‘มีเซียม ยิบอินซอย’ แม่บ้านมหัศจรรย์ จากผู้หญิงดูแลบ้าน สู่ ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกในไทย

‘มีเซียม ยิบอินซอย’ แม่บ้านมหัศจรรย์ จากผู้หญิงดูแลบ้าน สู่ ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกในไทย

‘มีเซียม ยิบอินซอย’ แม่บ้านมหัศจรรย์ จากผู้หญิงเลี้ยงลูก-ดูแลบ้าน พัฒนาตัวเองมาเป็น ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกของไทย บทพิสูจน์ ‘อายุเป็นเพียงตัวเลข’

  • มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินหญิงที่ก้าวขึ้นสถานะ ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกของไทย ทั้งที่เธอเริ่มต้นศึกษาและทำงานศิลปะในวัยกลางคนแล้ว
  • มีเซียม ยิบอินซอย มีลูก 5 คน การเดินทางไปยุโรปทำให้มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์ระดับโลกและได้แรงบันดาลใจมาศึกษาและทำงานศิลปะในเวลาต่อมา

แม่บ้านอายุทะลุ 40 ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์

สำหรับผู้หญิงรายหนึ่ง เดิมทีชีวิตของมีเซียม ก็ไม่ต่างจากแม่บ้านปกติทั่วไป พบรัก แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก ดูแลบ้าน ทำสวน เธอมีลูกอยู่ 5 คน แต่โชคร้ายที่ลูกคนที่ 2 ของเธอป่วยเป็นโรคโปลิโอ 

หลังจากลองพยายามขวนขวายหาหมอรักษาในเมืองไทยแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น คุณแม่มีเซียมในวัย 40 หน่อย ๆ จึงพาลูกบินลัดฟ้าไปรักษาตัวที่ยุโรป และอยู่เคียงคู่คอยดูแลอาการเป็นเวลาปีเศษ ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศเธอมีโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์ชั้นนำต่าง ๆ และได้เห็นผลงานศิลปะดัง ๆ ชิ้นสำคัญของโลกมากมาย

มีเซียม ค้นพบว่า แนวศิลปะที่เธอหลงใหลเป็นพิเศษคือแนว ‘อิมเพรสชันนิสม์’ (impressionism) ที่ใช้สีสันรุนแรง ปาดด้วยฝีแปรงที่หนักแน่นบนผืนผ้าใบ ดูน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับตัวเธอเป็นยิ่งนัก

เมื่อมีเซียม กลับมาเมืองไทยในราวปี พ.ศ. 2491 เพราะติดตากับงานศิลปะแนวแปลกใหม่ที่พบเห็นในต่างแดน เธอมาพิจารณามองดูภาพวาดที่เธอเคยซื้อหามาประดับบ้านตัวเองในสมัยก่อน ที่เคยรู้สึกว่าสวย ไฉนคราวนี้ถึงดูหงอย ๆ จืดชืด ขาดรสชาติไปถนัดตา 

เมื่อไปเดินเลือกหาภาพวาดตามแกลเลอรี่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นมีที่ถูกตาต้องใจเลยสักภาพ เมื่อเป็นซะอย่างนี้ มีเซียม เลยกะว่าจะวาดภาพขึ้นมาในแบบที่ชอบ แล้วเอามาแขวนฝาบ้านตัวเองซะเลย ไม่ต้องง้อใครให้เมื่อยตุ้ม

‘มีเซียม ยิบอินซอย’ แม่บ้านมหัศจรรย์ จากผู้หญิงดูแลบ้าน สู่ ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกในไทย

เรียนศิลปะแบบเร่งรัดกับครูญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ พื้นฐานทางศิลปะของมีเซียม คือการออกแบบเครื่องประดับและเสื้อผ้ากระหยุมกระหยิมใส่เองเท่านั้น พอตั้งใจจะวาดภาพ เลยต้องไปหาครูมาสอนก่อน ด้วยคำแนะนำของเพื่อน มีเซียม ได้พบกับ มูเน ซาโตมิ ทูตวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่มีดีกรีด้านศิลปะจากประเทศฝรั่งเศส 

