01 เม.ย. 2567 | 15:16 น.
KEY
POINTS
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ณ บ้านเรือนไทยหลังคาแฝดริมคลองภาษีเจริญ นายคิ่ว และนางแม้น ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่ชื่อ ‘สวัสดิ์ ตันติสุข’ ครอบครัวเชื้อสายจีนไหหลำนี้มีสมาชิก 5 คน คือพ่อแม่ และลูกชาย 3 คน โดยสวัสดิ์เป็นลูกคนกลาง
ในสมัยนั้นครอบครัวของสวัสดิ์มีรายได้หลักมาจากการเก็บผัก ผลไม้ จากสวนที่ปลูกเอง ขนใส่เรือไปขายให้ชาวบ้านร้านตลาดในย่านนั้น เมื่อโตขึ้นหน่อยสวัสดิ์ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดรางบัว ก่อนจะเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
ในปีพ.ศ. 2483 สวัสดิ์สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างตามพี่ชาย และเพื่อน ๆ พี่ที่สนิทกัน สวัสดิ์เห็นว่าบัณฑิตที่จบจากเพาะช่างนอกจากจะมีงานมีการที่มั่นคง ยังมีสิทธิ์บรรจุเข้ารับราชการ และได้บรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวงบ้าง คุณพระบ้าง พระยาบ้าง ก็ดูเท่ห์ไม่หยอก
ในชั้นเรียนสวัสดิ์เริ่มจะฉายแววแหวกแนวไม่เหมือนใครเพราะเป็นคนกล้าที่จะใช้สีสันฉูดฉาดระยิบระยับแบบที่เพื่อนคนอื่น ๆ เขาไม่ทำกัน
แต่แทนที่จะโดนดุเพราะหลุดกรอบ ‘แนบ บังคม’ ครูผู้สอนในขณะนั้นกลับชมเชยผลงานของสวัสดิ์ว่าใช้สีแปลกกว่าคนอื่น แล้วเอาไปเแสดงเป็นตัวอย่างหน้าชั้น นี่จึงเป็นกำลังใจอย่างยิ่งยวดให้สวัสดิ์กล้าเล่นกับสีที่ฉูดฉาดและพัฒนาผลงานต่อ ๆ มาจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้
สวัสดิ์เป็นนักเรียนอัฉริยะสอบได้ที่ 1 อยู่บ่อย ๆ จึงเรียนจบจากเพาะช่างได้แบบสบายๆในปี พ.ศ. 2485
และด้วยความอยากรู้อยากเห็นที่จะเข้าใจศิลปะให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในปีพ.ศ. 2486 สวัสดิ์จึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เพิ่งเปิดรับนักศึกษาเป็นรุ่นแรก สมัยนั้นมี ‘พระยาอนุมานราชธน’ เป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย และมี ‘อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี’ เป็นคณบดี
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สวัสดิ์ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ แนวคิด ของศิลปะ ทั้งตะวันตก และไทย และได้เรียนรู้อีกว่า เมื่อศิลปินฝึกฝนฝีมือจนช่ำชองจนนึกจะวาดอะไรก็วาดได้แล้ว การวาดภาพก็ไม่ได้สักแต่จะต้องวาดให้เหมือนตามที่ตาเห็นอีกต่อไป เพราะถ้าจะเอาให้เหมือนอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับกล้องถ่ายภาพ
ผลงานศิลปะที่ดีต้องสามารถแสดงความรู้สึกประทับใจของผู้สร้างสรรค์ออกมา อย่างเช่นถ้าจะวาดดอกไม้ซักช่อ ความยากไม่ใช่การวาดให้เหมือน แต่จะวาดอย่างไรให้ความสดชื่นและหอมตลบอบอวลของมวลหมู่ดอกไม้ที่ผู้วาดสัมผัสได้ในห้วงเวลานั้นถูกผนวกเก็บเอาไว้ในภาพ จนผู้ที่มาเห็นภาพนี้ในภายภาคหน้าสามารถรู้สึกไปได้ด้วยชั่วกัปชั่วกัลป์ อย่างนี้สิถึงจะเรียกว่าวิเศษ
หลังจากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ 3 ปี สวัสดิ์ก็สอบได้อนุปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตดั่งใจหวัง แถมพอเรียนจบก็ไม่ต้องไปเดินเตร็ดเตร่หางานทำที่ไหน เพราะอาจารย์ศิลป์ท่านจัดแจงฝากสวัสดิ์ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างตรี แผนกหัตถะศิลปะ กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
สวัสดิ์ทำงานราชการที่ได้รับมอบหมาย ควบคู่ไปกับการมาช่วยอาจารย์ศิลป์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย แม้จะงานยุ่งแค่ไหนสวัสดิ์ก็ยังคงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง และไม่พลาดที่จะส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ริเริ่มอย่างสม่ำเสมอ
