‘จิตร บัวบุศย์’ อิมเพรสชันนิสม์ยุคบุกเบิกของเมืองไทย

‘จิตร บัวบุศย์’ อิมเพรสชันนิสม์ยุคบุกเบิกของเมืองไทย

เรื่องราวของ ‘จิตร บัวบุศย์’ หลานศิษย์โมเนต์ และอิมเพรสชันนิสม์ยุคบุกเบิกของเมืองไทย

KEY

POINTS

  • จิตร บัวบุศย์ เป็นหลานศิษย์โมเนต์ ศาสดาแห่งอิมเพรสชันนิสม์
  • ผลงานมากมายของเขา พังเสียหายมลายไปกับระเบิด และบางส่วนยังถูกเลาะทำลายด้วยความจำเป็นโดยตัวเขาเอง
  • การกลับมาสร้างสรรค์อิมเพรสชันนิสม์ในวัยทะลุ 80 ของจิตร บัวบุศย์

คงเป็นไปได้ยากหากจะฟันธงว่า ใครเป็นศิลปินไทยคนแรกที่วาดภาพแบบอิมเพรสชันนิสม์ เพราะไม่มีบันทึกไว้จนถูกลืมเลือนไปกับกาลเวลา 

แต่ถ้าจะว่ากันถึงศิลปินไทยกลุ่มแรก ๆ ที่ริเริ่มวาดภาพในสไตล์นี้จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นจะมี ‘จิตร บัวบุศย์’ กับ ‘เฟื้อ หริพิทักษ์’ สมัยที่ทั้งคู่ยังเป็นนักเรียนเพาะช่างที่สนใจอิมเพรสชันนิสม์มาก่อนใคร 

เพราะตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2470 สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งจิตรทั้งเฟื้อ หลังเลิกเรียนก็จะพากันไปฝึกวาดรูปในสไตล์นี้ด้วยตนเอง ตระเวนหาวิวมุมสวย ๆ ของแม่น้ำลำคลอง วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ มาเป็นแบบ 

น่าเสียดายที่ผลงานในยุคนี้ของศิลปินทั้งคู่ถูกระเบิดเสียหายกลายเป็นผุยผงเกือบทั้งหมด เหลือหลักฐานเพียงน้อยนิดพอจะแง้ม ๆ ให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของผลงานอิมเพรสชันนิสม์สมัยตั้งไข่ในประเทศไทย

หลานศิษย์โมเนต์

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่าง จิตร บัวบุศย์ เข้ารับราชการเป็นครูสอนศิลปะอยู่ 10 ปี จนในปลายปี พ.ศ. 2484 ท่านได้รับทุนการศึกษาจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เดินทางไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโตเกียว (Tokyo Academy of Fine Arts) ประเทศญี่ปุ่น 

ที่นั่น จิตรได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหลายแขนง พาให้แตกฉานทั้งเทคนิคทางศิลปะที่ชาวญี่ปุ่นเขาสืบทอดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่โบราณ เช่นการแกะสลักไม้ ลงรัก ย้อมสีผ้า สร้างเครื่องไม้ไผ่ และเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม และประติมากรรมแบบตะวันตกที่ญี่ปุ่นได้รับการวางรากฐานโดยศิลปินชาวยุโรปที่เดินทางมารับใช้ราชสำนัก คล้าย ๆ กับเรื่องของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ในบ้านเรา

วิชาที่จิตรเห็นจะถูกใจเป็นพิเศษเพราะชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคือ ‘วิชาการวาดภาพแนวอิมเพรสชันนิสม์’ ณ สถาบันวิจิตรศิลป์ จิตรเรียนกับครูชาวอาทิตย์อุทัยที่เป็นลูกศิษย์ของ ‘คลอด โมเนต์’ ส่งผลให้จิตรศิษย์สายตรงของศาสดาแห่งอิมเพรสชันนิสม์ได้ซึมซับเคล็ดลับและจิตวิญญาณในการวาดภาพสไตล์นี้แบบถึงแก่น จนสามารถยกระดับฝีมือไปสู่จุดสูงสุด 

ตลอดเกือบ 6 ปีที่จิตรเรียนศิลปะ รวมกับเวลาที่ติดอยู่ญี่ปุ่นกลับประเทศไทยไม่ได้เพราะสงครามโลก จิตรตระเวนวาดภาพวิวทิวทัศน์ของสถานที่ต่าง ๆ ถ่ายทอดอารมณ์ประทับใจในบรรยากาศแปลกใหม่ของต่างแดนออกมาด้วยฝีเกรียงที่ปาดป้ายอย่างฉับพลันชำนาญ ซ้อนทับฉวัดเฉวียนด้วยรายละเอียดยุบยิบในโทนสีที่กลมกล่อมลงตัว เกิดเป็นผลงานภาพวาดชุดญี่ปุ่นในตำนานอันเป็นที่ร่ำลือ และก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ผลงานมากมายในชุดนี้มีชะตากรรมคล้าย ๆ กับผลงานที่จิตรสรรสร้างขึ้นมาก่อนหน้า คือพังเสียหายมลายไปกับระเบิด และบางส่วนยังถูกเลาะทำลายด้วยความจำเป็นโดยจิตรเอง เพื่อเอาไม้เฟรม และกระดานไปทำฟืนหุงหาอาหารเลี้ยงปากท้องขณะพำนักในญี่ปุ่นท่ามกลางภาวะสงครามที่ข้าวยากหมากแพง 