มูเน ตกลงปลงใจจะรับเธอเป็นลูกศิษย์ ในวันแรกที่มีเซียม ไปเรียนวาดภาพที่บ้านของมูเน เธอหอบเฟรมผ้าใบพู่กันและสีไปพะรุงพะรัง มูเน บอกให้เธอค่อย ๆ เอาดินสอปากกามาฝึกร่างภาพบนกระดาษให้ถนัดก่อนแล้วถึงเริ่มหัดระบายสี แต่มีเซียม ไม่ยอม เธอให้เหตุผลว่า เธอแก่แล้ว ไม่มีเวลาในชีวิตเยอะแยะมานั่งเริ่มทีละสเตปเหมือนวัยรุ่นหรอก จึงจะขอเรียนลัดเลย 

เมื่อเจอลูกศิษย์รุ่นอาวุโสยืนกรานมาซะหนักแน่นขนาดนี้ มูเน เลยต้องตามใจ ไม่มีที่ใหนเขาทำกัน แต่มีเซียม ก็เริ่มเรียนศิลปะอย่างจริงจังครั้งแรกในชีวิตโดยการวาดภาพสีน้ำมันเลย พอยิ่งวาดก็ยิ่งติด อินจัดขนาดรู้สึกเศร้าโศกทุกครั้งที่ต้องวางพู่กันไปนอน มีเซียม ชอบวาดวิวและมุมต่าง ๆ รอบบ้าน เธอวาดของเธอแทบทุกวัน จากภาพแรก ๆ ที่ดูไม่ได้เรื่องเหมือนไก่เขี่ย ฝึกไปบ่อย ๆ ก็เริ่มดูเป็นมนุษย์มนา ดูสวยขึ้นเป็นลำดับ คงเป็นเพราะมีเซียม เป็นคนที่มีรสนิยมดีเป็นทุนเดิม อีกทั้งได้เคยเห็นของสวยงามจากทั่วโลกมามาก 

มิหนำซ้ำยังกล้าลองผิดลองถูก ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ที่แท้จริงผ่านสีและจังหวะพู่กันออกมา ถึงภาพจะดูเบี้ยว ๆ บูด ๆ ซะหน่อยเพราะไม่มีพื้นฐานการดรอว์อิ้ง แต่งานศิลปะของเธอกลับมีเอกลักษณ์อย่างน่าประหลาด

‘มีเซียม ยิบอินซอย’ แม่บ้านมหัศจรรย์ จากผู้หญิงดูแลบ้าน สู่ ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกในไทย

เครียดที่ได้รางวัลสูงสุดระดับประเทศ

พอย่างเข้าเดือนที่ 10 ในการเรียนวาดภาพ มูเน คะยั้นคะยอให้มีเซียม ลองส่งผลงานศิลปะเข้าร่วมการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งครั้งนั้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2492 ภาพแรกที่ส่งชิงรางวัลเป็นภาพวาดวิวซอยชิดลม วาดด้วยสีน้ำมันหนา ๆ แบบฉับไวในแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ 

ในภาพเห็นเป็นทางเดินคดเคี้ยวลึกเข้าไปสุดลูกหูลูกตา ทางเดินนั้นขนาบข้างไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านโน้มเข้าหากันอย่างฝืน ๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกลึกลับแบบแปลก ๆ ภาพนี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘วิถีแห่งความฝัน’

