‘เขียน ยิ้มศิริ’ เจ้าของ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ วิวัฒนาการสร้างสรรค์ประติมากรรมไทย

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เจ้าของ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ วิวัฒนาการสร้างสรรค์ประติมากรรมไทย

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เจ้าของ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ที่เปรียบดั่งวิวัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมไทย

KEY

POINTS

  • เรื่องราวชีวิตและประวัติการศึกษาของ ‘เขียน ยิ้มศิริ’ 
  • ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ เป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขียนมากที่สุด และเปรียบเสมือนวิวัฒนาการสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในประเทศไทย

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เป็นบุตร นายเขียว และนางสงวน ยิ้มศิริ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2465 ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ ย่านบางกอกน้อย เขียนเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนอัมรินทร์โฆษิต เพราะชอบศิลปะเลยสอบเข้าที่โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม พอจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2485 เขียนในวัยรุ่นสมัครเข้ารับราชการในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้กลายเป็นศิษย์มือขวาของ ‘ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี’ โดยช่วยสอนศิลปะในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังพัฒนาจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร 

ระหว่างรับราชการ เขียนได้รับทุนจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อไปเรียนต่อสาขาประติมากรรมที่โรงเรียนศิลปะเชลซี ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เวลานั้น ‘เฮนรี มัวร์’ ประติมากรชื่อดังคับฟ้าเป็นผู้กำกับการสอน หลังเรียนจบจากอังกฤษอีกไม่กี่ปีเขียนก็ได้รับทุนของรัฐบาลอิตาลีให้ไปเรียนต่อด้านประติมากรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรมอีก 

เมื่อกลับมาเมืองไทย เขียนกลับเข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความสามารถและความขยันขันแข็ง เขียนได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ  จนในปี พ.ศ. 2507 ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาประติมากรรมในขณะนั้น เขียนต้องขึ้นรับตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อจากศาสตราจารย์ศิลป ที่ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน และอีกไม่นานอีกเพียงแค่ 7 ปีหลังจากนั้น เขียนก็เสียชีวิตในวัยเพียง 49

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เจ้าของ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ วิวัฒนาการสร้างสรรค์ประติมากรรมไทย

งานศิลปะของ เขียน ยิ้มศิริ ในยุคแรก ๆ สมัยที่เรียนจบมาใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมแบบเหมือนจริง เขียนปั้นเจ้านายในวัง พระสงฆ์องค์เจ้า และบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย เขียนได้รับคำชมอยู่เนือง ๆ เพราะนอกจากผลงานจะเหมือนจริงแล้วยังสามารถแสดงอารมณ์ออกมาอย่างกับมีชีวิต

หลังจากนั้นเขียนค่อย ๆ พัฒนารูปแบบประติมากรรมให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากงานศิลปะไทยสมัยบรรพบุรุษ เขียนหลงใหลในเส้นสายที่สวยงามดั่งสวรรค์บันดาลของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และชอบความอิสระและจริงใจในการแสดงอารมณ์ของตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตาฝีมือชาวบ้านที่ปั้นด้วยดินแบบง่าย ๆ เป็นรูปคนในอิริยาบทต่าง ๆ เพื่อใช้ในพิธีทางไสยศาสตร์ เขียนได้คิดค้นวิธีนำเอาลักษณะไทย ๆ อันมีเสน่ห์เหล่านี้มาสร้างสรรค์ให้กลมกลืนไปกับอิทธิพลศิลปะสมัยใหม่จากตะวันตก ที่มีการลดทอนรายละเอียดยุบยิบ และเน้นให้ความสำคัญกับรูปทรงและเส้นสาย อารมณ์ไทยสไตล์ฝรั่งปะติดปะต่อกันอุตลุด แต่ลงตัวอย่างน่าพิศวง เกิดเป็นผลงานรูปแบบสากลที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครแถมยังล้ำหน้าเกินยุคเกินสมัย 

ผลงานสำคัญในรูปแบบสมัยใหม่ที่ เขียน ยิ้มศิริ สร้างสรรค์ขึ้นมาและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมีอยู่หลายชิ้น โดยผลงานที่เป็นตำนาน และสร้างชื่อเสียงให้กับเขียนมากที่สุดนั้นมีชื่อว่า ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ซึ่งเปรียบเสมือนวิวัฒนาการสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในประเทศไทย หากลองมาไล่เรียงประวัติศาสตร์การปั้นรูปในดินแดนสุวรรณภูมิ แรกเริ่มเดิมทีผลงานส่วนใหญ่มักทำขึ้นมาเพื่อส่งเสริมศาสนาในรูปแบบของพระพุทธรูป โดยจุดกำเนิดของการสร้างรูปเคารพในศาสนาพุทธนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว 600 ปี หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในพื้นที่แถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย
 

