21 เม.ย. 2566 | 11:30 น.
“พี่โคตรเกลียดศิลปะ เพราะศิลปะทำให้เราถูกหัวเราะ”
‘ติ้ว - วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ ศิลปินเซรามิก ทายาทรุ่น 3 ของ เถ้า ฮง ไถ่ โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา จังหวัดราชบุรี และผู้ก่อตั้งหอศิลป์ดีคุ้น (dKunst) พื้นที่ศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อลบคำปรามาสเปลี่ยนจากเมืองทางผ่าน เป็นสถานที่ที่ต้องแวะเข้ามาเชยชมความงามของงานศิลป์
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ทายาทรุ่น 3 รายนี้ยอมทิ้งความเกลียดชัง ลบความทรงจำที่ไม่น่าจดจำในอดีตทิ้งไป มีเพียงเหตุผลสั้น ๆ นั่นคือ เขามองว่าราชบุรี คือ บ้านเกิด บ้านที่เขาเลือกเกิดไม่ได้ หากแต่เขาสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นบ้านแสนอบอุ่นเหมือนดั่งภาพฝันที่เขาหวังไว้
หน้าที่ของทายาทรุ่น 3
“ตอนปี 1999 กรุงเทพฯ ยังไม่มีหอศิลป์ แกลเลอรีมีอยู่แค่ไม่กี่แห่ง แล้วยิ่งในราชบุรี ตอนนั้นมันเป็นแค่เมืองทางผ่านด้วยซ้ำ เป็นเมืองที่ไม่มีคนนึกถึง
“เราก็เลยพยายามหาพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำบางสิ่ง เพื่อปลดปล่อยบางอย่างในจินตนาการของเราออกมา เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะหลงวนเวียนอยู่กับสิ่งเดิม ๆ กลายเป็นความคุ้นเคย แล้วเราก็จะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่”
ความคุ้นเคย... คือสิ่งที่น่ากลัวไม่น้อย เพราะหากใช้ชีวิตอยู่ในลูปเดิมซ้ำ ๆ เราก็อาจจะมองข้ามสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งวศินบุรีเองก็มองเห็นและเข้าใจกับดักแห่งความคุ้นชินเหล่านี้เป็นอย่างดี ยิ่งเขาได้รับตำแหน่ง ‘ทายาทรุ่น 3’ ผู้สืบทอดเพียงหนึ่งเดียวของ เถ้า ฮง ไถ่ ชีวิตเขาก็เหมือนถูกโปรยปรายด้วยกลีบกุหลาบ จนมีเสี้ยวหนึ่งที่เขาคิดอยากจะทิ้งหน้าที่เพื่อเดินตามความฝันของตัวเอง
“พี่ต้องบอกว่า เถ้า ฮง ไถ่ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำดี ๆ เยอะมาก เรามีความสุขกับที่นี่ แต่ด้วยความที่เราเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกวัน มันคุ้นตาไปหมด เราก็เลยไม่ได้มีความรู้สึกสนใจสิ่งเหล่านี้เลย
“เพราะเราเห็นพ่อทำงานทุกวัน ทำงานหนักมาก ทำให้เราพยายามเลี่ยงออกห่างสิ่งที่พ่อทำ อย่าลืมว่าเมื่อสมัย 40 - 50 ปีก่อน วงการเซรามิกบ้านเราหรือ know-how แม้กระทั่งการเรียนรู้ต่าง ๆ มันไม่ได้เยอะแยะมากมาย มันไม่มี
“กลายเป็นว่าพ่อต้องตื่นเช้ามาทำงาน ทำงานเสร็จ ตอนกลางคืนก็อ่านหนังสือ ไม่มีเวลาเล่นกับเรา เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นแบบนี้ทุกวัน เลยก่อเป็นความรู้สึกไม่ชอบ ไม่อยากทำ”
โชคดีที่คำว่าไม่อยากทำของวศินบุรี ไม่ได้อยู่ในความคิดของเขานานเท่าไรนัก เขาเริ่มตระหนักได้ว่าหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของทายาทรุ่น 3 คือการสืบทอดกิจการให้มีอายุยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะต้องยอมเดินตามความฝันของคนอื่นก็ตาม