เมื่อถึงวันตัดสิน ปรากฎว่าได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง พอได้รับเกียรติยศสูงสุดของชาติในทางศิลปะเช่นนี้ มีเซียม ทั้งดีใจและตกใจกับรางวัลที่อยู่ดี ๆ ก็ได้รับอย่างไม่เคยคาดคิด แต่ในเวลาเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่ง เธอกลับรู้สึกเครียดเพราะไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เธอได้รับอาจจะเป็นแค่ความฟลุ๊ค ถ้าส่งงานศิลปะเข้าประกวดครั้งหน้าก็ไม่แน่ว่าจะได้รับรางวัลอีก เธออาจจะถูกครหาว่าเป็นแค่ศิลปินภาพเดียว ดังตู้มเดียว เหมือนพลุแล้วก็ดับหายไป

 

ศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของเมืองไทย

เมื่อถึงการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 มีเซียม ตัดสินใจส่งผลงานศิลปะเข้าประชันอีกอย่างลุ้นระทึก คราวนี้เธอส่งภาพวิวบนเกาะฮาวายเข้าชิงชัยกับเหล่าปรมาจารย์ยอดมนุษย์ในวงการศิลปะของไทยอีกมากมาย 

เมื่อผลออกมา มีเซียม ได้รับรางวัลเหรียญทองอีก เป็นการพิสูจน์ว่า เธอเป็นศิลปินที่มีความสามารถอย่างแท้จริง สร้างความมั่นใจให้เธออีกเป็นกอง และในปีถัดมา ณ การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 คุณภาพผลงานของมีเซียม ยังคงเส้นคงวา ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลเหรียญทองจากภาพวิวทะเลที่เธอส่งเข้าร่วมงานอีก 

สรุปรวมว่าได้รับรางวัลเหรียญทอง 3 ปีซ้อน ตามกฎของงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ถ้าหากศิลปินท่านไหนได้รับรางวัลเหรียญทองครบ 3 ครั้ง จะได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ซึ่งนับว่าเจ๋งที่สุดในวงการศิลปะสมัยนั้น (แต่ก่อนยังไม่มีตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ) มีเซียม ยิบอินซอย จึงถูกจับพลัดจับผลูกลายเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของประเทศไทยไปแบบตั้งตัวไม่ทัน

พอมีเซียม ได้ขึ้นหิ้งเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว มีข้อบังคับว่า ศิลปินระดับนี้ไม่สามารถส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติได้อีก แต่ความอินในอาร์ทก็ยังเต็มเปี่ยม เธอจึงผันตัวไปเป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิของงานแทน และยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะส่งมาโชว์เฉย ๆ แบบไม่เอารางวัลในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งต่อมาอีกหลายต่อหลายปี

‘มีเซียม ยิบอินซอย’ แม่บ้านมหัศจรรย์ จากผู้หญิงดูแลบ้าน สู่ ‘ศิลปินชั้นเยี่ยม’ คนแรกในไทย

เรียนปั้นกับ ศิลป์ พีระศรี

มีเซียม ทุ่มเทเขียนภาพสีน้ำมันอยู่หลายปี เริ่มรู้สึกจำเจ เกิดอาการเซ็งเข้าครอบงำ เลยตัดสินใจไปปรึกษา  ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ อาจารยศิลป์ แนะนำให้มีเซียม หันมาฝึกการดรอว์อิ้งเพื่อช่วยให้ฝีมือการวาดภาพพัฒนาขึ้นไปอีก แต่มีเซียม ต้องการจะเรียนรู้วิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ ดูบ้าง โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่อาจารย์ศิลป์ เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ 

อาจารย์ศิลป์ รับปากจะสอนปั้นรูปให้ โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าจะมาเรียนกับท่าน ต้องไม่มีการเรียนลัดตัดตอนเหมือนสมัยที่เธอฝึกระบายสีน้ำมันอีก เธอต้องมาปั้นดินเป็นรูปหัวคนแบบกรีก แบบโรมัน ให้ได้เป็นร้อย ๆหัวเพื่อฝึกพื้นฐานให้แม่นยำก่อน ท่านถึงจะยอมให้มีเซียม ปั้นงานสร้างสรรค์ของตัวเองได้

