14 มี.ค. 2567 | 15:21 น.
KEY
POINTS
ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก มีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มากมายจนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดในโลกศิลปะตะวันตก ที่เรียกขานกันว่า ‘เรอเนสซองส์’ (Renaissance) สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่มีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อยู่มากมาย และในบรรดานั้น มีศิลปินผู้หนึ่งที่โดดเด่นเป็นเอก ไม่ใช่เพียงในแง่ของศิลปะ หากแต่รวมถึงศาสตร์และศิลป์ในสาขาอื่นด้วย
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ (Leonardo da Vinci) ศิลปินเอกแห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาการหลากสาขา ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, วาดเส้น, เขียนแบบ, สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์และทฤษฎีต่าง ๆ มีเพียงศิลปินไม่กี่คนเท่านั้นในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเทียบเคียงเลโอนาร์โด ดา วินชี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘Renaissance Man’ หรือ ‘เอกบุรุษแห่งยุคเรอเนสซองส์’
ดา วินชียังเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของผลงานชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Mona Lisa, The Last Supper และภาพกายวิภาคมนุษย์อันลือลั่นอย่าง Vitruvian Man ที่ต่างก็เป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกตลอดกาล
เขาเป็นหนึ่งในสามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์’ (Holy trinity) แห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ ร่วมกับ ‘ไมเคิลแองเจโล’ และ ‘ราฟาเอล’
หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของดา วินชี ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในโลก และเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังในโลกศิลปะก็คือภาพวาด ‘Mona Lisa’ (1503 - 1505) หรือ ‘La Gioconda’ ภาพเหมือนของ ‘ลิซา เกอราร์ดีนี’ ภรรยาของ ‘ฟรานเชสโก เดล โจกนโด’ ขุนนางใหญ่แห่งเมืองฟลอเรนซ์
ภาพวาดพอร์เทรตครึ่งตัวแสดงภาพสตรีนั่งวางมือประสานกันอยู่ เธอนั่งอยู่เบื้องหน้าภูมิทัศน์อันกว้างไกล คล้ายกับกำลังอยู่ในความฝัน (หลายคนพยายามเสาะหาภูมิทัศน์ในภาพวาดนี้ว่าเป็นที่แห่งไหน แต่ก็น่าจะเกิดจากการประกอบกันของภูมิทัศน์หลายแห่งในจินตนาการของดา วินชี เสียมากกว่า)
ภาพวาดนี้ครองใจนักวิจารณ์และผู้รักศิลปะทั่วโลก ด้วยรอยยิ้มอันเป็นปริศนา และการใช้เทคนิคการวาดภาพที่เรียกว่า ‘สฟูมาโต’ (Sfumato) หรือ ‘การใส่ควัน’ ซึ่งเป็นการเกลี่ยขอบและองค์ประกอบของบุคคล วัตถุ และภูมิทัศน์ในภาพวาดให้พร่าเลือนกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมรอบข้างและธรรมชาติเบื้องหลัง เพื่อสร้างความสมจริงเช่นเดียวกับที่ตามนุษย์มองเห็น ซึ่งเทคนิคสฟูมาโตนี่เองที่เป็นส่วนสำคัญในการถือกำเนิดของยุคทองของเรอเนสซองส์
ดา วินชี ตั้งใจวาดภาพนี้ให้แสดงออกมากกว่าความเหมือนจริง หากแต่ต้องการแสดงออกถึงจิตวิญญาณของเธอผ่านรอยยิ้มอันน่าพิศวง จนผู้ชมอย่างเราเดาไม่ออกว่าเธอกำลังอยู่ในอารมณ์ใดกันแน่?