“มีวันหนึ่งแม่บอกพี่ว่า ติ้วตั้งใจเรียนนะลูก ไปเป็นหมอ วิศวะ เดินไปตามทางนั้นดู ซึ่งมันเป็นอะไรที่ค่อนข้าง Cliché แต่ก็เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือรูปแบบของความสำเร็จในชีวิตของผู้ใหญ่ในยุคสมัยหนึ่ง
“พี่ก็เลยถามแม่กลับไปว่า แล้วใครจะทำที่นี่ต่อ ตอนนั้นเราอยู่แค่ ป.4 ป.5 เอง ยังไม่เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ซึ่งการที่แม่พูดแบบนั้นก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นว่า เราทำไม่ได้หรอก กูโง่จะตาย กูอาจจะไม่มีปัญญาทำอะไรขนาดนั้นได้ แต่คำที่พี่เคยพูดกับแม่ว่าแล้วใครจะทำต่อ มันยังอยู่ในความทรงจำพี่มาจนถึงวันนี้
“ซึ่งเราก็ไม่รู้นะ เราอาจจะกลัวการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนก็ได้ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ของเรา การที่บอกว่า กูจะทำต่อ กูจะสานต่อกิจการของครอบครัว แม้ว่ากูไม่ได้ชอบก็ตาม แต่กูจะทำต่อเนี่ย มันไม่น่าใช่ เพราะพี่มาคิดดูตอนหลังก็พบว่า มันอาจจะเป็นการปกป้องบางสิ่งบางอย่างที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเราเอง ไม่ให้มันหายไปตามกาลเวลา”
จากเด็กมนุษย์ฯ สู่เด็กเทคนิค เยอรมนี
หลังจากวศินบุรีเอนทรานซ์ติดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำเร็จ แม้จะคนละทางกับสิ่งที่แม่คาดหวังไว้ แต่เขาก็ไม่ลืมเป้าหมายและบ้านเกิดว่าจะต้องหวนคืนกลับมาสานต่อกิจการ กระทั่งพ่อของเขาโยนคำถามมาว่า ‘อยากจะไปเรียนต่อเยอรมนีไหม’ คำถามที่พุ่งเข้ามาไม่ทันตั้งตัว ทำเอาเขาถึงกับไปไม่เป็น คิดเพียงแต่ว่า มันก็เท่ดีนี่หว่า ไปเรียนต่อประเทศที่ใครเขาไม่ค่อยไปกัน
วศินบุรีฉวยเอาคำว่าเท่พับเก็บลงกระเป๋าเดินทางใบโต เดินทางสู่ประเทศเยอรมนีแบบไม่ลังเล ถึงจะหวั่นใจอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยคนที่ภาษาอังกฤษอยู่ในขั้นต่ำเตี้ย คงจะเอาตัวรอดในประเทศที่ไม่ต้องใช้ภาษานี้ได้
“สำหรับพี่มันเป็นเรื่องโจ๊กที่พี่เล่าตลอดเวลา เฮ้ย คุณอ่าน Star Wars ไหม Star Wars คำว่า W-A-R มันอ่านว่า วอร์ ใช่ไหม แต่ตอนที่พี่เด็ก ๆ พี่โดนเพื่อนหัวเราะมาตลอดเลย อ่าน Star Wars ว่า สตาร์วาร์ แม่งพี่อ่านเป็นภาษาเยอรมันมาตั้งแต่เด็ก
“เฮ้ย กูพูดภาษาเยอรมันมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นจริง ๆ มันอาจจะเป็นทิศทางของกูก็ได้ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ ก็คือตอนนั้นคือไปแค่ไม่รู้เลย พ่อพี่เป็นคนที่มองการณ์ไกลมาก ตั้งแต่เมื่อตอนปี พ.ศ. 2531 - 2532 พ่อมองว่าต่อไปในอนาคต ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน เรื่องของช่างฝีมือ เรื่องของการทักษะหรืออะไรต่าง ๆ พ่อก็เลยอยากให้พี่ไปเรียนเกี่ยวกับทางด้านวิศวะเครื่องปั้นดินเผาเป็นไฮเทคเซรามิก ต่อไปในอนาคตก็อาจจะเป็นทิศทางของความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการโรงงานต่อไป แต่ส่วนตัวพี่ไปด้วยความรู้สึกแค่ว่า มันเท่ แค่นั้นเอง”