ด้วยหลักสูตรการสอนที่เคร่งครัดจากอาจารย์ศิลป์ ทำให้มีเซียม เบื่อจัดจนแทบจะเลิกล้มความตั้งใจที่จะเป็นประติมากรไปแล้ว และแล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นโชคดีสำหรับเธอ แต่ไม่รู้ว่าโชคดีหรือเปล่าสำหรับอาจารย์ศิลป์ วันหนึ่งอาจารย์ศิลป์เกิดป่วยเป็นหวัด ไม่ได้มาจ้ำจี้จ้ำไชควบคุมการฝึกฝนของเธอที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนับสัปดาห์ ในช่วงปล่อยผีนี้เองที่มีเซียม ได้สังเกตเห็นแม่บ้านของมหาวิทยาลัยฯ ท่านหนึ่งที่ดูมีโครงหน้าน่าสนใจ มีเซียม เลยคะยั้นคะยอขอให้แม่บ้านมาช่วยเป็นแบบปั้น 

มีเซียม ปั้นหัวแม่บ้านอยู่หลายวันจนเสร็จสมตามประสงค์ เมื่ออาจารย์ศิลป์ หายหวัด กลับมาเห็นรูปปั้นแม่บ้านฝีมือของเธอที่มหาวิทยาลัยฯ ก็รู้สึกไว้วางใจในฝีมือและอนุญาตให้กลับไปทำงานต่อเองที่บ้านได้ ไว้ถ้าสงสัยอะไรก็ค่อยมาปรึกษา

 

ทำอะไรก็เป็นอิมเพรสชั่นนิสม์

ด้วยหัวใจที่พองโต มีเซียม เลยลุยแหลก ปั้นหล่องานศิลปะแทบทุกวัน หวังว่าจะเอามาประดับให้เต็มสวนรอบ ๆ บ้าน เช่นเดียวกับภาพวาดของเธอ ผลงานประติมากรรมของมีเซียม ก็เป็นแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ด้วย โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ออกุส โรแดง ประติมากรที่มีเซียม ชื่นชอบเป็นพิเศษ 

รูปปั้นของเธอมักเป็นรูปคนในอิริยาบทต่าง ๆ ปีนป่าย กลิ้งเกลือก หกคะเมนตีลังกา แต่ละคนมีคอยืด ๆ แขนเรียว ๆ ในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนไม่ซ้ำใคร เห็นแต่ไกลก็เดาได้ว่านี่คือฝีมือของเธอ ผลงานประติมากรรมของมีเซียม จึงมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะไม่น้อยกว่าภาพเขียนของเธอเลย 

 

อุปถัมภ์ค้ำชูวงการศิลปะ

ในบั้นปลายชีวิต มีเซียม ยังคงมุมานะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่อง เธอได้รับเชิญไปร่วมแสดงศิลปะในงานต่าง ๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศบ่อยครั้ง ได้รับตำแหน่งอัศวินสาขาศิลปศาสตร์จากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศส ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ในวงการศิลปะ เธอยังเป็นผู้อุปถัมภ์กิจกรรมทางศิลปะอยู่เนือง ๆ เขียนบทความ ตั้งกองทุน และสนับสนุนศิลปินรุ่นต่อ ๆ มา สร้างคุโณปการให้กับวงการศิลปะของไทยอย่างมากมาย

นี่แหละเรื่องราวของแม่บ้านมหัศจรรย์ที่กำลังจะย่างเข้าวัยทอง แต่กลับมองว่าอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข ตราบใดที่หัวใจยังสาวยังหนุ่ม มีความรักบวกกับความมุมานะในสิ่งที่ทำ ก็ไม่สายเกินไปที่จะริเริ่มอะไรใหม่ ๆ จนประสบความสำเร็จแซงหน้าคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้แบบชิลล์ ๆ

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: The Art Auction Center