หรือผลงานชิ้นเอกที่เป็นที่เลื่องลืออีกชิ้นของเขาอย่าง ‘The Last Supper’ (1495 - 1498) ภาพวาดฝาผนัง พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ ท่ามกลางอัครสาวกทั้งสิบสอง ก่อนที่จะทรงถูกนำตัวไปตรึงกางเขน ถือเป็นอีกหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก
เดิมทีภาพวาดนี้ ดา วินชี ได้รับการว่าจ้างจาก ‘ลูโดวีโก สฟอร์ซา’ ดยุคแห่งมิลาน ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ของเขา ให้วาดภาพจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ ‘ซานตา มาริอา เดลเล กราซี’ ในเมืองมิลาน
ดา วินชี เริ่มต้นวาดภาพนี้ในปี 1495 และแล้วเสร็จในปี 1498 โดยไม่ได้วาดอย่างต่อเนื่อง
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ภาพวาดชิ้นนี้ของดา วินชี เป็นภาพจิตรกรรมแบบ ‘ปูนเปียก’ (Fresco) ที่ใช้สีฝุ่นผสมน้ำแล้ววาดลงบนปูนปลาสเตอร์ที่ยังไม่แห้งซึ่งปาดไว้บาง ๆ บนผนัง เมื่อปูนแห้งก็จะทำให้สีซึมลงในเนื้อปูนและติดผนังอย่างถาวรโดยไม่ต้องเคลือบสี
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพวาด The Last Supper ของ ดา วินชี เป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาหนังแบบ ‘ปูนแห้ง’ (Fresco-secco หรือ a secco) ซึ่งเป็นวิธีวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ตรงกันข้ามกับเทคนิคการวาดแบบปูนเปียก, เทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง จะทำโดยการผสมสีกับสารที่ทำให้ติดผนัง เช่น ปูนขาว, ไข่, กาว, น้ำนม และน้ำมัน เพื่อให้สียึดติดกับผนังปูนที่แห้งแล้ว
ที่ ดา วินชี เลือกใช้เทคนิคปูนแห้งวาดภาพแทนที่จะใช้เทคนิคปูนเปียก เหตุเพราะการวาดภาพแบบปูนเปียกเป็นการวาดภาพด้วยสีเชื้อน้ำ ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้เทคนิคสฟูมาโตของเขา และสีสันบางสีไม่สามารถวาดให้สดใสจากการวาดภาพแบบปูนเปียก ด้วยความที่ปฏิกิริยาเคมีที่เป็นด่างของปูนจะทำให้สีหมองลง ไม่สดใส โดยเฉพาะสีน้ำเงิน จิตรกรสมัยเรอเนสซองส์ตอนต้นหลายคนจึงมักจะใช้เทคนิคปูนแห้ง เพื่อให้ได้สีสันที่สดใสและหลากหลายกว่าเทคนิคปูนเปียก ดา วินชีเองก็ไม่ใช้เทคนิคปูนเปียกวาดภาพ The Last Supper หากแต่ใช้เทคนิคสีน้ำมันแทน เพราะอยากให้ภาพนี้มีสีสันสดใสเรืองรองกว่า
ที่สำคัญ เขาไม่ชอบเทคนิคปูนเปียก เพราะเขามองว่ามันทำให้เขาต้องรีบเร่งวาดภาพให้เสร็จก่อนที่ปูนจะแห้งนั่นเอง ซึ่งดา วินชีถือเป็นจิตรกรที่ขึ้นชื่อว่าทำงานเชื่องช้าอ้อยอิ่งที่สุดในยุคเรอเนสซองส์เลยก็ว่าได้
มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับภาพนี้ว่า ในขณะกำลังวาดภาพ รองเจ้าอาวาสของโบสถ์ที่ ดา วินชี วาดภาพอยู่ ได้ตำหนิเขาเกี่ยวกับความล่าช้าในการวาดภาพนี้ จนทำให้เขาฉุนขาด เลยร่อนจดหมายไปหาเจ้าอาวาส ใจความว่า
แต่การใช้เทคนิคปูนแห้งนี่เอง ก็ส่งผลให้ภาพวาด The Last Supper เสื่อมสภาพและสูญหายไปเกือบหมดจากผลกระทบจากกาลเวลา, สภาพแวดล้อม และศัตรูที่สำคัญที่สุดอย่าง ความร้อน ความชื้น เพราะสีไม่ได้ซึมลงไปอยู่ในเนื้อปูน แต่เกาะอยู่แค่บนพื้นผิวปูนเท่านั้น ที่สำคัญภาพวาดนี้ยังถูกวาดบนผนังห้องรับประทานอาหารในอารามของแม่ชี จึงมักโดนความร้อนจากควันและไอน้ำของโรงครัว ทำให้เกิดความเสียหายกับภาพ จนองค์ประกอบดั้งเดิมของภาพวาดภาพนี้ เช่น ฝีแปรง หรือรายละเอียดที่ดา วินชี วาดไว้เหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีความพยายามบูรณะอย่างมากมายจวบจนกระทั่งครั้งสุดท้ายในปี 1999
อย่างไรก็ดี ภาพวาดชิ้นนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก เทียบเคียงได้กับภาพวาดปูนเปียกบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ที่เล่าเรื่องราวการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้า ผลงานชิ้นเอกของศิลปินยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์อีกคนอย่างไมเคิลแองเจโล เลยก็ว่าได้
ยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของดา วินชี ที่เพิ่งค้นพบหลักฐานว่าเป็นผลงานของเขาในปี 2012 อย่าง ‘Salvator Mundi’ (1500) เป็นภาษาละตินแปลว่า ‘Savior of the World’ หรือ ‘พระผู้ช่วยให้รอดของโลก’ ซึ่งหมายถึง พระเยซู นั่นเอง