สมัยนั้น ศิลปินผู้สร้างไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นจากมโนคติ ใส่ลักษณะต่าง ๆ ที่ว่าดีที่ว่างามตามคัมภีร์มหาบุรุษลงไปเช่น มีใบหูยาน, มีอุณาโลมแปะอยู่กลางหน้าผาก, และมีลายบนฝ่ามือเป็นรูปธรรมจักร ส่วนรูปแบบก็ออกมาดูเป็นฝรั่งจ๋า เพราะศิลปินได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากกรีก และโรมัน พระพุทธรูปสไตล์นี้ที่เรียกว่า ‘คันธาระ’ จึงมี จมูกโด่ง, ปากเล็ก, ผมหยักศกขมวดเป็นมวย, ห่มผ้าหนา ๆคลุมบ่าทั้ง 2 ข้าง, และเพื่อให้ดูศักดิ์สิทธิ์จึงมีการเติมวงรัศมีรอบศีรษะแบบเดียวกับเทพอพอลโลของกรีกเข้าไปอีก 

พระพุทธรูปยุคแรกสุดนี้เน้นความสมจริง ศิลปินใส่ใจรายละเอียดทั้งสีหน้า สัดส่วนร่างกาย แม้กระทั่งรอยยับย่นของผ้า จนผลงานออกไปทางแนวเรียลลิสม์ดูเหมือนมนุษย์ที่มีชีวิต ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมการสร้างพระพุทธรูปค่อย ๆ ถูกเผยแพร่ไปยังภูมิภาคโดยรอบ ศิลปินที่มีพื้นเพแตกต่างกันไปจึงเริ่มปรับเปลี่ยน ลดทอนพระพุทธรูปแบบเดิม ให้ดูเป็นทิพย์ ละทิ้งความสมจริง เบนออกไปทางแนวอุดมคติมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบต่าง ๆ รวมถึงแบบของบ้านเราเองที่เอามาพัฒนาต่อในสมัยทวาราวดี, ลพบุรี, สุโขทัย, อยุธยา, เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ 

อีกสาเหตุที่ผลงานประติมากรรมในอดีตของไทยมีแต่พระพุทธรูปเป็นหลัก เพราะบ้านเมืองเรามีความเชื่อแต่โบร่ำโบราณว่าการสร้างรูปเหมือนใครก็แล้วแต่ขึ้นมาจะทำให้ชีวิตคนผู้เป็นแบบนั้นสั้น หรือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเอาไปทำคุณไสยเสกอะไรต่อมิอะไรมาเข้าตัวเจ้าของแบบได้ ยิ่งผลงานประเภทที่ต้องเทหล่อสุมไฟให้ร้อนยิ่งห้ามใหญ่ เพราะเป็นการอุปมาอุปมัยว่าเป็นการนำผู้นั้นไปเผา เราเลยไม่นิยมสร้างประติมากรรมรูปบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีชีวิตกัน 

ความเชื่อทำนองนี้ฝังรากลึกมาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนเพิ่งเริ่มจะเสื่อมคลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยุคที่อารยธรรมจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามายังสยามประเทศอย่างเชี่ยวกราก หลังจากนั้นเป็นต้นมาประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลจึงเริ่มเห็นกันมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็นิยมกันในแบบเรียลลิสม์ก่อน ประมาณว่าผลงานประติมากรรมที่ดีที่สุดก็คือผลงานประติมากรรมที่ดูเหมือนจริงที่สุด นับว่ายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ในขณะที่ประติมากรรมแนวพระพุทธรูปของไทยได้หลุดพ้นจากจุดนี้ไปไกลแล้ว

