‘โกลด โมเนต์’ ผู้ให้กำเนิดศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ วาดวิว-คนทั่วไป แทนเทพนิยาย-ชนชั้นสูง

‘โกลด โมเนต์’ ผู้ให้กำเนิดศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ วาดวิว-คนทั่วไป แทนเทพนิยาย-ชนชั้นสูง

‘โกลด โมเนต์’ ผู้ให้กำเนิดศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ วาดทิวทัศน์-คนทั่วไป แทนวาดเทพนิยาย-ชนชั้นสูง อีกหนึ่งแก่นสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก

  • ‘โกลด โมเนต์’ อีกหนึ่งศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เขาคือผู้บุกเบิกศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ วาดทิวทัศน์-คนทั่วไป แทนวาดเทพนิยาย-ชนชั้นสูง
  • สไตล์งานศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและยังไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะ  

เดือนกันยายน 2023 มีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟ (Digital Immersive) ระดับโลกมาจัดแสดงในบ้านเรา นิทรรศการนี้มีชื่อว่า ‘Monet & Friends Alive Bangkok’ ที่นำเสนอผลงานของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกผู้หนึ่ง

ในตอนนี้ เราเลยขอเล่าเรื่องราวของศิลปินผู้นี้ เขามีชื่อว่า ‘โกลด โมเนต์’ (Claude Monet) จิตรกรชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้ริเริ่มขบวนการศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ เขาเป็นศิลปินผู้วางรากฐานการทำงานภายใต้ปรัชญาแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ที่ศิลปินสัมผัสและเผชิญหน้ากับธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวาดภาพทิวทัศน์กลางแจ้ง (plein air) อันที่จริงเขาเป็นผู้ที่ให้กำเนิดชื่อ ‘อิมเพรสชั่นนิสม์’ ด้วยซ้ำไป

อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) เป็นขบวนการทางศิลปะในศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มต้นขึ้นจากกลุ่มศิลปินในปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้รับอิทธิพลจากวิวัฒนาการทางสังคมในยุคนั้นที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสังคม, การเมือง (การปฏิวัติฝรั่งเศส), เทคโนโลยี, อุตสาหกรรม, ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบทฤษฎีแสงสีทางวิทยาศาสตร์ และการผลิตสีสังเคราะห์สีสันสดใส และหลอดตะกั่วบรรจุสีในระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้ศิลปินสามารถซื้อหาสีพกพาไปวาดภาพกลางแจ้งได้อย่างสะดวกมากขึ้น เป็นเหตุจูงใจให้ศิลปินเหล่านี้มุ่งเน้นในการนำเสนอชีวิตในยุคสมัยใหม่ รวมถึงการวาดภาพด้วยการใช้ทฤษฎีแสงสีในบรรยากาศเพื่อบันทึกความประทับใจในธรรมชาติและวิถีชีวิตคนทั่วไปผ่านการสังเกตอย่างตรงไปตรงมา

พวกเขามักวาดภาพทิวทัศน์, ผู้คนธรรมดาทั่ว ๆ ไป แทนที่จะเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนา ตำนานเทพนิยายปรัมปรา หรือภาพของกษัตริย์, ขุนนาง, หรือชนชั้นสูง เหมือนศิลปินยุคก่อนหน้า ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและยังไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะ 

พวกเขามักวาดภาพด้วยการใช้ฝีแปรงสะบัดอย่างหยาบ ๆ ด้วยความรวดเร็ว จนทิ้งรอยฝีแปรงไว้บนภาพเพื่อจับห้วงเวลาชั่วขณะที่อยู่ตรงหน้าซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกวินาทีโดยไม่เน้นความเหมือนจริง แต่เป็นการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกและความประทับใจที่มีต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวในตอนนั้นมากกว่า จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง 

หนึ่งในนั้นคือคำวิจารณ์ของ หลุยส์ เลอรอย (Louis Leroy) นักวิจารณ์ชื่อดังในยุคนั้น ที่กล่าวประชดประชันภาพ Impression, Sunrise (1872) ของ โกลด โมเนต์ ว่า

“ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความประทับใจแบบวูบวาบฉาบฉวย ภาพร่างลวก ๆ บนกระดาษติดฝาผนังยังดูเสร็จสมบูรณ์กว่าด้วยซ้ำ” 

คำวิจารณ์นี้โดนใจโมเนต์ อย่างแรง จนหยิบเอามาตั้งเป็นชื่อขบวนการในที่สุด และอิมเพรสชั่นนิสม์นี่แหละ ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้วงการศิลปะของโลกเดินทางมาถึงจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ในที่สุด