ภาพวาดนี้นอกจากจะแสดงภาพพระเยซูคริสต์ชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขนแบบที่ปรากฏบ่อยครั้งในภาพวาดของพระเยซูคริสต์ทั่ว ๆ ไปแล้ว รายละเอียดอันโดดเด่นอีกประการในภาพนี้ก็คือ มืออีกข้างของพระองค์ยังถือลูกแก้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทรงกลมแห่งสรวงสวรรค์ (Celestial sphere) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้นั่นเอง
ภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้วอลนัตภาพนี้ ถูกประมูลขายไปโดยสถาบันประมูลคริสตี้ส์ นิวยอร์ก ในราคา 450.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 13,608 ล้านบาท ถูกซื้อไปโดย ‘มุฮัมมัด บิน ซัลมาน’ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทำให้กลายเป็นภาพวาดราคาแพงที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการขายมา
ภาพวาดนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดจำนวนไม่ถึง 20 ชิ้น ที่คาดว่าเป็นผลงานของดา วินชี ถึงแม้จะมีปริศนาและข้อโต้แย้งบางอย่างเกี่ยวกับหลักฐานและที่มาที่ไปของภาพก็ตามที
นอกจากงานศิลปะแล้ว ความสงสัยใคร่รู้ทางปัญญาและจินตนาการของดา วินชี ก็ยังทำให้เกิดไอเดียและสิ่งประดิษฐ์มากมาย ที่จดบันทึกและร่างภาพเอาไว้ในสมุดบันทึกจำนวนมหาศาลของเขา ทั้งแผนภาพทางวิทยาศาสตร์ (ที่เป็นเหมือนต้นธารของสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต อย่าง ร่มชูชีพ, เฮลิคอปเตอร์ และรถถังทหาร) ภาพร่างและภาพวาดทางกายวิภาค, พฤกษศาสตร์ และทฤษฎีเกี่ยวกับการวาดภาพ ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อดังอย่าง ‘อี. เอช. กอมบริช’ (E. H. Gombrich) กล่าวเอาไว้ว่า
ดา วินชี ยังออกแบบงานสถาปัตยกรรมอันเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมากมาย ทั้งท่อส่งน้ำระยะทาง 32 ไมล์ ที่เชื่อมเมืองมิลานกับทะเลสาบโคโม ได้อย่างชาญฉลาด หรือการออกแบบบันไดเวียนเกลียวคู่อันงดงาม เปี่ยมทักษะทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ด้วยความสามารถของเขาในการผสมผสานวิสัยทัศน์แห่งการสร้างสรรค์เข้ากับทักษะการแก้ปัญหาที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ใช้งานได้จริง กล่าวได้ว่า ดา วินชีได้ช่วยสร้างหลักการทางสถาปัตยกรรมที่ส่งอิทธิพลสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ
ผลงานในชีวิตของ ดา วินชี นั้นมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ใช่แค่ในฐานะศิลปิน หากแต่เขาได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญในยุคเรอเนสซองส์ ผู้มีส่วนช่วยเปิดทางให้ศิลปะและอารยธรรมตะวันตกรุ่งโรจน์โชติช่วง เขาเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคทางศิลปะมากมาย ไม่เพียงแค่เทคนิคการใช้จุดรวมสายตา (Vanishing points) ที่สร้างระยะ มิติ และความลึกให้กับภาพวาดภูมิทัศน์ เทคนิค สฟูมาโต หรือเทคนิคเคียรอสคูโร (Chiaroscuro) หรือการปรับระดับความต่างระหว่างแสงสว่างและความมืด เพื่อสร้างมิติในภาพวาดได้อย่างเจนจัดเชี่ยวชาญ รวมถึงเทคนิคการวาดภาพบุคคลที่แสดงออกทางสีหน้าอันน่าพิศวง สมจริง และน่าหลงใหลไปพร้อม ๆ กัน หากแต่ยังรวมถึงภาพวาดกายวิภาคของมนุษย์และสัตว์ และภาพวาดทางภูมิศาสตร์อันแม่นยำ (ว่ากันว่าเขาแอบศึกษากายวิภาคจากการผ่าพิสูจน์ศพในโรงเก็บศพ) ไปจนถึงนวัตกรรมทางวิศวกรรม กลศาสตร์และกลไก ตั้งแต่การออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรง ไปจนถึงอาวุธสงคราม อากาศยาน และงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ
เลโอนาร์โด ดา วินชี เสียชีวิตในวันที่ 2 พฤษภาคม 1519 ด้วยวัย 67 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจอันมหาศาลแก่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง
อ้างอิง :
หนังสือ Leonardo’s legacy: how Da Vinci reimagined the world โดย Stefan Klein
Leonardo da Vinci: Renaissance Man โดย Alessandro Vezzosi
เว็บไซต์ https://www.theartstory.org/artist/da-vinci-leonardo/
เรื่อง : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ภาพปก : Getty Images