‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

‘โอโนเร โดมีเยร์’ ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน’ เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

KEY

POINTS

  • ‘โอโนเร โดมีเยร์’ (Honore Daumier) ศิลปินชาวฝรั่งเศส เคยงานเข้าถูกสั่งปรับและจำขัง หลังวาดรูปล้อเลียนกษัตริย์ฝรั่งเศส
  • โดมีเยร์ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และไม่หวั่นเกรงที่จะโจมตีนักการเมืองที่ไม่ยุติธรรม รวมถึงโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม 
  • ภาพที่กำลังโด่งดังกลายเป็นมีมอยู่ในขณะนี้คือภาพ ‘La Defenseu’ (ทนายฝ่ายจำเลย) เป็นภาพทนายคนหนึ่งที่กำลังสู้สุดตัวเพื่อปกป้องลูกความ ในขณะที่สตรีผู้เป็นลูกความของเขากลับแสดงสีหน้าไม่สะทกสะท้านใด ๆ ทั้งยังท้าทายด้วยรอยยิ้มที่ดูกรุ้มกริ่ม

‘โอโนเร โดมีเยร์’ (Honore Daumier) เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสที่โดดเด่นในศตวรรษที่ 19 เขาเป็นผู้สร้างภาพวาดและประติมากรรมที่เรียกได้ว่าเป็น ‘นวัตกรรม’ ในยุคนั้น แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ด้วยการเป็นนักวาดภาพล้อเลียน จนได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน’ พิสูจน์ได้จากการทำให้ภาพตลกขบขันกลายมาเป็นงานศิลปะที่มีอิทธิพลทางสังคมและการเมือง

โอโนเร โดมีเยร์’ เกิดที่เมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 1808 บิดาเป็นช่างทำเครื่องกระเบื้องเคลือบและกรอบรูป ต่อมาในปี 1816 ขณะที่เขาอายุ 8 ปี ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่ปารีส ทำให้โดมีเยร์กลายเป็นหนุ่มปารีเซียงเต็มตัว และใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของฝรั่งเศส

ที่นี่เขาทำงานเป็นเด็กรับใช้ในสำนักงาน แล้วต่อมาก็ไปเป็นเสมียนช่วยเจ้าหน้าที่ขายหนังสือใน Palais-Royal (พระราชวังหลวง) เวลาว่างก็หมกมุ่นอยู่กับการวาดภาพ กระทั่งปี 1822 เขาก็เข้าศึกษาใน Academie Suisse

ปี 1825 โดมีเยร์เข้าไปทำงานในโรงพิมพ์ของ ‘เซฟีแรง เฟลีกซ์ เบยีอาร์ด’ ในฐานะผู้ช่วยงานทางห้องปฏิบัติงานศิลปะ ทำให้เขาได้รับความรู้ความชำนาญในการทำภาพพิมพ์หิน (Lithography) ในช่วงนี้เองที่เขาได้ผลิตภาพการ์ตูนที่คมคายให้กับหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยม แต่ทำได้ไม่นานโดมีเยร์ก็งานเข้าจนได้ 

ปี 1831 เขาไปทำภาพล้อกษัตริย์ ‘หลุยส์ ฟีลิป’ โดยวาดภาพพระพักต์ของพระองค์เหมือนลูกแพร์ ในภาพชื่อ ‘Les Poires’ ซึ่งเป็นการวาดภาพ 4 ภาพ ที่แสดงภาพพระพักต์เหมือนลูกแพร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ปรากฏว่าภาพการ์ตูนนี้ถูกนำไปวาดไว้บนกำแพงหลายแห่ง ทำให้องค์กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสกลายเป็นตัวตลกของประเทศ

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

แม้ภาพนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการ์ตูนการเมืองที่โดดเด่นที่สุดตลอดกาล มีศิลปินจำนวนมากที่เลียนแบบแนวคิดของโดมีเยร์ ด้วยการเปลี่ยนใบหน้านักการเมืองให้เป็นอย่างอื่น แต่คนวาดก็ตกที่นั่งลำบาก โดมีเยร์ทั้งถูกปรับและจำขัง

ต่อมา โดมีเยร์ก็ถูกฟ้องร้องอีกครั้ง จากภาพที่ชื่อว่า ‘Gargantua’ ซึ่งเป็นภาพกษัตริย์รูปร่างอ้วนเหมือนยักษ์ที่หลุดมาจากนวนิยายเรื่อง ‘Gargantua’ ของ ‘ฟรองซัวส์ ราเบอแล’ ในภาพยังแสดงให้เห็นราษฎรผู้ภักดีคอยป้อนอาหารให้กษัตริย์ด้วย ภาพนี้ทำให้กษัตรย์หลุยส์ ฟิลิปป์ รู้สึกไม่พอพระทัยมาก ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1832 เขาถูกตัดสินจำคุกอีก 6 เดือน ก่อนจะได้รับอิสรภาพในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1833

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

ในเดือนสิงหาคม ปี 1835 รัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่โดมีเยร์ทำงานอยู่ เพื่อมิให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีกต่อไป ส่วนนิตยสารอีกฉบับที่เขาเขียนการ์ตูนส่งคือ ‘เลอ ชาริวารี’ ก็ถูกสั่งให้ยุติการทำภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมือง 

ในฐานะผู้สนับสนุนหลักประชาธิปไตย โดมีเยร์ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และไม่หวั่นเกรงที่จะโจมตีนักการเมืองที่ไม่ยุติธรรม รวมถึงโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม โดยที่ยังแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจและความอ่อนโยนในคราเดียวกัน 

