กำเนิด ‘เป็ดเหลือง’ สัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนที่(อาจ)สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ

กำเนิด ‘เป็ดเหลือง’ สัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนที่(อาจ)สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ

เป็ดยางสีเหลืองที่เรามักเห็นลอยคออยู่ในอ่างน้ำ แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากยางรถยนต์ จนกระทั่งถูกนำมาขยายใหญ่กลายเป็นงานประติมากรรมยักษ์ที่ออกเดินทางไปทั่วโลก ล่าสุด (มิถุนายน 2023) เป็ดยักษ์ของโฮฟมันได้กลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พวกมันมากันเป็นคู่และถูกนำไปจัดแสดงที่ฮ่องกง

  • เป็ดเหลือง มีต้นกำเนิดมาจาก ‘ชาร์ล กู๊ดเยียร์’ (Charles Goodyear) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ Goodyear
  • แต่กว่าจะถูกนำมาขึ้นรูปเป็นเป็ดเหลืองที่สามารถลอยน้ำได้ ก็ผ่านมา 80 ปี โดย ‘ปีเตอร์ กานีน’ (Peter Ganine) ประติมากรชาวรัสเซีย และนำไปจดสิทธิบัตรขายไปมากกว่า 50 ล้านชิ้นทั่วโลก
  • ปัจจุบัน เป็ดเหลืองไม่ได้เป็นเพียงของเล่นคู่อ่างน้ำอีกต่อไป หากแต่มันยังถูกนำไปขึ้นชิ้นงานเป็นประติมากรรมชิ้นเบ้ง โดย ‘โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน’ (Florentijn Hofman) ศิลปินชาวดัตช์ ที่ขยายเป็ดจิ๋วให้มีขนาดใหญ่กว่า 32 เมตร และนำไปจัดแสดงทั่วโลก
  • ล่าสุด เป็ดยักษ์กำลังกลับมาสร้างความฮือฮาอีกครั้งที่ฮ่องกง โดยมากันเป็นคู่ เพื่อมอบโชคและความสุขสองเท่าให้กับผู้พบเห็น
  • เป็ดเหลือง ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เคียงข้างประชาชนผู้รักประชาธฺปไตย

นับตั้งแต่ ‘เป็ดเหลือง’ ถูกคิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 เจ้าตุ๊กตาเป็ดยางนุ่มนิ่มหน้าตาน่ารักตัวนี้ก็กลายเป็นของคู่อ่างน้ำ ชนิดที่ขาดกันไม่ได้ จนกระทั่งเหล่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เปลี่ยนหมุดหมายของเป็ดเหลืองให้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้

ขณะเดียวกัน เป็ดเหลืองก็สร้างความชิงชังให้แก่ผู้พบเห็น จนนำไปสู่การฟ้องร้อง ‘ต้นไม้’ (นามสมมติ) นิติกรบริษัทวัย 26 ปี ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2023 เนื่องจากเปิดขาย ‘ปฏิทินเป็ดเหลือง’ ในเพจเฟซบุ๊กราษฎร ซึ่งเป็ดเหลืองที่ปรากฏอยู่ในหน้ากระดาษแต่ละเดือนนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าปฏิทินที่จัดจำหน่ายมีลักษณะคล้ายรัชกาลที่ 10 เป็นเหตุให้ชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์มัวหมอง ผิดมาตรา 112 เมื่อนำมาประกอบกับข้อความที่ระบุว่า ‘การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้ผู้ได้รับปฏิทินเกิดความเข้าใจผิดอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่กว่า ‘เป็ดเหลือง’ จะสร้างความอ่อนไหวให้ผู้พบเห็นอย่างในทุกวันนี้ เจ้าเป็ดยางสีเหลืองสุดน่ารักตัวนี้เคยทำหน้าที่ต่อสู้ร่วมกับประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลกมาหลายต่อหลายครั้ง ‘เป็ด’ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนไปโดยปริยาย
กำเนิด ‘เป็ดเหลือง’ สัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนที่(อาจ)สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ

กำเนิดเป็ดยางสีเหลือง

ก่อนจะมาเป็น ‘เป็ดเหลือง’ ตุ๊กตายางนุ่มนิ่ม เสียงแหลมแสบหู ยังมีข้อถกเถียงถึงที่มาที่ไปของมันอยู่ ว่าจุดกำเนิดจริง ๆ เริ่มขึ้นในช่วงเวลาใดกันแน่ บ้างก็ว่าเป็ดเหลืองถูกคิดค้นครั้งแรกราวช่วงปี 1800 ขณะที่บางคนเชื่อว่าเจ้าตุ๊กตาเป็ดที่เราเห็นกันทั่วไปก็คือ โดนัลด์ ดั๊ก ที่ดิสนีย์เป็นผู้วางรากฐานเอาไว้ในปี 1930

ซึ่งหากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเริ่มต้นจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โดนัลด์ ดั๊ก หรือ ตุ๊กตาเป็ด พวกมันมี ‘พ่อ’ คนเดียวกัน นั่นคือ ‘ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์’ (Charles Goodyear) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ Goodyear

ชาร์ลส์ เกิดในปี 1800 เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ตอนอายุ 34 เขาพยายามขายฮาร์ดแวร์ให้กับบริษัท Roxbury India Rubber Company แต่โชคร้ายที่ช่วงเวลานั้นบริษัทหลายแห่งกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เขาจึงถูกปฏิเสธและเดินคอตกกลับบ้านไปอย่างน่าเสียดาย

ใช่ว่าการเดินทางครั้งนี้จะสูญเปล่า ชาร์ลส์สังเกตเห็นว่าในการเดินทางไกลทุกครั้ง สิ่งที่จะช่วยให้ผู้คนประหยัดเวลาได้คงหนีไม่พ้นการใช้เครื่องทุ่นแรงซึ่งมีลักษณะคล้ายกับล้อเกวียน แต่ต้องมีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ทนทานกว่า เขาจึงเริ่มสนใจยางยืดมากขึ้น เพราะมันสามารถทนทานต่อทุกสภาพอากาศโดยไม่หลอมละลาย แถมยังไม่แตกหักระหว่างเดินทาง

แม้จะมีไอเดียเกิดขึ้นมากมาย แต่สภาพร่างกายเขากลับไม่เอื้อให้ลุกขึ้นไปทำตามฝัน โรคภัยเริ่มรุมเร้า จากนั้นชีวิตของนักธุรกิจหนุ่มก็พลิกผันในชั่วพริบตา เขากลายเป็นบุคคลล้มละลาย แถมยังเป็นหนี้สินอีกหลายพันดอลลาร์ ท้ายที่สุดเขาก็ต้องเข้าไปนอนคุกเพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้

ระหว่างที่อยู่ในคุก ชาร์ลส์ยังไม่หยุดฝันที่จะพัฒนายางรถยนต์ เขาลองทำทุกอย่างภายในห้องขังโดยไม่มีความรู้ด้านเคมี วันเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า และแล้วความพยายามดังกล่าวก็เกิดผล ‘ยางรถยนต์’ ที่สมบูรณ์แบบถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกของโลกในปี 1841 และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในข้าวของเครื่องใช้อีกหลายต่อหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเป็ดยาง

หลังจากนั้นในปี 1940 (80 ปีต่อมา) ‘ปีเตอร์ กานีน’ (Peter Ganine) ประติมากรชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานชุดหมากรุก ได้คิดค้นเป็ดยางในรูปแบบของเล่นลอยน้ำออกมา และนำไปจดสิทธิบัตรขายไปมากกว่า 50 ล้านชิ้นทั่วโลก

นับจากนั้นเป็ดเหลืองก็โผล่ไปอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แม้แต่ในอ่างอาบน้ำของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นอกจากนั้นยังพบเป็ดเหลืองในห้องอาบน้ำตามหน้าสื่ออีกหลายต่อหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนอมตะอย่าง ทอม แอนด์ เจอร์รี่ (Tom & Jerry) และแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ (Mary Poppins)

กำเนิด ‘เป็ดเหลือง’ สัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนที่(อาจ)สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ

