13 มิ.ย. 2567 | 16:29 น.
ไวน์แดงหรือเหล้าองุ่นสนิทชิดเชื้อกับโลกศิลปะมาอย่างยาวนาน โดยเป็นเครื่องดื่มที่อยู่ติดมือหรือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในภาพเขียนบนวัตถุโบราณมาตั้งแต่ในยุคกรีกโรมัน และ The Last Supper ก็เป็นหนึ่งในภาพเขียนที่เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของ Leonardo Da Vinci ศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ที่มีเครื่องดื่มที่เชื่อกันว่าคือไวน์แดงเป็นหนึ่งในอาหารบนโต๊ะในภาพเช่นกัน แล้วไวน์เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับดา วินชี?
เบื้องหลังภาพเขียน The Last Supper
คาดกันว่าภาพนี้วาดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1495 - 1498 เป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง (Fresco-secco หรือ a secco) ดา วินชี ได้รับว่าจ้างจาก ลูโดวิโค สฟอร์ซา ให้วาดจิตรกรรมบนฝาผนังของโบสถ์ ซานตา มาริอา เดลเล กราซี ในเมืองมิลาน
ภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูร่วมกับอัครสาวกทั้งสิบสองคน ก่อนที่ถูกนำตัวไปตรึงกางเขน ถือเป็นหนึ่งในภาพเขียนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นภาพที่ผ่านร้อนผ่านหนาวได้รับการบูรณะมาตลอดในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเปิดให้เข้าชมรอบเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ จำกัดเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น เพราะเป็นภาพที่เปราะบางและเพื่อช่วยชะลอการเสื่อมสภาพ
เมนูอาหารบนโต๊ะ The Last Supper
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและนักประวัติศาสตร์ ช่วยกันวิเคราะห์ว่าอาหารอะไรบ้างที่อยู่ในภาพนี้ สองสิ่งที่ปรากฏชัดเจนและได้รับการกล่าวถึงในพระคัมภีร์ด้วยคือ ขนมปังแบบไร้ยีสต์กับไวน์ โดยพระเยซูกล่าวเปรียบเทียบขนมปังเสมือนร่างกายและไวน์เสมือนเป็นพระโลหิตของพระองค์กับสาวกบนโต๊ะอาหารด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาของอาหารในพิธีศีลมหาสนิทนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีนักโบราณคดีสองคนชาวอิตาลี Generoso Urciuoli และ Marta Berogno ทำการศึกษาวิจัยและเปิดเผยว่า อาหารบนโต๊ะอย่างอื่นที่มองเห็นไม่ชัดเหล่านั้นน่าจะประกอบด้วย สตูว์ถั่ว เนื้อแกะ มะกอก สมุนไพรที่มีรสขม น้ำปลา และอินทผลัม
โดยพวกเขารวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิงจากพระคัมภีร์ งานเขียนของชาวยิวและโรมันโบราณ รวมทั้งข้อมูลทางโบราณคดี นอกจากนี้ประเมินจากพฤติกรรมการกินในกรุงเยรูซาเลมเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 ซึ่งในยุคนั้นคาดว่าจาน ชาม และเหยือกที่ใช้น่าจะทำมาจากหินหรือเครื่องปั้นดินเผาในยุคโรมันโบราณเนื้อดีสีแดง (Terra sigillata)
ที่มาที่ไปของไวน์แดงแก้วสุดท้ายในอาหารมื้อสุดท้าย
ผู้ที่ไขปริศนาของไวน์ในคืนพระกระยาหารคือคุณพ่อแดเนียล เคนดัลล์ ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาและพระคัมภีร์แห่งมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก เขากล่าวว่าน่าจะเป็นมื้ออาหารในพิธีเซเดอร์ ในระหว่างเทศกาลปัสกาของศาสนายิว เราจึงได้เห็นไวน์เป็นเครื่องดื่มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้
ในอดีตยังไม่ได้มีการระบุชื่อพันธุ์องุ่นไว้ในแบบปัจจุบัน แต่จากการวิเคราะห์ของ ดร.แพทริค แมคโกเวิร์น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และผู้อำนวยการโครงการโบราณคดีชีวโมเลกุลสำหรับอาหาร เครื่องดื่มประเภทหมัก และสุขภาพ ตีกรอบไว้ว่า น่าจะเป็นไวน์ที่มีความเข้มข้นมาก
โดยบริเวณใกล้กับกรุงเยรูซาเลมซึ่งคาดว่าเป็นสถานที่ตั้งของโต๊ะอาหารมื้อสุดท้ายในภาพนี้ ได้มีการขุดค้นพบขวดที่มีข้อความเขียนว่า ‘ไวน์ที่ทำจากลูกเกดดำ’ ซึ่งอาจหมายถึงไวน์ที่เอาองุ่นตากแห้งไว้บนเสื่อเพื่อทำให้เครื่องดื่มมีรสหวาน ทั้งนี้ในสถานที่ใกล้เคียงกัน ยังมีการพบขวดไวน์ที่มีป้ายกำกับว่า ‘ไวน์รมควัน’ และ ‘ไวน์เข้มข้นมาก’ ด้วยเช่นกัน
ถ้าเทียบกับไวน์ที่ใกล้เคียงในปัจจุบันน่าจะเป็น Amarone (อมาโรเน่) ซึ่งผลิตในบริเวณประเทศอิตาลีตอนเหนือ โดยใช้องุ่นตากบนเสื่อฟาง จึงทำให้ได้รสชาติเข้มข้น มีสีแดงเข้ม และเป็นเครื่องดื่มที่มีดีกรีสูง
นอกจากอัจฉริยภาพด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ของ ดา วินชี เขายังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคนรักไวน์ตัวพ่อเช่นกัน โดยความหลงใหลในไวน์ของเขาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในวัยเด็ก ที่ที่ซึ่งดา วินชี เติบโตขึ้นมาบริเวณหมู่บ้านในชนบทของเมืองทัสคานี ของเมืองดา วินชี เป็นหนึ่งภูมิภาคที่เหมาะกับการปลูกองุ่นของประเทศ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://leonardodavinci.it/en/leonardo-wine-lover/ ระบุว่า ลูโดวิโก อิล โมโร ว่าจ้างให้ ดา วินชี วาดภาพเขียน The Last Supper เพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่จะมอบไร่องุ่นให้เป็นของขวัญ ซึ่งต่อมาไร่แห่งนี้เป็นสินทรัพย์เพียงแห่งเดียวที่ได้รับการบันทึกไว้ในพินัยกรรมเมื่อเขาเสียชีวิต
หลังจากนั้นไร่องุ่นของ ดา วินชี ก็ยังคงผลิตไวน์อย่างต่อเนื่องอีกหลายร้อยปี จนมาโดนระเบิดวอดวายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นเหตุให้ไวน์รสชาติดั้งเดิมของดา วินชี หายสาบสูญไปกว่า 60 ปี จนเมื่อนักวิชาการและนักพันธุกรรมศาสตร์รื้อสูตรลับนี้ขึ้นมาอีกครั้งได้สำเร็จในปี 2007 โดยพบว่าสายพันธุ์องุ่นที่น่าจะใช้ในการปลูกคือ Malvasia di Candia Aromatica