08 ต.ค. 2567 | 11:30 น.
KEY
POINTS
นอร์แมน กรานซ์ ใช้ดนตรีแจ๊สเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคมและการเหยียดเชื้อชาติ
ไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดัน กรานซ์ เคยถูกจับกุม ข่มขู่ และทำร้าย แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมของศิลปิน
สร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านดนตรี กรานซ์ เชื่อว่าดนตรีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
นอร์แมน กรานซ์ (Norman Granz 1918-2001) คือชื่อที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีแจ๊ส ไม่เพียงเพราะเขาเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้จัดคอนเสิร์ต หรือเจ้าของค่ายเพลงแจ๊สที่มีชื่อเสียง อย่าง Verve Records และ Pablo Records เท่านั้น แต่เขายังเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ผู้ใช้ดนตรีแจ๊สเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวอย่างจริงจัง ในยุคสมัยที่สังคมสหรัฐฯ ยังเต็มไปด้วยการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งนับเป็นความกล้าหาญอย่างมาก และทำให้ กรานซ์ กลายเป็นตำนานที่ไม่อาจลืมเลือน
นอร์แมน กรานซ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1918 ในครอบครัวชาวยิวที่อพยพมาจากรัสเซีย เขาเติบโตในย่าน เซ็นทรัล อเวนิว เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ชีวิตวัยเด็กค่อนข้างยากจนและถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งทำให้เขาได้สัมผัสกับความอยุติธรรมในสังคมตั้งแต่เยาว์วัย เหตุการณ์เหล่านั้นได้หล่อหลอมความคิดจิตใจของเขาให้มุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการถูกเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ เขายังรู้สึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างความทุกข์ยากของเขาในฐานะชาวยิว และการต่อสู้ของคนผิวดำอีกด้วย
พ่อของเขา มอร์ริส กรานซ์ ทำงานในร้านขายเครื่องแต่งกายชายเล็กๆ แห่งหนึ่ง ขณะที่แม่ของเขา อิดา คลารา ทำงานในโรงงานเย็บผ้า ทั้งคู่พยายามดิ้นรนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ช่วงทศวรรษ 1930s ครอบครัวกรานซ์ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว โดยเฉพาะปู่และย่าของเขาที่ยังคงใช้ภาษายิดดิช (Yiddish) ในการสื่อสารกันในครอบครัว นอร์แมนเติบโตมากับภาษายิดดิช จนกระทั่งเขาเข้าโรงเรียนและเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การเติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้เขามีความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมตั้งแต่ยังเด็ก
นอร์แมน กรานซ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมโรสเวลต์ (Roosevelt High School) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบอยล์ ไฮท์ (Boyle Heights) ของลอสแองเจลิส ที่นี่เองที่เขาได้พบกับเพื่อนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตของเขา อาร์ชี กรีน (Archie Green) ซึ่งมีความสนใจในด้านการเมือง สังคม และวรรณกรรม