ถึงจะเท่เพียงใด แต่การเรียนที่ประเทศเยอรมนีในช่วงเกือบ 30 ปีที่แล้ว นับว่ายากลำบากไม่น้อย ไหนจะต้องเรียนปรับภาษาปูพื้นฐานใหม่ทั้งหมดภายในเวลา 10 เดือน ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนเทคนิค Berufsfachschule fuer Keramik Landshut โรงเรียนที่ทำให้วศินบุรีกลายเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว
“ตอนสอบเข้าโรงเรียนเทคนิคมันต้องใช้ portfolio ซึ่งพี่ไม่เคยมี ไม่เคยทำงานปั้นมาก่อนในชีวิต ตอนเด็ก ๆ พี่มองว่าดินคือวัสดุที่ใช้ทำของเล่นมากกว่า ไม่ใช่วัสดุที่ทำงาน พอเราต้องทำ portfolio ก็ต้องลงเรียนปั้น พี่ก็เริ่มไปหัดปั้นครั้งแรกในชีวิตที่เยอรมัน ตอนอายุ 19 - 20 เป็นครั้งแรกในชีวิตเลยที่ตั้งใจทำปั้นชิ้นงานขึ้นมา เพื่อเป็นชิ้นงานที่สามารถส่งแล้วก็ทำเป็น portfolio ได้ แล้วก็ทำสะสมไป คุณลุงมาถ่ายรูปให้แล้วยื่นพอร์ต”
ถึงจะจบจากโรงเรียนเทคนิคมาเกินครึ่งค่อนชีวิต แต่วศินบุรียังคงสงสัยในฝีมือของตัวเองมาโดยตลอด ผลงานของเขาไม่น่าจะผ่านการคัดเลือก เขาแค่ทำมันขึ้นมาเพื่อยื่นสมัครเรียน ไม่ได้มีความมุ่งมั่นเท่าเพื่อนร่วมชั้นอีก 24 คน ที่เตรียมตัวมานานกว่าเขาเท่าตัว
“พี่มาย้อนดูตรงนี้ มันมีปัจจัยหลายอย่าง พี่ว่ามันเชื่อมโยงกันแล้วมาต่อให้กลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้นมา พี่ว่าอัลบั้มรูปเล่มนั้นอาจจะเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อมกับเขาในเวลานั้นได้ แล้วเขาก็รับเราเข้าไปเป็นนักศึกษาต่างชาติคนเดียวในวันนั้น
“แต่ว่าพี่ไม่ชอบศิลปะ ไม่เคยชอบมาก่อนเลย และไม่เคยเรียน ไม่เคยรู้สึกว่าจะอินกับมันเลย
“เพราะว่าระบบการสอนที่เยอรมัน โดยเฉพาะที่โรงเรียนเทคนิคช่วงแรก ๆ มันคือความเป๊ะทุกอย่าง เรื่องของระบบทุกอย่าง เรื่องของการสร้างอะไรบางอย่าง มันต้องแบบเป๊ะ ชั้นต้องขึ้นมา 90 องศาจะมีไม้ฉากมาวัด ทุกชั้นต้องตรง ทุกชั้นต้องเป๊ะ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องสมบูรณ์หมดเลย ตามมาตรฐานเยอรมันทุกอย่างเลย มันอาจจะเป็นความขัดแย้งที่ฝังในหัว
“มันเป็นช่วงเวลาที่กดดัน แล้วไหนจะเรื่องภาษาอีก ต่อให้เราเรียนภาษา 10 เดือน ต่อให้เราได้คะแนนสอบ Grammar ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ว่าเราเรียนเป็นเยอรมันกลาง แต่ในโรงเรียนที่ต้องเรียนเป็นภาษาแบบท้องถิ่น คือครูก็พูดภาษาท้องถิ่น ซึ่งขนาดคนเยอรมันมาจากภาคเหนือเอง เขายังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วเราจะฟังได้ขนาดไหน มันเป็นช่วงเวลาที่กดดันมาก แล้วเราก็ไม่ชอบ
“แล้วมีครูคนหนึ่งเดินเข้ามาหาตอนที่พี่กำลังเรียนปั้นหม้อ บอกว่า ‘บุรีถ้าถึงคริสต์มาสคุณยังทำงานต่อไม่ได้นะ ไปหาอาชีพอื่นเถอะ’ เรารู้สึกว่ามัน โอ้โห มันโคตรแบบสะเทือนใจ สะเทือนความรู้สึกมากจนแบบว่าแม่งช่วงเวลาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มันสะเทือนเด็กอายุ 20 อย่างพี่มาก
