‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ

‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ

‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินแร้นแค้น ผู้ใช้ศิลปะสะท้อนถึงความหดหู่ของชีวิต กว่าภาพจะขายได้หลักแสนหลักล้าน เจ้าตัวก็ไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว

KEY

POINTS

  • สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินผู้ปวารณาตนเป็นศิษย์ของพระคเณศ เทพแห่งศิลปะ
  • ผลงานของสุเชาว์ หรือนายเจ็ก ที่อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เรียก มักสะท้อนถึงความหดหู่ของชีวิต
  • ภาพลักษณ์ของสุเชาว์ดูแล้วเหมือนจะมีความสุขดี แต่เขาเลือกที่จะเก็บงำความทุกข์ร้อนเอาไว้คนเดียวไม่ไปพร่ำบ่นสาธยายให้ใครฟัง 
  • เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กว่าจะมีคนเห็นคุณค่าผลงานของสุเชาว์ จนเริ่มมีผู้นิยมซื้อหาไปสะสม เวลาในชีวิตของท่านก็เหลืออยู่ไม่มากแล้ว
     

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 สองสามีภรรยาชาวจีน นายยิ้ม ถิ่นกวง และนางยี แซ่หยิ่ม ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อมาทำงานในเมืองไทย ได้ให้กำเนิดบุตรชายและตั้งชื่อว่า ‘ซิวเจียง แซ่หยิ่ม’ ที่ย่านบางคอแหลม เขตยานาวา กรุงเทพฯ 

ครอบครัวเล็ก ๆ ที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกสาวคนโต และลูกชายคนสุดท้อง มีอันต้องระหกระเหินแยกทางกันไป เมื่อพ่อและแม่เดินทางกลับเมืองจีน และเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะหลังจากนั้นลูก ๆ ก็ไม่ได้ข่าวคราวจากท่านทั้งสองอีกเลย พี่สาวซึ่งขณะนั้นมีอายุประมาณ 20 ปี เลยต้องรับภาระแทนทั้งพ่อทั้งแม่ดูแลเลี้ยงน้องซิวเจียง ซึ่งเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 10 ขวบเศษ ๆ 

ด้วยความรักที่มีต่อน้อง พี่สาวเลยต้องมุมานะทำงานหนักเกินตัวเพื่อส่งเสียน้องให้ได้รับการศึกษาที่ดี ซิวเจียงเลยได้เรียนหนังสือจนจบม.6 ในช่วงวัยมัธยมนี้เองที่เด็กชายซิวเจียง แซ่หยิ่ม ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘สุเชาว์ ยิ้มตระกูล’ 

ศิษย์ของเทพแห่งศิลปะ 

สุเชาว์ อด ๆ อยาก ๆ มาตั้งแต่เล็ก ถึงพี่สาวจะพยายามทำงานหาเงินมาเลี้ยงน้อง แต่ก็ยังไม่ค่อยจะพอ ทั้งคู่เลยต้องพากันอดมื้อกินมื้ออยู่กันไปแบบตามมีตามเกิด พอสุเชาว์เรียนจบมัธยมก็ต้องเลิกเรียนมาหางาน ลองทำงานที่นู่นที่นี่ไปเกือบ 20 แห่ง ด้วยความเป็นคนเบื่อง่าย บางทีไปทำงานแค่วันเดียวก็ลาออกซะดื้อ ๆ

สุเชาว์ใช้เวลาช่วงกลางวันทำงานหาเลี้ยงปากท้อง ส่วนเวลากลางคืนก็เริ่มฝึกฝนในกิจกรรมที่ตัวเองเริ่มจะตระหนักว่าหลงใหลที่สุดในชีวิต นั่นก็คือ การวาดภาพ เพราะในภวังค์แห่งศิลปะ สุเชาว์สามารถปลดปล่อยอารมณ์ให้เตลิดไปพร้อมๆ กับการปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของชีวิตในแต่ละวัน แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาประเดี๋ยวประด๋าวก็ยังดี ถ้าจะให้เดาคงจะเป็นเพราะความรักในศิลปะอีกนั่นแหละ ที่ทำให้สุเชาว์ตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลอีกทีเป็น ‘ศิษย์คเณศ’ ปวารณาตนเป็นศิษย์ของพระคเณศ เทพแห่งศิลปะ