วันหนึ่ง กรีน ได้ชักชวน กรานซ์ ไปร่วมฟังการบรรยายของนักวิชาการคนสำคัญ เช่น ฮาโรลด์ เจ. ลาสกี้ (Harold J. Laski) นักทฤษฎีสังคมนิยม จาก London School of Economics ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองแนวมาร์กซิสต์ โดย กรานซ์ ได้รับแรงบันดาลใจจากการบรรยายในครั้งนั้นอย่างมาก เขาเคยคิดที่จะศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และใฝ่ฝันที่จะไปศึกษาต่อที่ London School of Economics แต่น่าเสียดายที่ความฝันนี้ไม่เคยเป็นจริง
แม้จะมีพื้นฐานชีวิตที่ยากลำบาก แต่ นอร์แมน กรานซ์ กลับมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และมีความหลงใหลในวรรณกรรมและดนตรีอย่างลึกซึ้ง เขาใช้เวลาขลุกอยู่ที่ห้องสมุดและคลับดนตรีแจ๊สบนถนนเซ็นทรัล อเวนิว ในช่วงปีแรกของการเรียนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles: UCLA) กรานซ์ มักจะไปฟังการบรรเลงดนตรีแจ๊สในคลับท้องถิ่น และเริ่มต้นทำความรู้จักกับนักดนตรีผิวดำหลายคน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในดนตรีแจ๊ส
กรานซ์ จำเป็นต้องทิ้งการเรียนกลางคันเพราะปัญหาด้านการเงินและความสนใจที่เปลี่ยนไปสู่ดนตรีมากขึ้น แต่ประสบการณ์การศึกษาและการได้สัมผัสกับสังคมที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม ได้ปลูกฝังให้ กรานซ์ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในความเสมอภาคและความยุติธรรมทางสังคมตั้งแต่วัยหนุ่ม นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานและการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนตลอดชีวิตของเขา
เพลง “Body and Soul” (1939) ผลงานมาสเตอร์พีซของบิดาแห่งเทเนอร์แซ็กโซโฟน โคลแมน ฮอว์กินส์ (Coleman Hawkins) นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญทำให้เขาหลงใหลในดนตรีแจ๊สอย่างลึกซึ้ง ด้วยแนวคิดด้านฮาร์มอนีที่ล้ำสมัยบ่งบอกถึงอนาคตของแจ๊สที่พัฒนาจากเพลงเต้นรำไปสู่สถานะทางศิลปะ (State of the Art) แจ๊สได้กลายเป็นเครื่องมือที่ กรานซ์ ใช้ในการสะท้อนถึงความทุกข์ยากของผู้คน
กรานซ์ เชื่อว่าแจ๊สเป็นเสียงที่สะท้อนถึงอิสรภาพและการต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม เป็นดนตรีที่บอกเล่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมและถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของผู้คน ดนตรีแจ๊สเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียม
“ดนตรีแจ๊สมีความงามที่ซ่อนอยู่ในการต่อต้านและการลุกขึ้นสู้ มันเป็นการแสดงออกของความหวังและความกล้าหาญ” กรานซ์ เคยแสดงความเห็นถึงพลังของดนตรีแขนงนี้
นอกจากการสร้างค่ายเพลง และผลิตงานบันทึกเสียงจำนวนมาก หนึ่งในคุณูปการที่สำคัญที่สุดของ กรานซ์ คือการจัดคอนเสิร์ต “Jazz at the Philharmonic” (JATP) ซึ่งเริ่มต้นในปี 1944 คอนเสิร์ตนี้ไม่ได้เพียงดึงดูดผู้คนจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่ให้แก่นักดนตรีแจ๊สผิวดำและผิวขาวได้ร่วมแสดงบนเวทีเดียวกัน ในยุคที่การแบ่งแยกสีผิวยังเป็นเรื่องปกติในสหรัฐฯ การกระทำนี้ถือเป็นการท้าทายขนบธรรมเนียมของสังคมในขณะนั้น
การแสดงที่ The Philharmonic Auditorium เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 2 กรกฎาคม 1944 กรานซ์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งเป็นการผสมผสานของผู้ฟังหลากหลายเชื้อชาติ เช่น คนผิวดำ, ฮิสแปนิก, ชาวยิว และคนผิวขาว ในบรรยากาศที่เร้าใจและมีชีวิตชีวา
อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จากเสียงโห่ร้องและการตอบสนองที่เกินคาดหมายของผู้ชม ทำให้การบรรเลงดนตรีต้องหยุดลงในบางช่วง เพราะเสียงโห่นั้นกลบเสียงดนตรีจนผู้เล่นเสียสมาธิ แต่ กรานซ์ มองว่านี่เป็นการบ่งบอกถึงพลังและความตื่นเต้นของผู้ชม ซึ่งส่งผลให้ศิลปินบรรเลงดนตรีด้วยความเข้มข้นมากขึ้น
ทั้งนี้ มีประเด็นที่เชื่อมโยงกับการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ในการจัดแสดงที่ Philharmonic Auditorium หลายครั้ง จากความพยายามที่จะควบคุมจำนวนศิลปินผิวดำในคอนเสิร์ต และจำกัดการโฆษณาเพื่อไม่ให้เข้าถึงสื่อที่เกี่ยวข้องกับคนผิวดำ ในปี 1945 ซี.เอช. เบรนาร์ด (C.H. Brainard) ผู้จัดการของ Philharmonic Auditorium แจ้งกับ กรานซ์ ว่า ถ้าเขาต้องการจะจัดคอนเสิร์ตที่นั่นต่อไป เขาจะต้องเปลี่ยนชื่อการแสดงใหม่ ไม่ให้ใช้คำว่า "Philharmonic" และต้องจำกัดจำนวนศิลปินผิวดำไม่ให้เกิน 50% ของศิลปินทั้งหมด อีกทั้งยังต้องลดการโฆษณากับสื่อของคนผิวดำและผ่านสื่อวิทยุ
เมื่อไม่สามารถจัดแสดงดนตรีที่ Philharmonic Auditorium ได้อีก กรานซ์ ตัดสินใจย้ายไปจัดในสถานที่อื่น ๆ โดยหนึ่งในสถานที่สำคัญ คือ คาร์เนกี ฮอลล์ (Carnegie Hall) ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งบุคคลผู้มีอิทธิพล อย่าง เฮนรี รีชโฮลด์ (Henry Reichhold) ได้สนับสนุนด้านการเงิน และเชื้อเชิญให้ กรานซ์ มาจัดแสดงในงาน Carnegie Hall Pop Series ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งนักดนตรีและผู้ฟังจำนวนมาก
ต่อจากนั้น กรานซ์ ได้จัดทัวร์ Jazz at the Philharmonic (JATP) ไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ เพื่อขยายฐานผู้ฟังและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงดนตรีแจ๊ส รวมถึงนำเสนอศิลปินในสังกัดของเขาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในบางสถานที่ กรานซ์ ก็ยังยืนยันจัดแสดง โดยไม่ลดทอนความตั้งใจที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมและความเป็นอิสระในการแสดงดนตรีของศิลปิน
“ผมไม่ได้ต้องการแค่ให้ดนตรีแจ๊สกลายเป็นสิ่งที่คนยอมรับในฐานะศิลปะ แต่มันต้องเป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมยอมรับความเท่าเทียมของทุกคนด้วย”
กรานซ์ มีส่วนผลักดันศิลปินแจ๊สระดับตำนานให้ได้รับการยอมรับ เช่น เอลล่า ฟิตซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) นักร้องเสียงดี ที่เขาพาไปแสดงในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการอัดเสียงคอลเล็กชัน “Ella Fitzgerald Songbooks” ที่เป็นอัลบั้มรวมเพลงของนักประพันธ์ดนตรีคนสำคัญหลายคน อาทิ จอร์จ เกิร์ชวิน, โคล พอร์เทอร์ ฯ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส
นอกจากนี้ กรานซ์ ยังสนับสนุน ออสการ์ ปีเตอร์สัน (Oscar Peterson) นักเปียโนผิวสีจากแคนาดา มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยั่งยืนกับศิลปินแจ๊สหลายคน ไม่ว่าจะเป็น บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday), หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) หรือ ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) เขาไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์หรือผู้จัดการ แต่ยังเป็นเพื่อนที่พร้อมจะยืนหยัดและต่อสู้เพื่อศิลปินเหล่านี้ ในช่วงเวลาที่วงการดนตรีมักจะกดขี่ศิลปินผิวดำด้วยการจ่ายค่าตัวต่ำ และการจำกัดสิทธิในการแสดง โดยยืนกรานและยืนหยัดว่า นักดนตรีผิวสีจะต้องได้รับค่าตัวเท่ากับศิลปินผิวขาว และทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค
ในอดีต ประชาชนผิวสีอเมริกันมักถูกเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกการใช้พื้นที่สาธารณะ ไม่ให้ใช้ภัตตาคาร โรงแรม หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลร่วมกัน สร้างความยากลำบากในการสัญจรเดินทาง ดังกรณีของนักร้องบลูส์ อย่าง เบสซี สมิธ (Bessie Smith) ที่เสียชีวิตด้วยวัย 43 ปีจากอุบัติเหตุรถยนต์ ในปี 1937 ก็มีข่าวลือว่าเธอถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษาเฉพาะคนขาว
ดังนั้น ความตั้งใจของ กรานซ์ ที่ไม่ยอมรับการแบ่งแยกเชื้อชาติในสถานที่แสดงดนตรีหรือในทีมงานดนตรีของเขา คือการมุ่งแสดงออกถึงความเสมอภาค แต่นั่นทำให้เขาต้องเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงและอันตรายหลายครั้ง เช่น ในปี 1947 ระหว่างการทัวร์ของ JATP ที่เมืองแจ็กสัน รัฐมิชิแกน นักดนตรีในวงของเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในร้านอาหาร เพราะพวกเขาเป็นคนผิวดำ กรานซ์ ยืนกรานที่จะให้ศิลปินของเขาได้รับการบริการเช่นเดียวกับลูกค้าคนอื่น ๆ แม้จะเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายหรือถูกฟ้องร้องก็ตาม
ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในความกล้าหาญของกรานซ์ คือเหตุการณ์ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ในปี 1955 ขณะที่ กรานซ์ นำวง JATP ไปแสดงที่นั่น เขาต้องการให้มีการจัดที่นั่งแบบผสมผสานระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องนี้ กรานซ์ จึงตัดสินใจยกเลิกการแสดง และในคืนนั้นเองเขาถูกจับกุมในข้อหาก่อความวุ่นวายและทำให้เกิดความไม่สงบภายในเมือง เหตุการณ์นี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์และทำให้สื่อมวลชนสนใจอย่างมาก ต่อมา กรานซ์ ตัดสินใจฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ฮิวสตันและนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งเขาได้รับชัยชนะและเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดที่นั่งในสถานที่แสดงดนตรีของเมืองฮิวสตัน ให้ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวได้สำเร็จ
กรานซ์ เชื่อว่า การแบ่งแยกเชื้อชาติไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสังคม แต่ยังเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจอีกด้วย ดังที่เขาใช้วิธีการ “ทำให้การเหยียดสีผิวเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า” (Make it unprofitable) นั่นหมายถึง การใช้พลังของตลาดและเงินทุนกดดันให้ธุรกิจที่สนับสนุนการแบ่งแยกเชื้อชาติต้องยอมเปลี่ยนแปลงนโยบาย กรานซ์ พิสูจน์เรื่องนี้ ด้วยการดึงแผนจัดจำหน่ายแผ่นเสียงของเขาออกจากบริษัทที่ไม่ยอมรับศิลปินผิวดำ หรือไม่ยอมสนับสนุนการแสดงที่ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ
“ถ้าคุณต้องการขายแผ่นเสียงของผม คุณต้องยอมรับนโยบายความเสมอภาคของผมด้วย”