เป็ดเหลืองสัญลักษณ์ของยอดนักสู้

จากของเล่นสุดยวบยาบที่ส่งเสียงหวีดแหลม ถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดย ‘โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน’ (Florentijn Hofman) ศิลปินชาวดัตช์ เป็นผู้บุกเบิกงานประติมากรรมที่ไม่มีพิษมีภัย และนำไปจัดแสดงในหลายเมืองทั่วโลก เช่น เซาเปาโล, โอซาก้า, โทรอนโต, ลอสแอนเจลิส, ฮ่องกง, โซล และจะกลับไปเยือนฮ่องกงอีกครั้งในวันที่ 10 มิถุนายน 2023 แต่รอบนี้จะมาเป็นเป็ดคู่ (Double Ducks) ลอยอยู่ในอ่าววิกตอเรีย และน่านน้ำฮ่องกงไปจนถึงวันที่ 23 มิถุนายน

จากเป็ดของเล่น พัฒนามาเป็นงานประติมากรรมขนาดยักษ์ เดินทางมาสู่สัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้อย่างไรนั้น ตัวโฮฟมันเองก็ไม่ได้คาดคิดว่างานศิลปะของเขาจะถูกนำไปตัดต่อเข้ากับภาพ ‘หนุ่มรถถัง’ (Tank Man) ชายผู้ยืนประจันหน้ากับรถถังเพียงลำพังโดยไม่เกรงกลัว โดยมีภาพเป็ดยางถูกวางทาบแนบสนิทไปกับตัวรถถังจนดูไม่ออกว่าชายคนนี้กำลังต่อสู้กับอะไร กับรถถังหรือเป็ดยักษ์กันแน่?

แน่นอนว่าภาพของเขากลายเป็นมีมที่แพร่หลายไปทั่วโลก และทำให้เป็ดเหลืองกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่รัฐบาลจีนอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดสั่งแบนไม่ให้ประชาชนค้นหาคำว่า Big Yellow Duck

ไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นที่เกลียดกลัวเป็ดเหลือง ในปี 2017 รัสเซียเองก็ใช้เป็ดเหลืองมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประท้วงการคอร์รัปชันของ ดมีตรี อนาโตลเยวิช เมดเวเดฟ (Dmitry Anatolyevich Medvedev) อดีตประธานาธิบดีของรัสเซียที่ตอนนั้นเป็นพันธมิตรที่สนิทชิดใกล้กับปูติน

โดยมี อเล็กเซย์ นาวัลนี (Alexei Navalny) นักการเมืองฝ่ายค้านเป็นผู้จุดประเด็นดังกล่าวขึ้นในสังคม จนสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลรัสเซีย นำมาสู่เหตุการณ์ลอบวางยาพิษจนเขาแทบเอาชีวิตไม่รอด

การประท้วงครั้งนั้นถูกรัฐปราบปรามอย่างหนัก แม้จะเป็นการออกมาเดินขบวนเรียกร้องอย่างสันติ แต่รัฐบาลกลับมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคาม พวกเขาจึงลงมือทำร้ายประชาชน พลเมืองของประเทศตัวเองอย่างไม่ปรานี

ประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ารัสเซีย ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน 2020 ภาพของเป็ดเหลืองขนาดยักษ์ที่เคยอัดแน่นไปด้วยลมจนบวมเป่ง ถูกแรงดันน้ำจากฝั่งตำรวจที่ปฏิบัติการสลายม็อบ(โดยไม่มีคำเตือน) จนตัวฟีบลงทันตา เพราะถูกนำมาใช้เป็นโล่กำบังให้แก่เหล่าผู้ประท้วง จากเป็ดน้อยหน้าตาน่ารักกลายเป็นน้องเป็ดหน้าตามอมแมม แถมยังดูไร้เรี่ยวแรงลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่เป็ดเหลืองลงถนนต่อสู้เคียงข้างประชาชนผู้มีหัวใจรักประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์เป็ดยางจึงถูกฉาบทับแทนที่ของเล่นไร้พิษสง กลายเป็นอาวุธอันแข็งแกร่งของประชาชนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง

https://b1creative.com/2021/10/04/the-history-of-the-rubber-duck/

https://www.stneotsmuseum.org.uk/articles/the-history-of-the-rubber-duck/

https://thestandard.co/court-imprisonment-yellow-duck-calendar/

https://thestandard.co/double-ducks-hong-kong/

https://www.bbc.com/thai/thailand-54998537

https://tlhr2014.com/archives/54047