‘ออสติน เคลียน’ นักคิดผู้ท้าทายกฎเกณฑ์ ทำให้การ ‘ขโมย’ กลายเป็น ‘งานศิลปะ’

‘ออสติน เคลียน’ นักคิดผู้ท้าทายกฎเกณฑ์ ทำให้การ ‘ขโมย’ กลายเป็น ‘งานศิลปะ’

‘ออสติน เคลียน’ บรรณารักษ์สู่นักคิดผู้ท้าทายกฎเกณฑ์ ทำให้การ ‘ขโมย’ กลายเป็น ‘งานศิลปะ’

“Art is theft.” (“ศิลปะคือการขโมย”)
- ปาโบล ปิกัสโซ

คำกล่าวอันโด่งดังของ ‘ปิกัสโซ’ นี้ อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ แต่สำหรับ ‘ออสติน เคลียน’ (Austin Kleon) นักเขียนเจ้าของหนังสือขายดี ‘Steal Like an Artist’ นี่กลับคือ ‘ความจริง’ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกระบวนการสร้างสรรค์ทั้งหมด

“ไม่มีอะไรที่เป็นของแท้ดั้งเดิม งานสร้างสรรค์ทุกชิ้นล้วนต่อยอดจากสิ่งที่มีมาก่อน” ออสติน เคลียน ยืนยันเช่นนั้น

หากคุณเคยรู้สึกว่า ทุกอย่างบนโลกนี้ถูกคิดค้นไปหมดแล้ว หรือ กำลังดิ้นรนหาทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หนังสือของ เคลียน กลายเป็นคำตอบที่ไม่น่ามองข้าม หนังสือที่ติดอันดับขายดีของ New York Times เล่มนี้ นำเสนอมุมมองที่แหวกแนวและท้าทายความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

จากบรรณารักษ์สู่นักคิดผู้ท้าทายกฎเกณฑ์

เส้นทางของ ออสติน เคลียน เริ่มต้นในเมืองเล็ก ๆ เซอร์เคิลวิลล์  รัฐโอไฮโอ ที่ซึ่งเขาเติบโตมาในครอบครัวนักการศึกษา - พ่อเป็นรองศาสตราจารย์ที่ Ohio State University ส่วนแม่เป็นครูใหญ่โรงเรียน ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้เขามองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่าง

จากนั้น เมื่อมีโอกาสทำงานเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดสาธารณะที่คลีฟแลนด์ เขาไม่เพียงดูแลหนังสือ แต่ยังสอนผู้คนใช้คอมพิวเตอร์ เคลียน ได้เรียนรู้การผสมผสานความรู้จากหลากหลายแขนง เขาพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นนักออกแบบเว็บ นักเขียนคัดลอก และในที่สุด กลายเป็นนักเขียนและนักพูดที่ได้รับเชิญไปบรรยายในองค์กรระดับโลก อย่าง Pixar และ Google
 

การ ‘ขโมย’ ครั้งแรกที่เปลี่ยนชีวิต

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของ เคลียน เริ่มจากการทดลองสร้างสรรค์แบบที่ไม่มีใครคาดคิด เขาสร้างบทกวีด้วยการขีดฆ่าข้อความในหนังสือพิมพ์ เหลือเพียงคำบางคำ ที่เมื่อเรียงกันแล้วกลายเป็นบทกวีที่มีความหมายใหม่ ผลงานชุดนี้กลายเป็นหนังสือเล่มแรกของเขา ‘Newspaper Blackout’ แน่นอนว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการ ‘ขโมย’ อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างความหมายใหม่

ทั้งนี้ เคลียน ได้นำเสนอว่า การ ‘ขโมย’ ในโลกแห่งความจริงนั้น มีตัวอย่างที่น่าสนใจให้พบเห็นมากมาย หากเรารู้จักเหลือบมอง คนอย่าง ‘พอล แมคคาร์ทนีย์’ (Paul McCartney) หนึ่งในสมาชิกวง ‘The Beatles’ เคยสารภาพว่า “ผมเลียนแบบ บัดดี ฮอลลี, ลิตเติล ริชาร์ด, เจอร์รี ลี ลูอิส, เอลวิส (เพรสลีย์) พวกเราทุกคนทำแบบนั้น” 

The Beatles เริ่มต้นจากการเล่นเพลงคัฟเวอร์ก่อนที่จะพัฒนาสไตล์ของตัวเอง จนกลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แมคคาร์ทนีย์เล่าว่า พวกเขาเริ่มแต่งเพลงของตัวเอง เพราะไม่อยากให้วงอื่นเล่นเพลงเดียวกับพวกเขา เป็นตัวอย่างของการพัฒนา จากการ ‘ขโมย’ สู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่

ส่วน ‘โคบี ไบรอันท์’ (Kobe Bryant) นักบาสเก็ตบอลระดับตำนาน ยอมรับว่า ท่าทางการเล่นทั้งหมดของเขา ได้มาจากการดูวิดีโอของรุ่นพี่ แต่เพราะรูปร่างไม่เหมือนกัน เขาจึงต้องปรับท่าเหล่านั้นให้เข้ากับตัวเอง จนกลายเป็นสไตล์การเล่นที่มีเอกลักษณ์ การ ‘ขโมย’ ที่ดี จึงไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แต่คือการปรับให้เข้ากับตัวตนของเรา