แต่หลังเผชิญชะตากรรมจากภาพวาดล้อเลียนการเมืองหลายครั้ง เขาก็พยายามหลีกเลี่ยงการวาดภาพล้อเลียนกษัตริย์อีก ผลงานในช่วงหลังจากนั้นจึงเป็นการ์ตูนที่ ‘ไม่เป็นอันตราย’ เน้นล้อเลียนข้อบกพร่องของมนุษย์ ชีวิตทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น การมีจำนวนประชากรมากเกินไปในปารีส รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว 

อย่างไรก็ตาม ในปี 1834 เขาก็เจอปัญหาทางกฎหมายอีกครั้ง เมื่อภาพของเขาที่ชื่อว่า ‘Massacre de la Rue Transnonain’ บรรยายถึงเหตุจลาจลบนท้องถนนในปารีส ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากตำรวจเข้าปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรง มีความพยายามบุกเข้าไปในบ้านและสังหารผู้ชุมนุม โดยผลงานชิ้นนี้ของโดมีเยร์แสดงให้เห็นภาพประชาชนถูกสังหารในห้องนอน แม้แต่ทารกก็ไม่รอด 

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล
ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่ทรงพลังและได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์จำนวนมาก ส่วนตำรวจก็พยายามที่จะยึดผลงานชิ้นนี้ และพยายามตามเก็บภาพพิมพ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ช่วงหลังปี 1834 ภาพวาดของโดมีเยร์ก็เริ่มลดดีกรีลง ไม่ค่อยไปแตะเรื่องการบ้านการเมืองเท่าใดนัก แต่ถึงกระนั้นผลงานของเขาหลายชิ้นก็ยังคงล้อเลียนชนชั้นสูงอยู่ ยกตัวอย่างภาพชุดชื่อ ‘Les Gens de Justice’ ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการทุจริต ภาพชุดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่แสดงให้เห็นผู้พิพากษาที่ถือยศถือศักดิ์ กับทนายความเจ้าสำบัดสำนวน 

ภาพวาดชุดนี้กลายเป็นภาพคลาสสิกที่นิยมนำไปติดไว้ในศาลหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ตามบ้านของผู้พิพากษาและทนายความ และที่กำลังโด่งดังกลายเป็นมีมอยู่ในขณะนี้คือภาพ ‘La Defenseu’ (ทนายฝ่ายจำเลย) ซึ่งเป็นภาพวาดในปี 1860 แสดงให้เห็นถึงทนายคนหนึ่งที่กำลังสู้สุดตัวเพื่อปกป้องลูกความ ในขณะที่สตรีผู้เป็นลูกความของเขากลับแสดงสีหน้าไม่สะทกสะท้านใด ๆ ทั้งยังท้าทายด้วยรอยยิ้มที่ดูกรุ้มกริ่ม

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

ภาพวาดที่มีชื่อเสียงอีกภาพหนึ่งของเขาคือ ‘Le Wagon de Troisieme Classe’ เป็นภาพกลุ่มคนยากจนที่เดินทางโดยรถไฟชั้นสาม 

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

นักวิจารณ์ในศตวรรษที่ 19 มองว่าเขาเป็นเพียงนักล้อเลียนธรรมดา ๆ โดยไม่เห็นคุณค่าทางศิลปะในงานของเขา ทว่าสำหรับคนทั่วไปและเพื่อนศิลปินต่างยอมรับในพรสวรรค์ของเขา ขณะที่เจ้าตัวไม่ได้สนใจเลยว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์หรือชื่นชม ตัวอย่างเช่นในปี 1870 ที่เขาปฏิเสธที่จะรับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์

ตั้งแต่ปี 1835 ถึง 1845 โดมีเยร์ผลิตภาพพิมพ์หินออกมาเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีภาพของ ‘โรเบิร์ต มาแกร์’ ซึ่งเขาใช้เป็นตัวละครสำหรับเย้นหยันสังคมได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ 

‘โอโนเร โดมีเยร์’ บิดาแห่งการ์ตูนล้อเลียน เจ้าของภาพมีมสตรียิ้มกรุ้มกริ่มในศาล

ปี 1848 พระเจ้าหลุยส์ ฟีลิป หมดอำนาจ และในช่วงสั้น ๆ ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สองปกครองฝรั่งเศสนั้น กิจการทางศิลปะก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่พอถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สองก็หมดสิ้นลง เมื่อ ‘หลุยส์ นโปเลียน’ ขึ้นเป็นจักรพรรดิ กิจการทางศิลปะก็ถูกระงับไปอีก

ในปี 1868 โดมีเยร์จากปารีสไปอยู่วัลมองดัวซ์ ที่นั่นเขายึดอาชีพผลิตภาพพิมพ์หินต่อไป ขณะที่ภาพเขียนรุ่นหลัง ๆ ของเขา ส่วนมากเป็นภาพชุด เช่น ‘ดอน กีโฮเต้’ ซึ่งมีฝีแปรงหลวมปล่อยและเป็นอิสระอย่างยากจะหาใครมาเทียบได้ 

ปี 1873 ดวงตาของเขามืดมัวลงทุกที จนกระทั่งเขาสิ้นเสียชีวิตลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1879

 

แปลและเรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า 
ภาพ : Getty Images 
อ้างอิง : 

Honoré Daumier

อโนเร โดมีเยร์ (Honore Daumier)

The Father of Caricature: Works by Daumier from R. Paul Firnhaber’s Collection