ชนะรางวัลระดับชาติมากมายตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา
ไม่รู้ทำบุญมาด้วยอะไร จักรพันธุ์ ถึงมีพรสวรรค์ในเรื่องศิลปะแทบจะครบทุกด้าน ในด้านจิตรกรรมฝีไม้ลายมือในการวาดภาพของท่านนั้นเป็นที่รู้กันทั่วว่า เก่งขั้นเทพจนได้รับรางวัลระดับชาติมาการันตีเพียบ ตั้งแต่สมัยที่จักรพันธุ์ เป็นนักศึกษาอยู่ที่ศิลปากร เพื่อน ๆ เห็นฝีมือของท่านเลยพากันยุให้ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติทั้ง ๆ ที่จักรพันธุ์ ไม่ได้เป็นคนชอบประกวดประขันอะไร เพื่อน ๆ ยุจนได้ที่แล้ว ยังแถมจัดแจงมานั่งเป็นแบบให้จักรพันธุ์ วาดเพื่อส่งเข้าแข่งขันอีก
ปีแรก ภาพที่ส่งประกวด จักรพันธุ์ และเพื่อน ๆ คิดว่าสวยสุดยอด แต่ไม่รู้ทำไมกลับถูกกรรมการคัดออกก่อนการแสดงอย่างไม่เป็นท่า ปีถัดไป จักรพันธุ์ เลยพยายามวาดอย่างสุดฝีมืออีกที แล้วลองส่งเข้าประกวดใหม่ คราวนี้ได้ วิสุตา หัสบำเรอ เพื่อนนักศึกษาที่สวยโดดเด้งกว่าใครในกลุ่มมานั่งเป็นแบบให้
ภาพนี้เป็นภาพหญิงสาวสวยคมแบบไทย นั่งประสานมืออยู่บนเก้าอี้ในบรรยากาศดูลอย ๆ น่าพิศวง แววตาและสีหน้าที่ไม่แสดงอารมณ์ชัดเจนกระตุ้นให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะพยายามจินตนาการถึงความรู้สึกของเธอ ยิ่งมองลึกลงไปก็ยิ่งน่าค้นหา ด้วยคุณสมบัติที่วิเศษ ในที่สุดภาพ ‘วิสุตา’ จึงได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16 ในปีพ.ศ. 2508
มีเรื่องเล่ากันว่า ในการประกวดครั้งนั้น เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ของจักรพันธุ์ ที่ศิลปากรและหนึ่งในเป็นกรรมการตัดสินมากระซิบว่า เดิมทีคณะกรรมการจะให้รางวัลที่สูงกว่า แต่เพราะอยากให้จักรพันธุ์ ได้เก็บภาพไว้เป็นความภูมิใจ จึงให้เหรียญทองแดง เพราะถ้าได้เหรียญทองหรือเหรียญเงินตามกฎแล้ว ภาพนั้นจะต้องถูกเก็บไว้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากนั้น จักรพันธุ์ ก็ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลอย่างสม่ำเสมอ ภาพ ‘สุวรรณี สุคณธา’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2509, ภาพ ‘กลุ่ม’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2512, ภาพ ‘ดวงตา นันทขว้าง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2514, ภาพ ‘หลง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2515, และภาพ ‘คนนั้่ง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2516 และเป็นปีสุดท้ายที่ท่านส่งผลงานเข้าประกวด
ไล่เรียงดูแล้วภาพวาดชุดที่ได้รับรางวัลทั้งหมดเป็นภาพเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่จักรพันธุ์ รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในมหาวิทยาลัยศิลปากร จักรพันธุ์ จึงสามารถวาดภาพที่แสดงบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลคนนั้นได้อย่างแม่นยำ และทุกภาพก็ไม่ใช่ภาพเหมือนบุคคลแบบปกติ เพราะจักรพันธุ์ ได้สร้างองค์ประกอบ บรรยากาศ แสงเงา และสีสัน ในแบบเหนือจริงที่ไม่เหมือนใคร
วาดภาพมนุษย์ได้สวยดั่งเทพยดานางฟ้า
นอกเหนือจากผลงานชุดที่ได้รับรางวัล จักรพันธุ์ ได้วาดภาพเหมือนบุคคลอีกมากมาย ทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ภาพพระสงฆ์องค์เจ้า ข้าราชการ นักธุรกิจ และลูกศิษย์ลูกหา ภาพเหมือนบุคคลของจักรพันธุ์ ใช้สีและฝีแปรงที่เป็นรูปแบบเฉพาะของท่านเองในการวาดภาพ ไม่ว่าภาพนั้นจะวาดด้วย สีน้ำมัน สีน้ำ หรือสีชอล์ค จักรพันธุ์ ไม่ได้ใช้ดินสอร่างภาพก่อน แต่ใช้ความแม่นยำระบายสีลงไปเลย ภาพที่ออกมาเลยดูสะอาด ผิวพรรณของคนในภาพเปล่งปลั่งเป็นสีชมพูดูมีชีวิตชีวา ใครได้มีโอกาสลองเทียบภาพที่จักรพันธุ์ วาดกับคนจริง ๆ ที่มานั่งตัวแข็งเป็นแบบให้ จะเห็นชัดเลยว่า คนในภาพดูสวยดูหล่อกว่าคนต้นฉบับอยู่มากโข
ผลงานจิตรกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่จักรพันธุ์ ชอบวาดเป็นพิเศษตั้งแต่เป็นเด็กคือภาพตัวละครในวรรณคดี เทพยดานางฟ้า และภาพหญิงงามอย่างไทย ภาพมนุษย์ในอุดมคติของอาจารย์ที่บรรจงวาดออกมาจากจิตนาการนั้นช่างอ่อนช้อย และดูสวยยิ่งกว่ามนุษย์ใด ๆ ในโลก
ต่อยอดจิตรกรรมไทยประเพณี
ในขณะที่จักรพันธุ์ สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมแบบร่วมสมัย ท่านยังเป็นผู้สืบสานและต่อยอดจิตรกรรมแนวประเพณีของไทยไม่ให้ถูกมองว่าเป็นของเก่าของเชย ผลงานของจักรพันธุ์ ไม่ได้ก๊อปปี้ของโบราณ แต่ต่อยอดด้วยรูปแบบและเทคนิคใหม่ที่ทันสมัยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พัฒนามายาวนานจนเรียกได้ว่าเป็น ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’
ท่านได้มีโอกาสร่วมซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังในระเบียงวัดพระแก้ว วาดภาพประดับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวช ออกแบบม่านเวทีการแสดงหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเวทีการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ อีกทั้งยังได้สร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรีเพื่อเป็นพุทธบูชา
สรรค์สร้างงานประติมากรรม
ในด้านประติมากรรม จักรพันธุ์ สร้างผลงานสามมิติออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ภาพวาด ท่านได้ออกแบบควบคุมการสร้างผลงานชิ้นสำคัญ เช่น ประติมากรรมพระราชดำริในสมเด็จพระเทพฯ รูปเจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย, รูปไกรทองสู้กับชาละวัน, และเรื่องรามเกียรติ์ ตอนถวายลิง ที่ตั้งแสดงอยู่ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม
จักรพันธุ์ ยังได้สร้างพระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามสุด ๆ ในรูปแบบสกุลช่างของท่านเอง เพื่อนำมาประกอบฉากละครและให้เช่าบูชา
อนุรักษ์การแสดงหุ่นกระบอก
ทางด้านการแสดง จักรพันธุ์ เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเรื่องหุ่นกระบอก ตอนเล็ก ๆ ท่านเริ่มสนใจหุ่นกระบอกเพราะได้เห็นการแสดงของคณะครู เปียก ประเสริฐกุล ในทีวี จักรพันธุ์ อินจัดจนถึงกับสร้างหุ่นและฉากแบบง่าย ๆ ขึ้นมาเองจากเศษวัสดุเพื่อเอาไว้เชิดเล่น
หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี จักรพันธุ์ ถึงได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับบุตรสาวของครูเปียกคือ ครูชื้น สกุลแก้ว เพื่อเรียนรู้วิธีการเชิดหุ่นและรำละครแบบจริงจัง จริงจังจนเกิดคณะหุ่นกระบอกจักรพันธุ์ ขึ้นมาและแสดงโชว์เป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2518 ใน เรื่อง ‘พระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อ’ และถัดไปอีก 2 ปีก็จัดแสดงอีกในเรื่อง ‘รามเกียรติ์ ตอนนางลอย’
จากนั้นคณะหุ่นกระบอกจักรพันธุ์ใช้เวลาทุ่มเทสร้างหุ่นสร้างเครื่องแต่งกายและสร้างฉากใหม่อีกนับสิบปีเพื่อจัดแสดงเรื่อง ‘สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ’ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2530 การแสดงครั้งนั้นยิ่งใหญ่ราวกับหนังฟอร์มยักษ์แบบที่ไม่มีคณะหุ่นกระบอกที่ไหนเคยลงทุนทำถึงขนาดนี้มาก่อน
หลังการแสดงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จักรพันธุ์ ไม่รีรอที่จะเริ่มวางแผนการแสดงในเรื่องถัดไป โดยหมายมั่นปั้นมือให้ยิ่งใหญ่วิลิศมาหราขึ้นไปอีก จึงเป็นต้นกำเนิดของเรื่อง ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ ที่รวบรวมเอาศิลปินแห่งชาติ และเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงมาร่วมงาน หุ่นกระบอกชุดนี้สร้างขึ้นมาด้วยกลไกล้ำยุค ร่ายรำขยับเขยื้อนคว้าหอกคว้าดาบได้ราวกับคนจริง ๆ เสื้อผ้าหน้าผมเครื่องประดับก็สร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรแบบจัดเต็มใช้ทั้งทอง ทั้งเพชรนิลจินดา ทั้งผ้าราคาแพงแบบไม่มีกระมิดกระเมี้ยน ลุยสร้างหุ่น ฉาก บทละคร ดนตรีกันมาร่วม 30 ปี ยาวนานกว่ามหรสพเรื่องไหนในโลก จนวันนี้เกือบเสร็จแทบจะครบทุกฉากแล้ว
นักเขียนฝีปากกาคม
นอกจากการวาด การปั้น และการแสดงแล้ว จักรพันธุ์ ยังเป็นนักเขียนฝีมือเยี่ยม ท่านใช้นามปากกาว่า ‘ศศิวิมล’ ชื่อนี้ถูกตั้งให้โดย สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดังและเป็นรุ่นพี่ที่ศิลปากร ‘ศศิวิมล’ เขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะ, ท่องเที่ยว, สังคม หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่จักรพันธุ์ ได้ไปพบเจอมา
บทความของท่านถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร ‘ลลนา’ นิตยสารที่แนวที่สุดในยุคนั้น พอเขียนไปเยอะ ๆ ก็รวบรวมมาพิมพ์เป็นเล่ม กลายเป็นหนังสือขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย
หลังลลนาปิดตัวลง จักรพันธุ์ ยังตีพิมพ์บทความต่อในนิตยสาร ‘พลอยแกมเพชร’ นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่จักรพันธุ์ เขียนและตีพิมพ์ขึ้นมาเผยแพร่เช่น หุ่นไทย, หุ่นวังหน้า, หุ่นจักรพันธุ์, คิดถึงครู ไปลองหาอ่านกันดูได้
ลมหายใจของศิลปะไทย
จักรพันธุ์ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านได้รับยกย่องให้เป็นนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม, บุคคลดีเด่นของชาติสาขาเผยแพร่เกียรติภูมิไทย และถึงผลงานของท่านจะเป็นที่นิยมและมีราคาสูงแค่ไหน ท่านยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย เงินทองที่ได้จากน้ำพักน้ำแรง จักรพันธุ์ เลือกจะนำไปดูแลลูกศิษย์ลูกหา สร้างศิลปินที่จะสานต่อศิลปะไทยในแขนงต่าง ๆ และเป็นทุนในการสร้างหุ่นกระบอกที่สุดแสนจะวิจิตรด้วยความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา
อีกทั้งท่านยังกำลังก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์บนเนื้อที่กว้างขวางแถว ๆ วัชรพล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อแล้วเสร็จจะใช้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลงานศิลปะที่จักรพันธุ์ ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาตลอดชีวิต ฝากไว้เป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทยให้สาธารณชนได้ชื่นชมภูมิใจ
การที่พวกเราร่วมกันสนับสนุนศิลปะของบ้านเราเมืองเราให้พัฒนาและดำรงไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน ก็เป็นการสร้างสาธารณประโยชน์ที่ใหญ่หลวงอีกวิธีหนึ่ง ไปกันเถอะ ไปกันที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ใกล้แค่เอกมัยนี่เอง ไปอุดหนุนโปสการ์ด ภาพพิมพ์สวย ๆ หนังสืออ่านสนุก พระพุทธรูปองค์งาม ซื้อติดไม้ติดมือกันคนละนิดคนละหน่อย ได้ของดีแบบที่ไม่มีขายในห้าง แถมยังมีส่วนช่วยต่อลมหายใจศิลปะไทยที่นับวันจะแผ่วเบาให้ยืนยาวแข็งแรง
เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: The Art Auction Center