“พี่เลยพยายามหาข้ออ้างเพื่อกูจะได้กลับแล้ว จนเรียนจบปีแรกแบบกระท่อนกระแท่นมาก ๆ ตอนปี 2 เขาก็มีวิชาเกี่ยวกับศิลปะ ครูเขาก็สอนเผาเซรามิกแบบญี่ปุ่นกันสนุกสนานมาก แล้วก็ให้ทำอะไรก็ได้ตามอิสระ ที่มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราต้องทำตามวิชาเรียนปกติของเขา
“แล้วครูคนนี้วันเสาร์ - อาทิตย์เขาก็ชวนเด็ก ๆ ไปดูนิทรรศการที่มิวนิก มันจะเป็นเทศกาลรวมหลายศิลปินมาก มีของ Picasso พี่รู้จัก Picasso ตอนอายุ 20 กว่า ๆ ตรงกันข้ามกับคนที่สนใจศิลปะ พอเห็นหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราเกิดความคิดว่าที่ผ่านมาเนี่ยกูไม่เคยเกลียดศิลปะเลย แต่เราแค่ยังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองชอบแค่นั้น เพราะฉะนั้น พอเราได้เจอรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น มันอาจจะเจอบางสิ่งบางอย่างที่เราลิงก์กับมันจริง ๆ เชื่อมกับมันได้ แล้วเราสามารถเอาสิ่งนั้นมาต่อให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เราศึกษาแล้วค้นคว้าต่อไปได้”
ปัจจุบัน วศินบุรีสร้างผลงานที่แตกต่างจากสมัยเรียนโดยสิ้นเชิง ไม่เหลือเค้าความเป๊ะที่เขาต้องเผชิญเหมือนในสมัยเรียนแม้แต่น้อย
ถึงเวลากลับบ้าน
หลังจากใช้เวลา 3 ปีในรั้วโรงเรียนเทคนิค Berufsfachschule fuer Keramik Landshut เขาเลือกนำเศษเสี้ยวของความฝันของที่บ้านมาใส่ในชีวิตการเรียนของเขาอีกครั้ง ครั้งนี้เขาเลือกทางสายกลางที่สุด โดยการพยายามหามหาวิทยาลัยที่มีทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะรวมเป็นหนึ่งเดียว จนมาหยุดอยู่ที่มหาวิทยาลัย Universitaet Gesamthochschule Kassel
“พี่เรียนที่นี่ 5 ปี พอจบก็เป็นช่วงตัดสินชีวิตเหมือนกัน เราอยู่เยอรมันมา 10 ปี มีพื้นฐาน มีแฟน มีทุกอย่าง เราสร้างไว้หมดแล้ว คนในวงการเซรามิกรู้จักเรา ส่งงานไปไหนเขาก็รู้ว่าเป็นเรา Professor ก็ชวนต่อว่าให้อยู่ต่อเป็น Master student ซึ่งมันถือเป็นเกียรติของชีวิตเลยก็ว่าได้
“แต่ว่าเราสงสารเตี่ยกับแม่ที่ต้องทำงานหนัก ก็เลยตัดสินใจกลับมา โดยที่ไม่รู้หรอกว่าจะกลับมาสานต่อนู่นนี่นั่น ไม่มีในความคิด พี่ไม่รู้จักวงการศิลปะของไทยในตอนนั้น ไม่รู้จักศิลปินคนไหนเลย ไม่รู้จักใครเลย ไม่ได้อยู่ในวงการนี้มาเลย คืออย่างที่บอกพี่ไม่ได้เริ่มชอบศิลปะแล้วไปเรียนศิลปะ แต่พี่เริ่มจากไม่มีอะไรเลย แล้วไปเริ่มทำศิลปะที่นู่น แล้วกลับมา
“สังคมเซรามิกเป็นอย่างไร วงการเป็นอย่างไร ใครเป็นอย่างไร ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นจริง ๆ เนี่ยพอกลับมาปุ๊บ สิ่งหนึ่งที่ทำก็คือพี่ไม่เคยเปลี่ยนสิ่งที่พ่อทำ ไม่เคยเปลี่ยนสิ่งที่อากงทำ แต่พี่เพิ่มบางสิ่งบางอย่างที่พี่อยากเห็นเข้าไป แค่นั้นเอง”