สวัสดิ์ได้รับรางวัลจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติตั้งแต่ครั้งแรกเรื่อยมาจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม (สาขาจิตรกรรม) ในปีพ.ศ. 2498
ในปีถัดมาสวัสดิ์ก็ได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี ในขณะที่ร่ำเรียนอยู่ในดินแดนมักกะโรนีเป็นเวลา 4 ปี สวัสดิ์พัฒนาทักษะทางด้านศิลปะขึ้นเป็นทวีคูณจนเก่งกาจไม่แพ้ฝรั่ง พิสูจน์ได้จากรางวัลชนะเลิศที่คว้ามาได้การประกวดผลงานศิลปะในอิตาลีหลายรางวัล เช่นรางวัลเหรียญทอง การแสดงงานจิตรกรรม เมืองราเวนนา อิตาลี ในปีพ.ศ. 2502 และรางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรมมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรมในปีพ.ศ. 2503
ก่อนกลับเมืองไทย สวัสดิ์ยังได้แสดงฝีไม้ลายมือฝากไว้ให้เป็นที่กล่าวขานในนิทรรศการเดี่ยวที่จัดขึ้นในโรม และมิลาน ผลงานศิลปะของสวัสดิ์ในยุคที่ไปเรียนที่ยุโรปนี่แหละว่ากันว่าเป็นผลงานชุดที่ยอดเยี่ยมที่สุดของท่าน ผลงานในยุคนี้มักเป็นภาพสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์ที่สวัสดิ์เกิดความประทับใจระหว่างที่ได้ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ ในประเทศอิตาลี
เมื่อกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง สวัสดิ์นำความรู้จากยุโรปมาริเริ่มบุกเบิกการวาดภาพสไตล์ ‘แอบสแตรก’ (Abstract) หรือ ศิลปะแบบนามธรรมเป็นคนแรก ๆ ของบ้านเรา
ศิลปะประเภทนี้มุ่งเน้นที่จะแสดงความรู้สึกของศิลปิน โดยใช้สีสัน น้ำหนัก รวมกันให้เกิดเป็นภาพ ศิลปะแบบนามธรรมนี้หากดูเผิน ๆ เหมือนจะวาดง่าย ละเลงสีมั่ว ๆ เดี๋ยวก็เป็นภาพนามธรรมได้เอง แต่จริง ๆ แล้วการที่จะสร้างสรรค์ภาพสไตล์นี้ให้ดูกลมลืน ลึกซึ้ง ลงตัวไม่ขัดตา และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างที่สวัสดิ์สามารถทำได้จนเป็นที่ยอมรับนั้น นับเป็นเรื่องยากสุด ๆ
สวัสดิ์ใช้เวลาเกือบครึ่งศตวรรษทำงานให้กับวงการศิลปะไทยอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ท่านเป็นทั้งศิลปิน อาจารย์ วิทยากร กรรมการตัดสินศิลปะ ผู้บริหารสถาบัน และอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปด
สวัสดิ์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2528 ด้วยลูกศิษย์ลูกหาที่นับหน้าไม่ถ้วน และคุณูปการสร้างไว้อันเหลือจะคณานับ สวัสดิ์จึงได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2534
หลังเกษียณ สวัสดิ์ยังคงมีความสุขกับการวาดภาพทั้งสีน้ำและสีน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ท่านสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งในสตูดิโอที่บ้าน และเดินทางออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งตามวัดวา ป่าเขา เกาะแก่ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจโดยยึดถือคติที่ว่า ศิลปะต้องทำอย่างมีความสุข ไม่เกร็ง อย่าตั้งใจเกินไป และจงสนุกไปกับมัน
เช่นเวลาวาดภาพสีน้ำอยู่นอกสถานที่แล้วเกิดฝนตกมีละอองน้ำปลิวมาโดนภาพ ถ้าเป็นเราคงเก็บข้าวของหนีหัวซุกหัวซุน แต่สำหรับสวัสดิ์ท่านกลับมองเป็นเรื่องดีเพราะมีเทวดามาช่วยวาด หลายครั้งหลายคราที่ท่านปล่อยให้ละอองฝนผสมไปกับสี เกิดเป็นดอกเป็นดวงตรงนั้นตรงนี้บนภาพ ให้อารมณ์ความงามไปอีกแบบ
ในวัยชราสวัสดิ์ก็ยังคงวาดภาพ พร้อม ๆไปกับการใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างท่ามกลางลูกหลานที่ท่านรัก จนในที่สุดฟ้าดินก็พราก ‘สวัสดิ์ ตันติสุข’ ไปในวัย 84 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552
เรื่อง : ตัวแน่น
ภาพ : https://theartauctioncenter.com