ภาพ ‘วิทรูเวียนแมน’ ของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่เพิ่งเผยสู่โลกกว้าง ทำไมราคาพุ่งแตะ 25.5 ล้านบาท

ภาพ ‘วิทรูเวียนแมน’ ของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่เพิ่งเผยสู่โลกกว้าง ทำไมราคาพุ่งแตะ 25.5 ล้านบาท

25.5 ล้านบาท คือตัวเลขมูลค่าใหม่ของภาพ ‘วิทรูเวียนแมน’ ฉบับฝีมือ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ศิลปินผู้ล่วงลับ และเป็นตัวเลขครั้งประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะสมัยใหม่ในไทย ทำไมภาพนี้ถึงมีคนสนใจแย่งประมูลมากมาย? เรื่องนี้มีความเป็นมา

  • ภาพที่ถูกเรียกว่า วิทรูเวียน แมน (Vitruvian Man) ฉบับ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งเพิ่งเผยโฉมสู่วงกว้างไม่นานมานี้ ถูกประมูลไปด้วยมูลค่า 25.5 ล้านบาท
  • ภาพนี้ถูกเก็บรักษาและอยู่ในการครอบครองของชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับถวัลย์ ดัชนี มายาวนาน กระทั่งผู้ครอบครองนำไปให้สถาบันรักษาและบูรณะผลงานศิลปะช่วยเปิดออกหลังเก็บรักษาไว้กว่า 50 ปี

ประมาณบ่ายสองกว่า ๆ ของวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นอีกห้วงเวลาสำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย เมื่ออ๊อกชั่นเนียร์ (auctioneer) หรือผู้ดำเนินการประมูลของบริษัท ดิ อาร์ต อ๊อกชั่น เซ็นเตอร์ (The Art Auction Center) ในชุดสูทสีน้ำเงินประกาศเลขลำดับผลงานศิลปะชิ้นถัดไปที่กำลังจะถูกนำขึ้นประมูล

และแทบจะทันทีที่อ๊อกชั่นเนียร์ขานว่า “ล็อตที่ 47 ครับ เป็นผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผลงานชิ้นนี้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,000,000 บาท” จบประโยค ผู้ร่วมประมูลนับสิบทั้งที่อยู่ในงานด้วยตนเอง ที่ประมูลผ่านทางออนไลน์ และทางโทรศัพท์ ต่างก็เสนอราคาแข่งขันสลับกันไปมาอย่างดุเดือด

ท่ามกลางสักขีพยานนับร้อยที่ล้วนลุ้นระทึกจนแทบจะลืมหายใจอย่างกับเป็นผู้ยกป้ายประมูลเอง เพียงไม่ถึง 10 นาทีหลังจากนั้นจากราคาเริ่มต้นที่ 8 ล้าน ก็ทะยานทะลุ 10 ล้าน 15 ล้าน และ 20 ล้านตามลำดับ จนหนึ่งในผู้ร่วมประมูลเสนอราคาที่ 22 ล้านบาท ก่อนที่อ๊อกชั่นเนียร์จะนับ 1 ถึง 3 และเคาะค้อนประมูลเสียงดัก ป้อก!

ภาพ ‘วิทรูเวียนแมน’ ของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่เพิ่งเผยสู่โลกกว้าง ทำไมราคาพุ่งแตะ 25.5 ล้านบาท

25,531,000 บาท คือราคาของภาพวาดฝีมือ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ชิ้นนี้ที่รวมค่าดำเนินการของบริษัทประมูล ตัวเลขอันน่าทึ่งนี้ได้ทำลายสถิติผลงานศิลปะที่มีราคาสูงที่สุดจากงานประมูลในประเทศไทยที่ไม่ใช่งานประมูลการกุศลแบบไม่เห็นฝุ่น

แล้วทำไมผลงานชิ้นนี้ถึงมีผู้สนใจมากมายร่วมแข่งขันกันจนมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ เรื่องนี้มีเหตุผลที่มาที่ไปอันน่าสนใจ

ภาพ วิทรูเวียนแมน ฉบับ ถวัลย์ ดัชนี

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ชีวิต ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ตำนานศิลปินที่แฟนตาซีกว่านิยาย เคยถูกวิจารณ์ในไทย ไปดังในต่างแดน

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2511 ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินหนุ่มไฟแรงผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ผนวกด้วยปริญญาเอกด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ จากราชวิทยาลัยศิลปะ Rijks Akademic van Beeldende Kunsten ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อเริ่มอาชีพศิลปินอิสระ ประจวบเหมาะพอดีกับที่ เรย์ ซี ดาวน์ส มิชชันนารี คณะเพรสไบทีเรียน ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ตรงเชิงสะพานหัวช้าง มีนโยบายสนับสนุนศิลปินไทยรุ่นใหม่