ภาพวาดชุดญี่ปุ่นที่เหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนไม่มากจึงเห็นร่องรอยของความอัตคัดขัดสนได้อย่างชัดเจน เช่นไม้กระดานที่เอามาวาดหรือมาทำเฟรมจึงมักเป็นไม้ที่เหลือใช้ หรือรีไซเคิลมาจากของอย่างอื่น แถมหลายภาพถึงขนาดต้องวาดทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อประหยัดวัสดุ 

ภารกิจบริหารการศึกษาจนไม่มีเวลาวาดภาพ

จิตรสำเร็จการศึกษาได้ประกาศนียบัตรทั้งด้านจิตรกรรม และประติมากรรม และกลับสู่บ้านเกิดเมื่อสงครามสงบ ครั้นถึงประเทศไทย จิตรเข้ารับราชการต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง เป็นทั้งครูผู้สอน และบริหารโรงเรียนในฐานะอาจารย์ใหญ่ รวมทั้งรับผิดชอบโครงการสำคัญต่าง ๆ มากมาย เช่น ออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนเพาะช่างที่ถูกระเบิดเสียหายจนไม่เหลือซากขึ้นมาใหม่, ตระเวนสำรวจ และอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ, วางหลักสูตรการเรียนการสอนและเขียนตำรับตำรา โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ

ด้วยภารกิจร้อยแปดที่รัดตัวจึงทำให้จิตรจำต้องว่างเว้นจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ที่ตนเองชื่นชอบ ภาพวาดที่หอบกลับมาจากญี่ปุ่นก็เลยถูกเก็บลืมไว้ใต้บันได รักใครชอบใครก็แจกให้ จิตรไม่ได้คิดค้าขายให้ร่ำรวยอะไรจากผลงานเหล่านี้ สมัยก่อนใครได้ไปฟรี ๆ ต้องเก็บให้ดี ๆ เพราะวันนี้ไป ๆ มา ๆ ภาพวาดยุคญี่ปุ่นกลับกลายเป็นของมีค่า เปลี่ยนมือกันในราคาหลักล้าน

หลังจากจิตรห่างหายจากการสร้างสรรค์ผลงานแนวอิมเพรสชันนิสม์ไปกว่าค่อนชีวิต ด้วยเหตุผลที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า 

‘ศิลปะนั้นมิได้สร้างขึ้นได้ง่าย ๆ ก่อนศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาแต่ละชิ้น จะต้องรู้สึกกับสิ่งนั้นเสียก่อน มิเช่นนั้นคุณค่าในผลงานชิ้นนั้น ๆ จะด้อยลง งานศิลปะของผมแต่ละชิ้นจึงเปรียบเสมือนจิตวิญญาณที่เป็นตัวแทนของผม ผมต้องรู้สึกกับมันเสียก่อนถึงจะสร้างขึ้นมา’

กลับมาสร้างสรรค์อิมเพรสชันนิสม์ในวัยทะลุ 80

แต่เมื่อจิตรได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศแปลกใหม่น่าหลงใหลในประเทศสหรัฐอเมริกา ผนวกกับแรงเชียร์จากลูกศิษย์สุดรักที่พาทัศนาจรอย่าง ‘กมล ทัศนาญชลี’ จิตรจึงกลับมาวาดภาพในรูปแบบที่ตนเองผูกพันอีกครั้งในวัยเลย 80 

ถึงสังขารจะเสื่อมถอย แต่ฝีมือก็ไม่ด้อยลงตามวัย ดูได้จากผลงานยุคอเมริกาของท่าน ที่ยังคงความเข้มข้นลงตัว พาผู้ชมให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับวิวทิวทัศน์สีสันจัดจ้านเกินจินตนาการที่ถูกบรรจงบันทึกไว้ด้วยความรู้สึกประทับใจ และด้วยความชำนาญ ถึงแม้วันไหนจะลืมพกพู่กันและเกรียง ท่านก็ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบได้ด้วยนิ้วมือ หรือวัสดุที่หาได้ทั่วไปอย่างแผ่นพลาสติก 

เกือบ 100 ปีที่สร้างคุณูปการแก่วงการศิลปะ 

ไม่นานหลังจากกลับมาวาดภาพอีกครั้ง จิตร หรือ ประกิต บัวบุศย์ ยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งในขณะนั้นท่านอายุทะลุ 90 เข้าไปแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงดีมีแรงสร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่สายตาลูกศิษย์ลูกหาและแฟนคลับอยู่อย่างต่อเนื่อง 

จนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ประกิต(จิตร)ก็ถึงแก่กรรม ขาดไปเพียง 4 เดือนท่านก็จะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ นับได้ว่าเป็นศิลปินที่สร้างคุณูปการแก่วงการศิลปะไทยมาเป็นเวลายาวนานมากที่สุดท่านหนึ่งเลยทีเดียว

ฃผลงานของจิตร ยุคญี่ปุ่น สมัยสงครามโลก มาพร้อมความสด และพลังอันพลุ่งพล่านของศิลปินหนุ่ม ในขณะที่ยุคอเมริกา สมัยหลังเกษียณ มากับประสบการณ์ เทคนิคแพรวพราว และความคิดคำนึงที่ตกผลึกลึกล้ำ 

จิตรหลานศิษย์ของโมเนต์ท่านนี้ ได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า สำหรับศิลปินขนานแท้ สังขารไม่ใช่ปัญหา หากไฟในจิตใจยังลุกโชนอยู่อย่างโชติช่วง ก็จะสามารถถ่ายทอดออกมาให้เป็นผลงานอันทรงคุณค่าได้อย่างไม่เสื่อมคลาย

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: The Art Auction Center