13 พ.ค. 2567 | 16:41 น.
KEY
POINTS
เฮลิคอปเตอร์พา ‘สตีเฟน วิลต์เชียร์’ (Stephen Wiltshire) ขึ้นไปบนฟ้า เขาบินวนอยู่เหนือมหานครนิวยอร์กราว 20 นาที แล้วก็ลงมาวาดรูปเมืองทั้งเมืองออกมาจากความทรงจำ ในอีก 3 วันต่อมา ลายเส้นปากกาบนผืนผ้าใบยาว 4 เมตร ก็แสดงรายละเอียดของถนนทุกเส้น ตรอกทุกตรอก อาคารทุกหลัง ที่สตีเฟนเห็นผ่านตาในเสี้ยวนาที
‘ทนายอูยองยู’ จากซีรีส์ชื่อดัง ‘Extraordinary Attorney Woo’ เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นภาพจำของผู้ป่วย ‘ออทิสติกสเปกตรัม’ อันมีความจำดีเลิศ สามารถจดจำรายละเอียดบนหน้ากระดาษจากการอ่านเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้เธอกลายเป็นทนายความมากความสามารถ
สิ่งคล้ายกันนี้ก็เป็นพรสวรรค์ของ ‘สตีเฟน วิลต์เชียร์’ ผู้ป่วยออทิสติกผู้วาดรูปเมืองทั้งเมืองจากการมองเห็นและจดจำรายละเอียดได้ในเสี้ยวนาที ร่วมกับทักษะศิลปะ ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในศิลปินชาวอังกฤษที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก และได้รับคำเชิญให้เดินทางไปวาดรูปเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ชนิดที่ต้องจองคิวงานนานถึงครึ่งปี
‘แม่’ อาจเป็นคำแรกในชีวิตของเด็กหลายคน แต่ไม่ใช่สำหรับสตีเฟน เด็กชายผิวดำจากลอนดอนคนนี้ไม่ยอมสบตาผู้เป็นแม่ เอาแต่นั่งหลบตรงมุมห้อง โยกตัวไปมา กรีดร้องเป็นครั้งคราว ไม่ยอมพูด และขังตัวเองอยู่ในโลกส่วนตัว อาการของเขารุนแรงขึ้นเมื่อพ่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ พออายุ 3 ขวบ แพทย์ก็วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคออทิสติก และ ‘ศิลปะ’ กลายเป็นเพียงอย่างเดียวที่เขาใช้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก
พออายุ 5 ขวบ เด็กชายได้เข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ คุณครูเห็นความหลงใหลในการวาดรูปของเขา จึงออกอุบายเอาอุปกรณ์ศิลปะไปซ่อนเพื่อบังคับให้เขาถามหา แล้วก็เป็นไปตามคาด เด็กชายส่งเสียงร้องหาของรักและเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดคำแรกในชีวิต ‘กระดาษ’
พัฒนาการทางการพูดของเขาเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป กว่าเขาจะพูดได้อย่างเต็มที่ก็อายุ 9 ขวบ สวนทางกับทักษะทางศิลปะที่เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยเส้นสายและมุมมองที่น่าอัศจรรย์ เขาหลงใหลการวาดรูปสรรพสัตว์ ภาพคุณครูที่โรงเรียน ภาพรถยนต์ ตึกรามบ้านช่องในลอนดอน และในวันหนึ่งเมื่อพี่สาวพาเขาไปบ้านเพื่อนบนตึกชั้น 14 วิวทิวทัศน์ของเมืองใหญ่จากมุมสูงก็ทำให้เขาหลงใหลไปกับมัน
ด้วยความหลงใหลในอาคารสูงนี้เอง คุณครูที่โรงเรียนเลยใช้เป็นกลยุทธ์ในการสอนให้เขาจดจำ A ถึง Z โดยเชื่อมโยงกับอาคาร เช่น A คือ Albert Hall, B คือ Buckingham Palace และ Z คือ Zoo จนเด็กชายซึ่งมีไอคิวเพียง 60 เรียนรู้ที่จะเขียนหนังสือได้ในที่สุด