ในช่วงปลายยุค 1860 จากการฝึกวาดภาพทิวทัศน์กลางแจ้ง โมเน่ต์ และเพื่อนจิตรกร ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ค้นพบว่า สีสันของเงาบนวัตถุนั้น แท้จริงไม่ได้เป็นสีน้ำตาลหรือดำ หากแต่เป็นสีที่สะท้อนสีสันของสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ซึ่งการค้นพบนี้ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า “การสะท้อนแสงพร่า” (Diffuse Reflection) ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเทคนิคในการวาดภาพของศิลปินรุ่นหลังเป็นอันมาก หลักฐานจากการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันปรากฏเป็นภาพวาดหลายชิ้นของทั้งคู่ที่มีฉากหลังเป็นสถานที่เดียวกัน

ประจวบกับเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงเปิดประเทศในศตวรรษที่ 19 การติดต่อกับโลกตะวันตกทำให้วัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่น่าตื่นตาอย่างภาพถ่ายหลั่งไหลเข้าไปในญี่ปุ่น ในทางกลับกัน ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น หรือ ‘อุคิโยเอะ’ สีสันสดใส ที่แปะเป็นฉลากบนสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่ส่งไปยังตะวันตกกลับได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติและกลายเป็นอิทธิพลต่อกระแสศิลปะสมัยใหม่อย่างขบวนการอิมเพรสชั่นนิสม์อีกด้วย

กระแสความนิยมในศิลปะญี่ปุ่นที่มีอุคิโยเอะรวมอยู่ด้วยนั้นถูกเรียกว่า Japonism ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ชื่อดังอย่างโมเน่ต์ เองก็สะสมภาพอุคิโยเอะ และได้แรงบันดาลใจจากสีสันอันฉูดฉาดสดใสของมัน จนถึงขนาดคัดลอกออกมาเป็นภาพวาดสีน้ำมันเลยทีเดียว

ในผลงานช่วงท้าย ๆ โมเนต์ พัฒนาเทคนิคการวาดภาพของเขาไปสู่จุดสูงสุด ด้วยการใช้สีสัน, แสง และบรรยากาศในภาพวาดอย่างเชี่ยวชาญ ในผลงานชุดภาพวาดที่จับภาพทิวทัศน์แห่งเดียวกันภายใต้แสงในห้วงเวลาที่แตกต่างกันของวันอย่างต่อเนื่องหลายภาพ และการวาดภาพที่ไม่เน้นรายละเอียดและความเหมือนจริง แต่เก็บเอาอารมณ์ของทิวทัศน์และบรรยากาศในธรรมชาติด้วยแสงสีที่ฟุ้งกระจายและพร่าเลือน ฝีแปรงที่หยาบกระด้างแต่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว มากกว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่เห็นอย่างสมจริง จนดูคล้ายกับงานศิลปะแบบนามธรรม ซึ่งผลงานในแนวทางนี้ของเขาส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการถือกำเนิดขึ้นของงานศิลปะนามธรรมในเวลาต่อมา

ด้วยความที่โมเนต์ มีอายุยืนยาวมากกว่าศิลปินในยุคสมัยเดียวกัน (เขามีอายุยืนยาวถึง 86 ปี) ทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในยุคสมัย และกลายเป็นเสาหลักของขบวนการอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง พิสูจน์ได้จากการประสบความสำเร็จทางด้านการขายผลงาน และการที่ผลงานของกลุ่มถูกนำไปทำเป็นปฏิทิน, โปสเตอร์ และโปสการ์ดจำนวนมาก

ผลงานของโมเนต์ เองก็ถูกนำไปประมูลในราคาสูงลิบลิ่ว บางชิ้นแพงจนประเมินค่าไม่ได้ ผลงานของเขายังถูกสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกอีกด้วย

ถึงแม้ผลงานของโมเนต์ จะได้รับการยกย่องอย่างสูงในยุคสมัยของเขา แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1926 หลายปีหลังจากนั้น เขากลับเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักศิลปะในวงแคบเท่านั้น ผลงานของเขาถูกนำกลับมาเป็นที่รู้จักสู่สายตาสาธารณชนอีกครั้งก็เมื่อศิลปินในกระแสเคลื่อนไหว แอบสแตรก เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) อย่าง มาร์ค รอธโก (Mark Rothko) และ แจ็คสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) รวมถึงนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังอย่าง คเลเมนต์ กรีนเบิร์ก (Clement Greenberg) หวนกลับไปศึกษาและหยิบฉวยแรงบันดาลใจจากผลงานภาพวาดกึ่งนามธรรมขนาดใหญ่ของเขา หรือแม้แต่ศิลปินป็อปอาร์ตและศิลปินมินิมอลลิสต์เอง ก็ใช้เทคนิคที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของโมเนต์ เช่นเดียวกัน

ผลงานภาพวาดอิมเพรสชั่นนิสต์ของโมเนต์ กลายเป็นรากฐานของศิลปะสมัยใหม่ และกลายเป็นแก่นแกนสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเลยก็ว่าได้

 

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพ: โกลด โมเนต์ เมื่อปี 1899 ไฟล์ public domain ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพ Impression, Sunrise (Impression, soleil levant) (1872) ภาพวาดของโมเนต์ ที่ให้กำเนิดชื่อ ‘อิมเพรสชั่นนิสม์’