ศึกษานอกห้องเรียนกับศิลปินระดับชาติ

ความใฝ่ฝันของสุเชาว์ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบมัธยมคือการได้เรียนต่อทางด้านศิลปะ แต่ด้วยความไม่พร้อมทั้งเรื่องเวลา และทุนทรัพย์ สุเชาว์จึงต้องเน้นฝึกฝนด้วยตนเองเป็นหลัก และแล้วโชคชะตาก็พาสุเชาว์ไปพบกับ ‘เฉลิม นาคีรักษ์’ อาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘จิตรกรมือระดับพระกาฬของประเทศ’ สุเชาว์ขอฝากตัวเป็นศิษย์นอกห้องเรียนของเฉลิม เพื่อเรียนรู้เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำ 

หลังจากนั้นสุเชาว์ยังได้พบกับ ‘ทวี นันทขว้าง’ สุดยอดจิตรกรฝีมือขั้นเทพของไทยอีกท่านหนึ่ง สุเชาว์ขอใช้เวลาที่ว่างจากงานประจำ มาเข้าคอร์สวิธีการใช้สีน้ำมันจากทวี พอได้ครูดีถึง 2 ท่าน สุเชาว์เลยยิ่งคลั่งไคล้ ฝึกวาดภาพอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ดึก ๆ ดื่น ๆ ไม่รู้จักหลับจักนอนอยู่ครึ่งปี ก่อนที่จะตัดสินใจส่งภาพวาดเข้าร่วมประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 

ภาพที่ส่งประกวดเป็นภาพบ้านที่มีต้นไม้ไหม้ไฟสีดำเมี่ยมเป็นตอตะโกอยู่ด้านหน้า ภาพนี้วาดด้วยสีน้ำมันหนา ๆ ตัดเส้นเน้นรูปทรงต่าง ๆ คล้ายกับสไตล์งานของทวี นันทขว้าง แต่ภาพวาดของสุเชาว์จะดูเหงา ๆ เศร้า ๆ กว่าหน่อย 

ในการประกวดครั้งนั้น ปรากฎว่าผลงานของสุเชาว์ชิ้นนี้ ไปถูกใจคณะกรรมการ ทำให้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญเงินมาครอบครอง สร้างความกระชุ่มกระชวยเพราะเหมือนจะเห็นทางสว่างที่ตัวเองถนัด 

นายเจ๊ก ลูกศิษย์อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี

ในปีเดียวกันนั้น สุเชาว์เลยตัดสินใจทำตามฝันโดยการสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปศึกษา พอจบแล้วก็ย้ายไปเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในยุคนั้นสุเชาว์โชคดีได้เรียนกับอาจารย์ ‘ศิลป์ พีระศรี’ โดยตรง สุเชาว์ หรือ ‘นายเจ๊ก’ ฉายาที่อาจารย์ศิลป์ใช้เรียกนั้น น่าจะเป็นนักศึกษาที่มีอายุมากที่สุดในชั้นเพราะหลังจบมัธยม สุเชาว์ต้องเลิกเรียนไปทำงานจิปาถะอยู่ร่วม 10 ปีกว่าจะกลับมาเรียนต่อ 