ความสามารถของ กรานซ์ ในการมองเห็นศักยภาพของศิลปิน และการสร้างความยุติธรรมทางสังคม ทำให้เขาได้รับคำชื่นชมจากศิลปินและผู้เกี่ยวข้องในวงการแจ๊สมากมาย ควินซี โจนส์ (Quincy Jones) โปรดิวเซอร์ชื่อดัง กล่าวชื่นชม กรานซ์ ว่า “นอร์แมนมีความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น เขามองเห็นวิธีการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเขาเดินตรงเข้าไปในกองไฟโดยไม่หวาดกลัวเลย นั่นแหละคือนอร์แมน เขายึดมั่นในรสนิยมทางดนตรีของตัวเองอย่างเคร่งครัด และเกือบทุกครั้งเขาก็คิดถูก”
ออสการ์ ปีเตอร์สัน นักเปียโนแจ๊สระดับตำนาน เล่าว่า กรานซ์ เป็นผู้ที่มองเห็นความสามารถในตัวเขา และช่วยผลักดันเขาให้ไปถึงความสำเร็จในระดับนานาชาติ “นอร์แมนทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองสามารถไปถึงจุดสูงสุดได้ และเขาก็ทำทุกอย่างเพื่อให้ผมไปถึงจุดนั้น ไม่ว่าผมจะต้องการอะไร เขาก็จะจัดหาให้ทุกครั้ง”
เน็ต เฮนทอฟฟ์ (Nat Hentoff) นักเขียนและนักวิจารณ์ดนตรีแจ๊สชื่อดัง สะท้อนมุมมองที่มีต่อ กรานซ์ ว่า “กรานซ์คือผู้ที่สนับสนุนศิลปินที่เป็นแกนหลักของดนตรีแจ๊สมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยไม่คำนึงถึงยอดขายหรือความนิยมของศิลปินเหล่านั้นในขณะนั้น แต่เพราะเขารู้สึกว่านักดนตรีเหล่านี้ยังมีอะไรที่จะมอบให้กับวงการดนตรีได้อีกมาก”
กรานซ์ รู้ดีว่าอำนาจของดนตรีไม่อาจประเมินค่าเพียงแค่ “เสียงดนตรี” เท่านั้น แต่ดนตรีสามารถทลายกำแพงของการแบ่งแยกเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้ การนำดนตรีแจ๊สมาผสมผสานกับแนวคิดด้านสิทธิพลเมือง จะช่วยให้ผู้ฟังได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม เขาจึงเลือกใช้เวทีการแสดงเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแบ่งแยกสีผิว ให้ศิลปินทั้งผิวขาวและผิวดำสามารถแสดงร่วมกันได้
ตลอดชีวิตของ กรานซ์ เขาท้าทายการเหยียดเชื้อชาติในทุกพื้นที่ ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร ไปจนถึงระบบการขนส่งสาธารณะ แม้ว่าการกระทำนี้จะทำให้เขาเสียโอกาสในการจัดแสดงในบางสถานที่ หรือถูกคุกคามจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม
“สิ่งที่ผมทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น” กรานซ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
นอร์แมน กรานซ์ ไม่ได้เป็นเพียงผู้จัดคอนเสิร์ตหรือโปรดิวเซอร์ดนตรีแจ๊ส แต่เขาเป็นนักต่อสู้ที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการท้าทายความอยุติธรรมทางเชื้อชาติและเศรษฐกิจในสังคมอเมริกัน เขาไม่เพียงแต่นำเสนอผลงานดนตรีที่ยอดเยี่ยม แต่ยังสร้างมรดกที่เปลี่ยนแปลงวงการดนตรีแจ๊สและขบวนการสิทธิพลเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การฟังผลงานเพลงแจ๊สที่ผ่านมือการโปรดิวซ์หรือควบคุมการผลิตโดยสุภาพบุรุษคนนี้ ผู้ฟังพึงตระหนักรับรู้ถึงคุณค่าหรือดีเอ็นเอที่ซ่อนอยู่ภายใน
การยืนหยัดของ นอร์แมน กรานซ์ พิสูจน์ให้เห็นว่าดนตรีเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ แม้จะต้องแลกด้วยความเสี่ยงและการเสียสละ ดนตรีมีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและทำลายกำแพงแห่งความอยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
ที่มา :
- Hershorn, Ted. Norman Granz : The Man Who Used Jazz For Justice. University of California Press. 2011.