นับว่าผลงานเสียงขลุ่ยทิพย์คือก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ประติมากรรมที่ศิลปินไทยสร้างขึ้นมานั้นถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทอย่างชัดเจนอย่างที่เล่าไว้ คือถ้าเป็นพระพุทธรูปก็จะเป็นแนวเหนือโลกไปเลย ไม่ลอกเลียนธรรมชาติ ส่วนประเภทรูปบุคคลก็ต้องดูสมจริง โดยช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 - 7 ก็จะเน้นสร้างรูปพระมหากษัตริย์ และเจ้านายให้เหมือนที่สุด เพื่อใช้ประดับประดาปราสาทราชวัง หรือนำไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้กราบกราน แม้แต่หลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ประติมากรรมที่ถูกสร้างขึ้นถึงจะเปลี่ยนเป็นรูปประชาชนคนธรรมดา ทั้งชาย ทั้งหญิง ก็ยังยึดโยงอยู่กับสไตล์เรียลลิสม์ ที่แสดงอารมณ์ มัดกล้ามทรวดทรงองค์เอว เหมือนจับมนุษย์มนามายืนโพสต์ท่าอยู่ตรงนั้นจริง ๆ 

ผ่านมาเป็นเวลานานยังไม่มีใครเอาคอนเซ็ปท์ทั้ง 2 ประเภทนี้มาหล่อหลอมรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างจริง ๆ จัง ๆ ซักครั้ง จนกระทั่งเขียนเกิดไอเดียบรรเจิดตัดสินใจนำเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งขึ้นชื่อว่างามลงตัวที่สุดไม่มากไม่น้อยเกินไป  มาผสมผสานกับแนวคิดการสร้างสรรค์ประติมากรรมรูปบุคคลธรรมดาในอิริยาบถที่น่าสนใจ เกิดเป็นผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ที่เหมาะเจาะทันยุคทันสมัย

เริ่มจากไอเดียคร่าว ๆ ที่สเก็ตช์ไว้ในกระดาษ ซึ่งดูแล้วค่อนข้างจะห่างไกลกับรูปปั้นเสียงขลุ่ยทิพย์ที่เราคุ้นตา หลังจากนั้นเขียนก็ปั้นขึ้นรูปด้วยดินโดยละทิ้งรายละเอียดกล้ามเนื้อที่สมจริง แต่เน้นความลื่นไหลประสานสัมพันธ์กันของเส้นสาย และความเรียบเนียนของผิวสัมผัส จนบังเกิดกำเนิดเป็นประติมากรรมรูปชายไทยหุ่นเพรียวลมนั่งขัดสมาธิประคองขลุ่ยไว้อย่างละเมียด ทั้งนิ้วมือและนิ้วเท่าพลิ้วไหวเหมือนแทบจะกระดิกได้ ลำตัวท่อนบนจะบิดไปอีกทาง ด้านล่างบิดไปอีกทางเกิดเป็นเส้นไขว้ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาเส้นรอบนอกโดยรวมให้ดูกลมกลึงได้ไม่ขัดตา ถึงจะสร้างจากวัสดุที่มีน้ำหนักแต่รูปปั้นนี้ก็ดูลอยดูเบา สวยหมดจดไปหมดไม่ว่าจะพินิจพิจารณาจากมุมไหน

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เจ้าของ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ วิวัฒนาการสร้างสรรค์ประติมากรรมไทย

เมื่อเสียงขลุ่ยทิพย์เสร็จสมบูรณ์แล้ว เขียน ก็นำไปหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ก่อนจะส่งเข้าร่วมประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งเพิ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 เมื่อศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี และคณะกรรมการจัดงานได้เห็นผลงานชิ้นนี้ต่างก็ตะลึงพรึงเพริดในความงามอันไม่มีที่ติ เลยมีฉันทามติมอบรางวัลชนะเลิศให้เป็นเครื่องการันตี  เสียงขลุ่ยทิพย์จึงนับเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นการกำหนดมาตรฐานอันสูงส่งสำหรับงานประจำปีอันยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและยังคงจัดต่อเนื่องยาวนานมาจนปัจจุบัน

‘เขียน ยิ้มศิริ’ เจ้าของ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ วิวัฒนาการสร้างสรรค์ประติมากรรมไทย

ถึงเสียงขลุ่ยทิพย์จะไม่สามารถขับกล่อมเมโลดี้เสียงดนตรีจริง ๆ ออกมากระทบแก้วหูผู้ใด แต่ภายในจิตใจของผู้ชมที่ได้ยลผลงานชิ้นเอกนี้ด้วยอารมณ์ที่ปลดปล่อยสบาย ๆ กลับรับรู้ได้ถึงจังหวะจะโทนของเสียงทิพย์อันไพเราะเสนาะใจอย่างมหัศจรรย์ นี่แเหละคือความวิเศษของผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมจากฝีมือศิลปินชั้นยอดของไทย ที่ไม่ใช่ใคร ๆ ก็ทำได้

 

เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: https://theartauctioncenter.com