โดยจัดสรรพื้นที่ในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนอันกว้างขวาง พร้อมสรรพด้วยตึกอาคารมากมายเพื่อใช้จัดแสดงผลงานศิลปะ และเป็นที่พำนักของศิลปิน ถวัลย์ โชคดีกว่าใครเพราะได้บ้านทั้งหลังเป็นที่อาศัย และใช้เป็นสตูดิโอผลิตผลงาน ณ ช่วงเวลาและสถานที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญที่ถวัลย์เองคงไม่นึกไม่ฝันว่า ในอีกกว่าครึ่งศตวรรษถัดมาจะถูกประมูลด้วยราคาสูงเพียงนี้

ผลงานชิ้นที่ว่า เป็นภาพชายหนุ่มร่างกำยำ แหงนหน้าอ้าปาก ชี้แขนไปทุกทิศทาง นั่งอยู่บนหลังควายสีดำทะมึนดูบึกบึนที่กำลังร้องคำราม ทุกสิ่งอย่างอยู่ภายในบรรยากาศครึ่งสว่างครึ่งมืดใต้สุริยุปราคา ถวัลย์ มักนำภาพคนในอิริยาบทต่าง ๆ และภาพสัตว์มาใช้ในการสื่อความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าสิ่งที่ตาเห็น

แนวคิดนี้ ถวัลย์ได้มาจากการศึกษาแนวทางศิลปะของต่างประเทศอย่างอารยธรรม กรีก อียิปต์ เมโสโปเตเมีย ที่นำคน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสัตว์มาใช้เปรียบเปรยแทนสิ่งอื่น ๆ อยู่เสมอ

ผลงานของถวัลย์ ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2511 ชิ้นนี้มีความหมายเป็นส่วนตัว แปลกแยกแตกต่างจากชิ้นอื่น ๆ ที่มักมีความหมายยึดโยงไปในทางปรัชญา และศาสนา ถวัลย์ สื่อถึงตนเองผู้ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากยุโรป จนรู้แจ้งในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ ของโลกตะวันตกด้วย ‘วิทรูเวียนแมน’ (Vitruvian Man) ภาพวาดอันโด่งดังของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่แสดงถึงองค์ความรู้ในการกำหนดสัดส่วนของมนุษย์ให้มีความถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือ

ส่วนสาเหตุที่ ‘วิทรูเวียนแมน’ มานั่งกางแขนขาอยู่บนหลังควาย เพราะในบรรดาสิงห์สาราสัตว์ทั้งหมด ควาย มีความหมายสำหรับถวัลย์ เป็นพิเศษ

ถวัลย์ มองว่าวิทยาการขั้นสูงที่เข้ามาทดแทนสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการเกษตรนั้นทำให้คนเป็นทาสของเทคโนโลยี แตกต่างจากควายที่รับใช้ชาวนาด้วยความอ่อนน้อม อดทน และซื่อสัตย์ ไม่มีพิษมีภัย สามารถพึ่งพา ฝากฝังชีวิตไว้ได้

ในผลงานชิ้นนี้ ถวัลย์ ใช้ควายในการสื่อถึงแผ่นดินไทย โดยเฉพาะชนบทห่างไกลของเชียงราย บ้านเกิด สถานที่อันเป็นที่รัก เต็มไปด้วยความผูกพัน ถึงถวัลย์ ได้ทุนไปร่ำเรียนศิลปะขั้นสูง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ภายในใจก็ไม่มีความสุขเท่าการที่ถวัลย์ได้กลับบ้าน

ถวัลย์ สื่อความรู้สึกนี้ด้วยด้านมืดของสุริยุปราคาที่หันไปหาวิทรูเวียนแมน ในขณะที่ด้านสว่างทอแสงประกายรุ้งสดใสสาดส่องไปที่ควาย ทุกตัวละครถูกวาดด้วยสีน้ำมันลงบนผ้าดิบขนาดสูงถึง 2 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่งซึ่งถวัลย์ใช้สีดำลงพื้นจนเต็ม แล้วค่อย ๆ ใช้เกรียงปาดสีหนา ๆ ทีละปื้นให้เกิดเป็นภาพต่าง ๆ และแสงสว่าง เว้นสีดำในส่วนที่เป็นเงาเอาไว้ เหมือนเป็นการวาดภาพแบบรีเวิร์ส แตกต่างจากแบบปกติที่แต้มสีลงไปบนพื้นขาว

ผลงานชิ้นนี้ก่อนจะถูกประมูลเปลี่ยนเจ้าของไปนั้นเป็นสมบัติของสุภาพบุรุษชาวอเมริกันนามว่า คริส ปีเตอร์สัน ที่ปัจจุบันมีอายุราว 80 ปีแล้ว คริส เคยทำงานในธุรกิจโรงแรมเครือระดับโลก เดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาบ้านเกิด กับเมืองไทยประเทศที่เขาหลงใหล