นอกจากจะแก่ที่สุดแล้วสุเชาว์ก็น่าจะเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ยากจนที่สุดด้วย สมัยเรียนค่ารถก็แทบจะไม่มี สุเชาว์ต้องเดินเท้าไปกลับจากที่พักย่านบางคอแหลมซึ่งก็โคตรไกลเพื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเป็นประจำ บางวันกลับไม่ไหวก็อาศัยนอนตามบ้านเพื่อนที่อยู่ใกล้กว่า ส่วนข้าวปลาอาหารก็มีกินบ้างไม่มีกินบ้างตามยถากรรม เรื่องกินสุเชาว์ทรหดกว่าเพื่อน ๆ ตรงที่สามารถหม่ำข้าวบูดที่คนอื่นเขาโยนทิ้งแล้วได้โดยไม่ป่วย

ผลงานสะท้อนความหดหู่ของชีวิต

เมื่อสุเชาว์เรียนจบอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2502 ก็ไปสมัครเป็นอาจารย์วิชาศิลปะที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนเด็ก ๆ อยู่ 4 ปีก่อนจะลาออกจากงานประจำอีกครั้งมาเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัว สุเชาว์ไปเช่าห้องเล็ก ๆ ถูก ๆ ไว้ซุกหัวนอน และใช้เป็นที่ทำงานศิลปะ รายได้ไม่มากมายที่เอาไว้ใช้ดำรงชีวิตก็มาจากการวาดภาพส่งขายตามแกลเลอรี่ 

สุเชาว์ไม่ได้วาดภาพดอกไม้ ภาพหญิงสาว ภาพวิว ที่ดูสวย ๆ เจริญหูเจริญตา แต่เลือกสะท้อนชีวิตอันรันทดหดหู่ของตัวเองออกมาเป็นผลงาน ภาพที่สุเชาว์มักวาดบ่อย ๆ เช่น ภาพพี่น้องหน้าตาอิดโรยยืนรอความเมตตา ภาพจานข้าวที่ว่างเปล่ามีแต่ก้างปลา ภาพต้นไม้ยืนต้นตายเหลือแต่กิ่ง ภาพบ้านในอุดมคติที่สุเชาว์ไม่มีโอกาสจะได้มี 

‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ ‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ

ผลงานของสุเชาว์นั้น ถ้าดูเผิน ๆ เหมือนจะวาดง่าย ๆ สุเชาว์เลือกใช้รูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แสนจะเรียบง่ายมาประกอบเป็นภาพ ดูไปดูมาจะไปคล้ายกับผลงานที่เด็กวาดด้วยซ้ำ พอเป็นซะอย่างนี้ผลงานศิลปะของสุเชาว์ในช่วงแรก ๆ ก็เลยไม่เป็นที่นิยม ไม่มีราคาค่างวดอะไร บางครั้งสุเชาว์ยกผลงานให้คนอื่นไปฟรี ๆ คนที่ได้รับไปก็ยังขอเอากลับมาคืนเพราะดูน่ากลัว แขวนไว้ที่บ้านเดี๋ยวเด็ก ๆ จะขวัญผวาป่วยไข้ไปเสียก่อน 

‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ

‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ

ถึงผลงานจะยังไม่เป็นที่ยอมรับแต่สุเชาว์ก็ยังซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานจากอารมณ์จริง ๆ ในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนออกมาเรื่อยๆ

เก็บความทุกข์ระทมไว้โดยลำพัง

สุเชาว์ใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายโดยปราศจากครอบครัว ลำพังตัวเองยังแทบจะเอาตัวไม่รอดถ้าให้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียอีกมีหวังต้องอดตายกันหมด ภาพลักษณ์ของสุเชาว์สำหรับคนภายนอกนั้นเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย ดูแล้วเหมือนจะมีความสุขดี สุเชาว์เลือกที่จะเก็บงำความทุกข์ร้อนเอาไว้คนเดียวไม่ไปพร่ำบ่นสาธยายให้ใครฟัง ท่านมีความคิดว่าทุกชีวิตมีทุกข์อยู่แล้ว จึงไม่ควรไประบายความทุกข์ร้อนเพิ่มเติมให้ผู้อื่น