“ผมขโมยท่าเหล่านี้มาจากผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ผมแค่พยายามทำให้พวกเขาภูมิใจ” โคบี บอก

ครั้งหนึ่ง เมื่อถูกบรรณาธิการท้าให้เขียนหนังสือ โดยใช้คำเพียง 50 คำ ‘ดร.ซูสส์’ (Dr. Seuss) นักเขียนและการ์ตูนนิสต์ชื่อดัง ได้สร้างสรรค์ ‘Green Eggs and Ham’ ขึ้น จนกลายเป็นหนังสือเด็กขายดีตลอดกาล เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ‘ข้อจำกัด’ สามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างน่าทึ่ง บางครั้งเงื่อนไขที่เราคิดว่า เป็น ‘อุปสรรค’ อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้เราสร้างสรรค์สิ่งพิเศษสุดได้ ดังนั้น จงเผชิญหน้ากับอุปสรรค ด้วยท่าทีที่สร้างสรรค์

ด้วยเหตุที่ไอเดียดี ๆ มักพวยพุ่งออกมาแบบไม่เป็นเวลา บ่อยครั้งที่เราทำหล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย สาเหตุนี้ทำให้ศิลปินชื่อดัง อย่าง ‘เดวิด ฮ็อคนีย์’ (David Hockney) จิตรกรคนสำคัญ สั่งให้ช่างตัดเสื้อดัดแปลง ‘กระเป๋า’ เสื้อสูททุกตัว ให้พอดีกับขนาดของสมุดสเก็ตช์ เพื่อให้แน่ใจว่า เขาจะมีสมุดจดไอเดียที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการให้เห็นความสำคัญของการพร้อมรับที่จะรับแรงบันดาลใจทุกเมื่อ 

เคลียน เน้นย้ำตรงจุดนี้ว่า ถึงอยู่ในยุคดิจิทัล แต่เราต้องไม่ลืมใช้มือและร่างกายในการสร้างสรรค์อย่างเด็ดขาด

ด้าน ‘แบรดฟอร์ด ค็อกซ์’ (Bradford Cox) นักดนตรีวง Deerhunter มีวิธีฝึกความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เขาจะแต่งเพลง ‘ปลอม’ ของวงที่ชอบ ก่อนที่อัลบั้มใหม่จะออก แล้วเปรียบเทียบกับเพลงจริง หลาย ๆ เพลง ‘ปลอม’ เหล่านั้น กลายมาเป็นเพลงของวงเขาเองในที่สุด 

นี่คือการ ‘ขโมย’ ในอีกรูปแบบ การจินตนาการว่าศิลปินที่เราชื่นชอบจะสร้างสรรค์งานแบบไหน

กฎใหม่แห่งการสร้างสรรค์

ในหนังสือ ‘Steal Like an Artist’ ของ ออสติน เคลียน นำเสนอแนวคิดสำคัญหลายประการที่ท้าทายความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เช่น เริ่มต้นจากการเป็น ‘นักสะสม’ ที่ดี เช่นการสะสมไอเดียดี ๆ 

“เพราะยิ่งคุณสะสมไอเดียดี ๆ มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีตัวเลือกให้ได้รับอิทธิพลมากขึ้นเท่านั้น”

หรือ “การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ของตัวเอง” โดยแบ่งพื้นที่ทำงานเป็นสองส่วน: ส่วน ‘อนาล็อก’ สำหรับสร้างไอเดีย และส่วน ‘ดิจิทัล’ สำหรับพัฒนาและเผยแพร่งาน

นอกจากนี้ “อย่ากลัวที่จะแบ่งปันไอเดียกับผู้อื่น” “รู้จักการใช้ข้อจำกัดให้เป็นประโยชน์” และการสร้างนิสัยทำงานอย่างสม่ำเสมอ “ทำงานทุกวัน ไม่รอแรงบันดาลใจ” ไม่ว่าคุณจะรู้สึกพร้อมหรือไม่

มรดกแห่งความคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบัน ออสติน เคลียน อาศัยอยู่ในเมืองออสติน เท็กซัส เขายังคงแบ่งปันแนวคิดดี ๆ ผ่านจดหมายข่าวรายสัปดาห์ถึงผู้ติดตามกว่า 195,000 คน เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การ ‘ขโมย’ อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติของการเรียนรู้และพัฒนา

“ผู้ที่ไม่ต้องการเลียนแบบอะไรเลย จะไม่สามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้”
- ซัลวาดอร์ ดาลี

ในโลกที่ทุกคนกำลังแข่งขันกัน ที่จะเป็น ‘คนแรก’ หรือ ‘คนเดียว’ แนวคิดของ ออสติน เคลียน ชวนให้เราหันมามองความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมใหม่ การ ‘ขโมย’ อย่างชาญฉลาดกลายเป็นศิลปะ และการเรียนรู้จากผู้อื่นกลายเป็นก้าวสำคัญของการค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเราเอง

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์ 

ภาพ: Getty Images

ที่มา: 
Kleon, Austin. Steal Like An Artist: 10 Things Nobody Tell You About Being Creative. Workman Publishing. 2012.