แบคคัส ผลงานภาพเขียนของศิลปินผู้อื้อฉาวแห่งวงการศิลปะ ‘คาราวัจโจ’

แบคคัส ผลงานภาพเขียนของศิลปินผู้อื้อฉาวแห่งวงการศิลปะ ‘คาราวัจโจ’

แบคคัส (Bacchus, 1597) ผลงานภาพเขียนของศิลปินผู้อื้อฉาวแห่งวงการศิลปะ ‘คาราวัจโจ’

มิเกลันเจโล เมรีซี ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) หนึ่งในศิลปินชาวอิตาลีที่มีประวัติผลงานและอาชญากรรมโชกโชนคนหนึ่งของวงการ เขาเกิดปลายยุคเรอเนสซองส์ และเติบโตโลดแล่นในวงการเป็นศิลปินคนสำคัญแห่งยุคบาโรก (ศตวรรษที่ 17) นอกจากชื่อเสียงและความโด่งดังที่ถาโถมเข้ามาหาตั้งแต่ยังเด็ก ‘คาราวัจโจ’ ยังสะสมข้อหาติดตัวมากมาย ร้ายแรงขนาดมีโทษประหารชีวิตจนต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนจากกรุงโรม แล้วมาจบชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยที่เมืองปอร์โต แอร์โกเล ในวัย 38 ปี (ค.ศ. 1571 - 1610)

โดยภาพเขียน แบคคัส (Bacchus, 1597) เทพแห่งไวน์ของชาวโรมันถือเป็นหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของเขา นักวิชาการบางสายคาดว่าภาพนี้อาจเป็นภาพที่คาราวัจโจ วาดขึ้นจากภาพเหมือนของตัวเองที่สะท้อนผ่านกระจก แม้เป็นภาพที่ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องแสงเงาสุดขั้วแบบผลงานอื่น ๆ ของเขา ตามเทคนิคที่เรียกว่า Tenebrism ซึ่งช่วยสร้างความดรามาติกอันเป็นลายเซ็นที่โดดเด่น แต่ก็เป็นภาพที่แฝงไปด้วยนัยสำคัญที่ต้องตีความหมายได้หลายแง่มุม

เทพแห่งไวน์สื่อถึงความสมบูรณ์และมั่งคั่งมั่งมี ตามความเชื่อเล่าว่าเป็นเทพที่รักความสนุกสนานร่าเริง ชอบกินดื่มจนไปค้นพบว่าสามารถเอาองุ่นมาทำเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติดีได้ไม่แพ้กัน แม้จะใจดีกับคนที่เข้ามานิยมชื่นชม แต่ถ้าใครตั้งแง่ต่อต้านก็จะร้ายกลับแบบไม่ปรานี ตามความเชื่อของชาวกรีก เทพแห่งไวน์ใช้ชื่อว่า ดิโอนิซุส (Dionysus) 

นอกจากนี้สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ให้ความสนใจคือความสมจริงซึ่งมักไม่ได้เห็นในภาพเขียนเทพเจ้าในยุคเรอเนสซองส์ทั่ว ๆ ไป ที่เน้นวาดให้เทพมีความสมบูรณ์แบบหมดจด โดยถ้าซูมไปที่นิ้วมือของภาพแบคคัส Bacchus (1597) เวอร์ชันของคาราวัจโจ จะเห็นความบกพร่อง ความสกปรกในซอกเล็บของตัวแบบและผลไม้ที่เน่าเปื่อยก็ยังตีความได้ถึงการสะท้อนชีวิตเกเร เสเพล ของเขาออกมา 

โดยมีหลายทฤษฎีว่ากันว่าตัวแบบที่เขาเลือกมา เป็นเด็กหนุ่มข้างถนนที่มีรูปร่างกำยำถูกจับมาแต่งตัวให้มีลักษณะเหมือนชาวโรมันโบราณ สวมมงกุฎดอกไม้ที่มีทั้งใบไม้และผลองุ่น ในมือถือแก้วไวน์ใบโตด้วยนิ้วที่กรีดกราย ข้าง ๆ มีขวดโหลใส่ไวน์วางตั้งอยู่ เบื้องหน้ามีชามผลไม้ต่าง ๆ อาทิ (แพร์, แอปเปิล, องุ่น และทับทิม) วางไว้อยู่พูนชามนั้น นอกจากความหมายโดยตรงที่ต้องการสื่อถึงแบคคัส เทพแห่งไวน์แล้วนั้น อากัปกิริยา สีหน้า ท่าทางของตัวแบบที่เขาถ่ายทอดออกมามีความเย้ายวนและเชิญชวนให้คิดถึงแรงปรารถนาทางเพศ 

โดยในตะกร้าผลไม้ในภาพนั้นมีผลทับทิมและแอปเปิลที่เน่าเปื่อย ซึ่งตีความได้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของความเยาว์วัยและวันเวลาแห่งความสุขที่มีช่วงอย่างจำกัด เมื่อถึงวัยก็ย่อมร่วงโรยและเปี่อยเน่าบุบสลาย ตายไปตามสัจธรรมชีวิต

แม้ชีวิตของคาราวัจโจ จะโลดโผนเสี่ยงตะรางขนาดไหนก็ยังมีผู้อุปถัมภ์คนสำคัญที่สะสมภาพเขียนของเขาเอาไว้จำนวนมาก กลายเป็นแฟนคลับเบอร์หนึ่งของเขานั่นก็คือ ฟรันเชสโก มารีอา เดล มอนเต ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนกล่าวว่า ภาพเขียนแบคคัส Bacchus (1597) นอกจากสื่อถึงเทพแห่งไวน์และสัจธรรมชีวิตแล้ว ยังมีนัยถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศในยุคสมัยนั้นด้วยเช่นกัน ปัจจุบันภาพเขียนนี้จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซี เมืองฟลอเรนซ์

แต่สำหรับใครที่เป็นไวน์เลิฟเวอร์ตัวจริงน่าจะรู้จักกับบัญญัติ 10 ประการของแบคคัส (Bacchus’s Ten Commandments) ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเบื้องต้นที่ส่งทอดต่อกันมา อย่างไรก็ตาม กฎต่าง ๆ เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ายุคสมัยและบริบทแวดล้อม ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. ดื่มไวน์ประเภทดราย (dry) ไม่หวานก่อนดื่มไวน์ประเภทหวาน
  2. ดื่มไวน์ขาวก่อนไวน์แดง
  3. ดื่มไวน์ใหม่ก่อนไวน์เก่า
  4. ดื่มไวน์ที่มีบอดีเบาบางก่อนไวน์ที่มีบอดีหนักแน่น
  5. ดื่มไวน์ตัวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าหรือเย็นกว่าก่อน
  6. ดื่มไวน์แดงกับอาหารประเภทเนื้อสีแดง และดื่มไวน์ขาวกับอาหารประเภทเนื้อสีขาวและอาหารทะเล
  7. เลือกใช้แก้วไวน์ให้เหมาะกับประเภทของไวน์
  8. ใช้น้ำหรือขนมปังล้างปากล้างคอ เมื่อมีการเปลี่ยนไวน์ตัวใหม่ และเปลี่ยนแก้วไวน์ทุกครั้ง
  9. เลือกไวน์ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
  10. ไวน์ชั้นดี มีไว้ให้แบ่งปัน มิควรดื่มเพียงคนเดียว