ช่วงแรกที่กลับมา วศินบุรีก็เล่นใหญ่ไม่น้อย เพราะหลังจากเข้าร่วมฟังบรรยายเกี่ยวกับการส่งเสริมการส่งออก ในงานมีศิลปิน นักออกแบบ ชาวอิตาลี เป็นผู้บรรยาย ที่นั่นทำให้โลกทัศน์ของวศินบุรีเปิดกว้าง และมองเห็นช่องทางในการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
แต่วศินบุรีไม่ได้เชื่อตามวิทยากร เขาฟังแล้วนำกลับมาพลิกอีกด้าน เพราะเขามีความคิดว่าหากทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้บรรยาย วงการเซรามิกคงเต็มไปด้วยรูปแบบเดิม ๆ “ช่วงปี 1999 มันมีเทรนด์ Y2K เหตุการณ์อะไรเยอะแยะมาก ตอนนั้นเทรนด์มันถูกผูกกับแฟชั่นเยอะ เขาก็บอกว่าต่อไปโทนสีเอิร์ธโทนจะมานะ แต่ด้วยความที่พี่อยากทำสีตรงข้าม ด้วยความรู้สึกว่า กูไม่เชื่อว่าทุกคนจะต้องตามเทรนด์ ก็เลยกลับไปเยอรมันอีกรอบ ไปงานแฟร์ เห็นสีแปร๋น ๆ ตอแหล ๆ ก็รู้สึกอยากเอากลับมาทำ
“ซึ่งพ่อพี่เห็นปุ๊บ พ่อบอกสีเหมือนอีกาคาบพริก สีตอแหลมาก ขนาดพ่อพี่อยู่ในวงการเซรามิกนะ แล้วก็อยู่ในชีวิตที่ทำเกี่ยวกับงานศิลปะ งานออกแบบ เราก็ เฮ้ย เอาไงดีวะ แต่กดสั่งซื้อสีไปแล้ว ซื้อมาพ่อก็ต้องจ่ายว่ะ แล้วพี่เป็นคนที่เกรงใจพ่อแม่มากที่จะพูดความรู้สึกหรือพูดอะไรตรง ๆ
“คือพี่ก็ไม่กล้าที่จะพูดออกไปว่าเราอยากทำ เราอยากเปลี่ยน เราอยากจะเอาสิ่งที่เราคิดมาลองนะ พี่ใช้วิธีเขียนจดหมาย พี่ก็เขียนจดหมายบอกว่าเตี่ยไม่รู้ว่าสิ่งที่พี่อยากจะทำมันถูกหรือผิดอย่างไร แต่อย่างน้อยเนี่ยขอให้พี่ได้ลองทำ ถ้าวันนี้พี่พลาดพี่ล้มลงไป ยังมีเตี่ยกับแม่คอยประคองอยู่ ขอให้พี่ได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น”
จดหมายฉบับนี้วางราบอยู่บนโต๊ะทำงานของผู้เป็นพ่อ โดยมีลูกคอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ปราศจากเสียงตอบรับ
สีถูกส่งมา และกลายเป็นว่าเทรนด์สีสดใสกระแทกตา กลายเป็นสิ่งที่คนราชบุรีคุ้นเคยกันมาจนถึงปัจจุบัน
เมืองแห่งศิลปะ
“ถ้าภาพของสังคมชุมชนเป็นเหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่หลายชิ้นส่วนประกอบกัน ส่วนตรงกลางอาจจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สาธารณสุข ศิลปะมันอาจจะมุมซ้าย มุมซ้ายสุด มันไม่ใช่มุมขวา มุมขวามีลายเซ็นซึ่งมันเป็นส่วนที่สำคัญ
“แต่มุมซ้ายถ้ามันหายไปคนก็ไม่รู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างหายไป มุมซ้ายคุณอาจจะเป็นศิลปะในรูปแบบที่เราต้องการ คนก็ยังมองว่านี่คือราชบุรี แต่สำหรับพี่มันคือความไม่สมบูรณ์ แล้วความสมบูรณ์นี้มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจะรอให้ใครสักคนมาสร้าง หรือเราจะเป็นคนที่ใส่ชิ้นส่วนนี้เพิ่มเข้าไปทีละนิด ๆ เพื่อให้มันเกิดเป็นความสมบูรณ์ของชุมชนขึ้นมา ก็เลยคิดว่าอยากจะทำรูปแบบนี้”
ภาพจิ๊กซอว์ที่เขาวางไว้ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างโดยมีหอศิลป์ดีคุ้น (dKunst) ตั้งอยู่มุมซ้ายสุดอย่างสง่างาม แม้ช่วงแรกจะถูกมองว่าไม่ต่างจากหอคอยงาช้าง จนไม่มีใครกล้าเข้าไปเชยชมเลยก็ตาม แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ศิลปะ คือ ความธรรมดาที่สามารถจับต้องได้