หนทางที่สุเชาว์จะระบายความรู้สึกลึก ๆ ในใจที่อัดแน่นออกมาได้คือผ่านทางสมุดบันทึกส่วนตัว และผลงานศิลปะ สุเชาว์เคยเขียนถึงชีวิตของตัวเองไว้อย่างเจียมเนื้อเจียมตัวว่า

“ไม่อาจหาญเสนอตนเท่าเทียมผู้อื่น เพราะน้อยปัญญา ศึกษาเพียงอนุปริญญาทางศิลป์ มิได้มีบารมี เช่นเขาอื่น เพียงเผชิญชีวิตในเมืองไทยบ้านเกิด และอาจเป็นเมืองตาย ได้แต่ปลอบใจตนเองด้วยคติเต๋าที่ว่า ผู้อยู่ในห้อง ก็อาจรู้โลกภายนอกได้”

ความสำเร็จมาเมื่อสายไป

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กว่าจะมีคนเห็นคุณค่าของผลงานของสุเชาว์ จนเริ่มมีผู้นิยมซื้อหาไปสะสม เวลาในชีวิตของท่านก็เหลืออยู่ไม่มากแล้ว สุเชาว์นั่งอุดอู้ทำงานเงียบ ๆ คนเดียวในห้องแคบ ๆ ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันอยู่เป็นเวลานานจนร่างกายเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ในวัยใกล้จะ 60 สุเชาว์ค้นพบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายเป็นหนักจนเพื่อนที่มาเจอต้องหามส่งโรงพยาบาลก่อนที่อาการจะแย่ลงจนเป็นอัมพาตทั้งตัว 

ในช่วงเวลานั้นยังดีที่เพื่อน ๆ ที่รักสุเชาว์ ช่วยกันลงขันดูแลค่ารักษาพยาบาล แถมยังช่วยออกเรี่ยวออกแรงจัดนิทรรศการรวบรวมผลงานของสุเชาว์ขึ้นที่หอศิลป์ พีระศรี ในปลายปี พ.ศ. 2528 ภาพประวัติศาสตร์สุดสะเทือนใจภาพหนึ่งที่จะเป็นที่จดจำในวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยตลอดไปคือภาพพยาบาล เพื่อน ๆ ศิลปิน และนักสะสมงานศิลปะ ค่อย ๆ เข็นเตียงพยาบาลพาสุเชาว์ที่นอนนิ่งไม่ไหวติงให้ได้ชมนิทรรศการผลงานของท่านเอง สุเชาว์ไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือพูดจาสื่อสารกับใครได้ ท่านแสดงความรู้สึกได้เพียงทางแววตา ที่มีทั้งทุกข์จากโรคภัยที่สร้างความทรมานอย่างแสนสาหัส และสุขจากน้ำใจที่มิตรสหายรอบข้างมอบให้ หลังจากงานแสดงครั้งนั้นไม่นานสุเขาว์ก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2529 

ตลอดชีวิตสุเชาว์ต้องอยู่อย่างแร้นแค้นเพราะการวาดภาพไม่เคยสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ แต่หลังจากที่สุเชาว์เสียชีวิตไปแล้วภาพวาดสีน้ำมันแบบเดียวกับที่ท่านวาดส่งแกลเลอรีในราคาชิ้นละหลักร้อยหลักพันนั้น กลับกลายเป็นผลงานศิลปะชั้นครูที่ซื้อขายกันในราคาชิ้นละหลักแสนหลักล้าน และพอภาพวาดของสุเชาว์เริ่มจะมีราคาสูงปรี๊ดก็ดันมีมิจฉาชีพพากันก๊อปปี้ผลงานของท่านออกมาเร่ขายกันให้เกร่อ 

‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ’ ศิลปินผู้ระบายความหดหู่ของชีวิตผ่านงานศิลปะ

โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมกับสุเชาว์เสียเหลือเกิน ไม่สิ้นเวรสิ้นกรรมกันเสียที

 

เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: The Art Auction Center