คริสเล่าว่าสาเหตุที่ผูกพันกับประเทศไทยเพราะในปีพ.ศ. 2511 พ่อของคริส ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทั้งแม่ พี่สาว และตัวเขาซึ่งยังอยู่ในวัยรุ่นเลยต้องย้ายตามมาด้วย พ่อของคริสสนิทสนมกับศาสนาจารย์ เรย์ ซี ดาวน์ส ครอบครัวปีเตอร์สันจึงตัดสินใจเช่าบ้านอยู่ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนระหว่างพำนักอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปี

ครอบครัวของคริส กับถวัลย์ เลยประจวบเหมาะพอดิบพอดีได้มาอยู่บ้านข้าง ๆ กัน คริส เจอถวัลย์ แทบทุกวัน หากมีเวลาว่างก็จะชอบไปดูถวัลย์ วาดภาพในสตูดิโอ รวมถึงได้มีโอกาสเห็นช่วงเวลาขณะที่ถวัลย์ วาดภาพพระเจ้าสร้างโลกอันใหญ่โตลงไปบนกำแพงโรงอาหารของสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน

คริส เล่าว่าถวัลย์ มีพลังเหลือล้น และทำงานเร็วมาก ผลงานชิ้นใหญ่ ๆ แต่ละชิ้น ถวัลย์ วาดแค่วันสองวันก็เสร็จ คริส และเจนนี่ พี่สาวของคริส ซึ่งทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็สนิทสนมกับถวัลย์มาก หากถวัลย์ มีโชว์ผลงานที่ไหนก็จะเชิญสองศรีพี่น้องไปร่วมงานเปิดนิทรรศการเสมอ ๆ จนอยู่มาวันหนึ่ง ถวัลย์ นึกครึ้มอกครึ้มใจยกภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่มากที่เพิ่งวาดเสร็จ สียังไม่ทันจะแห้ง มามอบให้เจนนี่ เพื่อแขวนไว้บริเวณห้องรับแขกเล็ก ๆ ของบ้าน ซึ่งก็มีพื้นที่ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าภาพวาดสักเท่าไหร่

ผลงานชิ้นนี้ เจนนี่ พี่สาวซึ่งปัจจุบันถึงแก่กรรมไปแล้วหวงแหนเป็นที่สุด หลังจากย้ายออกจากบ้านเช่าที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนก็ห่อภาพวาดด้วยผ้าผืนใหญ่เก็บไว้อย่างมิดชิดไม่ให้โดนแสง ไม่ให้มีความชื้น มดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม และไม่เคยแกะห่อให้ใครเห็นอีกเลย

วันเวลาผ่านเลยไป 55 ปีพอดิบพอดี ภาพวิทรูเวียนแมนก็ถึงเวลาได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันอีกครั้ง คริสตัดสินใจนำภาพไปที่ห้องปฏิบัติการของ RSF Art Clinic ในกรุงเทพฯ สถาบันรักษาและบูรณะผลงานศิลปะที่มีประสบการณ์สูงที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญในทุกแขนงพร้อมเครื่องมือครบครันเป็นผู้แกะห่อภาพให้ เผื่อหากมีสีที่หลุดร่อนติดผ้าที่ห่อออกมาอย่างไรจะได้แก้ไขได้ทัน และก็เป็นที่น่าประทับใจมากที่ภาพวาดชิ้นนี้อยู่ในสภาพดีจนน่าเหลือเชื่อ แทบเหมือนเพิ่งวาดเสร็จเมื่อวาน

แต่ละเกรียงที่ถวัลย์ ปาดป้ายสีน้ำมันลงไปบนผ้านั้นยังมีสีสดใสแสบตา ถึงเนื้อสีที่ใช้จะหนาแต่ก็แทบไม่มีรอยร้าวใด ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับผลงานที่มีอายุอานามมากขนาดนี้ ความพิเศษอีกอย่างคือเห็นได้ชัดว่าภาพนี้อยู่ในสภาพดิบ ๆ เดิม ๆ ถวัลย์ ยังไม่ทันจะได้เคลือบภาพด้วยน้ำยาเคมีเพื่อรักษาเนื้อสี และทำให้เกิดความวาวแบบที่เราเห็นในผลงานของถวัลย์ชิ้นอื่น ๆ ด้วยซ้ำ

จึงไม่เป็นเรื่องเกินเลยที่จะกล่าวได้ว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบของถวัลย์ จากยุคเริ่มแรกอันหายากยิ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด และยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ราวกับถูกแช่แข็งไว้ในแคปซูลกาลเวลา

นี่แหละคือสาเหตุที่ว่า ทำไมนักสะสมศิลปะรุ่นใหญ่ที่มีความรู้ความเข้าใจถึงได้มาประมูลแข่งขันกันจนทำลายสถิติภาพวาดที่มีราคาสูงที่สุดในประเทศไทย

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: ไฟล์จาก The Art Auction Center