“เราเลือกทำเลดีมากเลย กลางเมือง ริมแม่น้ำอย่างไรก็เกิด แต่เมื่อ 10 ปีก่อน ร้านกาแฟมันไม่ได้เยอะขนาดนี้ คนเขาไม่ค่อยเข้า ทั้ง ๆ ที่มันง่ายต่อการเข้าถึงมาก แต่บางคนก็คิดว่ามันคือหอคอยงาช้างสำหรับพวกเขา ไม่กล้าที่จะไต่ขึ้นมา
“พี่เชื่อว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงหรือการใส่บางสิ่งบางอย่างยัดเยียดเข้าไปในชุมชนในสิ่งที่เขายังไม่เคยมี บางครั้งพี่ก็คิดว่าเราต้องดูว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นความรู้สึกของเราคนเดียว หรือเราจะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับคนทั้งชุมชนให้ได้ด้วย เพราะจริง ๆ พี่มีความรู้สึกว่าพี่อยากจะทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้น แล้วให้คนทั้งชุมชนได้เจอทางเลือกใหม่ในวันที่เขาอาจจะยังไม่คุ้นเคย
“แต่เราทำด้วยความตั้งใจดี ปรารถนาดีว่าเราอยากจะทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งความหลากหลายไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลร้ายกับใคร ไม่ได้เดือดร้อนใคร ไม่ได้รบกวนใคร เราอยากจะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาไม่ได้เฉพาะเพื่อเรา แต่เพื่อคนอื่น ๆ ในบ้านเราด้วย”
สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนความคิดของเพื่อนร่วมบ้านเกิดโดยการค่อย ๆ หย่อนจิ๊กซอว์ลงไปทีละชิ้นผ่านกิจกรรมชุมชน จนทำให้ราชบุรีเปลี่ยนแปลงทีละน้อย โดยไม่ลืมกักเก็บความทรงจำในอดีตเอาไว้
“ทุกชุมชนมันต้องมีเหตุการณ์นี้ และคนในชุมชนมันต้องมีเหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างที่มันต้องการรักษาไว้ ถ้าทุกคนรักษาบางสิ่งบางอย่างที่มันสวยงาม สมบูรณ์ และเป็นคุณค่าของความทรงจำของใครสักคนในชุมชน ไม่ต้องเป็นบุคคลสำคัญหรอก ไม่ต้องเป็นผู้ว่าฯ คนธรรมดา เด็กเล็ก ๆ ก็ได้ ถ้าเขามีความทรงจำอะไรที่เราสามารถรักษาไว้ได้ ส่งต่อได้ พี่ว่าจะเป็นการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับชุมชนได้
“เราทำเพราะราชบุรีคือบ้านเกิด เป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราเลือกพื้นที่ที่เราจะตายแล้วอยู่อย่างมีความสุข โดยไม่ได้มองว่าเราจะต้องทำให้ เถ้า ฮง ไถ่ ยิ่งใหญ่ แต่เป็นราชบุรีต่างหากที่เราอยากจะเก็บรักษาเอาไว้”
ก่อนจะฝากทิ้งท้ายว่า อยากให้ลองเปิดใจแวะเวียนมาที่ราชบุรีดูสักครั้ง แล้วจะเห็นว่า ราชบุรี มีอะไรน่าสนใจอีกแยะ ไม่ใช่เมืองทางผ่านเหมือนอย่างในอดีตอีกต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจอยากแวะเวียนชมความงามของงานเซรามิกที่วศินบุรีรังสรรค์ขึ้น สามารถเข้าไปชมได้ที่งานนิทรรศการ ‘บทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห’ โดยศิลปินจาก 11 ประเทศ จัดงานโดยสมาคม Potters of Thailand (POTs) ตั้งแต่วันที่ 4 - 30 เมษายน 2566 (ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจ P O T - Potters of Thailand