ลวดลายมลายูปัตตานี ความงามศิลปะท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและศาสนา

ลวดลายมลายูปัตตานี ความงามศิลปะท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและศาสนา

ลวดลายมลายูในปัตตานีสะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อ เน้นลายธรรมชาติแบบอิสลาม ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ผ่านการสอนแกะสลักและผ้าปาเต๊ะเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่

KEY

POINTS

  • ปัตตานีเป็นดินแดนประวัติศาสตร์และศูนย์กลางการค้าตั้งแต่อดีต เชื่อมโยงวัฒนธรรมหลากหลายผ่านประชากรหลายเชื้อชาติ
  • ลวดลายมลายู สะท้อนศิลปะ Islamic Art อันงดงาม ผสมผสานความงามของคนอย่างน้อย 7 ชาติพันธุ์ 
  • ลวดลายมลายูในปัตตานีไม่เพียงแต่เป็นศิลปะที่สวยงาม แต่มีความหมายและสำคัญต่อชุมชนเพราะมันคืออัตลักษณ์ ยืนยันตัวตนของคนพื้นที่แห่งนี้ได้ดีที่สุด

ปัตตานี เป็นหนึ่งดินแดนทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นศูนย์การปกครองสำคัญยาวนานมาตั้งแต่อดีต ปรากฏชื่อมาตั้งแต่ ค.ศ.12 เป็นภูมิประเทศที่ปลายแหลม แหล่งที่มั่นสำคัญ  ฝั่งหนึ่งติดทะเลอ่าวไทย ติดต่อกับจีน ชวา อีกฝั่งหนึ่ง ติดกับทะเลอันดามัน ติดต่อกับ อินเดีย อาหรับ และชาวตะวันตก จึงเป็นแหล่งติดต่อ การค้าขาย ถ่ายเทวัฒนธรรมจากชนชาติที่เจริญแล้วมาตั้งแต่อดีตกาล

บรรพชนเป็นกลุ่มคนที่มีศิลปวัฒนธรรม อันรุ่งเรื่องมาแต่อดีต ชี้ให้เห็นถึงความเป็นขนบธรรมเนียมได้อย่างชัดเจน เกิดจากการคิดค้นสร้างสรรค์ และฝีมือของเหล่าบรรพบุรุษที่ร่วมสร้างกันมา

เมืองปัตตานีเกิดขึ้นราวๆ 500 ปีและการคบค้าสมาคมสัมพันธ์กับนานาชาติติดต่อค้าขายกับหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ชวา ญี่ปุ่น และเปอร์เซีย ตะวันตก เป็นต้น ปัตตานีที่มีประชากรหลายเชื้อชาติทั้ง ชาวไทยมุสลิม ขาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้มีการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมจากชนชาติเหล่านั้นมาผสมผสานกัน ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม  วัด วัง มัสยิด ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา งานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ทำให้มีการผสมกลมกลืนความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นนครเมืองหนึ่งที่ล้ำหน้า นำสมัยกว่า เมือง อื่นๆ ในบริเวณแถบเอเชียอาคเนย์ มาจนถึงสมัย 200 กว่าปี

ลวดลายมลายูปัตตานี ความงามศิลปะท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและศาสนา

แต่ช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา ในแถบบริเวณนี้ยังคุกรุ่นด้วย สถานการณ์ความไม่สงบ มีการต่อสู้ปะทุ เคลื่อนไหวกันเป็นระยะๆ ของกลุ่มบุคคลที่คิดต่างจากรัฐ เป็นกลุ่มขบวนการอยู่หลายกลุ่ม ไม่พอใจการปกครอง  นิยามการต่อสู้เป็น 2 แนวทาง เพื่อปลดปล่อย และต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม จนเกิดเป็นไฟใต้ปะทุครั้งใหม่มาอีก 20 ปี จนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลไทยต้องทุ่มทุนงบประมาณรับมือกับสถานการณ์ใต้ ที่ถูกเรียกว่า ดินแดนพื้นที่สีแดง แหล่งกบดานของกลุ่มก่อความไม่สงบดังกล่าว กระจายกองกำลังอยู่ทั้ง 3 จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางพื้นที่ของสงขลา  รัฐบาลโดย กอ รมน.ต้องมีนโยบายหลัก ลงมาแก้ไขปัญหากับกลุ่มก่อเหตุเหล่านี้ ซึ่งผ่านมาหลายยุค หลายรัฐบาล ก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้สำเร็จ  สูญเสียงบประมาณไปแล้วในช่วง 20 ปีมานี้ รวมๆแล้ว เกือบ 2 แสนล้านบาท มุ่งแก้ปัญหาความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ทำให้มิติการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม ถูกมองข้ามไป บางแห่งถูกทิ้งร้างจนผุพังไป และเสี่ยงที่จะสูญหายไปในที่สุด

เมื่อพูดถึง 'ลวดลายมลายู' ของปัตตานี ภาพที่ชวนให้นึกถึงคือศิลปะที่อิงกับธรรมชาติ และลวดลายแบบอิสลามที่งดงามโดดเด่น เป็นแหล่งรวมของลวดลาย islamic art อีกที่หนึ่งในโลก ที่ผสมผสาน ลวดลายเหล่านี้เป็นมากกว่าความสวยงามของคนอย่างน้อย 7 ชาติพันธุ์ เพราะยังสื่อถึงความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาอิสลาม และความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชาวมลายูในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

ลวดลายมลายูปัตตานี ความงามศิลปะท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและศาสนา

จังหวัดปัตตานี ที่ซึ่งลวดลายมลายูสะท้อนผ่านงานศิลปะเชิงประเพณี แหล่ง 3 วัฒนธรรม ยังปรากฏในงานสถาปัตยกรรม เครื่องประดับ อุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน ลวดลายบนผ้าโบราณแม้แต่ อาหาร ขนม และเครื่องเล่นตามประเพณี  ที่หล่อหลอมไปด้วยกันอีกด้วย

จุดเด่นของลวดลายและความสัมพันธ์กับอิสลามนั้น เดิมที วัฒนธรรมประเพณีมาจากพราหม์ และพุทธ ต่อมาเมื่อดินแดนบริเวณนี้หันไปนับถืออิสลามเกือบทั้งหมด ลวดลายมลายูในพื้นที่ปัตตานีจึงมักจะเน้นไปที่รูปทรงของพืชพันธุ์และธรรมชาติ ไม่ใช้รูปสัตว์หรือมนุษย์ตามหลักศิลปะอิสลาม เพื่อเป็นการเคารพศาสนา หรือช่องแสง ดวงดาวลวดลายเหล่านี้สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความสงบสุข  สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เน้นความเรียบง่ายและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและโลกจักรวาลอย่างกลมกลืน

การปรากฏลวดลายมลายูในชีวิตประจำวัน  ลวดลายเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลายประดับบนอาคารสถาปัตยกรรม เช่น มัสยิด หรือตามประตู หน้าต่าง ที่ใช้การแกะสลักด้วยความละเอียดประณีต นอกจากนี้ยังพบลวดลายมลายูในงานช่างท้องถิ่น เช่น การประดับเรือกอและ ซึ่งเป็นเรือประมงท้องถิ่นที่ใช้กันในพื้นที่แถบปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุงรวมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างกระเป๋าถัก ขวาน กริชและที่โดดเด่นคือผ้าทอโบราณ หรือผ้าปาเต๊ะที่มักนำลายมลายูมาใช้ในการทอและพิมพ์ 

ลวดลายมลายูปัตตานี ความงามศิลปะท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและศาสนา

การอนุรักษ์และการส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่

แม้ว่าลวดลายมลายูจะมีความสำคัญในฐานะเอกลักษณ์ของท้องถิ่น แต่ปัจจุบันก็เผชิญกับความท้าทายในการรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ จึงสำคัญอย่างมาก ตลอดจนการทำให้ศิลปะเหล่านี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ไม่นานมานี้  วิทยาลัยชุมชนปัตตานีจัดกิจกรรมและการอบรมการเรียนการสอน เพื่ออนุรักษ์และสืบสานลวดลายเหล่านี้ เช่น การสอนแกะสลัก การวาดลวดลายลงบนผ้า รวมถึงการสร้างสรรค์สินค้าที่ผสมผสานลวดลายมลายูกับการออกแบบสมัยใหม่ และผลักดัน โดยใช้การละเล่นของท้องถิ่นที่นิยม คือว่าว อัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร และกำลังจะสูญหายไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ว่าว เบอรอามัส

นายสุทธิศักดิ์ น้ำทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนปัตตานี เปิดเผยว่า วิทยาลัยได้ทำการสำรวจภูมิปัญญาช่างศิลป์ท้องถิ่น ศึกษาและรวบรวมความรู้ด้านศิลปะพื้นบ้าน และเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์อย่าง YouTube ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก จึงเห็นควรต่อยอดความรู้เหล่านี้เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาศิลปะพื้นถิ่นให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้และเรียนรู้ต่อไป

นายสุทธิศักดิ์กล่าวว่า “ในประเทศไทยยังขาดแคลนวิทยากรและช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เราจึงเชิญอาจารย์จากสถาบันในมาเลเซียมาช่วยฝึกสอน ตั้งแต่ปี 2560 เราได้จัดทำสื่อการเรียนรู้เป็นไฟล์ออนไลน์ และพัฒนาเป็นหลักสูตรสอนในโรงเรียนต้นแบบ 6 แห่งที่อำเภอสายบุรี” 

ลวดลายมลายูปัตตานี ความงามศิลปะท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและศาสนา

นอกจากนี้ วิทยาลัยยังได้ร่วมกับทายาทครูศิลป์ผู้ได้รับรางวัลจากกระทรวงวัฒนธรรมในการพัฒนาหลักสูตรศิลปะท้องถิ่น สู่การเปิดสอนคอร์สพิเศษและจัดการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยมูฟจากกระทรวง อว. ทำให้ศิลปะพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานีเผยแพร่ได้กว้างขวางมากขึ้น

“เราไม่ได้เพียงรวบรวมลวดลายจากช่างศิลป์ท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานีเท่านั้น แต่ยังได้ข้อมูลจากรัฐกลันตันในประเทศมาเลเซีย โดยครูช่างนูรไฮซาและคุณอาลาดีจากสถาบันลวดลายแกะสลักไม้อคาเดมี่ที่เคยมาสำรวจในพื้นที่ ได้กลับมาถ่ายทอดวิชาให้กับเราอีกครั้ง ซึ่งมีผู้สนใจตอบรับอย่างดีมาก เราเริ่มสอนตั้งแต่การรู้จักลวดลาย การออกแบบลาย จนถึงการแกะสลักไม้จริง” นายสุทธิศักดิ์กล่าว

ในอนาคต วิทยาลัยชุมชนปัตตานีมีแผนจะพัฒนาหลักสูตรช่างไม้ สร้างช่างฝีมือที่มีจิตอาสาและทักษะสูง นำไปประยุกต์เป็นอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการทำของที่ระลึกหรือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีลวดลายศิลปะพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีแผนการตลาดเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้เป็นที่นิยม ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

ลวดลายมลายูในปัตตานีไม่เพียงแต่เป็นศิลปะที่สวยงาม แต่ยังสะท้อนถึงรากฐานวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าที่ควรได้รับการรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายที่สื่อถึงความงามของธรรมชาติและความสงบของวิถีชีวิต จึงถือเป็นงานศิลปะที่ยังคงมีความหมายและสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นนี้ ควรนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และให้ลูกหลานได้รักษา ศึกษาเรียนรู้ เพราะมันคืออัตลักษณ์ ยืนยันตัวตนของคนพื้นที่แห่งนี้ได้ดีที่สุด