คุณครูท่านหนึ่งที่โรงเรียนสนใจในตัวเด็กชายสตีเฟนเป็นพิเศษ เขาพาเด็กน้อยออกทริปวาดรูปและส่งผลงานเข้าประกวดศิลปะจนได้รับรางวัลมากมาย สื่อต่างให้ความสนใจในความสามารถของสตีเฟน ความดังของเขาไปเข้าหูนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และมอบหมายงานให้เขาวาดรูปอาสนวิหารซอลส์บรีตั้งแต่เขาอายุเพียง 8 ขวบ
ระหว่างถ่ายทำสารคดีรายการหนึ่ง อดีตผู้อำนวยการ London's Royal Academy of Arts ถึงกับเอ่ยชมเขาว่า “นี่คงเป็นศิลปินเด็กที่เก่งที่สุดในสหราชอาณาจักร” และแนะนำให้เขารู้จักกับตัวแทนสิ่งพิมพ์ผู้ช่วยเหลือเข้าในการออกผลงานรวมเล่มครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี และพาเขาออกเดินทางไปเห็นอาคารบ้านเรือนนอกประเทศเป็นครั้งแรกที่นครนิวยอร์ก และหลังจากนั้นสตีเฟนก็ได้ออกทริปเดินทางไปยังอีกหลายเมือง
พรสวรรค์ในการจดจำ การถ่ายทอดรายละเอียดที่ซับซ้อน รวมทั้งการสะท้อนอารมณ์บรรยากาศของอาคารลงมาในลายเส้นของเขาได้ดึงดูดฝูงชนในทุกที่ที่เขาไป สตีเฟนได้ออกหนังสือรวมผลงานออกมาอีก 3 เล่ม ตอนอายุ 15, 17 และ 19 ปี และในวัยเพียงเท่านี้ เขามีผลงานจัดแสดงอยู่ทั่วโลก
ตอนอายุ 27 ปี สารคดีทางช่อง BBC ของอังกฤษท้าทายสตีเฟนด้วยการพาเขาขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อชมทิวทัศน์ลอนดอนจากมุมสูง แล้วให้เขาวาดรูปย่อส่วนของเมืองขนาด 10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสตีเฟนวาดภาพเสร็จในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง
อีก 4 ปีต่อมา เขาก็ถูกท้าทายอีกครั้งด้วยโจทย์สเก็ตภาพแบบพาโนรามาวิวกรุงโตเกียวลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่สุดในชีวิต ยาว 10 เมตร แล้วก็ตามมาด้วยโรม ฮ่องกง แฟรงเฟิร์ต มาดริด ดูไบ เยรูซาเลม ลอนดอน ซิดนีย์ เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก และอีกหลายเมืองในทุกมุมโลก
นอกจากอาคารสถาปัตยกรรมแล้ว เขายังชื่นชอบวาดภาพบุคคลในอิริยาบทต่าง ๆ ที่เขากดชัตเตอร์ในสมองบันทึกลงบนความทรงจำ และอัดภาพนั้นลงบนกระดาษผ่านดินสอกับปากกา จนสื่อตั้งฉายาให้เขาว่า ‘The Human Camera’
เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ สตีเฟนยังคงมีการพูดเนิบช้า ไม่ปะติดปะต่อ ลงลึกในรายละเอียดมากไม่ได้ แต่ก็ปรากฏรอยยิ้มอ่อนโยนในทุกคำพูดของเขา การสื่อสารด้วยคำพูดยังคงไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัด แต่การสื่อสารด้วยภาพกลับพาเขาไปไกลจนจบปริญญาเอกสาขาจิตรกรรมและภาพพิมพ์ ตอนอายุเพียง 24 ปี
สตีเฟนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเขาอายุ 32 ปี จากผลงานที่สร้างไว้แก่โลกศิลปะ เหตุการณ์นี้นับเป็นเกียรติอย่างสูง และทำให้แม่และพี่สาวของเขาถึงกับหลั่งน้ำตา
“เพราะพวกเราทำงานหนักกันมากเพื่อให้เขามีวันนี้”
ปลายปีเดียวกัน สตีเฟนก็ได้เปิดแกลเลอรีถาวรของตัวเองแห่งแรกขึ้นด้วยความช่วยเหลือของพี่สาวและสามีของเธอ โดยทั้งคู่เป็นผู้จัดการแกลเลอรีและดูแลด้านการเงินให้กับเขา
เขายังคงเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพเมืองและวาดมันออกมาอย่างต่อเนื่องโดยมีพี่สาวเคียงข้าง นิทรรศการที่มีการแสดงสดโชว์การวาดรูปพาโนรามามุมสูงของสิงคโปร์จากความทรงจำที่เขานั่งเฮลิคอปเตอร์บินเหนือเกาะอยู่ 1 ชั่วโมง ดึงดูดผู้เข้าชมได้ถึง 150,000 คน ภายในเวลา 5 วัน
ด้วยความสามารถและความโด่งดังของสตีเฟน คิวจองตัววาดรูปของเขายาวครึ่งปี ไม่มีราคาระบุสำหรับภาพพาโนรามาขนาดยักษ์ แต่แค่ราคาภาพต้นฉบับขนาด A4 ที่วางขายอยู่บนเว็บไซต์ของเขาก็อยู่ที่ราว 140,000 บาท ส่วนภาพขนาดใหญ่ที่สุดที่ขนาด A0 ราคาขายที่ 2.2 ล้านบาท
หากคุณได้มีโอกาสไปเยือนตึกเอ็มไพร์สเตท ภาพลายเส้นนิวยอร์กบนผนังของห้องชมทิวทัศน์ชั้น 80 ก็เป็นฝีมือสตีเฟนเช่นกัน
“สตีเฟนไม่เข้าใจเรื่องออทิสติก” พี่สาวของเขากล่าว
ในสารคดีชีวิตเขา ‘Billions of Windows’ เล่าถึงการทำงาน พรสวรรค์ ความรักในศิลปะ โดยแทบไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องความผิดปกติของเขาเลย เช่นเดียวกับประวัติส่วนตัวบนเว็บไซต์ของเขา ซึ่งเป็นไปตามความรู้สึกของสตีเฟนและความต้องการของคนรอบตัวที่อยากให้คนมองเขาเป็นศิลปิน มากกว่าเชื่อมโยงอัจฉริยภาพของเขาเข้ากับโรคออทิสติก
อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่โรคออทิสติกดูจะถูกให้ความสนใจต่อผู้ป่วยผิวขาวมากกว่า ทำให้ผู้ป่วยเชื้อชาติอื่นถูกละเลยและเข้าไม่ถึงบริการและความช่วยเหลือสำหรับบุคคลพิเศษ การเป็นศิลปินคนดังและคนผิวดำของสตีเฟนช่วยจุดประกายความหวังและแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยจากหลากพื้นเพได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษา ตัวเขาเองก็มักออกไปพบกลุ่มคนพิการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ศิลปะได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา
“ทำให้ดีที่สุดและอย่าหยุดทำ”
คือคำขวัญประจำใจที่พาสตีเฟนให้มาถึงวันนี้ และน่าจะเป็นคำบรรยายการกระทำที่มอบแด่คนรอบตัวเขาเช่นกัน เพราะในเรื่องราวความสำเร็จของอัจฉริยะ ยังมีคนข้างหลังที่ทั้งผลักทั้งดันเพื่อสร้างอัจฉริยะ และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ความเป็นอัจฉริยะเอาชนะข้อจำกัดทั้งปวง
เรื่อง: นิธิตา เฉิน
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
Stephen WiltshireMBE, Hon.FSAI, Hon.FSSAA
See This Incredible Artist Draw a Whole City From Memory
Stephen Wiltshire: An Autistic Artist With A Remarkable Gift
Revealed: How autistic genius Stephen Wiltshire drew his amazing picture of London's skyline
Like a Skyline Is Etched in His Head
Stephen Wiltshire Interview
'This was my form of language': the artist who draws cities from memory
The Foolish Wise Ones QED - 1986 Part 2 (of 2)