หลังคาโหว่ กลางค่ำกลางคืนก็อยู่กันแบบมืด ๆ เพราะโดนตัดไฟ จะออกไปไหนก็ต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะรอบ ๆ บ้านมีแต่เจ้าหนี้คอยตามทวงตังค์ ไม่นานบ้านที่คลองบางไส้ไก่ที่เอาไปค้ำประกันเงินกู้ก็หลุดจำนอง ทั้งครอบครัวต้องพากันย้ายไปอยู่ที่ใหม่แถว ๆ บางแค

ไม่มีสถาบัน ไม่มีก๊ก ไม่มีเหล่า

ประเทืองปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่เนี้ยบเหมือนสมัยทำงานประจำ ผมเผ้าหนวดเครายาวรกรุงรัง ใส่ชุดสีดำซอมซ่อ ชุดเดิมซ้ำ ๆ ไปที่ไหนก็ถูกรังเกียจด้วยรูปลักษณ์ มิหนำซ้ำยังถูกเหยียดหยามจากคนในแวดวงศิลปะหลายต่อหลายคนที่มองประเทืองว่าเป็นพวกไม่มีการศึกษา ไม่มีปริญญาศิลปะจากสถาบันไหนติดตัว ดูถูกว่าอย่างไรชาตินี้ประเทืองคงจะไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากในฐานะศิลปินได้ 

พอเป็นซะอย่างนี้ เพื่อจะให้เป็นที่ยอมรับ ประเทืองเลยต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เพราะไม่มีก๊กไม่มีเหล่าคอยช่วยผลักดัน 

ซวยซ้ำซวยซ้อนซะขนาดนี้ ดีที่ประเทืองยังไม่เป็นบ้าหรือฆ่าตัวตาย แต่ยังมีความหวังก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อไป เพราะตลอดชีวิตของท่านตั้งแต่ยังเล็กได้พบเจอความทุกข์ยากผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จนมีจิตใจที่กล้าแกร่ง และถึงชีวิตจะยากลำบากแสนสาหัสอย่างไร ก็ยังมีครอบครัว, พี่น้อง, และเพื่อนศิลปินร่วมอุดมการณ์บางคนคอยเป็นกำลังใจ และหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ตามกำลัง

ชีวิตและผลงานเริ่มมีสีสัน

บนเส้นทางศิลปะอันมืดมิดของประเทือง แสงสว่างแห่งความสำเร็จเริ่มจะมองเห็นอยู่รำไรเมื่อท่านส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 17 ประจำปี 2510 ผลงานที่ส่งไปเป็นภาพแนวนามธรรมที่มีชื่อว่า ‘เลือดทองคอนกรีต’ ปรากฏว่าสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินมาได้ พร้อมเงินรางวัลอีก 5,000 บาท ที่ถูกเอาไปใช้ปลดหนี้อย่างรวดเร็ว 

หลังจากนั้นในปีต่อ ๆ ไป ประเทืองก็ส่งผลงานเข้าประกวดอีกและได้รับรางวัลอีกหลายรางวัลจนสาธารณชนเริ่มรู้จัก ประเทืองค่อย ๆ มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่สนใจศิลปะแวะเวียนมาขอความรู้ที่บ้านเพิ่มขึ้น จนวันหนึ่งมีคณะครูมาดูงาน ประเทืองได้พบกับครูสาวนามว่า ‘บุญยิ่ง’ ทั้งคู่รักใคร่ชอบพอกัน จนตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยา ครอบครัวที่ใหญ่อยู่แล้วของประเทืองจึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีกคน

ประเทืองเริ่มมีชื่อเสียง และค่อย ๆ ขายผลงานศิลปะได้ จากภาพวาดสมัยอดมื้อกินมื้อที่ดูมืด ๆ ทึม ๆ ประเทืองพัฒนาผลงานชุดต่อ ๆ มาให้มีสีสันสว่างไสวยิ่งขึ้น โดยใช้ดวงอาทิตย์เป็นแรงบันดาลใจ 

ประเทืองตื่นแต่ไก่โห่เพื่อไปแหงนคอรอดูดวงอาทิตย์ตั้งแต่แสงแรกของรุ่งอรุณ พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของเฉดสีของแสงในแต่ละช่วงเวลาของวัน จนพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไป เพ่งดูแสงอาทิตย์จนตาแทบบอด แล้วจำเอามาวาดเป็นภาพนามธรรมของจักรวาล ดาวฤกษ์ และรูปทรงต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดยุบยิบและสีสันจัดจ้านน่าประทับใจ

‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

ศิลปะสะท้อนการเมืองและเรื่องธรรมชาติ

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลออกมาปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนมีผู้เสียชีวิตมากมาย ประเทืองก็เริ่มสร้างผลงานที่สะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับการเมืองออกมาหลายชิ้น ภาพธงชาติ กะโหลก หยดเลือด ปืน รูกระสุน ถูกสร้างสรรค์ออกมาเพื่อเตือนสติผู้ชมให้ระลึกถึงวันมหาวิปโยคนั้น และช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก 

ภาพชุดนี้กลายเป็นภาพชุดประวัติศาสตร์ในวงการศิลปะไทยที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงเสมอในเรื่องความสำนึกรับผิดชอบของศิลปินที่มีส่วนช่วยในการจรรโลงสังคม

เมื่อบ้านเมืองกลับมาสงบอีกครั้ง ประเทืองก็กลับไปค้นหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ก้มหน้าก้มตามองรายละเอียดของกรวด หิน ดิน ทราย หยดน้ำ ใบไม้ ใบหญ้า เดินทางไกลออกไปซึมซับความรู้สึกของป่าเขา ทุ่งนา แม่น้ำ และทะเล ถ่ายทอดความประทับใจจากสรรพสิ่งรอบตัว สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบ 

ภาพวาดของประเทืองถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวนามธรรม แต่ก็เป็นภาพที่ตีความได้ไม่ยาก องค์ประกอบ รายละเอียด สีสัน ดูสวยงามอย่างไม่ต้องลังเลใจ

‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินที่จบแค่ ป.4 ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า ออกจากงานประจำมาจรรโลงศิลป์

จิตรกรควบคู่กวี

ควบคู่ไปกับการวาดภาพ ประเทืองมักประพันธ์บทกวีพรรณนาความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่พรั่งพรูออกมา ท่านเคยเปรียบตนเองดั่งดอกไม้เล็กจิ๋วริมทาง ที่จะใช้กำลังทั้งหมดที่มีชูช่อผลิบานให้กว้างให้สวยที่สุด ก่อนที่วันหนึ่งดอกไม้นั้นจะหมดแรงเหี่ยวแห้งไป ไม่สนว่าใครจะเดินมาเจอะมาสนใจหรือไม่ แค่ได้ทำเต็มที่และดีที่สุดในวันที่ยังทำได้ก็ภูมิใจแล้ว 

เหมือนว่าดอกไม้ดอกจิ๋วดอกนั้น วันนี้จะเติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่สูงตระหง่าน ชื่อเสียงของประเทืองโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จนขึ้นชั้นเป็นศิลปินแถวหน้าของประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งผู้ที่ในอดีตเคยดูถูกเหยียดหยามก็ต้องยอมศิโรราบ จากความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบทุ่มหมดตัวให้กับศิลปะ ท่านได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปี 2548 

โควิดพรากชีวิต

ประเทืองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ท่านย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่กาญจนบุรีและเปิด ‘หอศิลป์เอมเจริญ’ เอาไว้บนที่ดินริมแม่น้ำแม่กลองเพื่อใช้จัดแสดงผลงานศิลปะให้สาธารณชนได้มีโอกาสชื่นชม 

และแล้วในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ประเทือง เอมเจริญ ในวัย 87 ก็ถึงแก่กรรมจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรง ปิดตำนานศิลปินนามธรรมแถวหน้าของไทย ผู้เรียนรู้ที่จะถ่ายทอดความงดงามแห่งแสงสีด้วยตนเองจนช่ำชอง และไม่เคยได้ศึกษาศิลปะจากสถาบันแห่งไหน

รับรู้เรื่องราวชีวิตอันสุดวิบากของ ‘ประเทือง เอมเจริญ’ กันแล้ว บอกไว้ก่อนว่าทั้งหมดนี้เป็นความสามารถที่แสนพิเศษเฉพาะตัว ถ้าไม่ชัวร์อย่าลอกเลียนแบบ ที่เตือนนี่เพราะเป็นห่วง กลัวว่าอ่านเสร็จจะด่วนตัดสินใจไปลาออกจากงาน แล้วเดินตามความฝันอันแสนหวานกันหมด ใจเย็น ๆ ก่อนนะ

 

ภาพ: The Art Auction Center